วันศุกร์, ตุลาคม 04, 2562

ชวนอ่าน บทสนทนา "Voice TV กับ ธนาพล อิ๋วสกุล' การเมืองไทยร่วมสมัยหลัง 2475 พลังการลุกขึ้นสู้ของประชาชน และการโต้กลับของกลุ่มอำนาจเก่า และนิทรรศการ 'ประจักษ์ | พยาน' ภาพสะท้อนความรุนแรง เสรีภาพที่ถูกปิดกั้น และปฐมบทของ 6 ตุลา 2519


"ตุลาคม" เดือนแห่งความทรงจำของประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 เวลาได้เดินทางมาจนถึง ตุลาคม 2562 การต่อสู้ระหว่างประชาชน และกลุ่มอำนาจเดิม ยังคงดำรงอยู่ให้เห็นเป็นขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
.
"ผมคิดว่า จุดชี้ขาดทางการเมืองไทยที่เห็นอยู่ว่าพลังอำนาจเก่า ไม่ยอมอย่างเด็ดขาดที่ให้ประชาชนตัดสินใจเอง เลือกผู้นำเองทั้งหมด รูปแบบก็เลยกลายเป็นความขัดแย้งอย่างที่เราเห็น"
.
โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา"

"เราคิดถึงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา แต่โครงการนี้ถ้าพูดกัน ก็ใช้เวลา 5-10 ปี แล้วก็พูดจริงๆ นะ มีแนวโน้ม มีความเป็นไปได้ที่จะไม่สำเร็จ ผู้จัดทำอาจจะมีปัญหาบางอย่าง แต่เราคิดว่าต่อให้โครงการพิพิธภัณฑ์ฯ ไม่สำเร็จ อย่างน้อยของที่เราได้เก็บในตอนนี้ มีประตู ลำโพง สิ่งพิมพ์อีกเป็นจำนวนมาก รวมถึง กางเกงของผู้เสียชีวิตในวันนั้น ที่พี่สาวเขายังเก็บไว้อยู่ในปัจจุบัน แล้วเขาเอาออกมาให้ยืม เราอยากจะได้ สิ่งที่มีพลัง (Powerful) พอสมควร ในแง่ของการจัดแสดง คือมันไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ หรือนิทรรศการที่มันสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว มันเป็นแค่ตัวจุดประเด็น เปิดขึ้นมา เราคิดว่าประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่จำนวนของ มันอยู่ที่ประเด็น อยู่ที่สิ่งของว่า มันส่งผลกระทบ (Impact) แค่ไหน ผมเคยไปดูนิทรรศการบางอย่าง มีของจัดแสดงแค่ชิ้นเดียวเอง ชิ้นเดียวแต่พื้นที่ทั้งฮอล เพื่อที่จะบอกว่า เห้ย นี่มันสำคัญอย่างไร มันไม่ได้เตรียมตัวอะไรมากมาย เราแค่เอาของที่มีอยู่ในมือ เพื่อทำให้กระตุ้นว่า โครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มขึ้นแล้ว"



(ประตูแดงที่ จ.นครปฐม )


จากประตูแดง สู่ความรุนแรง 6 ตุลา

"ความสำคัญของประตูแดง ต้องเข้าใจว่าตอนที่เราไปเจอ ประมาณ ปี 2560 ห่างจากปีที่เกิดเหตุถึง 41 ปีนะ คือประตูมันยังอยู่ที่เดิมเลย เหมือนรอให้เราไปหา ประตูแดงสำหรับผม ก็คือปฐมบทของความรุนแรง ในวันที่ 6 ตุลา"

"ตอนนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้ามาประเทศไทย ช่วงเดือนกันยายน (หลังถูกขับไล่ในปี 2516) ก็มีการชุมนุม คัดค้าน ทั่วประเทศ เหตุการณ์อันหนึ่งก็คือ ช่างไฟฟ้าที่นครปฐม 2 คน ที่เขาเป็นแนวร่วม ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ไปติดโปสเตอร์ คือต้องเข้าใจตอนนั้นมีเครือข่ายทั่วประเทศ เกิดเหตุการณ์ฆาตรกรรม มีการฆ่า แล้วนำไปแขวนคอ ที่ประตูรั้ว ในเขตอำเภอเมือง จ.นครปฐม แล้วก็เป็นข่าวไปทั่วประเทศ ลักษณะของการฆ่าแขวนคอ มันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสะพรึงกลัว"

เหมือน 6 ตุลา คุณแค่ยิงก็ตายแล้ว ทำไมต้องเอาศพมาแขวนคอ มาฟาด มันคือกระบวนการเดียวกัน นอกจากฆ่าแล้วก็คือการสร้างความสยองขวัญ บอกเห้ย กูเอาจริง กูสามารถฆ่าได้ทุกคน แล้วกูเหี้ยมโหดมาก

"ดังนั้น พอมีเหตุการณ์ที่ช่างไฟฟ้านครปฐมถูกแขวนคอ ก็นำมาสู่การชุมนุมประท้วง มีการแสดงแขวนคออันหนึ่ง (การแสดงที่เป็นข่าวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดาวสยามว่านักศึกษาแสดงละครแขวนคอคนเหมือน ร.10 ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) เหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ตั้งแต่คืนวันนั้น จนถึงวันที่ 5 มีการปลุกระดมโดยวิทยุยานเกราะ เครือข่ายอะไรทั้งประเทศ โหมทั้งคืนว่า "นักศึกษา พวกนี้ล้มเจ้า" ตั้งใจทำลายสถาบัน จริงๆ วันที่ชุมนุม วันที่ 6 ตุลา ไม่ใช่แค่ธรรมศาสตร์ มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย (การชุมนุมของกลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน) คนก็เป็นหมื่น ฝ่ายขวาเรียกร้องให้จัดการนักศึกษาอย่างเด็ดขาด"

ลำโพงที่มีรอยกระสุน ตัวแทนเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น

สำหรับวัตถุที่จะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการอีกชิ้น คือ 'ลำโพง' ที่มีรอบกระสุน ธนาพล เล่าว่า เขาไปเจอลำโพงตัวนี้ด้วยความบังเอิญ ในห้องกิจกรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งที่เขาศึกษาอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้คิดจะทำอย่างไรกับลำโพงตัวนี้ กระทั่งต่อมามีการปรับปุงอาคาร และห้องกิจกรรม ธนาพลจึงนำลำโพงตัวนี้ออกมา และเมื่อเขาได้คิดที่จะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ลำโพงตัวนี้จึงเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานของความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา

ธนาพล ให้ความหมายว่า "ลำโพงเป็นตัวแทนของ เสรีภาพ กระจายเสียง แล้วก็รอยกระสุนที่เราเห็น กระสุนเท่าที่เช็คมาเป็นปืนลูกซอง ที่ยิงแล้วมันกระจาย 1 เป็น 8 อย่างน้อย 3 นัด ที่ยิงเข้ามาในนี้ ยิงจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ลักษณะของตัวนี้ มันก็ทำให้เวลายิงเข้ามา อย่างน้อยทำให้ลำโพงตัวนี้ เสียงมันจะเงียบ ดังนั้น ผมคิดว่า อย่างน้อย อันนี้คือสัญลักษณ์อย่างดีเลย ทั้งในแง่ของตัวแทนของเสรีภาพ เสียง ความรุนแรง และการปิดปาก"



(ธนาพล และลำโพงที่มีรอยกระสุน ที่เขาค้นพบในห้องกิจกรรมของมหวิทยาลัย)


แสดงว่ามีความพยามปิดกั้นเสียงที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้สื่อสารกันในขณะนั้น?

"เป็นปกติอยู่แล้ว เวลาคุณปราบปรามการชุมนุม อันแรกสุดคุณต้องจัดการสื่อสาร การสื่อสารที่สำคัญที่มีอยู่ตอนนั้น คือเสียงที่มันกระจาย อันแรกที่คุณจะปราบคือเสียง ก็ยิงมาที่เวที"



การปราบปรามการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519)


กางเกงของผู้เสียชีวิต ความเจ็บปวดของคนที่ยังมีลมหายใจ

"ส่วนกางเกง เป็นของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้น คือ คุณดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง เป็นคนนครศรีธรรมราช เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง รับหน้าที่เป็นการ์ด หน่วยรักษาความปลอดภัย แล้วก็เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลาคม ถ้าประตูแดงคือตัวแทนเรื่องความรุนแรง ฆาตรกรรมที่เรียกว่า ความสยองขวัญ ลำโพงแทนเสรีภาพที่ถูกปิดกั้น ผมคิดว่าตัวกางเกงก็คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล ที่พี่สาวเขายังเก็บเอาไว้ แล้วรอวันที่จะเปิดเผยออกมา ก็เป็นหน้าที่ของเราในแง่ของคนทำนิทรรศการทำพิพิธภัณฑ์ ที่จะดึงวัตถุจัดแสดงเอาพวกนี้มา ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างไร ในแง่ของการจัดแสดง" ธนาพล กล่าว

ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 ตุลาคม 2562 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นอกจากนี้ ทุกท่านสามารถร่วมสนับสนุนทางการเงิน เพื่อความเป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ให้เกิดขึ้นได้จริง ที่ ชื่อบัญชี โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา หมายเลขบัญชี 172-0-31365-2 ธนาคารกรุงไทย สาขา ซอยอารีย์ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา- October 6 Museum Project
.
ชวนอ่าบทความเต็ม
https://voicetv.co.th/read/RHlqcYAdH