ที่มา เวป The Momentum
18-10-2016
HIGHLIGHTS:
ในยุคก่อนการล่าแม่มดเกิดขึ้นจากความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ แต่การล่าแม่มดในสังคมไทยตอนนี้เกิดขึ้นจากความกล้าที่มีมากเกินไป
ใครๆ ก็เป็นผู้ถูกล่าได้ เพราะสิ่งที่ขาดแคลนมากกว่าเสื้อสีดำคือ ‘สติ’
ผู้ที่จะยุติการล่าแม่มดในเวลานี้ได้คือรัฐบาล และภาคส่วนต่างๆ ที่จำเป็นต้องออกมาสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับสังคม
แม้ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกไว้ว่า ‘การล่าแม่มด’ หมดไปแล้วตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 แต่ถ้าใครเลื่อนฟีดในโซเชียลมีเดียดูตอนนี้อาจพบว่า การล่าแม่มดไม่เคยยุติลงจริงๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง หรือแม้แต่ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยในขณะนี้
นอกจากการใช้ความรุนแรงผ่านถ้อยคำในโซเชียลมีเดีย การแชร์ภาพ หรือคลิปประจานพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ที่มักจะตามมาด้วยเสียงสนับสนุนที่สะท้อนถึงความสะใจแล้ว การล่าแม่มดในวันนี้ยังมาพร้อมกับการใช้ความรุนแรงแบบเผชิญหน้าในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และดูเหมือนว่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องลุกลามไปเรื่อยๆ โดยแทบมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด
ท่ามกลางความแตกต่างในการแสดงความคิดเห็นที่แบ่งผู้คนออกเป็น 2 ขั้ว ที่ขั้วหนึ่งต่อต้านการล่าแม่มด และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขณะที่อีกขั้วกลับมองว่าสิ่งที่เห็นอยู่ไม่ใช่การล่าแม่มด แต่เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของคนที่มีความจงรักภักดี
The Momentum ขอเบรกกระแสความคิดเห็นด้วยการพูดคุยกับ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนหนังสือ ล่าแม่มด ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เพื่อค้นหาคำตอบว่าอะไรคือที่มาของการล่าแม่มด ทำไมการล่าแม่มดจึงกลายเป็นกระแสร้อนแรงในปัจจุบัน และเราจะยุติการล่าแม่มดได้อย่างไรในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่าง
.....
“ผมอ่านเจอข้อความหนึ่งแล้วชอบมากคือ
‘เสื้อสีดำของฉันดำกว่าเสื้อสีดำของเธอ’
คือมันเกิดจากความรู้สึกที่พยายามจะขจัดคนอื่นๆ
โดยใช้กรอบความเชื่อของความจงรักภักดี
เพื่อไปชี้หน้าคนโน้นคนนี้ว่าเขาไม่ใช่คนจงรักภักดีเหมือนกับเรา
.....
วิวัฒนาการ ‘ล่าแม่มด’ จากศตวรรษที่ 14 ในยุโรป สู่สถานการณ์ปัจจุบันในไทย
จากการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนเป็นหนังสือ อนุสรณ์เริ่มต้นปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ล่าแม่มดว่า แท้จริงแล้วการล่าแม่มดในยุโรปมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 และดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงศตวรรษที่ 18 กินระยะเวลานับหลายร้อยปี จนกระทั่งระบบความคิดของผู้คนในยุคสมัยนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และศาสนจักรเองก็ออกมายุติไม่ให้มีการล่าแม่มดในนามศาสนาคริสต์อีกต่อไป
“แต่เดิมการล่าแม่มดเป็นเรื่องการกำจัดคนที่ต่อต้าน มีบทบาท หรือความคิด ซึ่งแตกต่างจากในพระคัมภีร์ แต่ตอนหลังเริ่มลุกลามมาเป็นเรื่องเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ สมมติว่าหมู่บ้านหนึ่งมีคนแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งคนคนนั้นไม่มีลูกหลาน แต่มีที่ดิน หรือทรัพย์สิน คนในหมู่บ้านส่วนหนึ่งก็จะคุยกับพรรคพวกว่า เราไปตั้งข้อหาล่าแม่มด แล้วจับเผาทั้งเป็น เพื่อยึดทรัพย์สมบัติมาแบ่งกัน หรือถ้าใครสักคนทะเลาะกับผู้หญิงข้างบ้าน แล้วบังเอิญว่าคนนั้นเกิดเป็นผู้มีอำนาจในชุมชน ก็อาจจะไปรวมตัวกันกับพรรคพวกเพื่อยัดข้อหาแม่มดให้คนที่ไม่ชอบหน้า พูดง่ายๆ ก็คือการขจัดคนที่เราเห็นว่าเป็นอื่นออกไป นี่คือคำอธิบายที่ง่ายที่สุด”
เมื่อเทียบเคียงอดีตที่ผ่านมานับร้อยปี กับเหตุการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ อนุสรณ์เห็นว่าแพตเทิร์นหรือวิธีการที่เคยใช้ในอดีตแทบไม่ต่างกับปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า
“ผมอ่านเจอข้อความหนึ่งแล้วชอบมากคือ ‘เสื้อสีดำของฉันดำกว่าเสื้อสีดำของเธอ’ คือมันเกิดจากความรู้สึกที่พยายามจะขจัดคนอื่นๆ โดยใช้กรอบความเชื่อของความจงรักภักดี เพื่อไปชี้หน้าคนโน้นคนนี้ว่าเขาไม่ใช่คนจงรักภักดีเหมือนกับเรา แล้วก็ทำเหมือนสภาหมู่บ้านสมัยก่อน คือประชุมกันในเฟซบุ๊ก เพื่อนัดไปรวมตัวกันที่ร้านน้ำเต้าหู้เพื่อไปจัดการคนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง
“ที่น่าสนใจคือการล่าแม่มดมักเกิดจากการตัดสินของคนกลุ่มเดียว เราไม่มีสิทธิรู้ได้เลยว่า คนที่เราไปกระทำเขาก็อาจจะมีความจงรักภักดีในแบบของเขา อย่างเช่น กรณีผู้ชายคนหนึ่งที่ใส่เสื้อสีแดงไปกินข้าว แล้วก็มีคนถ่ายรูปไปโพสต์ว่า ดูสิ ใส่เสื้อสีอื่นได้ยังไง ก่อนที่เจ้าตัวจะมาอธิบายทีหลังว่าเขาเพิ่งไปถวายความไว้อาลัยมา พอแวะกินข้าวเลยเปลี่ยนเสื้อ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็มีคนแชร์ไปเยอะมากแล้ว”
.....
ตอนนี้การล่าแม่มดมีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กับเป็นการแข่งขันกันว่า
ฉันมีความดีงามมากกว่าคุณ และความดีงามของฉันเกิดจากการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่ฉันมีมากกว่าคุณ
.....
ล่าแม่มดไปทำไม?
ถ้าในยุคกลางถึงยุคเรเนสซองส์ การล่าแม่มดมีจุดมุ่งหมายเพื่อขจัดความคิดทางศาสนาที่แตกต่าง และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การล่าแม่มดในยุคนี้ก็คงถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสคุณงามความดีที่ผู้ล่าคิดว่าตัวเองมีมากกว่าคนที่ถูกล่า
“พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้การล่าแม่มดมีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กับเป็นการแข่งขันกันว่า ฉันมีความดีงามมากกว่าคุณ และความดีงามของฉันเกิดจากการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่ฉันมีมากกว่าคุณ
“แต่ความรักหรือความจงรักภักดีเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน ไม่มีใครรู้จิตใจใครได้ ไม่มีปริมาณที่จะชั่งตวงวัดได้ เราแสดงออกซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ได้ในหลายทาง บางคนอาจจะแสดงออกผ่านทางรูปธรรมอย่างการร้องห่มร้องไห้ บางคนเลือกจะแสดงออกด้วยการเก็บไว้ข้างใน แอบไปร้องไห้เงียบๆ คนเดียวในห้องส่วนตัว บางคนแสดงออกด้วยการจมอยู่กับความทุกข์ ไม่กินอาหาร แต่บางคนอาจแสดงออกด้วยการออกไปกินให้มากที่สุดเพื่อผ่อนคลายความเศร้า
“แต่พอเราอยู่ในสังคมที่คนมารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อใช้ไม้บรรทัดของตัวเองวัดว่าใครไม่แสดงออกไม่เหมือนเรา แสดงว่าเขาไม่ได้อยู่ในภาวะการแสดงความจงรักภักดีที่ถูกที่ควร ผมว่าจุดนี้เป็นจุดที่น่าห่วง เพราะสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะบานปลายออกไปมากน้อยแค่ไหน”
ยุคก่อนล่าเพราะ ‘กลัว’ ยุคนี้ล่าเพราะ ‘กล้า’
เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราอาจพบว่าความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ล่าแม่มด เช่น เมื่อผู้คนสมัยก่อนเห็นคนข้างบ้านจุดธูปเผาเทียน ด้วยความที่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรก็ก่อเกิดเป็นความกลัว จนตีความได้ว่าคนคนนั้นกำลังบูชาซาตาน
แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป ผู้คนสั่งสมความรู้มากขึ้น ความกลัวในสิ่งที่แตกต่างก็ค่อยๆ จางหายไปพร้อมๆ กับกระบวนการล่าแม่มดที่ค่อยๆ ยุติลง ต่างจากสถานการณ์ในประเทศไทยที่อนุสรณ์มองว่าการล่าแม่มดในขณะนี้เกิดจากความกล้า
“มันเป็นความกล้าที่จะบอกว่า ฉันคือคนถูก เธอคือคนผิด แล้วผมคิดว่าเชื้อเพลิงของความคิดแบบนี้ก็มีเหตุผลพอสมควร เพราะมันน่าจะเกิดมาจากความขัดแย้งทางการเมืองบางส่วนด้วย ที่เรารู้สึกว่าคนที่คิดต่างจากเราไม่ได้มีสถานภาพความเป็นคนคล้ายๆ เรา ซึ่งตรงนี้เป็นรากฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่าย เช่น คุณไม่ชอบคนคนนี้อยู่แล้ว เพราะเขามีความคิดเห็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองต่างจากคุณ แต่คุณไม่มีโอกาสทำอะไรเขาได้ พอมีเหตุการณ์ที่คุณได้เปรียบ ก็เลยใช้มันเป็นเครื่องมือขจัดคนที่เห็นต่างได้”
.....
ใครก็มีสิทธิโดนได้หมด เพราะตอนนี้สิ่งที่ขาดแคลนยิ่งกว่าเสื้อสีดำก็คือ ‘สติ’
.....
ใครๆ ก็ถูกล่าได้
ในสถานการณ์ความโศกเศร้าที่แปรเปลี่ยนผู้คนบางส่วนในสังคมให้กลายเป็นคนที่โกรธง่ายกว่าที่เคย การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการแสดงออกที่สุ่มเสี่ยงอาจเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองเป็นผู้ถูกล่า
แต่แค่ระวังอาจยังไม่พอในความคิดของอนุสรณ์ เพราะยุคนี้ไม่ว่าคุณเป็นใครก็มีสิทธิเป็นผู้ถูกล่าได้ถ้าเผลอแม้แต่นิดเดียว
“เรื่องที่น่าห่วงตอนนี้คือใครก็มีสิทธิโดนได้หมด เพราะตอนนี้สิ่งที่ขาดแคลนยิ่งกว่าเสื้อสีดำก็คือ ‘สติ’ ปัญหาตอนนี้คือชีวิตประจำวันของคนทั่วไปก็ถูกกระทบมากอยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่าหลายๆ คนก็ไม่ได้เป็นคนที่มีชุดดำติดตู้เสื้อผ้าไว้ตลอด ช่วงแรกก็มีปัญหามาก ตอนนี้พอรัฐบาลแก้ไขด้วยการให้ติดริบบิ้นก็ดีขึ้น
“แต่หลายๆ คนก็จำเป็นต้องมีชีวิตต่อไป เขาอาจจะรู้สึกเครียด ต้องการไปพักผ่อน แต่การลงรูปสถานที่ท่องเที่ยวก็กลายเป็นสิ่งผิด ลงรูปอาหารอร่อยๆ ก็กลายเป็นสิ่งผิด ยิ่งชีวิตประจำวันของผู้คนได้รับผลกระทบเท่าไร สุดท้ายมันจะสะท้อนกลับมาเป็นความเครียดสะสมมากขึ้นไปอีก พอเครียดมากๆ เข้า แรงปะทุก็อาจจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ แล้วคนที่ถูกบีบให้จนมุมก็อาจจะระเบิดเข้าสักวัน อย่างตอนนี้ก็มีคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าถ้ามีคนมาตบหน้าเขาเพราะไม่ใส่เสื้อดำ เขาก็จะเอาคืน
“ในช่วงเวลาที่เราควรจะอยู่ในการไว้อาลัยแบบสงบและสันติ มันกลายเป็นว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของภูเขาไฟที่ไม่รู้ว่าจะปะทุแล้วปล่อยลาวาขึ้นมาตอนไหน”
สังคมจะไปถึงจุดไหนถ้ามีการล่าแม่มดกันต่อไป
เมื่อถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากสังคมบางส่วนยังคงมุ่งมั่นในการล่าแม่มดกันต่อไป อนุสรณ์ให้คำตอบว่า “เราทำนายไม่ได้หรอกครับ” แต่ภาพกว้างๆ ที่เขาพยายามจะฉายให้เราเห็น ก็สะท้อนถึงความน่ากลัวบางอย่างที่สังคมไทยคงไม่อยากไปให้ถึงจุดนั้น
“ตอนนี้มันลุกลามไปแทบทุกที่แล้ว เหตุการณ์แรกที่ภูเก็ตมันเหมือนเป็นการจุดเชื้อให้เกิดการลุกลามมากขึ้น เพราะทำให้เกิดกระแสความรู้สึกที่ว่า เฮ้ย ทางโน้นเขาคลีนแล้ว ชุมชนของเราก็ต้องคลีนบ้าง ซึ่งจุดนี้ใกล้เคียงมากกับกระบวนการล่าแม่มดในยุโรป ที่พอเกิดขึ้นทางใต้ของฝรั่งเศส หรือทางเหนือของเยอรมนี สุดท้ายมันก็ค่อยๆ ลุกลามไปตามที่ต่างๆ มากขึ้น กว่าศาสนจักรจะออกมาประกาศว่ากระบวนการที่ทำอยู่นี้คือความผิดพลาด มันก็ผ่านไปตั้งหลายร้อยปี
“อีกสิ่งที่ผมกังวลในตอนนี้คือ อาการ Mass Hysteria หรือคลุ้มคลั่งหมู่ เช่น คนคนหนึ่งกำลังจะเดินกลับบ้านอยู่ดีๆ แต่ระหว่างทางมีคนบอกว่าจับแม่มดได้คนหนึ่งแล้ว ให้ไปรวมตัวกันที่จัตุรัสของเมือง พอเข้าไปก็ได้พบกับภาพที่ชาวบ้านกำลังจะบูชายัญใครสักคน ภาพนั้นก็อาจจะกระตุ้นความรู้สึกว่าเราเป็นคนดีมีศีลธรรมขึ้นมา เกิดการตะโกนโห่ร้องอย่างสะใจ
“แต่พอเราเสพความรู้สึกแบบนี้ติดตัวกลับไป สุดท้ายเราก็จะออกไปหาเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเติมเต็มความรู้สึกฮึกเหิมของตัวเอง แล้วเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ จบลง เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คนที่เข้าไปเสพความรู้สึกแบบนั้นก็อาจจะบอกว่าผมเดินไปเฉยๆ ไปยืนดู ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตัวเองอาจจะเป็นคนหยิบเก้าอี้ขึ้นฟาดคนอื่น หรือทำความรุนแรงต่างๆ ก็ได้ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องน่ากลัวมาก”
.....
เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นการกระทำความรุนแรงในเรื่องสิทธิพื้นฐาน
ซึ่งเป็นหน้าที่การจัดการของรัฐโดยตรง ถ้าสมมติว่ารัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว
แล้วสุดท้ายคนที่ถูกล่ารวมตัวกันขึ้นมา
หรือคนที่ถูกล่ากระทำความรุนแรงโต้ตอบกลับไป เรื่องราวมันก็จะไปกันใหญ่
.....
ทางออกเพื่อยุติการล่าแม่มด
ถึงตอนนี้สถานการณ์การล่าแม่มดดูจะเกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์รายวันที่ต้องตามติดอย่างต่อเนื่อง แต่การตอบโต้ต่อสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลกลับมาในรูปแบบคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ที่ระบุว่า “ไม่มีอะไรดีกว่ามาตรการทางสังคม”
จนล่าสุดเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์คำให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จนนำไปสู่การตั้งแคมเปญในเว็บไซต์ change.org ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทย 'ยุบกระทรวงยุติธรรม เปลี่ยนเป็นกระทรวงมาตรการทางสังคม'
ซึ่งอนุสรณ์มองว่าเสียงคัดค้านต่อการล่าแม่มดในโลกออนไลน์อย่างเดียวคงไม่มีพลังเพียงพอที่จะยุติเหตุการณ์นี้ เพราะทางที่ดีกว่าคือทุกภาคส่วนจำเป็นต้องออกมาส่งเสียงเพื่อบรรเทาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะเสียงจากรัฐบาล
“เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นการกระทำความรุนแรงในเรื่องสิทธิพื้นฐาน ซึ่งเป็นหน้าที่การจัดการของรัฐโดยตรง ถ้าสมมติว่ารัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว แล้วสุดท้ายคนที่ถูกล่ารวมตัวกันขึ้นมา หรือคนที่ถูกล่ากระทำความรุนแรงโต้ตอบกลับไป เรื่องราวมันก็จะไปกันใหญ่ เช่น ถ้ามีคนนัดกันมาจะปิดบ้าน แล้วพอถึงเวลาคนที่ถูกรุมอยู่ก็ยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตัว
“ถึงตรงนี้ผมคิดว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรง นักสันติวิธี หรือแม้แต่พระสงฆ์ที่พูดเรื่องการให้อภัย หรือความเมตตา จำเป็นต้องออกมารณรงค์เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง
“ตอนนี้เหมือนคนที่ล่ากำลังเป็นกระแสน้ำเชี่ยว แต่ผมว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะออกมาขวาง ที่สำคัญก็คือรัฐนี่แหละ”
ภาพประกอบ: Karin Foxx
FACT BOX:
หนังสือ ล่าแม่มด หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทความจำนวน 17 ตอน เรื่อง 'ล่าแม่มด ประวัติศาสตร์การทำลายล้างเพศหญิง' ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในคอลัมน์ท่าอากาศยานต่างความคิด ในมติชนสุดสัปดาห์ รวมถึงเขียนเพิ่มอีก 1 ตอนสำหรับการรวมเล่มครั้งนี้ โดยผู้เขียนจะพาย้อนไปในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ว่าเหตุการณ์ล่าแม่มดในอดีตมีที่มาที่ไปอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่าการล่าแม่มดคือบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ทำต่อมนุษย์ด้วยกัน และส่งผลร้ายแรงแค่ไหน
ABOUT THE AUTHOR
เอกพล บรรลือ
บรรณาธิการบทความ themomentum.co อดีตบรรณาธิการบทความนิตยสาร a day BULLETIN ที่ผันตัวเองจากการใช้ชีวิตรายสัปดาห์มาเป็นชีวิตรายวัน ด้วยการสอดส่องปรากฏการณ์ทางสังคมแล้วหยิบยกมาบอกเล่าในรูปแบบข่าวสารใน The Momentum
ooo
แย่ กรณีนี้เห็นคนเอามาโพสต์ด่า (ก๊อปข้อความมาแชร์กันเพียบ คนก๊อปคนแชร์ไม่กลัว 112 มั่งเรอะ) แต่ถ้าตีความตรงตามหลักกฎหมายก็ไม่ใช่ 112 เธอเป็นวัยรุ่นอายุ 19 โพสต์คำหยาบ ด่าประยุทธ์ โวยวายไม่พอใจ ทำไมต้องบังคับให้โศกเศร้า ห้ามรื่นเริง ห้ามลอยกระทง ห้ามเปิดเพลง ฯลฯ โดยใช้ถ้อยคำแรง
ถ้าผิดก็คือหมิ่นประยุทธ์ กับเอาแต่อยากสนุก ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ โวยวายเอาแต่ใจตัวไม่สนใจความรู้สึกใคร ก็เลยโดน "มาตรการทางสังคม" แล้วตำรวจก็ไปจับข้อหา 112 ทันที
Atukkit Sawangsuk'
ooo
เราจะเข้าใจกระแสความกังวลที่มีต่อความรุนแรงของปฏิบัติการล่าแม่มดที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้อย่างไร?
แน่นนอนที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเอาการล่าแม่มดในไทย มาเทียบเคียงกับการล่าแม่มดในยุคกลาง หรือ atrocities ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆทั่วโลก ไม่ว่าจะในแง่จำนวน ขนาด หรือระดับความรุนแรงเชิงกายภาพ ผู้ที่ผ่านตาประวัติศาสตร์มาบ้าง ย่อมรู้แก่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
การพยายามแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในไทยในปัจจุบัน ด้วยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ไล่ล่าทำลายล้างระหว่างกลุ่มชนด้วยกันเองในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะในกรณีของไทยที่ผ่านมา เช่น หกตุลา หรือระดับโลก อาทิ witch hunt ในยุโรป ปฎิวัติวัฒนธรรมจีน หรือกระทั่งรวันดา จึงไม่ใช่การพยายามเปรียบเทียบในเชิง “ข้อเท็จจริง” หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นการพยายามหาเครื่องมือในการสื่อสารถึง “ความกลัว” ที่ผู้คนมีต่อภาวะการทำลายล้าง การถูกจับกุมคุมขังของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุ ไร้ผล ที่กำลังปกคลุมสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน
คนจำนวนหนึ่ง อาจมองว่าการแสดงออก หรือความกังวลดังกล่าว เป็นการตีความสถานการณ์ที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก ทั้งนี้ อาจด้วยการวิเคราะห์ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นเพียงเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว เป็น spontaneous/individual reaction to loss ที่ปัจเจกบุคคล act out of grief เมื่อผ่านช่วงเวลาไป เหตุการณ์ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเอง
แต่ดิฉันกลับเห็นต่างออกไป
หากติดตามกระบวนการล่าแม่มดในโลกไซเบอร์ที่ดำเนินกันอย่างสืบเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และเติบโตอย่างเข้มแข็งอย่างมากในยุคคสช.แล้ว กระบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในรัฐ และในกลุ่มองค์กรมวลชน กระบวนไล่ล่าแม่มดดังกล่าวทำงานผ่าน anxiety ของกลุ่มคน/มวลชน จำนวนหนึ่ง ที่หวาดระแวง รู้สึกไม่มั่นคง ต่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่าน
พัฒนาการล่าแม่มด ที่เคยจำกัดตัวอยู่ในระดับของปัจเจกบุคคล องค์กรของรัฐ และองค์กรมวลชน ที่ active บ้าง ไม่ active บ้างในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน ได้ขยับไปสู่การแสดงออกอย่างรุนแรง ที่ซึ่งการแสดงออกในโลกออนไลน์ สามารถผนึกกำลังรวมพลแสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออฟไลน์ ที่ข้ามเส้นตรรกะเหตุผลของการไล่ล่าที่อย่างน้อย ก็เคยวางอยู่บนกรอบที่ถูกระบุไว้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ไปสู่ระดับของความ absurd ที่หากรอบอะไรรองรับไม่ได้ แต่กลับได้รับฉันทามติรวมหมู่ อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในยุคคสช หรือก่อนหน้านี้ และทั้งยังได้รับไฟเขียว อย่างยินดีปรีดา และไม่รีรอ โดยรัฐ
ดิฉันกลับเห็นว่า การล่าแม่มดอย่างเป็นระบบ ที่ได้ขยายวงอย่างรุนแรงและกว้างขวางในปัจจุบัน เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของพลังฝ่ายขวา ที่ฉวยโอกาสในการเสริมสร้างสมรรถนะในการทำลายล้าง ผ่าน grief และ anxiety โดยไม่จำเป็นต้องยึดกับนิยามของความเป็นศัตรูในความหมายเดิมๆอีกต่อไป และสามารถดำเนินสืบเนื่องไปพร้อมๆกับการสร้าง/ได้รับพลังสนับสนุนที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ทำให้แสดงออกได้อย่างไม่ยี่หระ และไร้ขีดจำกัด พร้อมๆไปกับการขยายพลานุภาพของ mass surveillance ในส่วนของรัฐเอง
ความรู้สึกกลัวต่อภัยในการทำลายล้างประเภทนี้ที่กำลังเกิดขึ้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดกันด้วยจำนวน หรือลดทอนมันลงเหลือเป็นเพียงประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น
Pinkaew Laungaramsri
เราจะเข้าใจกระแสความกังวลที่มีต่อความรุนแรงของปฏิบัติการล่าแม่มดที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้อย่างไร?
แน่นนอนที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเอาการล่าแม่มดในไทย มาเทียบเคียงกับการล่าแม่มดในยุคกลาง หรือ atrocities ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆทั่วโลก ไม่ว่าจะในแง่จำนวน ขนาด หรือระดับความรุนแรงเชิงกายภาพ ผู้ที่ผ่านตาประวัติศาสตร์มาบ้าง ย่อมรู้แก่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
การพยายามแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในไทยในปัจจุบัน ด้วยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ไล่ล่าทำลายล้างระหว่างกลุ่มชนด้วยกันเองในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะในกรณีของไทยที่ผ่านมา เช่น หกตุลา หรือระดับโลก อาทิ witch hunt ในยุโรป ปฎิวัติวัฒนธรรมจีน หรือกระทั่งรวันดา จึงไม่ใช่การพยายามเปรียบเทียบในเชิง “ข้อเท็จจริง” หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นการพยายามหาเครื่องมือในการสื่อสารถึง “ความกลัว” ที่ผู้คนมีต่อภาวะการทำลายล้าง การถูกจับกุมคุมขังของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุ ไร้ผล ที่กำลังปกคลุมสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน
คนจำนวนหนึ่ง อาจมองว่าการแสดงออก หรือความกังวลดังกล่าว เป็นการตีความสถานการณ์ที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก ทั้งนี้ อาจด้วยการวิเคราะห์ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นเพียงเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว เป็น spontaneous/individual reaction to loss ที่ปัจเจกบุคคล act out of grief เมื่อผ่านช่วงเวลาไป เหตุการณ์ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเอง
แต่ดิฉันกลับเห็นต่างออกไป
หากติดตามกระบวนการล่าแม่มดในโลกไซเบอร์ที่ดำเนินกันอย่างสืบเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และเติบโตอย่างเข้มแข็งอย่างมากในยุคคสช.แล้ว กระบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในรัฐ และในกลุ่มองค์กรมวลชน กระบวนไล่ล่าแม่มดดังกล่าวทำงานผ่าน anxiety ของกลุ่มคน/มวลชน จำนวนหนึ่ง ที่หวาดระแวง รู้สึกไม่มั่นคง ต่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่าน
พัฒนาการล่าแม่มด ที่เคยจำกัดตัวอยู่ในระดับของปัจเจกบุคคล องค์กรของรัฐ และองค์กรมวลชน ที่ active บ้าง ไม่ active บ้างในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน ได้ขยับไปสู่การแสดงออกอย่างรุนแรง ที่ซึ่งการแสดงออกในโลกออนไลน์ สามารถผนึกกำลังรวมพลแสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออฟไลน์ ที่ข้ามเส้นตรรกะเหตุผลของการไล่ล่าที่อย่างน้อย ก็เคยวางอยู่บนกรอบที่ถูกระบุไว้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ไปสู่ระดับของความ absurd ที่หากรอบอะไรรองรับไม่ได้ แต่กลับได้รับฉันทามติรวมหมู่ อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในยุคคสช หรือก่อนหน้านี้ และทั้งยังได้รับไฟเขียว อย่างยินดีปรีดา และไม่รีรอ โดยรัฐ
ดิฉันกลับเห็นว่า การล่าแม่มดอย่างเป็นระบบ ที่ได้ขยายวงอย่างรุนแรงและกว้างขวางในปัจจุบัน เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของพลังฝ่ายขวา ที่ฉวยโอกาสในการเสริมสร้างสมรรถนะในการทำลายล้าง ผ่าน grief และ anxiety โดยไม่จำเป็นต้องยึดกับนิยามของความเป็นศัตรูในความหมายเดิมๆอีกต่อไป และสามารถดำเนินสืบเนื่องไปพร้อมๆกับการสร้าง/ได้รับพลังสนับสนุนที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ทำให้แสดงออกได้อย่างไม่ยี่หระ และไร้ขีดจำกัด พร้อมๆไปกับการขยายพลานุภาพของ mass surveillance ในส่วนของรัฐเอง
ความรู้สึกกลัวต่อภัยในการทำลายล้างประเภทนี้ที่กำลังเกิดขึ้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดกันด้วยจำนวน หรือลดทอนมันลงเหลือเป็นเพียงประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น
Pinkaew Laungaramsri