วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 13, 2559

คารวะอาลัย คุณลุง สุนทร สีหะเนิน ชายผู้ทำให้ข้าวหอมของชุมชนชาวนาเล็กๆ ต.แหลมประดู่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก เสียชีวิตแล้ว 8 ตุลาคม 2559





คุณลุง สุนทร สีหะเนิน ชายผู้ทำให้ข้าวหอมของชุมชนชาวนาเล็กๆ ต.แหลมประดู่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กลายเป็นที่รู้จักทั่วโลก เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ด้วยวัย 92 ปี ฟังเรื่องเล่าของท่านซึ่งไบโอไทยได้บันทึกไว้เมื่อปี 2547 ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=8Lt8eslNJ6I

ขอเชิญร่วมพิธีสวดอภิธรรมศพซึ่งมิใช่แค่เพียงแสดงความคารวะต่อท่านเท่านั้น แต่เพื่อแสดงความเคารพต่อชาวนารายย่อยในประเทศ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิและสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านต่างๆ อันเป็นรากฐานของความมั่นคงทางอาหารของประเทศนี้

พิธีสวดอภิธรรม วันที่ 10- 12 ตุลาคม เวลา 18.00 น.
พิธีพระราชทานเพลิงศพ วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม เวลา 16.00 น.
ณ เมรุ 2 วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน กรุงเทพ

อ่านตำนานข้าวหอมมะลิและเรื่องราวของสุนทร สีหะเนิน ซึ่งนำมาจากบทหนึ่งในหนังสือ “หอมกลิ่นข้าวมะลิหอม : เรื่องราวและการต่อสู้เพื่อรักษาข้าวขาวดอกมะลิ” เขียนโดย วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และ นิรมล ยุวนบุณย์ พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2545 จัดพิมพ์โดย องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (BIOTHAI) และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน(ประเทศไทย)

ดังความข้างล่าง...

ตำนานข้าวหอมมะลิ

เมล็ดข้าวทุกเมล็ด และพันธุ์ข้าวทุกสายพันธุ์ล้วนมีตำนานซ่อนอยู่ เรื่องราวของข้าวหอมมะลิก็เช่นกันประวัติและความเป็นมาของสายพันธุ์ข้าวนี้ได้รับการบันทึกไว้โดยเอกสารของทางราชการ และถูกเก็บไว้ในความทรงจำของผู้คนจำนวนหนึ่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียอาคเณย์เป็นเป้าหมายสำคัญของสหรัฐทั้งนี้ในด้านหนึ่งเพื่อสร้างพันธมิตรของสหรัฐในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และในอีกด้านหนึ่งเพื่อขยายบทบาทในทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเองเพื่อใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานสำหรับวัตถุดิบและเป็นตลาดสำหรับสหรัฐอเมริกาไปพร้อมๆกันด้วย

สหรัฐอเมริกาจึงได้ส่งทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนมายังภูมิภาคเอเชียอาคเณย์ ในกรณีประเทศไทยนั้น รัฐบาลไทยและสหรัฐได้ตกลงลงนามในข้อตกลงที่เรียกว่า "ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอเมริกา" ทั้งนี้ องค์การบริหารความร่วมมือระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันได้ส่ง ดร.อาร์. แอล. เพนดิลตัน (Robert L. Penderton) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยีนในประเทศเขตร้อนจากมหาวิทยาลัย จอร์นฮอบกินส์ พร้อมด้วย ดร. เอช. เอช. เลิฟ (Dr. H. H. Love) ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์พืชจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล มาช่วยเหลือไทยในการบำรุงพันธุ์ข้าว และจัดตั้งกองการข้าว เมื่อปี 2493 (ก่อนหน้ามีการตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ 10 ปีเต็ม)

"โดยขั้นแรกได้เรียกพนักงานจากท้องถิ่นต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการบำรุงพันธุ์ข้าว เรื่องดินและเรื่องปุ๋ย แล้วให้กลับออกไปปฏิบัติการเรื่องการทดลองพันธุ์ข้าวและทดลองปุ๋ยยังท้องถิ่นที่ประจำอยู่ พนักงานที่ได้รับการอบรมรุ่นแรกนี้ได้แสดงความสามารถทันที่ที่กลับไปถึงท้องถิ่น พนักงาน 37 คน จาก 35 อำเภอ ได้รวบรวมรวงข้าวจากชาวนา 938 แห่งทั่วประเทศ เป็นจำนวนกว่า 120,000 รวงหรือสายพันธุ์ ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์ เพื่อส่งมาทำการคัดเลือกพันธุ์ตามสถานีทดลองต่างๆ ในปีต่อไป"

ในครั้งนั้น "ข้าวขาวดอกมะลิ" หรือที่คนไทยเรียกกันสั้นๆติดปากในเวลาต่อมาว่า "ข้าวหอมมะลิ" ถูกรวบรวมมา 199 รวง โดยมีการบันทึกไว้ว่า ข้าวพันธุ์นี้ถูกนำมาจากบ้านแหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ไปปลูกที่บางคล้าเมื่อปี 2488 ถิ่นกำเนิดของข้าวหอมมะลิจึงมีที่มาจากพื้นที่ในภาคตะวันออกของประเทศไทยบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา

สุนทร สีหะเนิน

เมื่อปี 2486 สุนทร สีหะเนิน นักการเกษตรหนุ่มซึ่งมีพื้นเพจากปักษ์ใต้วัย 20 ปีต้นๆ คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเก็บพันธุ์ข้าวบริเวณจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา

วันแรกที่ได้รับมอบหมาย สุนทรแวะที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทราเป็นที่แรก มีบางคนบอกว่า อำเภอนี้มีของดีสามสิ่งคือ "ข้าวหอม มะม่วงดี และสับปะรดหวาน" ชาวบางคล้าภูมิใจกับข้าวหอมของตนมาก เขายังจำคำบอกเล่านั้นได้อย่างแจ่มชัดว่า ความหอมของมันนั้นอาจทำให้คนที่เดินผ่านบ้านถึงกับน้ำลายหก เพราะทนความเย้ายวนของกลิ่นหอมจากข้าวที่หุงอยู่ในครัวจนไม่อาจควบคุมตนเองได้เลย

เขาเล่าให้ฟังว่า "การเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้ตามวิธีที่ได้รับมอบหมายนั้นเป็นงานยากลำบากมากในสมัยนั้น การคมนาคมขนส่งก็ไม่สะดวก การขนย้ายพันธุ์ข้าวที่เก็บได้ต้องใช้เพียงรถจักรยานคันเดียวเท่านั้น "

ตามคำแนะนำของนักวิชาการข้าวจากอเมริกัน พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่จัดเก็บต้องปลูกในบริเวณเวณกว้างและได้รับความนิยมพอสมควรในแต่ละท้องถิ่น โดยแต่ละพันธุ์ต้องมีการปลูกอย่างต่ำในพื้นที่ 15 ไร่ ทั้งนี้นักการเกษตรแต่ละคนต้องเก็บพันธุ์ข้าวให้ได้ 200 รวง แต่ละรวงนั้นต้องมาจากต้นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ทั่วๆไป ต้องไม่เก็บมาจากต้นข้าวที่ปลูกใกล้ๆกองปุ๋ยหมัก หรือมูลสัตว์ หรือปลูกริมๆแปลง เพราะอาจทำให้การอ่านลักษณะของพันธุ์ผิดพลาดได้เนื่องจากต้นข้าวงอกงามดีกว่าปกติเพราะได้รับธาตุอาหารมากกว่าต้นข้าวต้นอื่นๆที่อยู่ในแปลง

สุนทรบอกว่าในวันแรกที่เขาเริ่มงาน เขากลับได้พบกับพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้เลยแม้แต่ข้อเดียว "รวงข้าวทุกรวงที่ผมเก็บได้ มาจากผืนนาแปลงเล็กกว่า 15 ไร่ บางรวงได้มาจากนาแปลงเล็กมากๆแต่ลักษณะรวงกลับสวยงามสมบูรณ์ ทำไมผมจะไม่เก็บพันธุ์เหล่านั้นไว้เล่า ในเมื่อพันธุ์ข้าวพันธุ์นี้หอมและรสชาติดี เกณฑ์ที่กำหนดไว้ไม่มีความหมายใดๆเมื่อคุณคิดคิดถึงศักยภาพของพันธุ์ข้าวนี้ที่จะพัฒนาต่อไปในภายหน้า" อย่างไรก็ตามข้าวขาวดอกมะลิรวงหนึ่งหล่นหายไประหว่างเคลื่อนย้าย ตัวอย่างข้าวขาวดอกมะลิที่เก็บได้จึงมีเพียง 199 รวงเท่านั้น

ข้าวแต่ละรวงต้องนำเอามาปลูกเป็นแถวๆโดยสลับกับ "พันธุ์ข้าวนางมน" ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่รู้จักกันในขณะนั้น ปรากฏว่าข้าวขาวดอกมะลิแถวที่ 105 เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดีที่สุดและให้ผลผลิตดีที่สุด นี่คือที่มาของ "ขาวดอกมะลิ 105" พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกปัจจุบัน

ปัจจุบันสุนทร สีหะเนินอายุได้ 73 ปี เมื่อ 50 ปีที่แล้วหากไม่มีชายคนหนึ่งแหกกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โลกคงไม่รู้จัก "จัสมินไรซ์" เหมือนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีใครเก็บพันธุ์ข้าวนี้ไปเผยแพร่ พันธุ์ข้าวนี้อาจปลูกและเป็นที่นิยมกันในหมู่ชุมชนเล็กๆหรือบางทีอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้

ในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้มีการปลูกพันธุ์ข้าวให้ผลผลิตสูงไม่กี่สายพันธ์ อาจมีพันธุ์ข้าวอีกหลายสายพันธุ์ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญต่ออนาคตยิ่งไปกว่าข้าวหอมมะลิกำลังสูญพันธุ์ไปพร้อมๆกับชุมชนที่ไร้คนเหลียวแลก็เป็นได้

ข้าวพันธุ์ดีที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยชุมชนชาวนา

ข้าวขาวดอกมะลิเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์โดยชุมชนชาวนาโดยแท้ พันธุ์ข้าวนี้จึงมีลักณะเฉพาะเช่นเจริญเติบโตในดินที่ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินร่วนปนทราย และทนทานต่อสภาพดินเค็มยิ่งกว่าพันธุ์ข้าวอื่นๆหลายสายพันธุ์

ชาวนารุ่นแล้วรุ่นเล่าจะค่อยๆคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดีที่ตนเองต้องการ ทั้งในแง่การเจริญเติบโต และความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ไปจนถึงคุณภาพการหุงรวมไปถึงประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ชุมชนต่างๆในอดีตจึงได้รักษาและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนจนเกิดเป็นความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเป็นจำนวนมาก

สงกรานต์ จิตรากร นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ตั้งข้อสังเกตว่า "ประเทศไทยมีความสมบูรณ์ทางด้านพืชพันธุ์ธัญญาหาร จึงไม่จำเป็นต้องเลือกปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตจำนวนมากๆ เพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสเลือกปลูกข้าวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีกินอร่อยด้วย ประเทศไทยจึงมีทั้งพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และพันธุ์ข้าวลักษณะพิเศษในเวลาเดียวกัน"

ในการประกวดพันธุ์ข้าวระดับโลกที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2476 ในครั้งนั้นประเทศไทยส่งพันธุ์ข้าวเข้าประกวดทั้งหมด 150 ตัวอย่างจากจำนวนผู้ส่งเข้าประกวดรวม 176 ตัวอย่าง ได้รับรางวัล 11 รางวัล โดยชนะเลิศอันดับ 1, 2, 3 เป็นข้าวของไทยทั้งสิ้น พันธุ์ข้าวทั้งหมดเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์โดยชุมชนเกษตรกรรมทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแนวทางการปลูกข้าวโดยมุ่งสู่การผลิตข้าวที่ให้ผลผสิตสูงจากคำแนะนำของผู้เชี่ยญชาญสหรัฐ และการเดินตามแนวทางการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งวางแผนโดยธนาคารโลก ตลอดจนอิทธิพลของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่เข้ามาครอบงำการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยทำให้การคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ที่ทำโดยชุมชนต่างๆถูกละเลยความสำคัญและถูกแทนที่โดยระบบการปรับปรุงพันธุ์แบบสมัยใหม่ที่เน้นผลผลิตต่อไร่และการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นหลักแทนอย่างช้าๆ

ที่มา FB

BIOTHAI

ooo

สุนทร สีหะเนิน-บทสัมภาษณ์ฉบับสมบูรณ์




https://www.youtube.com/watch?v=8Lt8eslNJ6I

BiothaiStudio

Published on Oct 12, 2016

สุนทร สีหะเนิน

เมื่อปี 1943 สุนทร สีหะเนิน นักการเกษตรหนุ่มซึ่งมีพื้นเพจากปักษ์ใต้วัย 20 ปีต้นๆ คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเก็บพันธุ์ข้าวบริเวณจังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา

ในครั้งนั้น "ข้าวขาวดอกมะลิ" หรือที่คนไทยเรียกกันสั้นๆติดปากในเวลาต่อมาว่า "ข้าวหอมมะลิ" ถูกรวบรวมมา 199 รวง โดยมีการบันทึกไว้ว่า ข้าวพันธุ์นี้ถูกนำมาจากบ้านแหลมประดู่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ไปปลูกที่บางคล้าเมื่อปี 2488 ถิ่นกำเนิดของข้าวหอมมะลิจึงมีที่มาจากพื้นที่ในภาคตะวันออกของประเทศไทยบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา