วันอังคาร, ตุลาคม 11, 2559

ถ้าสื่อเลือกข้างเป็นสื่อเลว ทำไมหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายของเยอรมนีอย่าง ทาซ หรือ ดีทาเกอส์ไซตุง จึงถูกยกย่องว่าเป็นสื่อชั้นดีเปรียบเหมือนโรงเรียนสอนผู้สื่อข่าวของ เยอรมนี





บุกเบอร์ลิน (2): ทาซ สื่อเลือกข้างที่ได้รับการยกย่อง


11 ตุลาคม 2559
โดย ประภาภูมิ เอี่ยมสม
ผู้ดำเนินรายการ Voice World Wide ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ Voice TV


ถ้าสื่อเลือกข้างเป็นสื่อเลว ทำไมหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายของเยอรมนีอย่าง ทาซ หรือ ดีทาเกอส์ไซตุง จึงถูกยกย่องว่าเป็นสื่อชั้นดีเปรียบเหมือนโรงเรียนสอนผู้สื่อข่าวของ เยอรมนี

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปเวิร์กชอป "สื่อภายใต้เผด็จการและประชาธิปไตยใหม่" ที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี โดยโครงการนี้เป็นโครงการของมูลนิธิ ทาซ พันเทอร์ (taz Panter Stifftung) และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนีในการนำผู้สื่อข่าว 10 คนจากไทย เมียนมา และกัมพูชาไปเรียนรู้ว่า สื่อเยอรมันเป็นอย่างไรบ้าง เยอรมนีจัดการกับประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายอย่างไร รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและเสรีภาพสื่อใน 3 ประเทศด้วย



มูลนิธิทาซ พันเตอร์เป็นของหนังสือพิมพ์ ดี ทาเกอส์ไซตุง (die tageszeitung) หรือเรียกสั้นๆว่า ทาซ (taz) หนังสือพิมพ์รายวันฝ่ายซ้ายของเยอรมนีที่ขึ้นชื่อเรื่องการวิเคราะห์ข่าว ให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศ สนับสนุนสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และสิ่งแวดล้อม (จริงๆก็คล้ายๆวอยซ์ ทีวี) ที่น่าสนใจก็คือ ทาซก่อตั้งขึ้นมาจากขบวนการนักศึกษาเยอรมันเมื่อปี 1979 ด้วย "ความดื้อ" ของเหล่านักศึกษาที่ไม่มีทั้งเงินทุนและความรู้ด้านสื่อมวลชนเลย และไม่ต้องการเงินทุนจากรัฐบาลและนายทุน เพราะไม่ต้องการให้ใครมาครอบงำได้ โดยเริ่มต้นจากการไปขอระดมทุนจากผู้ร่วมอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในเยอรมนีขณะนั้น เป็นการแบกหน้าไปขอเงินคนอื่นให้ช่วยกันลงทุนในหนังสือพิมพ์ที่ยังไม่เกิด โดยสัญญาว่าเมื่อหนังสือพิมพ์คลอดแล้ว สมาชิกเหล่านี้จะได้รับหนังสือพิมพ์ที่หน้าบ้านของตัวเองทุกวัน แต่ก็ไม่อะไรการันตีว่าโครงการนี้จะล้มไม่เป็นท่าหรือไม่ คิดดูว่าจะต้องใช้ใจขนาดไหนในการลงทุนครั้งนี้เพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง แต่นับตั้งแต่วันนั้น ทาซก็ไม่เคยหยุดตีพิมพ์เลย





ปัจจุบัน ทาซเปลี่ยนแปลงไปบ้างจากเป็นหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายจัดก็กลับมาเป็นฝ่ายกลางซ้ายมากขึ้น รับโฆษณาบ้าง แต่มีนโยบายชัดเจนว่า บริษัทที่ซื้อพื้นที่โฆษณาจะไม่มีอิทธิพลอยู่เหนือเนื้อหาใดๆบนหนังสือพิมพ์ เพราะแหล่งเงินทุนหลักของทาซก็คือสมาชิกผู้อ่าน ซึ่งอยู่ในรูปแบบผู้ถือหุ้น แต่ไม่ว่าคุณจะซื้อหุ้นไปมากเท่าไหร่ คุณก็มีเพียง 1 เสียงในการโหวตเลือกคณะผู้บริหารของหนังสือพิมพ์ทาซในการประชุมประจำปี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ทาซยังคงตีพิมพ์ต่อมาได้จนบัดนี้ โดยที่ไม่ถูกอิทธิพลจากใครครอบงำได้ แต่ทาซก็ต้องทำงานเชิงรุกในการแสวงหาลูกค้าใหม่ๆ ด้วยการพาดหัวข่าวหรือนำเสนอข่าวที่แตกต่าง อย่างเช่นภาพด้านล่าง คือ หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทาซในวันที่ผลการเลือกตั้งออกมาว่านางอังเกลา แมร์เคลได้เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีต่อเป็นสมัยที่ 3 ทาซได้เลือกภาพแมร์เคลตอนเด็กและพาดหัวข่าว "ออกมาเป็นผู้หญิง" เหมือนเวลาแพทย์ออกมาแจ้งญาติว่า เด็กที่เกิดเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพื่อให้หน้าหนังสือพิมพ์แตกต่างไปจากเจ้าอื่น นอกจากนี้ ลำพังการขายหนังสือพิมพ์อาจไม่พอ จึงมีการเปิดคาเฟ่ขายอาหารและกาแฟ รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ มีการจัดทำฉบับพิเศษเมื่อครบรอบแต่ละปีของทาซ ซึ่งมักสร้างเสียงฮือฮาในเยอรมนี





ทาซเป็นตัวอย่างของสื่อเลือกข้างที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และไม่มีคนเยอรมันที่ไหนรู้สึกว่า จำเป็นต้องล้มล้างสื่อแบบนี้ เพราะทุกคนเข้าใจว่าสื่อทุกสื่อมีอุดมการณ์และแนวความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างหลากหลายกันไป และทาซเองก็ไม่ยึดอยู่กับจรรยาบรรณสื่อกลวงๆว่า "สื่อต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร" เพราะทาซวิพากษ์วิจารณ์ตามอุดมการณ์ที่ผู้สื่อข่าวยึดถือ ด้วยข้อมูลที่รอบด้านมาสนับสนุน และผู้อ่านก็เข้าใจว่า นี่คือมุมมองของผู้เขียน นอกจากจะไม่โดนคนส่วนใหญ่หรือคนในวงการสื่อกันเองต่อว่า ยังถูกยกย่องว่าเป็นสื่อชั้นดีเปรียบเหมือนโรงเรียนสอนผู้สื่อข่าวของเยอรมนีด้วย

ยกตัวอย่าง นักข่าวของทาซสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ต่อต้านการเกลียดกลัวคนหลากหลายทางเพศ ไม่เห็นด้วยฝ่ายต่อต้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอย่างกลุ่มเพกีดาหรือพรรคขวาจัด AFD ก็ประกาศชัดเจน และไม่จำเป็นต้องบอกว่าตัวเองจะไม่เข้าข้างใครในเรื่องนี้ แต่สิ่งที่สื่อต้องทำก็คือการหยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นมาสนับสนุน แล้วให้ผู้อ่านตัดสินใจเองว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้น่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะมันช่างน่าขัน ที่จะบอกว่า เราจะไม่สนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน เพราะเราไม่อยากเลือกข้าง กลัวว่าการเลือกข้างจะเป็นการไม่เปิด "พื้นที่สีเทา" ให้อีกฝ่าย มันเหมือนกับการเห็นสามีตบภรรยาต่อหน้าต่อตาเรา แล้วบอกว่า เราจะไม่เข้าข้างใครนะ แทนที่จะสอบถามเรื่องราวจากทั้ง 2 ฝ่ายให้รอบด้าน เช่น ภรรยาอาจด่าทอไปถึงบรรพบุรุษสามี แต่ก็ต้องมีจุดยืนว่า การทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นการไม่เลือกข้างใดๆจะกลายเป็นการเข้าข้างไปโดยปริยาย




นักข่าวของทาซบอกว่า ทาซมีคติว่า ไม่มีใครอยู่เหนือการล้อเลียน เพราะการล้อเลียนก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างอื่น พาดหัวข่าวของทาซจึงมักมีอารมณ์ขันแทรกอยู่ด้วย และไม่ว่าจะประมุขของประเทศหรือเป็นที่เคารพนับถือขนาดไหน ก็ถูกล้อเลียนได้เช่นกัน นอกจากนี้ กำแพงของตึกสำนักพิมพ์ทาซ ก็ยังมีผลงานศิลปะล้อเลียนนายไค ดีคมันน์ บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์ บิลท์ (Bild) แท็บลอยด์ที่มักมีกอสซิป มีข่าวฉาวมากมาย ซึ่งทั้งสองสำนักข่าวมักมีจุดยืนที่แตกต่างขัดแย้งกันเสมอ โดยภาพนั้นจะมีพร้อมข้อความตลกๆอยู่ โดยที่สำนักงานของแอ็กเซล ชปริงเกอร์ (Axel Springer) ที่บิลท์อยู่ในเครือก็ตั้งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่บล็อก และจากตึกนั้นก็สามารถมองลงมาเห็นกำแพงนี้ได้อย่างชัดเจน



ความขัดแย้งระหว่าง 2 สำนักข่าวนี้มีขึ้นหลังจากคอลัมน์เสียดสีของทาซบอกว่านายดีคมันน์ไปผ่าตัดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ เนื่องจากบิลท์กับเขียนข่าวใต้เตียงดารา จนมีการฟ้องร้องกัน แต่ศาลก็ตัดสินว่าทาซสามารถล้อเลียนได้ และเมื่อปีเตอร์ เลงค์ ศิลปินมาสร้างศิลปะล้อเลียนบนกำแพงของทาซ นายดีคมันน์หรือแม้แต่คนในทาซเองก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอมรับการล้อเลียน เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนรวมถึงนายดีคมันน์เองก็มองเรื่องนี้เป็นเรื่องขำขันไป


ถ้าหากใครไปเที่ยวกรุงเบอร์ลินก็สามารถแวะไปถ่ายรูปกันได้ เพราะสามารถเดินจากเช็คพอยท์ ชาร์ลีได้ หากเดินจากเช็คพอยท์ ชาร์ลีมาทางฝั่งเยอรมนีตะวันตก ข้ามถนนตรงสี่แยกแล้วเดินไปทางซ้าย แล้วคุณจะเห็นโต๊ะเก้าอี้ของคาเฟ่ทาซ ถ้าคุณมองขึ้นไปก็จะเห็นกำแพงนี้
.....

เรื่องเกี่ยวเนื่อง....

บุกเบอร์ลิน (1): บาดแผลจากความแตกแยกตะวันออก-ตก(Prapapoom Eiamsom)
"สงครามนางงาม2" ทำร้ายผู้ป่วยทางจิตอย่างไม่อาจให้อภัยได้(Prapapoom Eiamsom)