วันอังคาร, ตุลาคม 11, 2559

ฟัง ​'สุชีลา ตันชัยนันท์' อดีตผู้นำนักศึกษาหญิง 6 ตุลา พูดถึงขบวนการนักศึกษา กับ 6 ตุลา โต้วาทกรรม “Blame the Victim” กรณี 6 ตุลา 2519





โต้วาทกรรม “Blame the Victim” กรณี 6 ตุลา 2519


Mon, 2016-10-10 14:56

สุชีลา ตันชัยนันท์
ที่มา ประชาไท


อนุสนธิจากบทความเรื่องหนึ่งที่เขียนวิจารณ์ว่า กรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 นั้นเป็นเพราะขบวนการ นักศึกษา “ซ้ายจัด” เกินไปโดยเฉพาะในหมู่แกนนำ นักศึกษายุคนั้นที่ไม่ยอมรับฟังคำท้วงติงของบางฝ่าย

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยเป็นอดีตแกนนำนักศึกษาสมัยนั้นคือ ผู้เขียนดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ศนท. ฝ่ายสังคมและการศึกษา ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมกับแกนนำของขบวนการนักศึกษาตลอดระยะเวลาของการเคลื่อนไหวในช่วงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว จึงขอให้ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นในประเด็น “ซ้ายจัด” ดังนี้

ข้อเท็จจริงการเคลื่อนไหวของ ศนท.

40 ปี แห่งการรอคอยเพื่อการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลหน้านี้ เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงในการปะทะกันทางความคิดสองขั้ว ระหว่าง กลุ่มที่มีความกลัวเกิดขึ้นหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการหาทางออกที่ดีกว่าให้กับสังคมไทย

ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมานักศึกษาและประชาชนเริ่มถูกฝ่ายตรงข้ามใช้ความรุนแรงเข้าทำลาย เช่น การลอบสังหารผู้นำชาวนาชาวไร่กว่า 40 คน ผู้นำแรงงานถูกปราบปรามอย่างรุนแรง การลอบสังหารแกนนำนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลางวันแสกๆ

เมื่อล่วงเข้าปี 2519 การสังหารทางการเมืองเป็นไปอย่างปิดเผยมากขึ้น ตั้งแต่การสังหารรอมเรศ ชัยสะอาด อดีตกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย การสังหารดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ตลอดจนการขว้างระเบิดใส่นักศึกษา ประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกา

จากการเปิดเผยของหนังสือ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง 6 ตุลาคม 2519” กล่าวว่าการคุกคามฝ่ายนักศึกษาเกิดขึ้นอย่างหนักใน พ.ศ. 2519 ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งแน่ใจว่าขบวนการอ่อนกำลังลงมากแล้ว จึงได้มีการนำตัวจอมพลประภาส จารุเสถียรเข้าสู่ประเทศไทย แต่ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้ชนชั้นนำยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะก่อรัฐประหารได้ จึงต้องผลักดันให้จอมพลประภาสออกนอกประเทศไปก่อน

ต่อมาจอมพลถนอม กิติขจร ก็กลับเข้าประเทศไทยจนได้ โดยบวชเป็นสามเณรต่อจากนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศ ซึ่งเป็นวัดหลวง วิทยุยานเกราะออกประกาศตักเตือนมิให้นักศึกษาก่อความวุ่นวายมิฉะนั้นแล้วอาจจะมีการประหารสักสามหมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดปลอดภัย

ฝ่ายประชาชนสรุปว่า การเข้ามาของจอมพลถนอมส่วนหนึ่งเป็นแผนการที่วางไว้เพื่อจะหาทางก่อรัฐประหาร ศนท.และกลุ่มพลังต่างๆ 165 กลุ่มได้วิเคราะห์ว่ากรณีนี้เป็นเกมที่ละเอียดซับซ้อน เพราะใช้ศาสนาเป็นเครื่องบังหน้า ดังนั้น ศนท.จึงต้องสุขุมรอบคอบ และให้โอกาสแก่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินในการแก้ปัญหาก่อน

หลังจากรัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ศนท.จึงจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงในวันที่ 4 ตุลาคม จนกระทั่งเกิดฝนตก และมีแนวโน้มการคุกคามของกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มนักศึกษาที่นำการชุมนุมจึงมีมติให้ย้ายเวทีเข้ามาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย และการประท้วงก็ข้ามคืนมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม และเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมในเวลาต่อมา

โดยกลางดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม ศนท.ได้มีการเรียกประชุมด่วนและมีมติให้สลายการชุมนุมหลังจากที่ศนท.ได้เห็นภาพโฆษณาชวนเชื่อละครแขนคอที่ตีพิมพ์ โดย น.ส.พ.ดาวสยาม ถูกนำมาแจกจ่ายในรูปเอกสารถ่ายสำเนา การสลายการชุมนุมจะมีขึ้นในเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมทุกคน นอกจากนี้ยังได้ให้นักศึกษามหิดลถอนกำลังออกไป เพื่อทำการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนเกี่ยวกับภาพโฆษณาชวนเชื่อนั้นอีกทางหนึ่งด้วย

ไม่มี “ซ้ายจัด” มีแต่ “ข้อจำกัด”

คำถามคือ การที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เป็นการกระทำที่ “ซ้ายจัด” และสมควรถูก “ลงโทษ” กระนั้นหรือ?? สิ่งนี้คือ วาทกรรมที่เรียกว่า “Blame the Victim” นั่นเอง

วาทกรรม “Blame the Victim” นี้หมายถึง การที่ฝ่ายถูกกระทำต้องลงโทษและตำหนิตัวเองในอาชญากรรมและเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 จึงถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายผู้ถูกกระทำเอง ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารและแผนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หรือเพราะ “ซ้ายจัด” นั่นเอง

สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ ทำไมเมื่อขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการ เขาเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นผู้ทำความผิดและต้องถูกลงโทษ

ทำไมเราไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละในการต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยจนถึงที่สุดเล่า……..

ข้อจำกัดของขบวนการนักศึกษาและประชาชนคือ ขบวนการนี้มีพัฒนาการในระยะเวลาที่สั้นมากคือ เพียง 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ดังนั้นการพัฒนายุทธศาสตร์และยุทธวิธี รวมทั้งรูปแบบการเคลื่อนไหวย่อมมีข้อจำกัดเป็นธรรมดา เมื่อเทียบกับฝ่ายที่กระทำความรุนแรงซึ่งมีประสบการณ์มานับศตวรรษ

จะมีหรือไม่มีการชุมนุม 6 ตุลาฯ รัฐต้องปราบปรามแน่นอน

คำถามต่อมาคือ แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ารัฐไทยจะไม่ทำการปราบปรามและกวาดล้างขนานใหญ่ นั่นเพราะบทเรียนในอดีตอันขมขื่นสอนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าฝ่ายประชาชนจะเคลื่อนไหวชุมนุมหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายขวาจัดย่อมลงมือปราบปรามผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างโหดเหี้ยมเสมอ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะมีการชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคมหรือไม่ รัฐก็ต้องลงมือปราบปรามขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นจิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของวีรชนจำนวนมากเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในวันนั้นจึงสมควรได้รับการยกย่องและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง

อย่างไรก็ตามผู้เขียนก็ยังมีความเห็นว่า สังคมไทยต้องดำเนินการทั้งในแง่ของการเปิดเผยข้อเท็จจริง และการ “จัดการ” กับผู้ก่ออาชญากรรมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อประชาชน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ดังที่มีการดำเนินการในนานาอารยประเทศ……


ooo


บทที่ 6 ผู้นำนักศึกษาหญิง (หน้าที่1)

สุชีลา ตันชัยนันท์ อดีตสมาชิกสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๑๘ อดีตรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๑๙ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหิดล

“ในฐานะของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เราคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงและน่ากลัวมากเท่านั้น ขบวนการนักศึกษา ไม่เคยปรารถนาให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นเลย การดำเนินงานทุกขั้นตอนของเรายึดกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เช่น การชุมนุมอย่างสงบในขอบเขตของกฎหมาย”

บทบาทของสุชีลาในขณะนั้นคือ รองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยฝ่ายสังคมและการศึกษา ตอนเกิดเหตุการณ์ก็อยู่แถวๆ ตึก อมธ.นี่แหละ “มักมีคนถามเสมอว่ากลัวบ้างไหม ตอบอย่างตรงไปตรงมานะคะว่ากลัวคะ ลองนึกภาพดูซิว่า กระสุนที่วิ่งเข้ามาในธรรมศาสตร์นั้นมันมาจากทุกทิศทุกทางราวกับห่าฝนทีเดียว ที่มีหลายคนเอาไปพูดกันว่าดิฉันยืนท้าทายอย่างกล้าหาญอะไรนี่นะคะ ขอบอกว่าที่ทำอะไรต่ออะไรได้เหมือนปกตินั้นเป็นเพราะความรู้สึกว่าเราจะต้องรับผิดชอบชีวิตของคนอื่นๆ และอาจเป็นเพราะมีความรู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของสถานที่ด้วย กรุณาอย่าเข้าใจผิดนะคะว่าเป็นคนกล้าหาญหรืออะไรมากกว่าคนอื่นๆ”

ในฐานะผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น และเป็นผู้หญิงด้วย ได้ชี้แจงให้เข้าใจจิตใจและเจตนารมณ์ของนักศึกษาในยุคนั้นอย่างละเอียดว่า

“เจตนารมณ์ ของ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คือ เจตนารมณ์ของการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

ในขณะที่ เจตนารมณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ คือ การเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นต่อมาคือปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณี ๖ ตุลาฯ ขบวนการนักศึกษาไม่เคยปรารถนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น คำถามต่อไปคือใครเป็นผู้ก่อความรุนแรงและเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพื่อประชาธิปไตยหรือคงจะไม่ใช่แน่นอน เหตุการณ์ที่คลี่คลายมาหลังจาก ๖ ตุลาคม ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี รายละเอียดไปหาอ่านได้จากวารสารทั้งไทยและเทศตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา”

“เมื่อมาพิจารณาถึงผลของบรรยากาศทางการเมืองในช่วงหลังจากนั้นมา คนในสังคมมีความแตกแยกกันอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อมีการออกกฎหมายภัยสังคม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมมากเป็นพิเศษ ทำให้ประชาชนขาดสวัสดิภาพ แรงกดดันทางการเมืองทำให้คนจำนวนมากต้องหลบหนีไปเนื่องจากไม่มีเวทีประชาธิปไตยให้เขาได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างมีอิสระภายใต้ขอบเขตของกฏหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศชาติย่อมได้รับผลเสียหาย มีหลายคนประเมินว่าขบวนการนักศึกษาในระยะก่อนเกตุการณ์ ๖ ตุลาคม ดำเนินยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เช่น ซ้ายเกินไป จนเป็นสาเหตุให้ถูกโจมตีและนำไปสู่การถูกทำลายในที่สุด”



“สุชีลามองว่าสาเหตุใหญ่ ๆ ที่ทำให้ขบวนการนักศึกษาตกเป็นเป้าของการโจมตีและถูกทำลายนั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ ประการ

“ประการแรกคือ การที่ขบวนการนักศึกษาได้พัฒนาจนเติบใหญ่กลายเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และดูเหมือนว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเด่นมากในการประกาศตัวคัดค้านกลุ่มพลังอื่นๆ ที่ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น ขบวนการนักศึกษาจึงกลายเป็นอุปสรรคที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยสำหรับกลุ่มใดก็ตามที่กำลังจะสวนทางกับระบอบประชาธิปไตย นี่เป็นสาเหตุประการแรกที่ขบวนการนักศึกษาตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีและการทำลาย”

“ประการต่อมาคือการที่ขบวนการนักศึกษาประกาศตัวรับใช้ประชาชนผู้ยากไร้และการดำเนินกิจกรรมหลายอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ยากไร้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าเช่านา ที่ดินทำกิน เรื่องแรงงานขั้นต่ำ ตลอดไปถึงการตั้งคำถามเรื่องฐานทัพอเมริกาในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ได้สร้างแรงกดดันทางการเมืองและความไม่พอใจของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอย่างมาก”

“ในประการสุดท้ายคือ ความคับแคบทางความคิดของกลไกรัฐที่มักจะเหมาเอาว่าขบวนการนักศึกษาเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งๆ ที่ขบวนการนักศึกษาได้ประกาศจุดยืนในเรื่องสันติวิธีและสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมาโดยตลอด เรื่องนี้พิจารณาได้จากนโยบายและการดำเนินงานของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยทุกสมัยก่อนเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙“

สุชีลาได้ให้ทัศนะต่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคมสำหรับ “คนรุ่นใหม่” ว่า

“เหตุการณ์ ๖ ตุลาคมนั้นเราได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้มาด้วยความยากลำบาก และยิ่งเป็นการยากอย่างยิ่งที่เราจะพิทักษ์ประชาธิปไตยเอาไว้”

สำหรับความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยของประชาชนในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ เปรียบเทียบกับปัจจุบันนั้น สุชีลาให้ทัศนะว่า”




“การพิจารณาว่าประชาชนจะตื่นตัวทางการเมืองมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม การได้รับทราบข่าวสารของสังคมอื่นๆ ข่าวสารเกี่ยวกับสังคมของตัวเองมีมากน้อยเพียงไรและเราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการวัดว่าประชาชนตื่นตัว ถ้าจะดูจากเปอร์เซ็นต์ของผู้ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง การเข้าร่วมทางการเมืองโดยผ่านกิจกรรมด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า จัดตั้งกลุ่มหรือสมาคม การเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การเข้าร่วมแสดงประชามติทางการเมือง ถ้าวัดจากประการหลังนี้เห็นว่าค่อนข้างซบเซา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไม่สนใจการเมือง ในการกระทำรัฐประหารแต่ละครั้ง คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นว่านี่คือสิ่งที่กำลังสวนทางกับระบอบประชาธิปไตย และผู้ที่มาพร้อมกับการรัฐประหารไม่ใช่อัศวินอีกต่อไป เพียงเท่านี้ดิฉันคิดว่าประชาชนได้ตื่นตัวแล้ว

“ปัจจุบันนักศึกษาสามารถที่จะเป็นพลังต่อรองทางสังคมแค่ไหน สุชีลาคิดว่า “ในฐานะที่ขบวนการนักศึกษาเป็นกลุ่มพลังทางสังคมกลุ่มหนึ่งเช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ พรรคการเมือง องค์กรเอกชนต่างๆ ขบวนการนักศึกษาย่อมมีพลังต่อรองและมีส่วนกำหนดทิศทางทางการเมืองของยุคสมัยอยู่


“เพียงแต่ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาอาจจะไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่บทบาทเด่นในทางการเมืองเหมือนสมัยก่อน ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรต่างๆ ได้มีพัฒนาการมากขึ้นและเติบโตขึ้นมาก รวมทั้งองค์กรเหล่านี้มีบทบาทในการพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของตนมากขึ้นด้วย

“ความรุนแรงของ ๖ ตุลาฯ ในมุมมองของผู้หญิงอย่างสุชีลา…

“จนขณะนี้ดิฉันยังทำใจไม่ได้กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และคิดว่าเป็นฝันร้ายอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าสังคมไทยจะมีความทารุณมากขนาดนั้น จากที่เคยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าสังคมไทยเป็นสังคมของชาวพุทธที่มีแต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีแต่การให้อภัยซึ่งกันและกัน

เหตุการณ์ ๖ ตุลาเป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงในการปะทะกันทางความคิด ๒ ขั้ว ระหว่างกลุ่มที่มีความกลัวเกิดขึ้น โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองกลัวว่าจะเป็นภัยต่อประเทศชาติมันคืออะไรกันแน่

มันเป็นเหตุการณ์คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในอินโดนีเซียที่มีการฆ่ากันตายเป็นล้านๆ คนเพราะกลัวความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป หรืออย่างเกาหลีใต้ที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งก็เป็นเพราะความกลัวเช่นเดียวกัน”

“ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อเรียกร้องความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้กลับคืนมา

การที่อยู่ในเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ ตั้งแต่เริ่มต้นมันทำให้ดิฉันมองเห็นว่าสังคมไทยในขณะนั้นเต็มไปด้วยความป่าเถื่อนดุร้ายยิ่งกว่าสงครามเสียอีก

สงครามเวียดนาม ก็ยังเรียกได้ว่าเป็นการต่อสู้กันอย่างยุติธรรมเพราะว่าทุกคนมีอาวุธอยู่ในมือ แต่เหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่ของรัฐปีนรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าไปล้อมยิงนักศึกษาราวกับว่าพวกเราไม่ใช่คน อย่างในวิดีโอที่มีการเผยแพร่ออกมา จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนก็นอนยิงในขณะที่สูบบุหรี่อย่างอารมณ์ดี เหมือนนายพรานที่กำลังอยู่ระหว่างการล่าสัตว์และกำลังเลือกยิงเอาตามใจชอบจะล่าตัวไหนก็ได้ทั้งตัวผู้ตัวเมีย โดยใช้ผ้ายันต์ผืนเดียวเท่านั้นคือ “เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ “ ซึ่งผ้ายันต์ผืนนั้น ทำให้ทุกคนอยู่เหนือกฎหมายได้ สามารถทำร้ายนักศึกษาที่มีแต่สองมือเปล่าได้”

แล้วอะไรคือการทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างที่กล่าวอ้าง

“การปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยิงกราดเข้ามาทุกทิศทางโดยที่เรามีเพียงสองมือเปล่าแล้วจะให้พวกเราหนีไปทางไหน ในขณะที่เราพยายามอ้อนวอนพยายามติดต่อกับคนข้างนอกว่าเราไม่มีอาวุธ เราจะเข้าไปเจรจายุติการชุมนุม เพราะเราไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อสู้ได้ แต่การพยายามร้องขอของพวกเราไม่เป็นผลเลย”

“ดิฉันมาทราบภายหลังจากบันทึกการประชุมของคณะรัฐมนตรีว่า ในช่วงนั้นก็มีความพยายามจากฝ่ายรัฐที่จะยุติความรุนแรงโดยมีข้อเสนอให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ก็มีการคัดค้านจากคนของพรรคการเมืองบางพรรคในขณะนั้น (ซึ่งในขณะนี้ก็มีฐานะหน้าที่สำคัญทางการเมือง แม้ว่าจะถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วแต่ก็ยังหน้าด้านอยู่ในสภาต่อไปอีก ๗ วัน รวมทั้งคนของอีกพรรคหนึ่งคือพรรคชาติพัฒนา)”

“ตัวแทนของพรรคการเมืองนั้นได้เสนอความเห็นขัดแย้งว่าไม่สามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้ เพราะถ้าประกาศภาวะฉุกเฉิน ลูกเสือชาวบ้านจะชุมนุมไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถฆ่านักศึกษาได้”

บทที่ 6 ผู้นำนักศึกษาหญิง(หน้าที่2

ใครที่บอกว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลาฯ เป็นอุบัติเหตุทางการเมือง

ดิฉันว่าไม่จริงหรอก ถ้าเหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นในวันที่ ๖ ตุลาคม ก็ต้องเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในวันที่ ๗ หรือ ๘ ตุลาคม เพราะได้มีการก่อกระแสขึ้นมานานแล้วว่าจะมีการกวาดล้างยึดอำนาจล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐบาลของท่านเสนีย์ ปราโมช จะพยายามบอกว่าฆ่านักศึกษาไม่ได้ รัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหาเอง ไม่ใช่ให้กระทิงแดงหรือลูกเสือชาวบ้านมาฆ่านักศึกษา

จุดนี้เองที่ทำให้เราเห็นว่าสติปัญญาของคนที่มีอำนาจในสังคมไทยเขามีปัญญาคิดเพียงแค่นั้น

การแก้ปัญหาความขัดแย้งในทางความคิดเขาทำได้แค่ต้องฆ่าคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างให้ตายเท่านั้นเอง

ดิฉันคิดว่าคนที่เป็นสัตว์ประเสริฐคงไม่ทำอย่างนั้น โดยเฉพาะการทารุณกับผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นการฆ่าหรือการข่มขืนผู้หญิงอย่างป่าเถื่อนหรือการเอาศพไปเผา

แต่คนเหล่านั้นก็ได้รับนิรโทษกรรม

อย่างที่เกาหลีใต้ที่เรามองกันว่าเป็นชาติเผด็จการป่าเถื่อนแต่เขาก็ยังมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดกับคนที่ใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ เช่นการลงโทษประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดี ๒ คน

หรืออย่างที่อินโดนีเซียก็ยังมีการจัดตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนเพื่อติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ


ในขณะที่ประเทศไทยที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยกลับไม่สามารถนำเอาคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์มาลงโทษได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หรือ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ หรือแม้กระทั่ง ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕

และที่สำคัญ เมืองไทยก็ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

คนที่มีอำนาจสั่งการในขณะนั้นก็ยังอยู่ในสังคมได้ตามปกติ ยังไปเปิดงาน หรือปิดสนามกอล์ฟเพื่อจัดงานวันเกิดใหญ่โตได้ทั้งที่มือเขาเปื้อนเลือดประชาชนมาแล้วมากมาย

ถึงวันนี้ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติความรุนแรงในสังคม โดยเฉพาะความรุนแรงต่อสตรีเพศโดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน ไม่ใช่การใช้กระบอกเสียงที่มีอยู่เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนกลัวความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป เช่นการกลัวในสิ่งที่เขาเรียกกันว่า “ปีศาจแห่งยุคสมัย” ทั้งที่ยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ตัวเองกลัวมันคืออะไร

การเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองถึง ๓ ครั้ง ในช่วงชีวิตของคนเรา มันมากเกินไปด้วยซ้ำ

สิ่งที่เกิดขึ้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความจริงแล้วสังคมเรายังรับความแตกต่างกันไม่ได้ ใครที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไปก็จะถูกลงโทษ ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความรุนแรง เช่นการใช้กำลังล้อมประชาชนอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว

ถ้ารัฐบาลยอมรับความแตกต่างทางการเมืองและไม่ได้ใช้กระบอกเสียงเพื่อประโยชน์กับตัวเอง ประชาชนก็จะมีโอกาสเข้าถึงความรู้ความคิดที่แตกต่างออกไปได้ และนำไปสู่การยอมรับความแตกต่างทางความคิดของกันและกันตามแนวทางประชาธิปไตย


ขอแต่รัฐบาลอย่าผูกขาด อย่าปลุกระดมเพื่อสร้างฐานอำนาจของตัวเอง ขณะเดียวกันประชาชนก็จะต้องรู้จักสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองเพื่อพลังในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

คนที่สามารถยุติความรุนแรงได้ก็คือคนที่มีอาวุธอยู่ในมือ และคนที่มีอำนาจทางการเมือง คนเหล่านี้ควรจะคิดว่าการมีอาวุธอยู่ในมือได้ทำประโยชน์อะไรให้ประเทศชาติบ้าง การอ้างว่านักศึกษาประชาชนเป็นคนบ่อนทำลายชาติ ความจริงแล้วใครเป็นผู้ทำลาย”?

สุชีลา ลงท้ายด้วยคำถามที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ให้มุมมองเกี่ยวกับการยุติ “ความรุนแรง” ว่า

“การที่จะยุติความรุนแรงในสังคมคงต้องฝากความหวังไว้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ เพื่อขึ้นมาคานอำนาจของเผด็จการ เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนในชาติอย่างแท้จริง

ที่สำคัญประชาชนจะต้องผลักดันบทบาทการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเพื่อสร้างพลังประชาธิปไตย”


________________________________________

ที่มา : คัดจากหนังสือ กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง โดย ผู้หญิง 6 ตุลาฯ , คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 , ตุลาคม 2544 , หน้า 74-80


(http://www.2519.net/newsite/2016/บทที่-6-ผู้นำนักศึกษาหญิ/)