ล่าแม่มดกันต่ออีกวัน คราวนี้ที่สมุย สตรีวัย ๔๓ ประกอบอาชีพเรือนำเที่ยว เคยอยู่เยอรมนีมีสามีฝรั่ง ถูกข้อหา “โพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
แล้วยัง “มีทั้งข้อความพาดพิง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ด้วยข้อความไม่สุภาพ และข้อความเกี่ยวกับข่าวงานพระราชพิธีพระบรมศพ” โดยไม่สามารถเปิดเผยได้ (ไม่งั้นผู้เปิดโดนด้วย) ว่าข้อความ ‘หมิ่นฯ’ นั้นว่าอย่างไร
กำลังทหารจาก มทบ.๔๔ ตามจับอยู่สองวันไปถึงบ้านที่ชุมพร แต่ได้ตัวที่เกาะแตน นัยว่าเธอลงสปีดโบ๊ตหนีไปซ่อนอยู่ ได้ตัวแล้วนำมาหน้าสถานีตำรวจภูธรบ่อผุดให้ทำการกราบขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ท่ามกลางฝูงคนที่บางกอกโพสต์พาดหัวข่าวว่า “Mobs pressure police to make lese majeste arrests.”
(รายละเอียดทั้งหมดจาก http://www.bangkokpost.com/…/mobs-pressure-police-to-make-l…, http://prachatai.org/journal/2016/10/68383 และ http://news.sanook.com/2084810/)
รายงานข่าวจากหลายกระแสแจ้งว่าฝูงคนตะโกนด่าทอผู้ต้องหา และบางคนพยายามจะเข้าไปทำร้ายด้วย
ข่าวบางกอกโพสต์ระบุคำพูดของผู้กำกับการ สภ.บ่อผุดว่า “เธอไม่ได้โพสต์หมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ*” พ.ต.ต.เทเวศน์ ปลื้มสุด กล่าว
“แต่เกี่ยวกับองค์รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” แม้นว่าจะยังคงมีการถกเถียงกันในทางซุบซิบถึงสถานะแท้จริงของพล.อ.เปรมในขณะนี้
และมีข้อสงสัยว่าเหตุไฉนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจึงยังไม่ทรงยินยอมให้รัฐบาล คสช. จัดทำราชพิธีเพื่อที่พระองค์จะทรงราชย์ในบัดนี้ ดังปรากฏในพระราชประเพณีที่เคยมีมา
ทว่า Paul Handley ผู้เขียนหนังสือ ‘The King never Smiles’ ทวี้ต @PaulHandley2 เมื่อ 15 hours ago บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการเลื่อนราชพิธีทรงราชย์ออกไปเป็นปีก็ได้
“Normal to delay coronation: Both K Bhumibol & K Ananda formally crowned years after acceding to throne. Not normal to wait to name next king”
ถึงอย่างไรการที่เรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนักในประเทศไทยมักเป็นเรื่องภายใน สาธารณชนทั่วไปไม่สามารถรับรู้ จึงกลายเป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้สำนักข่าวต่างประเทศและสื่อต่างชาติใหญ่ๆ หลายๆ แห่ง เสนอข่าวในทางวิเคราะห์และคาดคะเน หรือ analysis and speculations กัน
จนทำให้กระทรวงต่างประเทศยกเอามาเป็นข้อกล่าวหาว่า “reporting erroneous or false information and accusations that are of a manipulative and provocative nature.”
“The Ministry of Foreign Affairs deplores such actions as they reflect the prejudice of the author (s) and agencies and requests that they refrain from such practice.”
(ดูคำแปลไทยโดยพรรณิการ์ วานิช ที่ว้อยซ์ทีวี http://news.voicetv.co.th/world/422589.html)
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกล่าวหาต่อโทรทัศน์บีบีซีโดยจำเพาะ เนื่องจากในช่วงสองวันมานี้ ‘ทรูวิชั่น’ ผู้ถ่ายทอดรายการของ BBC World เจาะจงตัดรายงานของบีบีซีออกทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับการสวรรคตในประเทศไทย
แต่กระนั้นก็ดี โดยเหตุที่ตลอดสองปีที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศภายใต้บงการของรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร คสช. บ่อยครั้งปฏิบัติอย่างเมินเลยข้อเท็จจริง จงใจเยินยอให้ท้าย คสช. เกินกว่ามาตรฐานสากลอันเหมาะควร ถึงขั้นบิดเบือนในบางคราว
ทำให้สามารถอ้างว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าสำนักข่าวใหญ่ให้ข้อมูลเท็จและลำเอียงนั้นเป็นเรื่อง 'unfound' ก็ได้ หากเป็นเพียงถ้อยคำขู่กำชับลอยๆ สาธารณชนทั่วไปไม่อาจรับทราบเนื้อแท้เบื้องหลังได้
ขณะที่รายงานข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์ของต่างประเทศล้วนมีเนื้อหาจะแจ้งให้ตรวจสอบได้
ดังเช่นบทความที่ปรากฏไปทั่วโลก (อาจถูกปิดกั้นในประเทศไทย) ล่าสุดนี้สองชิ้น
อันหนึ่งตีพิมพ์ที่เว็บของแวดวงวิชาการออสเตรเลีย ‘นิวแมนดาล่า’ ซึ่งมีสองนักวิชาการไปสังเกตุการณ์ราชพิธีเคลื่อนพระศพจากศิริราชสู่พระบรมมหาราชวัง ด้วยตนเองในบริเวณท้องสนามหลวง
บทความเรื่อง ‘Managing the death of King Bhumibol’ โดยอีดัวโด สิอานิ กับแม้ทธิว ฟิลลิปส์ เล่าถึงการไปนั่งคุกเข่ารอขบวนเป็นเวลาหลายชั่วโมงท่ามกลางอากาศร้อนระอุและผู้คนแออัด
ครั้นขบวนมาถึงเมื่อหลังห้าโมงเย็นกลับไม่ทันเห็นรถพระศพซึ่งเป็นรถตู้มิดชิดคันหน้าสุด เช่นเดียวกับคนไทยอื่นๆ จำนวนมากที่ไปรอเฝ้าถวายบังคมวันนั้น
ผู้เขียนอ้างว่านั่นเป็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการของรัฐบาล อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจทำให้การเฝ้าถวายความอาลัยของพสกนิกร แสดงออกถึงความวิปโยคโศรกเศร้าร่วมกันโดยมวลมหาประชาชน หรือ ‘united in grief’ แต่กลับเป็นความโศกาอาดูรของส่วนบุคคล ในทางส่วนตัวเสียมากกว่า
(http://www.newmandala.org/managing-death-king-bhumibol/)
ทั้งนี้ Jonathan Head ผู้สื่อข่าวบีบีซี อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย สนองต่อบทความว่าเห็นด้วย @pakhead 11 hours ago ที่ว่าค่อนข้างเงียบสงบ
“Interesting observations on grieving in TL by 2 academics. I agree it's been quieter, more private than expected.”
อีกบทความจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเรื่อง ‘The Power Transfer Thailand Needs.’ พูดถึง “ในขณะที่สามารถกล่าวได้เพียงเล็กน้อยว่าสมเด็จพระมหาวชิราลงกรณ์จะทรงครองราชย์อย่างไร”
หนึ่งในสองสิ่งที่แจ่มแจ้งก็คือ “ตั้งแต่รัฐประหาร ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยเป็นอันดีกับคณะทหาร
ไม่มีเหตุใดๆ ทำให้คิดไปได้เลยว่า จะทรงท้าทายวิถีทางการเมืองที่คณะทหารผู้ปกครองได้จารึกไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งรับรองโดยการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม”
(https://www.bloomberg.com/…/the-power-transfer-thailand-nee…)
บลูมเบิร์กเสนอแนะว่า “การรวบอำนาจใหม่อีกครั้งไม่เป็นเรื่องดีสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย คณะทหารฮุนต้าได้กำหนดยุทธศาสตร์ ๒๐ ปีเอาไว้ เพื่อให้ประเทศกลายเป็นชาติพัฒนาแล้ว...
แต่แผนการณ์ที่มุ่งหมายไว้อย่างดียังคงเป็นเพียงความเพ้อฝัน ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำการยกเครื่องระบบการศึกษาทั้งกระบิ แล้วทุ่มเททุนลงไปสู่โรงเรียนและโครงการฝึกฝนทักษะในท้องที่ด้อยโอกาสของประเทศ”
“แนวทางใหม่ของคณะทหารฮุนต้าจะไม่ทำให้เกิดสมานฉันท์ขึ้นได้” บทความอ้าง “แทนที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ด้วยความมุ่งหมายให้เกิดรัฐบาลผสมที่ปวกเปียก
ผู้นำของไทยควรส่งเสริมให้เกิดการเติบโตของฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพในทางประชาธิปไตย อันต้องรับผิดและชอบต่อประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง
พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ทรงมีพลานุภาพที่จะปลูกปั้นไปสู่ทิศทางอันถูกต้องได้ การผ่อนคลายกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะก่อให้เกิดพื้นทีมหาศาลสำหรับการโต้แย้งทางการเมืองในประเทศ...
ทางเลือกมองเห็นได้แจ่มชัด ว่ารัชสมัยที่กำลังจะเริ่ม ก็เผชิญกับคลื่นลมเช่นเดียวกับรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุดลงไป"
*หมายเหตุ กรณีมีข่าวสับสนว่าสำนักพระราชวังออกประกาศห้ามใช้พระนาม ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ’ นั้นทางสำนักพระราชวังให้ความกระจ่างว่าจะใช้พระนามเต็ม หรือพระนามย่อ หรือจะใช้ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” ก็ได้ทั้งสิ้น