วันเสาร์, ตุลาคม 05, 2562

แนะ 'ฟ้องกลับ' บุรินทร์ จอมฟ้องเหวี่ยงแห ปั่นกระแสล้มราชอาณาจักร


จากการที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยะลายิงตัวเองเพราะถูกกดดันให้ตัดสินคดีตามสั่งของอธิบดี ย้อนไปถึงการที่ จอมฟ้องตัวแทน กอ.รมน.แจ้งความระดับหัวหน้าพรรคการเมือง นักวิชาการและสื่อ กราวรูด ๑๒ คน ข้อหาก่อความไม่สงบ มาตรา ๑๑๖ เนื่องจากวิจารณ์รัฐธรรมนูญ

แสดงถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เที่ยงธรรม หนักข้อยิ่งนักแล้วในทุกวันนี้ การใช้กฎหมายบังคับให้เป็นไปตามต้องการของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร ด้วยข้ออ้าง ความมั่นคงสุดโต่ง ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ

เมื่อสองสามวันก่อนเห็นข่าว โดย @TichilaThaipbs เสนอคลิปรายงาน “ภาพวินาทีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเเย่งชิงผู้ต้องหาเเละของกลาง หลัง จนท.ประมง จ.นครศรีธรรมราช จับกุมเรือคราดหอยที่อ่าวปากนครเขตสร้างกระโจมบ้านปลา ที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน
 
โดยจับกุมผู้ต้องหา ๑ คนเเละเรือ ๑ ลำ เเต่ถูกกลุ่มคนแย่งชิงผู้ต้องหา” ไป แสดงว่าชาวบ้านไม่เชื่อฟังอำนาจทางการกันแล้ว หรือมิฉะนั้นอาจเห็นว่าหากยินยอมตามกระบวนการของเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล้าแย่งชิงตัวผู้ถูกจับกุม

สะท้อนไปถึงการประพฤติเป็นนิจสินของ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ เที่ยวไล่ฟ้องข้อหาร้ายแรงด้านความมั่นคงต่อนักกิจกรรมนับเป็นร้อยๆ ราย ฟ้องแล้ว “เบี้ยวนัดศาลหรือไม่ส่งตัวแทนไปให้การ”

เป็นชั้นเชิงวิชามารทหารการเมือง แช่ดอง คดี เป็นชนักปักหลังเอาไว้ เพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นส่งเสียงคัดค้านต่อต้านการครองอำนาจของ คสช.กันอีก ทำนองเดียวกับการไปยื่นฟ้อง ๑๒ ผู้ร่วมอภิปรายหัวข้อ “พลวัฒแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จังหวัดปัตตานี

ข้อหาในคำฟ้องที่ว่า “ได้มีการพูดนำเสนอข้อมูลในลักษณะมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระทั่งกระเดื่องต่อประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินนั้น”

เป็นข้อหาโคมลอย และกล่าวหาโดยไม่คำนึงถึงหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง สมควรที่จะ ฟ้องกลับดังที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาฯ สกสส.ชี้ว่าการกระทำของบุรินทร์และ กอ.รมน. “ใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือปิดปาก คุกคาม ข่มขู่ประชาชนเกินเหตุ”


นอกเหนือจากนั้น การที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ในฐานะประธานกรรมาธิการกฎหมายฯ ของสภาผู้แทนฯ ดำริจะเรียกตัว พล.ต.บุรินทร์เข้าให้การ ก็จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงอย่างไร้ขอบข่ายของ กอ.รมน.ชลอและเพลาลงได้บ้าง
การที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่แสดงความเห็นคัดค้านต่อปิยบุตรว่า การเรียกตัวบุรินทร์เป็นการใช้อำนาจสภาฯ แทรกแซงการดำเนินการทางกฎหมาย เป็นเพียงการ สำคัญผิด ของ ส.ส.ที่สยบยอมต่อการสืบทอดอำนาจของทหารคนหนึ่งเท่านั้น

คำชี้แจงของปิยบุตรว่า “มีกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่เคยถูก พล.ต.บุรินทร์แจ้งความ ไม่ว่าจะเป็นคดี ป.อาญา ม.๑๑๖ คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ได้ร้องเรียนเข้าไปยังกรรมาธิการกฎหมายเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการสอบข้อเท็จจริง

“และหนีไม่พ้นเรียกบุคคลเกี่ยวข้องมาชี้แจง เป็นอำนาจของของ กมธ.กฎหมายฯ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกินกว่าขอบเขต” แต่อย่างใด น่าจะทำให้ 'หมอระวี' หันกลับไปสำรวจบทบาทของตนในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่บอกว่าพล.ต.บุรินทร์เองควรจะเลือกฟ้องเฉพาะผู้ที่มีความผิดจริง ไม่ใช่ หว่านแห

นั่น 'หมอระวี' คงจะพูดเพื่อให้ตนเป็นข่าวและมีบทบาทกับเขาบ้างเท่านั้น หรือเพียงต้องการแนะว่าผู้ที่ควรถูกฟ้องคือ อจ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรฯ และผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๑


ประเด็นดังกล่าวถูกจุดกระแสโดย นสพ.ไทยโพสต์ที่กล่าวหาเป็นข้อเสนอ “ให้ไทยเลิกเป็นราชอาณาจักร” และอ้างว่าเป็นพวกเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม ต้านบิ๊กตู่ ซึ่งได้ อจ.เกษียร เตชะพีระ ช่วยสอนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้นให้กับสื่อเสี้ยมฉบับนั้น

ว่าไทยโพสต์สับสนมั่วซั่วเรื่อง สหพันธรัฐ กับ ราชอาณาจักรหรือ Federal State กับ Kingdom นั้น “เป็นคนละเรื่องกันและมิได้ขัดแย้งกัน” โดย อจ.เกษียรยกตัวอย่าง ราชอาณาจักรที่เป็นสหพันธรัฐอย่างชัดเจนได้แก่ ราชอาณาจักรเบลเยียม (Kingdom of Belgium)...

ส่วนสหราชอาณาจักร (The United Kingdom) ก็มีแนวโน้มการปรับเปลี่ยนรูปแบบรัฐไปเป็นสหพันธรัฐมากขึ้นตามลำดับนับแต่มีการโอนอำนาจของส่วนกลางให้แก่ท้องถิ่น (devolution)...ในสมัยรัฐบาลนายกฯ โทนี แบลร์ เป็นต้นมา

จนมีการวิเคราะห์โต้แย้งทางวิชาการกันเรื่องนี้ และโดยทั่วไปพิจารณาว่าสหราชอาณาจักรเป็น "กึ่งสหพันธรัฐ" (quasi-federal state)...

ข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงควรได้รับการพินิจพิเคราะห์อย่างถูกต้องเที่ยงตรงตามหลักวิชาการ แทนที่จะฉวยมาบิดเบือนกล่าวหากันอย่างมักง่าย”