วันศุกร์, มีนาคม 08, 2562

‘เก้าผู้พิเศษ’ ตลก.ศาลรัฐธรรมนูญ นี่ล้วนผู้ชำนัญ 'การยุบพรรค' เกือบทั้งนั้น


มารู้จักฮีโร่ของพรรคพลังประชารัฐและ คสช. กันสักเล็กน้อย ในฐานะที่พวกเขา (อย่างน้อย ๖ คน ที่เป็นเสียงข้างมาก) ที่ช่วยกำจัดคู่แข่งจากฝ่ายประชาธิปไตยออกไปแล้ว ๑ พรรค คือ ไทยรักษาชาติ

พรรคอื่นๆ ที่ถูกปักชนักเรียงคิวไว้ ทั้งอนาคตใหม่ เสรีรวมไทย และเพื่อไทย เด๋วรอให้ทั่นประธานกลับมาจากทัวร์ยุโรปก่อนค่อยว่ากัน แต่เวลาจะกระชั้นมากเหลืออีก ๑๕ วัน ทัวร์จะกลับก็โน่น วันที่ ๑๘ มีนาคม

ไม่เช่นนั้นก็รอหลังเลือกตั้ง ผ่านลูกไปให้ กกต.จัดการ สอย ทีละรายสองรายหรือหลายรายก็ได้

เกี่ยวกับทัวร์นี่เห็น Atukkit Sawangsuk เอามาเล่าแจ้งไว้ว่า จะมีรายการ ศึกษาดูงานยุโรปหลักๆ ก็ไปแถวสาธารณรัฐโครเอเชียและประเทศบอสเนียเฮอร์เซโกวินา ในโครงการ หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่วันนี้ (๘ มีนา) รวมเวลา ๑๐ วัน

น่าเสียดายหัวข้อศึกษานี่ถ้าไปดูงานเสียก่อนแล้วกลับมาตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ประชากรไทยอาจจะได้เห็นอะไรดีๆ อีกเยอะ เพราะคดีนี้เกี่ยวกับการเสนอชื่อเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเข้าเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี

ที่ศาลตัดสินว่าผิดเพราะ “อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นข่าวกระหึ่มไปทั่วโลกแล้ว โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นสื่อให้ความสนใจมากในประเด็นนั้น แม้นว่าราชนิกูลที่เป็นแคนดิเดทจะได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปนานแล้ว ทว่าองค์ประมุขบอกว่ายังเป็นอยู่

กลับมาเข้าเรื่องต่อ ทัวร์น่ะ รายการนี้มี ตลก. จากทีม เก้าผู้พิเศษเป็นไฮไล้ท์อยู่สามทั่น ได้แก่ประธาน นุรักษ์ มาประณีต กับ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และปัญญา อุชชาชน นอกนั้นคณะผู้เข้าอบรมคละกันไปในสายงานราชการและสาขาอาชีพต่างๆ

มี ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ประหยัด พวงจำปา รองเลขา ปปช. ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (ในฐานะ สนช.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กสทช. และฉัตรแก้ว เลิศไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญบริหาร สำนักงานศาลรัฐธรรรมนูญ

ด้านนักธุรกิจมี ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ (ในฐานะประธานบริษัทวินเวสเมนต์) พรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กัลฟ์เอนเนอร์จี และ วรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหารซีพี ทังนี้คงใช้โมเดลวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรที่ให้ทหารคลุกเคล้ากับเจ้าสัว

สำหรับอีก ๖ ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ไปทัวร์ ประกอบด้วย จรัญ ภักดีธนากุล ชัช ชลวร นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บุญส่ง กุลบุปผา วรวิทย์ กังศศิเทียม และอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ขอบคุณ ไขลานความคิด ที่อุตส่าห์จัดรายชื่อเรียงไว้ให้ได้ทำความรู้จักพวกคนเก่งคนดี

แถมมีเพิ่มเติมประสิทธิภาพคับแก้วที่ว่า “นายนุรักษ์ มาประณีต เคยเป็นตุลาการในคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี ๒๕๕๐ ส่วนอีก ๕ ท่าน เคยเป็นตุลาการในคดียุบพรรคพลังประชาชนในปี ๒๕๕๑ คือ นายนุรักษ์ มาประนีต, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายชัช ชลวร, นายบุญส่ง กุลบุปผา และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี”


ตุลาการชุดนี้ส่วนใหญ่ต้องพ้นหน้าที่ไปนานแล้ว แต่ คสช. เห็นคุณค่า (อย่างน้อยๆ ในการ ยุบพรรค ระบอบทักษิณ) เลยเก็บไว้ใช้ต่อ ก็สมหวังดังตั้งใจกันไป นอกจากกรณี ทษช. แล้วไม่แน่ อาจมีของแถมตามมาหลังเลือกตั้ง

ส่วนที่ว่าเก้าคนนี้เป็น ผู้พิเศษก็เพราะมี พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นครอบแก้วไว้ป้องกันมิให้เกิดความระคายเคือง บทบัญญัตินี้แม้ไม่เคยมีมาก่อน แต่ สนช. สภานิติบัญญัติที่ คสช.แต่งตั้งให้ทำหน้าทีผลิตและดัดแปลงกฎหมายให้เข้ากับ เกือก ของ คสช. จัดให้เมื่อปีที่แล้ว

มาตรา ๓๘ ถูกยัดเข้าไปเพื่อ “ห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ” โดยกำหนด “ไม่ให้วิจารณ์คำสั่งหรือวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญ” ในกรณีที่ “กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย”

ซึ่งรวมไปถึงการกระทำดังกล่าวเกิดจากการ “ใช้สื่อและสังคมออนไลน์ และรวมถึงการปลุกระดมมวลชนที่มาล้อมกดดันศาลด้วย” ข้อสำคัญคนที่จะตัดสินว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นหรือไม่ก็คือ ตลก.นั่นเอง แล้ว ม.๓๙ กำหนดระวางโทษไว้

ให้ทำการ “ตักเตือน ไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือ ปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

RIP ทษช.