วันอาทิตย์, ตุลาคม 06, 2562

เปิดใจนักแสดงและบทละครแขวนคอ ย้อนดูการ 'ปั่น' ความเกลียดชังก่อน 6 ตุลา (ประชาไท)





เปิดใจนักแสดงและบทละครแขวนคอ ย้อนดูการ 'ปั่น' ความเกลียดชังก่อน 6 ตุลา


ที่มา ประชาไท
เยี่ยมยุทธ สุทธิฉายา สัมภาษณ์ เรียบเรียง
กิตติ พันธภาค สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ

อภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงละครที่จำลองการแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่ถูกสื่อฝ่ายขวาปั่นจนเกิดการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลา 2519 เล่าย้อนความทรงจำ วันนั้นแสดงอะไรกัน ถอดความคิด ความเข้าใจต่อเงื่อนปมที่เคยเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการสังหารหมู่ซึ่งเปลี่ยนชีวิตและโฉมหน้าทางการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้




(ที่มา: บันทึก 6 ตุลา)

แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย
แผ่นดินเดือด!
ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ

เป็นข้อความของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2519 พร้อมกับภาพการแสดงละครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่จำลองฉากแขวนคอของ 2 พนักงานการไฟฟ้านครปฐมที่ถูกฆ่าแล้วแขวนคอเสียชีวิตเมื่อ 24 ก.ย. 2519 ศูนย์ฯ ในที่นี้ก็คือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์กรระดับอุดมศึกษา 11 สถาบันที่เป็นแกนนำในการจัดการชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำเผด็จการที่ประชาชนประท้วงขับไล่เมื่อ 14 ต.ค. 2516 จนต้องหนีออกนอกประเทศ ก่อนจะเดินทางกลับมาในปี 2519 ในฐานะพระภิกษุ การประท้วงเริ่มต้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 28 ก.ย. 2519 ก่อนย้ายไปที่สนามหลวงและ มธ. ท่าพระจันทร์

หลังจากข่าวถูกเผยแพร่ ประหนึ่งฟางเส้นสุดท้าย สังคมที่ถูกปลุกให้หวาดกลัวสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อยู่แล้วได้ประดังประเดกระแสต่อต้านและความโกรธแค้นชิงชังไปยังกลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ นักศึกษาประท้วงต้านพระถนอมแต่กลับถูกมองในฐานะภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบกัน เช้าตรู่วันที่ 6 ต.ค. นักศึกษาใน มธ. ถูกตำรวจและกลุ่มมวลชนฝ่ายขวาล้อมปราบ เข่นฆ่าอย่างทารุณ ก่อนที่จะมีการรัฐประหารในวันเดียวกัน แล้วเรื่องในวันนั้นก็ถูกแสร้งทำเป็นว่าลืมไป

กาลเวลา 43 ปีเปลี่ยน อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ผู้เล่นบทคนถูกแขวนคอ ปรากฏรูปหราอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ดาวสยามฉบับนั้น ให้กลายเป็นพนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่เกษียณอายุราชการมาแล้ว 3 ปี เขาทำในส่วนของบรรณาธิการอนุสาร อสท. ปัจจุบันอภินันท์ยังเป็นนักเขียน ช่างภาพอิสระ ขายกล้าพันธุ์โกโก้และกาบหมาก เขายังเดินเหินสะดวก สีหน้าแจ่มใส แม้เคยได้รับเชื้อวัณโรค

ในวันที่มีอายุอานาม 63 ปี ความทรงจำของเขาต่อเหตุการณ์การแสดงละคร การล้อมปราบ และการถูกขังคุกเป็นเวลา 2 ปีเป็นอย่างไร วันนั้นเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ความคิดแบบไหนที่เขาใช้จัดการความทรงจำบาดแผลในฐานะผู้ถูกสื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังจนนำมาซึ่งโศกนาฏกรรมใหญ่และอุบาทว์ที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย ประชาไทคุยกับอภินันท์เพื่อถอดความคิดเหล่านั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 43 ปีเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

4 ต.ค. 2519 เปิดม่านละครลานโพธิ์

“ผมอยู่ในกิจกรรมนักศึกษาประเภทที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นกิจกรรมการแสดง แต่ว่าคนทำกิจกรรมในธรรมศาสตร์ค่อนข้างมีความเห็นทางการเมืองเป็นเนื้อเดียวกัน ก็คือกระแสของธรรมศาสตร์ที่มีคติว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ทางเดียวกันก็คือยืนอยู่ข้างประชาชน”

อภินันท์เริ่มเล่าเหตุการณ์ที่ชักนำไปสู่การแสดงละครในวันนั้น ชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ได้รับมติจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ให้ทำอะไรสักอย่างเพื่อชักนำนักศึกษาส่วนใหญ่มาร่วมกิจกรรมชุมนุมต่อต้านการกลับมาของพระถนอมแม้จะอยู่ในฤดูการสอบ ในวันนั้นเขามีอายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และเป็นนักกีฬาวิ่ง เขาบอกว่านักกีฬาส่วนมากเป็นฝ่ายขวาที่มักวิจารณ์ขบวนการนักศึกษา

“เราก็คิดว่าวันเสาร์ที่ 4 ตุลาคมเป็นวันที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมาสอบในที่เดียวกันคือที่คณะศิลปศาสตร์ ปี 1 ทั้งหมดเขาเรียนรวมกัน ถ้าปี 1 ทั้งหมดมาชุมนุมก็จะเป็นพลัง ทำอะไรได้เยอะ เราก็เลยสร้างละคร street theatre ละครกลางถนนขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เรียกร้องเชิญชวน ยิงเข้าไปในจิตใจของคนดูว่าเราจะต้องมาเข้าร่วมชุมนุมกัน”

การแสดงถูกจัดแจงบทขึ้นมา โดยจัดฉากเป็นการจำลองการแขวนคอ 2 พนักงานการไฟฟ้า ชุมพร ทุมไมยและวิชัย เกษศรีพงศา ที่ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม พวกเขาถูกฆาตกรรมแล้วนำไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรร ต.พระประโทน ต่อมาเรียกประตูนั้นกันในชื่อเล่น ‘ประตูแดง’

รื้อประตูแดงชนวนเหตุ ‘6 ตุลา’ รอแสดงนิทรรศการบันทึกความรุนแรงรัฐต่อ ปชช.


เดิมทีวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ (ปัจจุบันเป็นซินแสชื่อดัง) รับบทแขวนคอคนเดียว แต่อภินันท์เล่าว่าเมื่อซ้อมกันจริงๆ แล้วพบว่าจำเป็นต้องมีคนผลัดเปลี่ยน ตรงนั้นเป็นจังหวะที่อภินันท์บังเอิญเดินมาพอดี

“ช่วงเช้าวันนั้น ก่อนที่จะมีการแสดงผมเผอิญเดินเข้าไปในที่ชุมนุมเพราะนัดเพื่อนไปดูหนังกัน แล้วเพื่อนไม่มา ผมก็ไม่รู้จะทำอะไรก็โต๋เต๋เดินไปที่ชุมนุม พอไปถึงก็เห็นวิโรจน์เขาแขวนคอ สักพักเขาบ่นไม่ไหวก็หาคนจัดแสดงเพิ่ม เงื่อนไขก็คือคนที่ไปแขวนบนนั้นต้องเป็นคนตัวเล็กๆ เบาๆ ในที่สุดผมไม่มีอะไรทำก็อาสาเล่นเอง”

การแสดงดำเนินไประหว่างที่มีการชุมนุมของนักศึกษาบริเวณด้านนอกมหาวิทยาลัย อภินันท์เล่าว่าเนื่องจากมีการชุมนุม และมีการบอกนักข่าวก่อนว่าจะจัดกิจกรรมการแสดง ทำให้มีนักข่าวมาถ่ายรูปค่อนข้างเยอะ อภินันท์เล่าบทละครที่เขาต้องไปเล่นฉากแขวนคอสลับกับวิโรจน์ว่าเป็นดังนี้

“ให้นักศึกษานอนเรียงกันเป็นบันได แล้วก็ให้มีนักศึกษาคนหนึ่งแสดงเป็นนักศึกษา แต่งตัวทำท่าเหมือนจะไปสอบ ระหว่างที่เดินไปก็งุนงงว่ามีคนมานอนเรียงราย บาดเจ็บล้มตายอยู่ข้างหน้า ขวางทางเขาที่จะไปสอบ แล้วก็มีคนๆ หนึ่งยันตัวลุกขึ้นมา นักศึกษาก็ถามว่า คุณเป็นใคร มาทำไมที่ตรงนี้ ฉันจะขึ้นไปสอบ”

“พวกฉันเป็นนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พวกฉันบาดเจ็บล้มตายเพราะเรียกร้องประชาธิปไตยให้ได้มา แล้วเธอจะยังไปสอบอีกหรือในเมื่อเหตุการณ์ที่พวกฉันต่อสู้ล้มตายไปได้กลับมาแล้ว” นักศึกษาที่นอนเป็นบันไดพูด

“ฉันก็จะไปสอบสิ ฉันมีหน้าที่ที่จะต้องไปสอบ ฉันมีหน้าที่ไปเรียน มีความก้าวหน้า ความรุ่งโรจน์รออยู่ข้างหน้า” คนที่เล่นเป็นนักศึกษาตอบกลับ

“ก็ได้ เธอจะไปสอบก็ได้ พวกเธอก็ข้ามศพพวกฉันไปทีละศพ” (อ่าน 14 ตุลา เพิ่มเติมที่วิกิพีเดีย)

อภินันท์เล่าว่า หลังจากนั้นนักศึกษาก็ก้าวข้ามไปทีละศพๆ สุดท้ายก็ไม่ไหว ตัดสินใจทิ้งหนังสือแล้วไม่สอบ ละครนี้เล่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนที่การสอบจะเริ่ม บางครั้งตัวละครก็ชี้มายังวิโรจน์และอภินันท์ที่ผลัดกันแขวนคออยู่ ท้ายที่สุด นักศึกษาราวร้อยละ 20 ไม่เข้าสอบ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศงดสอบ

5 ต.ค. 2519: ถูกใช้เป็นชนวนเหตุ 6 ตุลา

เหตุการณ์หลังจากนั้นก็ตามที่ทราบกัน ข่าวเรื่องการเล่นละครแขวนคอถูกเผยแพร่ก่อนที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ จากนั้นภาพอภินันท์ที่ถูกแขวนคอถูกนำไปใส่สีตีไข่ในหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กรอบบ่ายวันที่ 5 ต.ค. ในลักษณะภาพและมุมที่เหมือนเจ้าฟ้าชายที่สุด อภินันท์ที่เคยทำงานเป็นสื่อมวลชนตั้งข้อสงสัยว่า หากเหตุการณ์ที่เกิดในตอนบ่ายวันที่ 4 ต.ค. เป็นการอาฆาตมาดร้ายจริง ข่าวใหญ่เช่นนั้นสามารถตีพิมพ์ได้ตั้งแต่กรอบเช้าของวันที่ 5 ต.ค.แล้ว

อย่างไรก็ดี ฟางเส้นสุดท้ายถูกโหมกระพือจากฝ่ายขวาจนเป็นไฟแค้น ความพยายามของนักศึกษาเมื่อ 5 ต.ค. ที่ชี้แจงว่าการแสดงละครไม่ได้มุ่งหวังจะแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาทก็สายเกินไป เพราะวันนั้นมวลชนฝ่ายขวาได้ล้อมมหาวิทยาลัยเอาไว้ เลยเวลาที่นักข่าวจะส่งข่าวปิดต้นฉบับให้ทันวันนั้น และการล้อมปราบก็เกิดขึ้นในเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนจะตามมาด้วยการรัฐประหารที่นำโดย พล.อ.บุญชัย บำรุงพงศ์ และ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ (อ่านเพิ่มเติมที่บันทึก 6 ตุลา)

“ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวลือแล้วว่านักศึกษาจับเจ้าฟ้าชายไปแขวนคอ นักศึกษาเจตนาแสดงความอาฆาตมาดร้าย เอารูปของเจ้าฟ้าชายไปแขวนคอ ทำให้สับสนมาก เอาเฉพาะรูปหรือเอาคนไปแต่งตัวเหมือนเจ้าฟ้าชายไปแขวนคอ ซึ่งมันก็สร้างกระแส และวิทยุหลายๆ แห่งก็ปลุกระดมกันใหญ่เลยว่านักศึกษามันอาฆาตมาดร้าย มีเจตนาโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์”

“พวกฝ่ายขวาทั้งหลายที่มีความสามารถทางการพูดถูกเรียกระดมมาออกทีวีรายการสด ออกวิทยุรายการสด ซัดกันใหญ่เลย ปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านมาชุมนุมเยอะแยะมากมายมาที่ลานพระรูป (พระบรมรูปทรงม้า) ตอนเย็น เรียกว่าปลุกระดมภายในเวลาเพียงครึ่งวัน เรียกคนมาด่านักศึกษาใหญ่โตเป็นเรื่องเป็นราว”

อภินันท์รีบเดินทางจากบ้านกลับมายัง มธ. ในวันที่ 5 ต.ค. หลังได้ข่าวเรื่องการแสดงละครผ่านทางวิทยุ ซึ่งในช่วงที่เขาเดินทางมาถึง มธ. กลุ่มฝูงชนก็ล้อม มธ. เอาไว้แล้ว ทำให้อภินันท์ผู้มีหน้าแปะหราอยู่บนหนังสือพิมพ์ดาวสยามต้องเดินฝ่าม็อบเข้าไปในมหาวิทยาลัย

เรื่องตลกร้ายก็คือ นอกจากไม่มีใครในม็อบที่คุ้นหน้าเขาแล้ว อภินันท์เองยังไม่คุ้นหน้าตัวเองในหนังสือพิมพ์ด้วย

“เข้าไปในธรรมศาสตร์ตอนกลางคืนก็มีคนล้อมอยู่ข้างนอก เขาก็ไม่รู้ว่าผมเป็นใคร มีคนถือหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ชี้หน้าว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ไปดู ก็ไม่เหมือนเลยนะ มันเป็นรูปหน้าใครก็ไม่รู้ หน้าเหมือนถูกตบแต่ง แล้วถ่ายด้วยมุมที่เสยขึ้นไป หน้าผมปกติก็ไม่เหมือนนะ ไม่เคยมีใครมาบอกว่าผมหน้าเหมือน”

“ผมยื่นหน้าเข้าไปดูชัดๆ ก็ไม่เห็นมีใครสังเกตสังกาว่าไอ้นี่ไง เพราะจริงๆ มันไม่เหมือน ผมก็ดูว่ารูปมันไม่ใช่เรา แต่มันก็เรานะ แต่ดูแล้วมันก็ไม่เหมือน”

เวลาราว 5.30 น. ของวันที่ 6 ต.ค. อภินันท์ วิโรจน์ และอนุพงศ์ พงศ์สุวรรณ 3 นักแสดงละครที่ลานโพธิ์ กับแกนนำศูนย์ฯ อีก 3 คน ได้แก่สุธรรม แสงปทุม สุรชาติ บำรุงสุขและประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ต้องฝ่ากระสุนและวงล้อมออกไปพบ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมทย์ นายกฯ ขณะนั้น ทำให้พวกเขาไม่ได้เจอกับการล้อมปราบ ในนาทีที่รัฐประหาร การเดินทางไปพบนายกฯ เปลี่ยนเป็นการนำตัวไปฝากขัง และคุมขังขณะรอพิจารณาคดียาวนาน 2 ปี

อภินันท์และเพื่อนพบกับการดำเนินคดีสารพัดข้อหาทั้งบุกรุกสถานที่ราชการ ฆ่าและพยายามฆ่าประชาชน เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย วางเพลิง เป็นคอมมิวนิสต์ กบฏในราชอาณาจักร แต่มีอภินันท์และเพื่อนนักแสดงรวม 4 คนเท่านั้นที่มีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพติดตัว

ในสมัยที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีโซเชียลมีเดีย กว่าอภินันท์และเพื่อนจะรู้เรื่องการล้อมปราบก็ใช้เวลาอยู่หลายวัน

ติดคุก ขึ้นศาล นิรโทษกรรม: จมอยู่กับเงื่อนปม

“ตอนเข้าคุกไป ผมรู้สึกว่ามันก็โกรธแค้นนะ เพราะอยู่ดีๆ เราถูกลากเข้าไปเป็นตัวการทำให้เกิดการล้อมปราบ ทำให้เกิดการฆ่า ทำให้เกิดการทำร้าย ทำให้เกิดคนตายเยอะแยะมากมาย มันเสียใจส่วนหนึ่ง แค้นส่วนหนึ่ง ทำไมเรากลายเป็นเหยื่อที่ไปทำให้คนอื่นเขาตาย จิตใจสับสนวุ่นวายไปมากทีเดียว”

“ระหว่างการติดคุก แทบจะทุกวันที่มีความรู้สึกว่าเราเป็นเหตุให้คนบาดเจ็บล้มตาย ติดคุกแรกๆ ร้องไห้แทบทุกวัน รู้สึกเสียใจ แต่พวกเราก็ปลอบใจกันเองและก็ได้เรียนรู้เรื่องการเมือง เหตุผลการต่อสู้ในทางการเมืองกันไป”





อภินันท์เล่าถึงความรู้สึกในวันที่รู้เรื่องการล้อมปราบ เงื่อนปมในใจกลายเป็นกลายเป็นความตั้งใจส่วนตัวที่จะออกมาพูดความจริงที่เกิดขึ้น จะให้คนทำผิดถูกลงโทษ แต่ฝันไม่เป็นจริง เพราะมีการนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทุกฝ่ายในปี 2521 หลังรัฐประหารโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ในปี 2520 เท่ากับว่าไม่เคยมีการชำระการล้อมปราบในทางกระบวนการยุติธรรม ทำได้เพียงการออกมาพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นหลังได้รับอิสรภาพ

“เป็นการนิรโทษกรรมที่ทำให้ทั้งหมดคาราคาซัง เลิกแล้วต่อกันไป คนที่ได้รับประโยชน์จริงๆ คือคนที่กระทำผิด อย่างเราที่ไม่ได้กระทำผิดก็อยากจะพิสูจน์ เอาเราไปติดคุกอีกสัก 4-5 ปีให้พิสูจน์ก็เอา ขอให้ได้พิสูจน์จริงๆ แต่ในที่สุดแล้วก็ทำอะไรไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็มีผลกับชีวิตของเขาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

“พ่อกับแม่ผมถึงกับอยู่บ้านหลังเดิมไม่ได้ มันเป็นสลัมในกรุงเทพฯ คนแวดล้อมก็เป็นคนทำมาหากิน ไม่ค่อยมีการศึกษามากมาย เขาไม่เข้าใจเหตุการณ์นี้ ใครว่าอะไรก็ว่าตามกัน ด่าซ้ำด้วยซ้ำไป ครอบครัวก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ในที่สุดพ่อแม่ก็ตัดสินใจย้ายบ้านไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะว่าไม่ไหวเหมือนกัน”

ดำเนินชีวิตต่อไป: เข้าใจ รื้อสร้าง ถอดบทเรียนความรุนแรงที่เกิด

หลังออกจากคุก อภินันท์กลับมาเรียนต่อ การอยู่กับเงื่อนปมที่เกิดขึ้นในใจ แปรสภาพเป็นรูปเป็นร่างผ่านการใช้ชีวิตที่เขาบอกว่า เป็นปณิธานที่ตั้งขึ้นใหม่ว่าอยากทำประโยชน์ให้คนอื่นมากที่สุด จากนั้นชีวิตค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอย

“หลังจากที่เราพ้นเหตุการณ์นี้มาแล้ว หลังจากออกจากคุกมาแล้วก็ตั้งใจทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นเท่าที่ทำได้”

“ก่อนติดคุกไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย พอออกจากคุกมาก็เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาตัวยง จบมาจากมหาวิทยาลัยก็มาเป็นนักพัฒนาชุมชน สักพักหนึ่งก็มาทำงานสื่อมวลชน ตั้งใจจะทำงานสื่อมวลชนที่เข้มแข็ง แต่ในที่สุดตัวเองก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ตัวเองเป็นคนอีกประเภทหนึ่งคือสนุกสนานร่าเริง แจ่มใส”

“งานที่ได้ก็เป็นงานท่องเที่ยว ได้ออกไปเที่ยวเยอะแยะเลย ได้ทำหนังสือมากมาย ก็ไม่ได้ทำอย่างที่ตัวเองตั้งใจไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายใคร และตลอดมาก็ทำตัวให้เป็นประโยชน์ตลอด ในขณะที่ทำงานท่องเที่ยวก็ทำงานพัฒนาชุมชนแบบอ้อมๆ ช่วยเพื่อนๆ ที่เป็นนักอาสาพัฒนาชุมชนในอีกด้านหนึ่งตลอดมา”

นักแสดงบทแขวนคอตกผลึกความคิดและทำความเข้าใจว่า การต่อสู้ทางการเมืองค่อยๆ นำพาสถานการณ์ให้สุกงอมจนเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา ฆาตกรคือผลของการสุมไฟความเกลียดชังที่ทำกันเป็นระบบจนถึงจุดปะทุ





“มันคงไม่มีใครสักคนที่ตั้งใจจะทำร้ายคนได้ถึงขนาดนั้น แต่ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดมันเหมือนกับ หนึ่งบวกหนึ่ง สองบวกสาม ในที่สุดมันก็ถึงจุดนั้น”

“เหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงที่เพิ่งเกิดขึ้นคงไม่มีใครอยากจะทำให้เสื้อเหลืองไปทำร้ายเสื้อแดงถึงตาย เสื้อแดงก็คงไม่อยากไปทำร้ายเสื้อเหลืองถึงตาย แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อทุกอย่างปลุกเร้ากันไปเรื่อยๆ ทุกคนเป็นคนที่เติมเชื้อฟืนเข้าไปในไฟเรื่อยๆ มันก็ไปถึงจุดนั้นได้ในที่สุด ถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้โทษว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาต้องมาฆ่ากัน แต่การปลุกเร้าเหตุการณ์ 3 ปีระหว่าง 14 ตุลาถึง 6 ตุลา ก็ทำให้เหตุการณ์ก้าวมาถึงที่สุดจนได้”

“มันเป็นจุดสูงสุดของการเติมเชื้อไฟเข้าไปในฟืน ในที่สุดแล้วมันก็ทำให้เกิดความเคียดแค้นจนได้ ใครที่เป็นตรงนั้นมันไม่ใช่คนเดียวที่เป็นตัวฆาตกร แต่ฆาตกรคือช่วยๆ กันทำ ในที่สุดก็เป็นฆาตกรกันไปหมด มันก็เป็นอะไรที่ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะหยุดยั้งมันก็ต้องหยุดยั้งมันตั้งแต่เริ่มเลย ซึ่งมันยากเย็นจริงๆ คนตั้งเยอะตั้งแยะ ถึงที่สุดแล้วอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”

เมื่อถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาจะกลับไปแสดงบทการแขวนคอสลับกับวิโรจน์หรือไม่ คำตอบที่ลังเลไม่ได้สะท้อนความอ่อนไหวของเจตนารมณ์ แต่กลับเป็นการยืนยันหนักแน่นว่าคนที่ผิดไม่ใช่พวกเขาและบทละครในวันนั้น

“ถ้ารู้งี้เหรอ..คือละครเรื่องนั้นไม่ได้ผิดอะไรเลยนะ ถ้าย้อนกลับไปก็จะเล่น เอ่อ ถ้าย้อนกลับไปมันไม่ได้ดิ ย้อนกลับไปมันก็รู้หมด แต่ละครเรื่องนั้นมันไม่ได้ผิดอะไร คนที่เอาละครเรื่องนี้มาใช้เพื่อที่จะทำลายนักศึกษา ไอ้คนนี้คือคนผิดอย่างแท้จริง ตัวเองรู้ทั้งรู้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยว ยังจับมาเกี่ยวจนได้เพราะอาจจะสังเกตว่าไอ้หน้าคนแสดงมีส่วนคล้าย ถ้าพูด ปลุกระดม ถ้าบอกว่ามันเหมือนมันก็จะมีคนเชื่อ ไอ้คนนี้ไม่รู้ใคร ซึ่งเป็นตัวพูดคำนั้นขึ้นมาแล้วคนที่ต้องการปราบนักศึกษาก็เลยพูดตามกันยกใหญ่ มันก็เลยเกิดการล้อมปราบขึ้นมา”

นักแสดงอาสาที่วันนี้อายุ 63 ปีแล้ว ขอให้ 6 ตุลา 2519 เป็นบทเรียนสำหรับสังคมไทยให้นึกถึงวันที่คนไทยฆ่ากันเองจากการสุมไฟเกลียดชังและการขาดสื่อที่ทำหน้าที่เตือนสติฝูงชนที่โกรธเกรี้ยว

ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมจากโครงการบันทึก 6 ตุลา