สุรชาติ บำรุงสุข: 40 ปี 6 ตุลา ถ้าไม่เอาทหารคืนกรมกอง ไม่ต้องคิดถึงประชาธิปไตย
Thu, 2016-10-06 15:48
ที่มา ประชาไท
สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวสุนทรกถา 40 ปี 6 ตุลา ชี้เงื่อนไขประชาธิปไตย 1. ทหารต้องคืนกรมกอง 2. อำนาจนอกระบบต้องปล่อยให้การเมืองคืนสู่ภาวะปกติ สภาเป็นสภา ศาลเป็นศาล รัฐบาลเป็นรัฐบาล 3. การเมืองที่มีเสถียรภาพต้องการเวลาและความอดทน พร้อมทิ้งท้ายขบวนประชาธิปไตยต้องไม่กล่าวโทษ ชี้้นิ้วด่ากันเอง แต่ต้องคิดถึงอนาคตร่วมกัน หวังให้สังคมปรองดองเหมือน "เพลงเดือนเพ็ญ" แต่งโดย "นายผี" จากฐานที่มั่น นำมาร้องกันทุกชนชั้นหลัง 6 ตุลา 19
6 ต.ค. 2559 ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเปิดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 19 โดย สมคิด เลิศไพฑูลย์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา พร้อมกล่าวเปิดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 และระบุว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบอบการเมืองไทยมาตลอด 40 ปี
ต่อมา สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 กล่าวสุนทรกถา หัวข้อ "40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปีเปลี่ยน – 40 ปี ไม่ผ่าน?" ตอนหนึ่ง ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ยังมีความคลุมเครือ แต่วันนี้เริ่มเห็นภาพมากขึ้น และเป็นปีแรกที่มีการตรวจสอบว่า จริงๆ แล้วเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตกี่ราย มีผู้เสียชีวิตและถูกแขวนคอที่สนามหลวงกี่ราย
ตอนหนึ่งสุรชาติเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองไทยกับรถไฟที่กำลังเดินทางได้ 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง รางรถไฟเด็กเล่น ที่รางเป็นวงกลม วิ่งวนกลับไปกลับมา วิ่งไปข้างหน้า แล้วกลับมาจุดเดิม ซึ่งไม่ใช่หลักประกันในการพัฒนาการเมือง แต่เป็นหลักประกันที่ดีของผู้นำ กลุ่มอนุรักษ์นิยม และทหาร สอง รถไฟเหาะ คือ เมื่อขึ้นจุดสูงสุด ก็ลงสู่จุดต่ำสุด เปรียบได้ว่า การพัฒนาการเมืองทางการเมืองของไทย มีระยะเวลาไม่นาน
"ทั้ง 2 ลักษณะนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน แต่ถอยหลังกลับไปในปี 2475 และ 2516 ซึ่งตอกย้ำว่า การรัฐประหารกลายเป็นกฎ มากกว่าเป็น ข้อยกเว้น การพัฒนา ก็จบด้วยการรัฐประหารอยู่ดี การใช้กำลังในระบอบการเมือง ปี 2553 ไม่แตกต่างกับเมื่อปี 2516 เป็นการใช้กำลังขนาดใหญ่จัดการผู้เห็นต่าง ถือว่าเป็นบทเรียนให้กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันว่า ถ้าใช้ความรุนแรง ก็จะเกิดกระบวนการสร้างข้าศึกภายในรัฐ การใช้ความรุนแรงไม่ใช่การแก้ปัญหา
สุรชาติกล่าวตอนหนึ่งว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นอะไรที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องเจอ เราไม่เคยประเมิน เพราะไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย วันนี้อาจจะมีคำถาม มีอะไรหลายอย่างในเชิงข้อมูล 40 ปีผ่านไป ท่านทั้งหลายจะเห็น การต่อสู้ของคนรุ่น 14 ตุลา ทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 กลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบเรียนในหนังสือของลูกๆ เรา แต่วันนี้ท่านเปิดดูหนังสือจะเห็นชัด ไม่ปรากฏเรื่องราว 6 ตุลา 19 ในแบบเรียนทั้งสิ้น เหตุการณ์ 6 ตุลา กลายเป็นความทรงจำที่รางเลือน เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิด และกลายเป็นเหตุการฆ่าที่ถูกเก็บซุกไว้ในมุมมืดๆ วันนี้ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ตัดสินใจเข้าเป็นเจ้าภาพ ไม่เช่นนั้น การจัดงานรำลึก 6 ตุลา จะมีอะไรไม่ต่างอะไรกับงานเชงเม้ง มาเจอกัน ทานข้าวกัน แยกกัน แล้วก็กลับบ้าน"
"ถ้าวันนี้การจัดงานจะมีประโยชน์สักนิดหนึ่ง ผมยังยืนยันในฐานะชีวิตของคน ไม่ใช่ของผม แต่เป็นของเพื่อนๆ ที่ยืนอยู่ข้างล่างที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกัน การฆ่าโดยรัฐไม่ใช่คำตอบ การใช้ความรุนแรงของรัฐไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะผลสะท้อนที่เกิดขึ้นจะมีอย่างยาวนาน การใส่ร้ายป้ายสี นำไปสู่การสร้างความเป็นข้าศึก สุดท้ายจบลงด้วยการฆ่า
ท้ายที่สุดสิ่งที่ไม่น่าเชื่อคือทหารยึดอำนาจในเดือนธันวาคมปี 2520 ถ้าไม่เปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบายไม่ได้ คือต้องเปลี่ยนนโยบายขวาจัดออก ถอดชนวนสงครามกลางเมืองในไทย ยุติสงครามขนาดใหญ่ในประเทศไทย ปล่อยจำเลยคดี 6 ตุลาอย่างพวกผมไม่ใช่การปล่อยเฉยๆ ตัวแทนของรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชามะนันท์ เป็นการพูดคุยครั้งแรกกับนักศึกษาคดี 6 ตุลาคม คำตอบของผู้แทนรัฐบาลคือ รัฐบาลต้องการยุติสถานการณ์สงคราม และยุติสงครามกับนักศึกษา มีความพยายามที่จะเปลี่ยนสงครามในประเทศไทย
ผมคิดว่า 40 ปีมานี้ บทเรียน 6 ตุลา ถ้าจะทิ้งไว้บ้าง ต้องทิ้งไว้กับคนรุ่นปัจจุบัน ผมเชื่อว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่มีจุดสิ้นสุด การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไม่มีขีดจำกัด คบเพลิงการต่อสู้จากคนรุ่นตุลากำลังส่งผ่านถึงมือคนรุ่นใหม่ วันนี้เราอาจตกใจกับการตัดสินใจของรัฐบาลกับการเปิดเวทีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รัฐบาลตัดสินใจส่งองค์ปาฐกคนหนึ่งกลับฮ่องกง ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ตอบเราอย่างชัดเจนว่า วันนี้ตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ทำ ที่ตัดสินใจเข้ามาสู้นั้นเริ่มบ่งบอกชัดว่าคบเพลิงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยส่งจากคนรุ่นพวกผมต่อไปยังคนรุ่นใหม่แล้ว
อีกสักสิ่งหนึ่ง สิ่งที่น่าคิดว่าอนาคตสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร วันนี้ต้องยอมรับว่าสังคมไทยแตกแยก มีคำถามอย่างเดียวสำหรับคนรุ่นผมว่าความแตกแยกยุคปัจจุบันและความแตกแยกในปี 2519 แตกต่างมากน้อยเพียงไร แต่แน่นอน ความแตกแยกทางการเมือง ความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ต่างจากปี 2519 แต่ความโชคดีคือปี 2519 สถานการณ์ยุติลง
สถานการณ์ในปี 2519 ยุติลงผมอยากเรียนท่านทั้งหลาย สัญลักษณ์ของการยุติของสงครามปี 2519 ที่ใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่การปล่อยตัวพวกผม หรือการกลับคืนจากชนบทสู่เมืองของนักศึกษา แต่เป็นเพลงๆ หนึ่งที่ถูกเขียนในป่า โดยอัศนีย์ พลจันทร์ "เพลงเดือนเพ็ญ" ที่เขียนในฐานที่มั่น ถูกนำมาร้องในทุกระดับ จากระดับสูง ถึงตามบาร์ ตามไนท์คลับ เพลงเดือนเพ็ญเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดองถ้าจะใช้ภาษาคนยุคปัจจุบัน
ผมไม่มีคำตอบว่าหลังปี 2553 จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์ของการปรองดอง เหมือนกับเพลงเดือนเพ็ญที่ส่งสัญญาณถึงคนรุ่นผม เพราะคนทุกชั้นทุกระดับร้องเพลงเดือนเพ็ญ ถ้าเป็นเช่นนี้อะไรจะเป็นเงื่อนไขในอนาคต ผมคิดว่าในท้ายที่สุด อยากฝากถึงคนรุ่นหลังวันนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีเงื่อนไขทั้งบวกและลบ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยปัจจุบันมีเงื่อนไขที่ดีกว่าคนรุ่นผม ผมนึกไม่ออกว่าถ้ามี 2519 มีโซเชียลมีเดีย มีเว็บไซต์ การฆ่าในวันนั้นจะหนักขึ้นหรือเบาลง แต่ในวันนี้เราเห็นอย่างหนึ่งการต่อสู้ของพี่น้องในโลกอาหรับ พี่น้องที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายพื้นที่ สื่อสังคมสมัยใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญ คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือที่ดีกว่าคนรุ่นผม และเข้าต่อสู้ได้ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่าคนรุ่นผม แต่ขณะเดียวกันเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างจากเดิมคือ แล้วจะทำอย่างไรที่จะสร้างเงื่อนไขในการพัฒนาการเมืองไทย
เงื่อนไขที่ 1 เราได้ยินคำว่า Brexit คืออังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ผมขอเสนอ Mixit = Military Exit เงื่อนไขแรกของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ต้องเอาทหารออกจากการเมือง ถ้าท่านเอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ ไม่ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตย ถ้าท่านเอาทหารกลับไปอยู่ในกรมกองไม่ได้ ประชาธิปไตยก็จะเหมือนรถไฟของลูกๆ เราที่วิ่งวนในรางวงกลมของลูกๆ เรา เงื่อนไขแรกชิ้นนี้ ท้าทายคนตั้งแต่ 2475 คนรุ่น 14 ตุลา คนพฤษภา 35 และคนรุ่นปัจจุบันว่าจะพาทหารเข้ากรมอย่างไร
เงื่อนไขที่ 2 วันนี้ อำนาจนอกระบบต้องปล่อยให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ บนเงื่อนไขทำรัฐสภาให้เป็นรัฐสภา ทำศาลให้เป็นศาล และทำรัฐบาลเป็นรัฐบาล การกลับสู่ภาวะปกติหมายความว่า ความสัมพันธ์ขององค์กร 3 ส่วน อยู่ภายใต้บริบทการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ใช่ตรวจจับและทำลายดุล โครงสร้างรัฐบาลจะรองรับอะไรไม่ได้เลย ยุทธศาสตร์ 20 ปี ใครจะมาเป็นรัฐบาลจะถูกครอบ จะถูกกดทับโดยยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ไม่รู้ว่าใครร่าง และคนร่างมีความรู้มากน้อยเพียงใด
เงื่อนไขที่ 3 การเมืองไทยต้องการเวลาของการพัฒนา สังคมไทยอยู่ภายใต้บริบทของความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือความเร็วของข่าวสารในโลกโซเชียล สภาวะอย่างนี้สร้างจินตภาพให้เราอย่างหนึ่ง เราอยากเห็นทุกอย่างเร็ว แต่ต้องยอมรับ การพัฒนาทางการเมืองไม่ว่าในประเทศไหน ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้รวดเร็ว การสร้างระบบการเมืองที่แข็งแรง วางรากฐานการเมืองที่มีเสถียรภาพต้องการเวลา ต้องการความอดทน ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนได้มาโดยง่าย ทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมไทย รวมทั้งผู้มีอำนาจจะยอมอดทน อดทนที่จะไม่เรียกร้องว่าการพ่ายแพ้ และไม่พอใจของพวกเขาคือการล้มรัฐบาลที่อยู่ข้างหน้า ทำอย่างไรพวกเขาจะยอมอดทน อยู่กับการเมืองในระบบที่ไม่ใช่การเมืองนอกระบบ นั่นคือพวกเขาต้องยุติความหวาดกลัวทางการเมือง และยอมรับว่าความพ่ายแพ้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการทำลายการเมืองทั้งระบบ
ในส่วนต่อมา ต้องฝากคนรุ่นหลัง จะเป็นนักประชาธิปไตย ท่านต้องเป็นนักยุทธศาสตร์ การพัฒนาประชาธิปไตยเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มียุทธศาสตร์การสร้างประชาธิปไตย บทเรียนจากสังคมอเมริกาใต้ที่ต่อต้านอำนาจนิยมให้บทเรียนอย่างหนึ่ง ขบวนประชาธิปไตยในภูมิภาคไม่ได้สู้เพียงแค่มีความหวังและความฝันเท่านั้น แน่นอนการต่อสู้เรามีทั้งความหวังและความฝัน แต่ทั้งความหวังและความฝันจะเป็นจริงได้ต่อเมื่อมียุทธศาสตร์ให้ประชาธิปไตยเดินไปข้างหน้าได้ ในท้ายที่สุด เป็นนักประชาธิปไตยต้องเป็นนักบริหาร ไม่เป็นนักบริหารไม่ได้ เพราะระบอบการเมืองที่ขาดการบริหารจะสร้างปัญหาให้ตัวเอง และท้ายที่สุดระบอบการเมืองที่ขาดการบริหารจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองได้
ผมไม่ได้เรียกร้องให้ท่านชำระประวัติศาสตร์ หรือท่านต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหว วันนี้เป็นแต่เพียงต้องกราบขอบพระคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้มาพูดคุยกับพวกท่าน วันนี้ถ้าผมจะเป็นตัวแทนของเป็นตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต เพื่อนพี่น้องในเหตุการณ์ 6 ตุลา ขอบคุณที่ธรรมศาสตร์จัดงานนี้ และที่สำคัญเราหวังว่าการรำลึกวันนี้ไม่ใช่แต่นึกถึงคนตาย คนเจ็บ เรามีเพื่อนๆ หลายคนที่เสียชีวิตในป่า วันนี้เป็นปีแรกที่ผมสำรวจเพื่อนๆ น้องๆ จุฬาที่ถูกทิ้งไว้ในฐานที่มั่น วันนี้ผมมีตัวเลขในส่วนของผม จุฬาฯ สูญเสียนิสิต 9 ชีวิตในชนบท ในท้ายที่สุดผมเชื่อว่าวันนี้เราพูดคุยกัน ผมพูดวันนี้ว่า ขบวนประชาธิปไตยต้องไม่กล่าวโทษ ชี้้นิ้วด่ากันเอง แต่ต้องคิดถึงอนาคต ผมเชื่อว่า วันนี้ท่านกับผมอาจจะไม่เห็นไม่ตรงกัน แต่ผมหวังว่าท่านกับผมวันนี้เห็นร่วมกันอย่างหนึ่ง คือท่านกับผมต้องเห็นอนาคตสังคมไทยร่วมกัน วันนี้เราต้องมุ่งหวังว่าในอนาคตจะต้องนำพาสังคมไทยก้าวข้ามปัญหาและความขัดแย้งเหมือนยุค 6 ตุลา ที่เรามีสัญลักษณ์ของเพลงเดือนเพ็ญในการก้าวข้ามความขัดแย้งในยุคนั้น
คลิปสุนทรกถา 40 ปี 6 ตุลา 19 ""40 ปีเปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปีเปลี่ยน – 40 ปี ไม่ผ่าน?" โดย สุรชาติ บำรุงสุข