Procession for King Naresuan of Ayutthaya...
ขบวนแห่พระโกศ-พระศพ ของสมเด็จพระนเรศวร
จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดาราม อยุธยา
(วัดต้นราชวงศ์จักรี ไม่ใกล้ ไม่ไกลจากป้อมเพชรฯ)
วาดขึ้น ตามดำริชองสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ต้นสกุล ดิศกุล)
โปรดสังเกต เครื่องแต่งกายของข้าราชบริพาร
ที่อัญเชิญพระโกศ
แต่งสีแดงก็มี สวมเสื้อคลุมขาว นุ่งเขียว
สวมลอมพอก ไม่สวมร้องเท้า
ราษฎร ที่นั่งอยู่บนถนน โกนผม
และนุ่งข่าว ห่มขาว บางคนเปลือยท่อนบน
(ไม่มีใครแต่งดำ ในการไว้ทุกข์)
ธรรมเนียมไว้ทุกข์ ที่จะต้องแต่งดำ
จะมาเริ่มประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6
เมื่อไทยรับ และลอกเลียน แบบวัฒนธรรมฝรั่ง ตะวันตก
cK@17Oct2016Betawi
Charnvit Kasetsiri
ooo
สุจิตต์ วงษ์เทศ : งานศพดั้งเดิมแบบไทยๆในอุษาคเนย์ แต่งชุดสีต่างๆ ชุดดำไว้ทุกข์ เป็นประเพณีได้จากฝรั่ง เพิ่งมีสมัย ร.5
ที่มา มติชนออนไลน์
16 ต.ค. 59
ประเพณีแต่งกายไปงานศพในสังคมไทย ตั้งแต่โบราณกาล ไม่ผูกมัดเคร่งครัดแบบใดแบบหนึ่ง เพราะมีหลายแบบ
เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้มี 3 แบบ ได้แก่ ชุดดำตามแบบฝรั่ง, ชุดขาวตามแบบจีนกับอินเดีย, ชุดสีต่างๆ ตามแบบพื้นเมืองดั้งเดิม
ไว้ทุกข์ หมายถึง แต่งกาย หรือติดเครื่องหมายแสดงความไว้อาลัย เพื่อร่วมแสดงความเสียใจต่อผู้ล่วงลับ (พจนานุกรม ฉบับมติชน หน้า 816) เป็นประเพณีมีอยู่ปัจจุบัน
ชุดดำแบบฝรั่ง
ชุดดำ แต่งไว้ทุกข์แสดงความเสียใจเศร้าโศกไปงานศพตามวัฒนธรรมฝรั่ง
เพิ่งมีในกลุ่มคนชั้นสูง สมัย ร.5 แล้วค่อยๆ แพร่หลายสู่คนทั่วไปเฉพาะใน“สังคมเมือง” สมัยหลังๆตราบจนปัจจุบัน
แต่เข้าไม่ถึงทุกหมู่บ้าน เพราะบางแห่งยังแต่งตัวไปงานศพตามประเพณีพื้นเมืองดั้งเดิมด้วยสีสันฉูดฉาดต่างๆ ตามสะดวก
ชุดขาวแบบจีน–อินเดีย
ชุดขาว แต่งไว้ทุกข์ไปงานศพตามวัฒนธรรมจีนกับอินเดีย
แต่โดยทั่วไปแล้วชุดขาวเป็นเครื่องแต่งตัวปกติในชีวิตประจำวันของคนแต่ก่อนที่รู้จักเทคโนโลยีทอผ้าแล้ว ซึ่งหาง่ายที่สุด เพราะเป็นสีธรรมชาติของฝ้ายที่ใช้ทอผ้า เช่น ผ้าดิบ
ขณะเดียวกันก็เป็นชุดของนักบวชตามประเพณีอินเดีย เช่น พราหมณ์, ชี น่าจะรับเข้ามาในไทยพร้อมศาสนาพราหมณ์-พุทธ ราวหลัง พ.ศ. 1000
แต่เข้าไม่ถึงทุกหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านทั่วไปแต่งตัวตามประเพณีดั้งเดิมด้วยสีสันต่างๆตามสะดวก ส่วนมากไม่มีเสื้อใส่ ได้แต่นุ่งผ้าเตี่ยว
ชุดสีต่างๆแบบไทยๆในอุษาคเนย์
ชุดสีต่างๆ เป็นเครื่องแต่งตัวไปงานศพของคนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์ เมื่อหลายพันปีมาแล้ว สืบจนปัจจุบันในท้องถิ่นไกลๆ
เพราะพิธีกรรมเกี่ยวกับศพในคนพื้นเมืองยุคดึกดำบรรพ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องขวัญ ว่า ศพ คือ คนที่ขวัญหายจากร่างไปชั่วคราว แล้วหาทางกลับเข้าร่างไม่ถูก ถ้าญาติทั้งหลายร่วมกันดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครมดังๆให้ขวัญได้ยิน ขวัญก็จะกลับถูกทาง คืนสู่ร่างตามเดิม แล้วลุกขึ้นทำงานตามปกติ
พิธีศพตามประเพณีพื้นเมืองจึงมีต่อเนื่องนานหลายวัน แล้วต้องมีมหรสพสืบจนทุกวันนี้ เช่น โขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์ ฯลฯ
[ประเพณีโบราณดั้งเดิมอย่างนี้ คือต้นเหตุให้มีสิ่งที่นักโบราณคดี เรียก “พิธีศพครั้งที่ 2” เอาศพใส่โกศ มีเก็บกระดูก ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก]
คนไปงานศพต้องแต่งตัวสีฉูดฉาดเหมือนไปงานมงคลสนุกสนานรื่นเริง ไม่ทุกข์โศก มีวรรณคดีโบราณหลายเล่มพรรณนาไว้ เช่น อิเหนา (พระราชนิพนธ์ ร.2) ดังนี้
๏ บัดนั้น ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย
จะดูชักพระศพตบแต่งกาย หญิงชายโอ่อวดประกวดกัน
คนบ้านนอกราว 50 ปีมาแล้ว จะไปเผาศพบนเชิงตะกอน (ยังไม่มีเมรุเผาศพ) แต่งตัวเหมือนไปดูลิเกงานประจำปี บางคนมีสายสร้อยทองคำก็ขนออกมาใส่อวดกันทั้งๆในชีวิตประจำวันไม่ใส่ แม่ผมนุ่งโจงกระเบนต้องเลือกผ้าลายอย่างดี สีสวยสดที่เก็บไว้แต่งไปทำบุญมานุ่งไปเผาศพ ถือเป็นการแสดงความรักและเคารพนับถืออย่างยิ่ง
ฉะนั้นงานศพตอนผมยังเด็กเป็นงานสีสันฉูดฉาด (บาดตามาสำหรับสมัยนี้)
ขวัญมีในอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ถ้าคนมีอวัยวะ 32 ประการ ขวัญก็มี 32 แห่ง และอาจมากกว่านั้นก็ได้ เพราะมีขวัญอยู่กลางกระหม่อม เรียก จอมขวัญ
นอกจากในคนแล้ว ขวัญยังมีในพืช, สัตว์, สิ่งของ, สถานที่ เช่น ขวัญควาย, ขวัญข้าว, ขวัญเกวียน, ขวัญยุ้ง, ขวัญนา, ขวัญลานนวดข้าว ฯลฯ
วิญญาณเป็นคติฮินดู-พุทธจากอินเดีย เชื่อกันว่ามีดวงเดียวประจำตัวคนทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณก็ออกจากร่าง แล้วล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
หลังรับคติตามอินเดีย ความเชื่อเกี่ยวกับงานศพก็เปลี่ยนไป ดังเป็นอยู่ทุกวันนี้