พรรคเพื่อไทยเปิดนโยบายเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายอีก
๑๙ วันก่อนเลือกตั้ง ด้วยการประกาศว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ได้ภายใน ๖ เดือน
หากได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐบาล โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ สุดารัตน์
เกยุราพันธุ์ สองในสามแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นผู้แถลงเปิดเผย
หลักการแก้ปัญหาดังที่กล่าวจะเป็นไปตามสโลแกนที่ว่า
‘สี่ปีซ่อมและสร้างพร้อมๆ กันไป’ และ “เราจะไม่แก้หนี้ด้วยหนี้ แต่เราจะแก้หนี้ด้วยรายได้”
ชัชชาติชี้ว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยคือ ‘ติดหล่ม’ ต้องใช้รถโฟร์วีลส์ดัน โดย “ล้อแรกจะเน้นขับเคลื่อนการส่งออกและการท่องเที่ยว
ล้อที่สองคือการส่งเสริมการลงทุน” ส่วนล้อที่สามเป็นการกระตุ้นการบริโภคจากที่เป็นอยู่ปัจจุบันเหลือเพียง
๔๘ เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เมื่อก่อนรัฐประหารอยู่ที่ ๕๒ เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้นในนโยบายเกี่ยวกับภาษีอากรและประชานิยม
ชัชชาติบอกว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่แจกเงิน
แต่แจกโอกาสให้ประชาชนนำไปทำมาหากินเองได้
พร้อมทั้งปรับการเก็บภาษีจากบริษัทและธุรกิจข้ามชาติให้เหมาะสม
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์เสนอรายละเอียดของนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใน
๑๘๐ วันไว้ว่าประกอบด้วยการ “ปรับหนี้ เติมเงิน ลดภาษี และสร้างเศรษฐกิจใหม่”
โดยเริ่มแรกที่การตรวจโรคอาการป่วยทางเศรษฐกิจของไทย
“ตรวจสอบความเสียหายจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยว”
ภายใน ๓๐ วัน เหล่านั้นรวมถึงกฎหมายที่ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ เช่น
พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เรื่องการประมง (ไอยูยู) และกลไกคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ
เป็นอาทิ
เมื่อตรวจภพสมุฏฐานของโรคแล้วก็จะทำการเยียวยาต่อไปภายใน
๑๐๐ วัน อันได้แก่การปรับหนี้ พักหนี้ ให้เกษตรกร (เป็นเวลา ๓ ปี) และ “ปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอี
หรือธุรกิจรายย่อยให้เดินได้” ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อธุรกิจย่อยจาก ๕ หมื่นเป็น ๑
แสน
ประการสำคัญจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ๑๕
เปอร์เซ็นต์แบบค่อยเป็นค่อยไป “เป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ
โดยไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการ” นอกนั้นก็มีการ “สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้กับชาวนา
โดยให้ข้าว ๕,๐๐๐บาทต่อเกวียน ไม่เกิน ๑๕ เกวียน
หรือ ๗๕,๐๐๐ บาทต่อราย”
สำหรับการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรต่างๆ
ราคาข้าว ราคาปาล์ม ข้าวโพด ยางพารา คุณหญิงสุดารัตน์ประกาสว่าจะทำให้สำเร็จได้ภายใน
๑๘๐ วันนับแต่พรรคเพื่อไทยเข้าไปเป็นรัฐบาล
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอน ‘กิโยติน’ ต่อกฎหมายที่ล้าหลังทั้งหลาย ใช้เวลาราว ๖
เดือน เพื่อเปิดช่องให้กำเนิดธุรกิจของคนรุ่นใหม่ได้โดยง่าย
เช่นคร้าฟเบียร์และสุรากลั่นชุมชน ที่ต้องหลบอิทธิพลของเจ้าสัวไปทำการผลิตกันตามชายขอบในประเทศเพื่อนบ้าน
หญิงหน่อยยังอ้าง ‘จุดแข็ง’ ของพรรคเพื่อไทยว่าจะสามารถเจรจาการค้าเสรีกับต่างประเทศได้ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร
เพื่อเปิดรับการลงทุนจากนอก ในขณะที่ “งดเว้นภาษีให้กับสินค้าและบริการที่มีชื่อว่า
‘ไทยทำ’”
เพื่อส่งออกไปขายแข่งขันกับนานาชาติ
ทั้งนี้บรรดาธุรกิจย่อยและสต๊าร์ทอัพจะได้รับการลดหย่อนผ่อนภาษีให้สามารถยืนอยู่ได้จนกว่าจะเข้มแข็ง
โดยจะเก็บภาษีจากเอสเอ็มอีแบบเหมาจ่ายเพียงเปอร์เซ็นต์เดียว หากมียอดขายไม่เกิน
๑.๘ ล้านบาทต่อปี และยกเว้นภาษีธุรกิจออนไลน์เป็นเวลา ๒ ปี
ด้านการท่องเที่ยวหญิงหน่อยประกาศว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้ถึง
๕๐ ล้านคน หวังผลรายได้เข้าประเทศถึง ๓ ล้านล้านบาท โดยเฉพาะจะใช้วิธีดึงทัวร์จีนกลับมาด้วยการยกเว้นวีซ่า
ที่เชื่อว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจีนได้ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
ท้ายที่สุดประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยย้ำว่าสิ่งที่ประชาชนเคยได้รับจะไม่หดหายไปในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
แต่กลับจะได้เพิ่มมากกว่าในลักษณะ ‘การเติมรายได้’
ให้ประชาชน ‘มีรายได้ด้วยตนเอง’
“เราไม่คิดแจกเงินอย่างเดียว” เธออ้างถึง ‘สิ่งที่เราคิดต่าง’ กับ ๕ ปีที่ผ่านมาว่าก็คือ “ไม่มีพรรคไหนพูดถึงการสร้างรายได้เลย”