วันจันทร์, มิถุนายน 28, 2564

ไทยเจอ 'โควิด-19' แล้ว 39 สายพันธุ์



ไทยเจอ 'โควิด-19' แล้ว 39 สายพันธุ์

28 มิถุนายน 2564
กรุงเทพธุรกิจ

โควิด "เบตา" จากใต้ถึงกรุงเทพฯ พบ 1 รายเชื่อมโยงจากนราธิวาส ส่วน "เดลตา" ราว 24% เดลตาพลัสยังไม่มีในไทย ภาพรวมในไทยเจอแล้ว 39 สายพันธุ์ ทั้งพันธุ์หลัก-ย่อย ขณะที่ "หมอระบาด" ชี้ยอดติดเชื้อในกทม.ไม่สัมพันธ์คลัสเตอร์จริง

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2564 แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในกทม.มีเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แต่ล่าสุดมีรายงานว่าพบสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่กทม. 1 ราย เบื้องต้นมีความเชื่อมโยงมาจากผู้ติดเชื้อที่จ.นราธิวาส ส่วนในรายละเอียดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์น่าจะมีการแถลงในเร็วๆ นี้

ไทยเจอโควิด-19 แล้ว 39 สายพันธุ์

ศ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า ฐานข้อมูลกลางโควิดโลกที่ชื่อว่า "GISAID" (https://www.gisaid.org/) ได้เผยแพร่ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของไวรัส "SARS-CoV-2" หรือโควิด-19 ทั้งสายจีโนม ( 30,000 เบส) ที่หลายสถาบันการแพทย์ไทยรวมถึงศูนย์จีโนมฯ และกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้ศึกษาวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมและส่งข้อมูลเข้า "GISAID” เริ่มตั้งแต่ธ.ค.2562 จนถึงปัจจุบันมิ.ย. 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,521 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ วิเคราะห์ออกมาได้เป็น 39 สายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์หลักที่ก่อปัญหาไปทั่วโลก และสายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นและสูญสลายไปอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดวันที่ 21 มิ.ย. จากรหัสพันธุกรรมพบว่า ในประเทศไทยขณะนี้มีสายพันธุ์อัลฟา 69% สายพันธุ์เดลตา 24% สายพันธุ์เบตา 4% และสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์ท้องถิ่น B.1.36.16 ที่ระบาดที่สมุทรสาคร ปทุมธานี ประมาณ 3%



สายพันธุ์เดลตา ที่พบ 24% ฐานข้อมูลกลางระบุส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่แถลงถึงการถอดรหัสพันธุกรรมเช่นกัน ล่าสุดระบุพบสายพันธุ์อัลฟา 88.97 % เดลตา 10.43 % ไม่แน่ใจว่าได้บันทึกข้อมูลเข้า GISAID แล้วหรือไม่ หรืออาจยังเป็นข้อมูลที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ระบาดต่างๆ ตรวจวิเคราะห์ ตอนนี้พยายามประสานให้สถาบันต่างๆ ที่มีการถอดรหัสพันธุกรรมให้บันทึกข้อมูลเข้า GISAID ภายในไม่เกิน 3 วัน การอัปโหลดเข้าในฐานข้อมูลกลางจะเห็นภาพรวมการระบาดสายพันธุ์ต่างๆ ที่ชัดเจน โปร่งใสและเป็นปัจจุบันมากที่สุด

ไม่ต้องการให้หวั่นวิตกกับตัวเลขสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลที่ได้เพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ในการควบคุมโรค เพราะขณะนี้สายพันธุ์หลักๆ ที่แพร่กระจายอยู่คืออัลฟา และเดลตาที่กำลังมีมากขึ้น แต่วัคซีนที่เรามีอยู่ยังสามารถรับมือได้ และวัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ประมาณสิ้นปีนี้จะเห็นมียาต้านไวรัสออกมามีอยู่ 3 ตัวที่อยู่ในกระบวนการ

โควิดสายพันธุ์ "เดลตาพลัส" ยังไม่เจอในไทย



สำหรับสายพันธุ์ "เดลตาพลัส" ซึ่งประเทศอินเดียได้ปรับสถานะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจนั้น ประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีเดลตาพลัส เท่าที่ติดตามข้อมูล เดลตาพลัสสามารถหลบเลี่ยงยาแอนติบอดี้สังเคราะห์อยู่ประเภทหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยาตัวนั้นอนุมัติใช้ในอินเดีย แต่ที่อื่นไม่ได้ใช้ จึงไม่น่ากังวล

ส่วนการเกิดภาวะที่เรียกว่า Mixed Infection คือการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน มีรายงานตรวจพบในต่างประเทศแต่จำนวนไม่มาก เช่น บราซิล แต่ไม่น่ากังวล ยังไม่มีการบ่งชี้ทางคลินิกว่าจะมีอาการรุนแรงไปกว่าการติดเชื้อสายพันธุ์เดียว แนวทางการรักษาก็ยังเหมือนเดิม อาการไม่ได้รุนแรงเพิ่มขึ้น และไม่ได้แพร่ระบาดเร็ว เวลาแพร่สู่บุคคลต่อไปไม่ได้ติดทั้ง 2 สายพันธุ์แต่ติดสายพันธุ์เดียว เท่าที่ติดตามพบภาวะนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความแออัด มีการระบาดของเชื้อหลายสายพันธุ์ปะปนกัน ประเทศไทยจะมีลักษณะนี้หรือไม่ อยู่ระหว่างการศึกษา หากจะมีเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นและมี 2 สายพันธุ์ระบาดในพื้นที่นั้นอย่างเช่น แคมป์คนงาน

"สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ขณะนี้เรายังตรวจเชิงรุกไม่ครอบคลุม ยังทำแบบรวมศูนย์ เวลานี้คนที่ไม่มีอาการแต่กังวลก็แห่ไปตรวจ เกิดปัญหามากมาย รัฐไม่เชื่อมั่นในการให้ประชาชนตรวจได้ด้วยตนเอง ซึ่งชุดตรวจแอนติเจนโควิด-19 ผลความแม่นยำไม่เท่า PCR แต่สามารถตรวจได้บ่อยครั้ง ดังนั้นเวลาติดเชื้อจะมีวันที่มี ไวรัส จำนวนมากและน้อย หากตรวจบ่อยมากขึ้นก็อาจจะสามารถตรวจพบเชื้อได้ จากนั้นก็ให้รายงานผ่านแอปพลิเคชั่น ข้อมูลจะเป็นเรียลไทม์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะทำให้รู้ว่ามีการระบาดติดเชื้อที่ไหนก็จะได้นำเข้ารักษาและควบคุม หรือเมื่อรู้ตัวเองติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเองและดูว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงบ้าง จะไวมากกว่าการดึงทุกอย่างไปดำเนินการที่ภาครัฐ ชุดตรวจเหล่านี้ราคาถูกกว่า PCR ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยก็มีการคิดค้นออกมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ได้ด้วยภาครัฐยังห้ามการตรวจเอง หรือจะนำเข้าซึ่งก็มีมากมายในต่างประเทศ" ศ.วสันต์กล่าว

ยอดติดเชื้อ กทม. ไม่สัมพันธ์คลัสเตอร์จริง

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะแพทย์ระบาดวิทยา กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19กทม.เป็นลักษณะการระบาดที่มีทั้งคลัสเตอร์ใหญ่ เช่น แคมป์คนงานหลักสี่ ชุมชนคลองเตย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นคลัสเตอร์ขนาดกลางที่จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึงหลักพันแต่มีหลายคลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้มีราว110 คลัสเตอร์ ทำให้พื้นที่การทำงานกระจายออก ส่งผลให้มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก การควบคุมโรคก็มีความซับซ้อน ต้องใช้จำนวนคนลงไปทำงานมากก็สร้างความเครียดให้คนทำงานค่อนข้างมาก

“จำนวนคลัสเตอร์ที่เห็นในกทม. เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือคือชุมชนแออัด โรงงาน และเชื่อว่าตอนนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่ระบุได้ไม่หมดอีกจำนวนหนึ่ง ช่วงที่คุยกับทีมงานถึงตัวเลข หากดูจำนวนผู้ป่วยรายวัน จะมียอดหนึ่งที่ไม่สัมพันธ์กับคลัสเตอร์ ซึ่งทีมงานต้องใช้ความพยายามติดตามตัวเลขส่วนนี้ว่าอยู่ที่ไหน มาจากไหน เพราะเชื่อว่าส่วนนี้เป็นคลัสเตอร์ที่ยังไม่ได้ระบุอีกจำนวนหนึ่ง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ดูแลคนงานนายจ้างต้องร่วมมือ

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการ บับเบิ้ลแอนด์ซีล(Bubble and seal) จะมีสภาวะที่เกิดขึ้นจริงคือ กลุ่มประชากรหนึ่งมีอัตราติดเชื้อมากกว่ากลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงโดยรอบ วิธีคิดการป้องกันไม่ให้เชื้อในพื้นที่มีความเข้มข้นสูงไหลออกมานอกพื้นที่หรือไหลสู่ชุมชนรอบข้างที่มีความเข้นข้นต่ำกว่าด้วยการสร้างบับเบิ้ลเป็นกำแพงขึ้นมา เพื่อลดการสัมผัสของคน 2 กลุ่มลง กำหนดเส้นทาง มีรถรับส่งแรงงาน ไม่แวะที่อื่นระหว่างเดินทาง ไม่ออกนอกพื้นที่ จากนั้นลดการติดเชื้อในบับเบิ้ลให้เร็วที่สุด

นายจ้างจึงมีส่วนสำคัญในการควบคุมมาตรการในโรงงานและหอพักของคนงาน หากสามารถทำได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ค่อนข้างมาก แต่สถานการณ์ในกทม. มีแรงงานไทยและต่างชาติทำงานร่วมกัน อย่างเช่นในโรงงาน ที่คนไทยมีบ้านอยู่ในหลายพื้นที่ ตอนเช้านั่งรถไปทำงาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ต้องดูว่าจะจัดการกับคนไทยอย่างไรให้อยู่ในบับเบิ้ลเหมือนกันซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก

สกัดกลุ่มรับเหมาช่วง

"เมื่อมีการนำมาตรการมาใช้ในกทม.ต้องปรับให้เข้ากับบริบท และมีกำลังมากพอในการทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย ยิ่งมีความซับซ้อนของประชากร การพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก หากทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง เข้าใจสถานการณ์และตั้งใจจะช่วยจริงๆ ก็ยังพอไปได้ ซึ่งความท้าทายอีกอย่าง คือ กลุ่มรับเหมาช่วง (Sub-contractor) ในหลายแคมป์ หากควบคุมไม่ดี ก็จะติดเชื้อไปในแคมป์อื่นทำให้บับเบิ้ลรั่ว จึงต้องมีวินัยอย่างสูง และสิ่งที่ประชาชนต้องเข้มงวดคือจากตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและเว้นระยะห่าง ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตนเองและครอบครัว” นพ.ธนรักษ์ กล่าว