พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
7h ·
ต้องปฏิรูปงบประมาณ "สถาบันพระมหากษัตริย์"
"เมื่อพูดถึงการกำหนดวงเงินที่ตั้งงบเกี่ยวข้องกับ #สถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2565 มีงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน อย่างน้อยๆ 33,712 ล้านบาท นี่แค่แสดงเป็นชื่อโครงการในเอกสารงบ ยังไม่ได้รวมงบที่ที่อาจซ่อนอยู่ในหมวดหมู่โครงการที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออื่น ๆ"
.
"เพื่อไม่ถูกนำไปแอบอ้างและกระทบเกียรติยศของ ‘องค์พระมหากษัตริย์’ งบที่เกี่ยวกับสถาบันฯ หรือโครงการ ‘อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ต้องมีการปฏิรูป"
.
เชิญชมการอภิปราย #งบประมาณ65 ของ Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์ พิจารณาข้อบกพร่องในการใช้งบของสถาบันฯ จนอาจส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติได้
.
#ก้าวไกล #ประชุมสภา #เบญจา #งบ65
.....
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
6h ·
[ เพื่อไม่ถูกนำไปแอบอ้างและกระทบเกียรติยศของ ‘องค์พระมหากษัตริย์’ งบที่เกี่ยวกับสถาบันฯ หรือโครงการ ‘อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ต้องมีการปฏิรูป ]
.
Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565
.
โดยระบุว่า เมื่อพูดถึงการกำหนดวงเงินของหน่วยงานรับงบประมาณต่างๆ ที่ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอยู่อย่างน้อยๆ 33,712,000,000 บาท (สามหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสิบสองล้านบาท) เป็นรายการตามที่แสดงเป็นชื่อโครงการในเอกสารงบประมาณ ยังไม่ได้รวมงบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่อาจซ่อนอยู่ในหมวดหมู่โครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออื่นๆ
ในจำนวนนี้แบ่งงบออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
.
1.งบพิทักษ์รักษาและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
2.งบถวายความปลอดภัย
3.งบส่วนราชการในพระองค์
4.งบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่าง ๆ
5.งบอื่น ๆ เช่น พระราชทานเพลิงศพ เครื่องราชอิสริยาภรณ์
.
“ต้องย้ำก่อนว่า เงินจำนวนสามหมื่นกว่าล้านนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ประเด็นคือผลผลิตของการตั้งงบประมาณ และประสิทธิภาพของโครงการที่ควรจะมีการพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสม เปิดเผย โปร่งใส ถูกต้องและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดนั้นตกเป็นของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด19 เช่นนี้”
.
โดยเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการหลวงต่างๆ ที่ใช้เงินงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท ที่มีอยู่มากกว่า 50 โครงการ กระจายอยู่อย่างน้อย 7 แผนงาน ใน 30 กรม และอีกกว่า 7,000 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยบางโครงการเป็นโครงการที่รัฐบาลได้รับพระราชทานพระราชดำริ หรือมีประชาชนถวายฎีกาขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน อาจต้องมีการศึกษาใหม่ว่า พื้นที่นั้นมีความเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากน้อยเพียงใด หัวใจของปัญหายังคงเหมือนเดิมอยู่หรือไม่
.
“หลายครั้งพบว่าหน่วยงานรับงบอย่างหน่วยงานราชการบางหน่วยกลับพยายามผลักดัน ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ โดยไม่ได้ทำการศึกษาถึงความเปลี่ยนไปของสภาพพื้นที่และสภาพปัญหาให้ถ่องแท้ ทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อต้านขึ้นมาจากประชาชนในพื้นที่ นี่ไม่ใช่การกล่าวหา แต่มีเอกสารและมีหลักฐาน จำโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วที่คณะกรรมาธิการงบประมาณเมื่อปีที่แล้วเสนอให้ตัดงบประมาณได้หรือไม่ เอกสารรายงานด้านสิ่งแวดล้อมที่กรมชลประทานเร่งรีบจัดทำขึ้นปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดในเอกสาร ความผิดพลาดนั้นคือ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพัทลุง มีการคัดลอกเอารายงานของจังหวัดเพชรบูรณ์ มาเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดพัทลุง แต่กลับลืมแก้ไขข้อมูลพื้นฐานสำคัญ อย่างลักษณะทางภูมิศาสตร์ และพืชเศรษฐกิจหลัก จนถูกประชาชนคนทั่วไปจับผิดได้ ถึงแม้ว่ากรมชลประทานจะอ้างว่านี่เป็นรายงานฉบับเก่า แต่จะฉบับเก่าหรือว่าจะเป็นฉบับใหม่ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญคือการจัดทำรายงานปลอม เป็นรายงานที่ไม่ตรงกับสภาพของพื้นที่ นั่นเท่ากับรายงานฉบับนี้เป็นรายงานเท็จซึ่งการเอาข้อมูลอันเป็นเท็จมาใช้กับ ‘โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การแอบอ้างเช่นนี้ เหมาะสมหรือไม่ และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของสถาบันเสื่อมเสียไปถึงพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์หรือไม่”
.
อีกหนึ่งโครงการคือ ‘โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทระจินดา’ หรือ ‘โครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาสร้างมายาวนานมากกว่า 10 ปี แต่ก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์เสียที โครงการนี้ผ่านมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2552 มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้าง โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2561 รวมระยะเวลา 9 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างภายใต้กรอบวงเงิน 9,078 ล้านบาท เริ่มตั้งงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ก็เลื่อนปีที่จะสร้างเสร็จไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่เริ่มเข้ามาพิจารณางบประมาณในปีงบประมาณ 2563 การก่อสร้างผูกพันมาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว จนปัจจุบันมาถึงพรรคก้าวไกลเข้าสู่ปีงบประมาณที่ 2565 หน่วยงานรับงบอย่างกรมชลประทานก็เลื่อนการขอใช้งบประมาณผูกพันของโครงการนี้มาโดยตลอด ตอนปีงบประมาณ 2563 ก็ชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2564 พอมาปีงบประมาณ 2564 หน่วยงานรับงบชี้แจงว่าจะแล้วเสร็จปี 2565 ปัจจุบันงบประมาณปี 2565 ท่านก็ระบุว่าจะแล้วเสร็จปี 2566 สรุปแล้วโครงการนี้ติดปัญหาที่ตรงไหน ทำไมถึงไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้
.
“เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดของตัวโครงการ พบว่าโครงการห้วยโสมง เป็นโครงการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริแนวทางการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้กรมชลประทานนำไปดำเนินการไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2521 หรือเมื่อ 40 กว่าปีก่อนแล้ว จึงเกิดความเป็นกังวลว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สภาพพื้นที่ สภาพภูมิประเทศและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของพี่น้องประชาชนเปลี่ยนแปลงไปจากที่ได้ออกแบบก่อสร้างไว้เดิมแล้ว ดังนั้นโครงการนี้ยังมีความเหมาะสมจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่มากน้อยเพียงใด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายๆโครงการ ที่หน่วยงานรับงบมีการดำเนินโครงการที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากล ควรจะต้องรับฟังความเห็นจากชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการเหล่านี้ โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้หน่วยงานต่างๆ แอบอ้างดำเนินโครงการซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์”
.
เบญจา กล่าวต่อว่า สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. ในฐานะองค์กรกลางที่มีหน้าที่ดูแลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงควรตรวจสอบโครงการเหล่านี้ หากพบว่าตัวโครงการมีปัญหา ทั้งจากเหตุความไม่โปร่งใส หรือจากการที่สภาพความต้องการของพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว กปร. ก็ควรสั่งให้มีการเพิกถอนสถานะ โครงการอันเนื่องมาจากพระดำริ นั้นเสีย
.
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดูเหมือนจะไม่ใช่พันธกิจของหน่วยงานเจ้าภาพ อย่างเช่น โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชของกองทัพอากาศ โครงการอนุรักษ์แนวปะการังของกองทัพเรือ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำของกองบัญชาการกองทัพไทย อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตั้งแผนบูรณาการแผนใหม่ คือแผนบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้สำนักงาน กปร. เป็นแม่งานในการดูแลและจัดลำดับความสำคัญของโครงการที่ใช้ชื่อ ‘อันเนื่องมาจากพระราชดำริ’ และ ‘โครงการหลวง’ ทั้งหมด โดยสาเหตุที่ต้องทำให้อยู่ในรูปแบบของแผนบูรณาการนั้น มี 3 ประการ
.
หนึ่ง เพื่อที่จะลดความซ้ำซ้อนของการดำเนินงาน ไม่ปล่อยให้หลายหน่วยงานเข้ามารุมทำแค่เพียงโครงการใดโครงการหนึ่ง ที่อาจไม่ใช่ภารกิจหลักของหน่วยงานนั้น ๆ
.
สอง เพื่อให้สำนักงาน กปร. สามารถจัดลำดับความสำคัญ และความเร่งด่วนของแต่ละโครงการได้ อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
.
สาม คือเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อเกี่ยวข้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้กลุ่มบุคคลที่ไม่ประสงค์ดี แอบอ้างนำสถาบันกษัตริย์มาใช้เป็นเกราะกำบัง อันจะส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์ได้
.
การรวมงบประมาณเข้าด้วยกันเป็นแผนบูรณาการ จะทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงทำให้พี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างถูกต้อง ไม่ทำให้เกิดข่าวลือผิด ๆ ที่อาจทำให้พระเกียรติยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความเสียหาย
.
ในหัวข้อสุดท้าย เบญจา กล่าวว่า จะอภิปรายถึง งบเทิดพระเกียรติ เช่นงบจัดงาน หรือจัดนิทรรศการในวันสำคัญๆ อย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษา ที่ทั้งเปิดเผยและแฝงอยู่ตามกรมกองต่าง ๆ แบบเบี้ยหัวแตก 1 ล้านบ้าง 5 ล้านบ้าง ปัญหาของเรื่องนี้คือการที่งบถูกหว่านอย่างกระจัดกระจายเกินไป ทำให้นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังเป็นการไม่สมพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์อีกด้วย
.
“เราควรที่จะรวมงบประมาณพวกนี้เป็นก้อนเดียว แล้วมอบหมายให้หน่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงวัฒนธรรม นำไปจัดงานให้สมพระเกียรติ โดยอาจเป็นงบประมาณสำหรับทุกจังหวัดในการจัดงานออกร้าน ให้ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายซื้อขายสินค้าคล้ายงานเทศกาล ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของปีหน้า ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ดีกว่านำงบประมาณไปจัดทำซุ้มตั้งตามสี่แยกหรือหน้าอาคารสำนักงาน ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
.
“สุดท้ายนี้ อยากขอฝากไปถึงหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยที่จะเข้ามาชี้แจงงบประมาณในวาระ 2 ว่าขออย่าให้นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสภา และหวังว่าในปีนี้ ส่วนราชการในพระองค์จะส่งตัวแทนมาเข้าร่วมการพิจารณางบประมาณ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณางบประมาณภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย”
.
#ก้าวไกล #งบประมาณ65 #งบประมาณ #ประชุมสภา #สถาบันพระมหากษัตริย์ #ซุ้มเทิดพระเกียรติ #โครงการพระราชดําริ
.
-----
.
รับชมคลิปการอภิปรายได้ที่นี่ https://youtu.be/S29WY5gi-b8
.
หรืออ่านทวิตเตอร์สรุปได้ที่นี่ https://twitter.com/MFPThai.../status/1399743122872041477...
ooooo
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
36m ·
[ ‘อมรัตน์’ จี้ ปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม ชี้ งบดูเเลผู้ต้องหาในเรือนจำถูกปรับลด แต่ ‘งบปราบผู้ชุมนุม’ เพิ่ม เผยไม่แปลกใจทำไมได้คนค้ายาข้ามชาติมาเป็นรัฐมนตรี ]
.
Amarat Chokepamitkul อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบปีประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เป็นวันที่สอง ว่า จากงบประมาณทั้งสิ้น 3.1 ล้านล้านบาท งบประมาณที่ดูเเลด้านกระบวนการยุติธรรมถูกปรับลดลง มีเพียงสำนักงานอัยการสูงสุดเท่านั้นที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านบาท โดยงบของกระทรวงยุติธรรมถูกปรับลดลง 2,000 กว่าล้านบาท คิดเป็น 10% ของงบประมาณที่รับจัดสรรในปีที่เเล้ว ประเด็นนี้ไม่มีปัญหาหากอ้างถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 แต่ที่รับไม่ได้คืองบประมาณด้านการส่งเสริมยุทโธปกรณ์ของกองทัพบก เเละกองทัพเรือ ถูกปรับเพิ่มขึ้นถึง 2,678 ล้านบาท ต้องถามว่าจะไปรบกับใครในยุคของสงครามเชื้อโรค
.
อมรัตน์ กล่าวอภิปรายต่อไปว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ หลังรัฐประหารมา 7 ปี ปีนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 8 แห่งการสูญเสียโอกาสของประเทศ ได้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา โดยนานาชาติต่างสนใจจับจ้องและตั้งคำถามกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งคำถามต่อวงการยุติธรรมของไทย โดยประชาชนแสดงออกถึงความไม่เชื่อมั่นกับสถาบันตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ
.
“ยกตัวอย่างแบบง่ายและเป็นรูปธรรมที่สุด มาดูที่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มุ่งดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มีทีมทำงานของนายกรัฐมนตรี ไปแจ้งความเอาผิดกับประชาชนที่วิจารณ์ตัวเองกับตำรวจด้วยคดีหมิ่นประมาท แบบนี้ตำรวจที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯจะทำงานให้นายหรือให้ประชาชนก็คงไม่ต้องถาม
.
“ในประเด็นอัยการ คดีการเมืองพบว่าอัยการอาจประวิงเวลาส่งฟ้องศาล เลื่อนแล้วเลื่อนอีก 3-4-5-6 รอบ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเสียทรัพย์ เสียเวลา เสียโอกาสในงานอาชีพวิ่งรายงานตัวต่ออัยการ เมื่อเรื่องมาถึงศาล คดีการเมืองศาลไม่ให้สิทธิผู้ต้องหาในประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีซึ่งผิดหลักการสิทธิมนุษยชนสากล”อมรัตน์ กล่าวต่อว่า เรามีนายกรัฐมนตรีที่นิรโทษกรรมความผิดฐานก่อการกบฏให้ตัวเอง และมีทีมทำงานใกล้ชิดไปแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของท่าน ตอนนี้คดีกองเต็มไปหมด ไปสอบถามได้ที่ สน.นางเลิ้ง ในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะกินเงินเดือนจากภาษีของประชาชน การกระทำเช่นนี้ไม่ละอายจริงๆหรือ และเรื่องล่าสุดที่สร้างความอึดอัดทางการเมืองให้สังคมไทยมากที่สุดคือ การวินิจฉัยสถานภาพรัฐมนตรีสีเทา ผู้เคยเป็นนักโทษคดียาเสพติดในต่างประเทศให้ยังสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงในคณะรัฐมนตรีได้ เรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมไทยมาถึงขึ้นสูงสุด
.
“ในส่วนงบประมาณกับการยุติธรรม ทำไมจึงไม่ไปลดในส่วนที่ควรลด การที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมของเราเป็นที่น่าเชื่อถือ จำเป็นต้องทำ 2 ขาไปพร้อมๆกันคือ หนึ่งต้องเห็นความสำคัญของการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ยอมลงทุนใส่เม็ดเงินงบประมาณเพิ่มให้สูงขึ้น สอง ต้องจริงใจที่จะแก้ไขอุดรอยรั่วของกระบวนการ ขอเริ่มต้นที่งบของกองทุนยุติธรรม ที่มีพันธกิจหน้าที่ในการช่วยเหลือในเรื่องของเงินประกันตัวและค่าจ้างทนาย ปีนี้ถูกตัดงบอุดหนุนลงจาก 150 ล้าน เหลือเพียงแค่ 30 ล้านบาท ประเด็นที่สำคัญกว่างบที่ถูดตัดลดลง คือการพิจารณาของกองทุนยุติธรรมที่ล่าช้า เกิดผลกระทบกับผู้ต้องคดี ซึ่งความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม คนจนคนยากไร้ต้องติดคุกรอไปก่อนแล้วนานนับเดือน ต่อมางบเรือนจำหรือกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นกรมที่ใหญ่ที่สุดของกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้มีผู้ต้องขังทั้งนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดีมากกว่า 25,000 คนทั่วประเทศที่ติดโควิดในเรือนจำ คำถามคือเหตุใดพื้นที่ปิดแบบเรือนจำจึงกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ระดับนี้ได้ นอกจากความไร้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการแล้ว สิ่งสำคัญเกิดจากได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสม มีการเบียดบังเอารัดเอาเปรียบ และทุจริตกินหัวคิว ที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่งคือผู้ต้องหาการเมือง ที่ถูกขังไม่ได้สิทธิประกันตัว ทั้งที่ยังไม่มีการนัดสืบพยานนัดแรกเลยด้วยซ้ำ พวกเขายังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ตามหลักการของกฎหมาย
เกือบทุกคนล้วนติดโควิดจากคลัสเตอร์ใหญ่ในเรือนจำ จึงสะท้อนให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม และการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ผิดพลาดเช่นนี้ เกิดจากความไร้วิสัยทัศน์ขาดฝีมือในการบริหารวิกฤติชาติ แต่อยากเป็นใหญ่ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
.
อมรัตน์ กล่าวต่อไปถึง กรณีที่เยาวชนตั้งเฟสบุคเเฟนเพจ #ย้ายประเทศกันเถอะ ซึ่งเปิดมาแค่ 3 วันมีสมาชิกเกือบ 6 แสนคน และเกิน 1 ล้านคนเมื่อเปิดเพจเพียง 11 วันเท่านั้น ตัวเลขหลักล้านในเวลาไม่กี่วัน สะท้อนว่า 7 ปีที่ผ่านมาทำลายความน่าอยู่ของประเทศนี้ไปมากมายเพียงใด โดยเรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง บรรจุคนทั้งสิ้น 3 แสนกว่าคน เป็นคดียาเสพติด 2 แสนกว่าคน ในจำนวนนี้เป็นนักโทษที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยังไม่ถือเป็นนักโทษเด็ดขาดถึง 64,248 ราย (ตัวเลขเดือน ก.ย.63) การขาดงบประมาณทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก และสภาพแวดล้อมในเรือนจำที่ย่ำแย่ แทนที่จะเป็นสถานที่ปรับปรุงพฤตินิสัย กล่อมเกลาและให้โอกาสฝึกอาชีพ กลับกลายเป็นสถานที่ซ้ำเติมและบ่มเพาะอาชญากรเพิ่มขึ้นเพราะมีอัตราทำผิดซ้ำสูงมาก โดยเฉพาะยาเสพติดขณะนี้มีเทคโนโลยีใหม่ ที่ศาลทั่วนิยมนำมาใช้แก้ปัญหาคนล้นคุกและคนทำผิดซ้ำ และเพื่อลดวงเงินประกันตัวผู้ต้องหา นั่นคือการใช้กำไล EM หรือกำไลอิเลคโทรนิค เป็นเทคโนโลยี่ติดตามตัวเพื่อการควบคุมที่มีประโยชน์มากและควรเพิ่มงบประมาณซื้อมาใช้เพิ่มขึ้น รมต.กระทรวงยุติธรรมเองก็เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปลายปี 62 ว่ากำไล EM เป็นสิ่งจำเป็น แต่ปีนี้เมื่อศาลยุติธรรมยื่นของบซื้อกำไล EM ไป 100 ล้าน กลับถูกสำนักงบประมาณตัดออกเหลือเพียง 68 ล้าน งบยิ่งน้อยลงก็ตัดโอกาสการได้รับประกันตัวไปมากเท่านั้น ประเด็นคือรัฐบาลมีงบเพียงพอในการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ และยุทโธปกรณ์ มาใช้ปราบปราบผู้ชุมนุมที่เป็นฝั่งตรงข้าม แต่ทำไมไม่มีงบพอที่จะซื้อกำไล EM มาให้กรมราชทัณฑ์และศาลใช้อย่างเพียงพอ
.
อมรัตน์ กล่าวว่า ในวันนี้จะพูดถึงบ้านหลวงหลังสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากไม่ชิงใช้อำนาจพิเศษออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองไปเสียก่อน โดยปีนี้กรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณ 13,000 กว่าล้าน ลดลงจากปีก่อนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ถ้ามาดูเนื้อใน ก็จะเห็นว่าประมาณ 5,000 ล้าน เป็นงบบุคลากร อีกประมาณ 2 พันล้าน เป็นงบก่อสร้างปรับปรุงเรือนจำ และอีก 6,000 ล้าน เป็นงบสำหรับดูแลปรับปรุงนักโทษจำนวน 3 แสนคน ซึ่งประมาณ 250,000 เป็นนักโทษเด็ดขาด และก็อีก 60,000 เป็นผู้ต้องขังที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด
.
“เมื่อลองคำนวณดู พบว่าค่าอาหารผู้ต้องขังประมาณ 4,400 ล้านบาท หารเฉลี่ยแล้วตกมื้อละ 13 บาทต่อคน เมื่อเทียบกับงบอาหารที่เด็กนักเรียนได้งบมื้อละ 21 บาทต่อคน ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพอาหาร แล้วอาหารในคุกจะแย่ขนาดไหน ปัญหาคนล้นคุกนอนเกยก่ายกัน ฟ้องชาวโลกว่ารัฐบาลไทยไม่มีวิสัยทัศน์ในให้โอกาสคืนคนดีสู่สังคมอย่างนานาอารยะประเทศ อยากให้ไปดูเรือนจำที่มีมาตรฐานอย่างเรือนจำออสเตรเลีย ยังคืนคนดีกลับมาให้นายกไทยตั้งเป็นรัฐมนตรีได้เลย”
.
ในส่วนงบประมาณก่อสร้างเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ในปีนี้ ก็ยังทำแบบเดิม ๆ คือสักแต่สร้างเพิ่มแล้วก็ปรับปรุงเล็ก ๆ น้อย ๆ เหมือนทุก ๆ ปี ย่ำกับที่ไม่มีการพัฒนา ไม่มีแนวคิดก้าวหน้าสร้างสรรค์ใด เมื่อถามว่าเตียงนอน 2 ชั้นที่เคยเห็นอยู่ในงบประมาณว่าทำเพื่อลดความแออัด ให้มีสุขภาวะที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนที่โฆษณาไว้ตอนนี้มีกี่เตียงหรือกี่เรือนจำ ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็นใด ๆ เลย
.
“สุดท้ายนี้ขอเรียกร้องให้เปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมของเราให้เป็นกระบวนการยุติธรรมที่พึงประสงค์ หยุดคุกคามประชาชนถึงบ้าน มีมาตรฐานในการดำเนินคดี ปฏิบัติต่อทุกฝั่งทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม หยุดใช้ความยุติธรรมสองมาตรฐานแบบที่เป็นอยู่ที่ฝ่ายหนึ่ง แค่หายใจแรงก็บอกว่าผิด อีกฝ่ายค้ายาเสพติดยังสามารถรัฐมนตรีได้ เพราะ “ มันคือแป้ง”” อมรัตน์ ระบุ
.
#ก้าวไกล #งบประมาณปี65 #ยุติธรรม #เรือนจำ #บ้านพักหลวง #สองมาตรฐาน
อมรัตน์ : งบเรือนจำถูกลด งบปราบผู้ชุมนุมกลับเพิ่ม ไม่แปลกใจทำไมคนค้าแป้งเป็นรัฐมนตรี
Jun 1, 2021
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
1 มิ.ย. 2564 - อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จี้ ปฏิรูปกระทรวงยุติธรรม ชี้ งบดูเเลผู้ต้องหาในเรือนจำถูกปรับลด แต่ ‘งบปราบผู้ชุมนุม’ เพิ่ม เผยไม่แปลกใจทำไมได้คนค้ายาข้ามชาติมาเป็นรัฐมนตรี