วันอังคาร, ธันวาคม 10, 2567

PopTalk : ประเทศที่ทำให้เรา เหงา/เศร้า/โสด แต่แก้ได้ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ถึงชนชั้นนำไทย มันถึงเวลาแล้ว ที่ต้องเริ่มประนีประนอม


09/12/2024
iLaw

8 ธันวาคม 2657 ที่ลานประชาชน รัฐสภา เกียกกาย ในกิจกรรม PopCon : รัฐธรรมนูญใหม่แบบป็อปๆ มีวงเสวนา PopTalk : ประเทศที่ทำให้เรา ‘เหงา/เศร้า/โสด’ (แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ)” ร่วมพูดคุยโดย ปกป้อง-ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ, รติศา วิเชียรพิทยา เจ้าของช่องยูทูบเบอร์ NailName, ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชน และดำเนินบทสนทนาโดยฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงานและยูทูบเบอร์ช่อง “พูด”

บทสนทนาในเวทีเสวนานี้เริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมืองที่เราอาศัยอยู่มันชวนให้เรารู้สึกเหงา สังคมที่ใช้ชีวิตมันทำให้เราเศร้า หรือคนรอบตัวที่ดูเหมือนจะโสดกันเยอะ ทำไมกันที่สถานะของเรา เมืองของเรา และสิ่งรอบตัวเราเป็นเช่นนี้ เป็นปัญหาส่วนตัวของเราหรือเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างไปจนถึงระดับรัฐธรรมนูญ

สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ส่งผลต่อความเหงาของเราอย่างไร

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย​ธรรมศาสตร์ เกริ่นว่า ชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนเริ่มมองหาโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแต่โอกาสมันไม่มีอยู่ สำหรับผู้ที่สังเกตการณ์การเมืองไทย จะเห็นว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีอะไรแปลกๆ ในสังคมไทย ทุกอย่างวนไปถึงทางตันและนำไปสู่ความรุนแรง

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะชุดค่านิยม ภาษา และหลักการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการเมือง เรื่องเพศ รวมถึงสถาบันและโครงสร้างทางการเมืองที่พัฒนาในศตวรรษที่ 19 แต่ตอนนี้เราอยู่ในศตวรรษที่ 21 แล้ว เราไม่อาจใช้สิ่งที่ถูกคิดขึ้นมาในศตวรรษที่ 18 มาแก้ปัญหาศตวรรษที่ 21 ได้

ทุกวันนี้เราอยู่กับระบบการเมืองที่เป็นภาพลวงตา ราวกับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่ในความจริงแล้วเสียงของประชาชนไม่ได้มีความหมาย การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม และเพราะเช่นนั้นเองจึงทำให้เกิดความ “สิ้นหวัง” และความพยายามในการเปลี่ยนแปลงที่ยังวนอยู่ที่เดิมมันยิ่งทำให้เสียงของประชาชนไม่มีความหมายอยู่เช่นนั้น



ชานันท์ ยอดหงษ์ อธิบายว่าจากข้อมูลสถิติสหประชาชาติว่าหนึ่งในสี่ของประชากรโลกทั้งหมดเป็นคนโสดซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องปัจเจก แต่อย่าลืมว่าโครงสร้างทางสังคมก็มีผลที่ทำให้เป็นเช่นนั้นด้วย ซึ่งความเหงาเช่นนี้ไม่ใช่การสันโดษเพราะอาจไม่ใช่ลักษณะของการอยู่อยู่คนเดียวแบบมีความสุข มีคนนิยามว่าสิ่งนี้เป็นสัญญาณอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ความเหงาเป็นผลผลิตของโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะโครงสร้างส่วนบนที่เป็นการเมือง ศาสนา ค่านิยม เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมใดๆ เหล่านี้ที่ถูกประกอบสร้างซึ่งจะทำให้โครงสร้างส่วนล่างรู้สึกเหงาได้ จำเลยแรกของความเหงาที่ต้องเราพูดถึงคือโลกของทุนนิยม เราต้องทำงานเพื่อความอยู่รอด เราต้องเฉือนความเป็นตัวตน สยบยอมและฝืนใจทำงาน และกลายเป็นอื่นจากตัวตนของเรา

ทรัพยากรกระจุกอยู่ที่เมืองหลวง ประชากรต่างจังหวัดที่ต้องเขามาทำงานในเมืองหลวงก็จะรู้สึกถูกตัดขาดกับสิ่งที่เคยรู้สึก ด้วยราคาที่สูงของที่อยู่อาศัยทำให้เราไม่สามารถเป็นเจ้าของมันได้ เราทำได้แค่เช่ามันและเราจะไม่มีสำนึกในการอยู่ร่วมกับมัน รวมถึงในการเข้าสังคม ทุกสิ่งมีราคาที่ต้องจ่ายและเราอาจเป็นอื่นกับมันได้ ถ้าเราไม่มีเงิน

ชีวิตส่วนใหญ่ของเราจึงกระจุกอยู่กับการทำงาน แต่สังคมหรือความความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้นโดยสภาพแล้วต้องตกอยู่ภายใต้ตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานจึงไม่อาจช่วยให้เราคลายเหงาได้ ชานันท์กล่าวทิ้งท้าย
 


รติศา วิเชียรพิทยา ยูทูบเบอร์ช่อง NailName เล่าว่าเรามีปัญหาหนึ่งที่คนในเมืองหลวงเจอแต่ไม่รู้สึกตัว คือการมีพื้นที่สาธารณะน้อยมาก การนัดเจอเพื่อนก็ทำได้แค่ในห้างหรือในสถานบันเทิงกลางคืน ปัญหาพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอจึงทำให้มนุษย์ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของคนโสด

ส่วนปัญหาของคนที่มีคู่อยู่แล้วเราก็จะพบว่าการมีพื้นที่สาธารณะน้อยก็จะทำให้คนมีคู่ไม่สามารถทำกิจกรรม ครอบครัวไม่มีพื้นที่ให้ใช้เวลาร่วมกัน ไม่มีพื้นที่ให้เด็กในวัยเดียวกันมาเล่นด้วยกันอีกด้วย เราจึงเห็นว่าเด็กในยุคสมัยนี้จดจ่ออยู่แต่กับหน้าจอหรือเกม ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ใช้ก็เป็นได้

นอกเหนือจากคนในเมืองหลวงแล้ว คนในต่างจังหวัดก็ประสบปัญหาเช่นกัน ในเมืองหลวงอาจมีพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดเราอาจมีพื้นที่สาธารณะเหล่านั้น แต่โครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่นั้นได้ง่าย โดยเฉพาะการไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดีที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตภายในเมือง เคยมีมายาคติสำหรับคนเมืองที่มองคนต่างจังหวัดว่าคนต่างจังหวัดใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะเรื่องของการซื้อรถส่วนตัว แต่ทั้งนี้เองเมื่อระบบขนส่งสาธารณะไม่ดี การเลือกซื้อรถส่วนตัวจึงเป็นทางออกสำหรับการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ หรือบริการทางสังคมต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ โรงพยาบาล หรือโรงเรียน
 
มีรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิประชาชน ช่วยคลายปัญหาเหงา/เศร้า/โสดได้



พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ตอบคำถามในประเด็นความเหงา-เศร้า-โสดว่า รัฐอาจเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ผู้ร่วมสนทนาคนอื่นๆ พูดได้ เราอาจต้องนำเสนอนโยบายต่างๆ เช่น การศึกษาฟรี คำถามคือเราจะขับเคลื่อนมันอย่างไรหรือระดับไหน เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้นโยบายนี้แก้ไขยากมากขึ้น หรืออาจจะเขียนนโยบายเป็นกฎหมาย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรสามารถแก้ไขได้ หรือชั้นน้อยที่สุดคือกำหนดเป็นนโยบายของรัฐที่อาจเปลี่ยนแปลงได้หากเปลี่ยนรัฐบาล

พริษฐ์มองว่า รัฐธรรมนูญมีหน้าที่สองอย่าง คือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและออกแบบสถาบันทางการเมืองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและยึดโยงกับประชาชน

หากเราลองจินตนาการว่าเราเป็นคนโสดและอยากหาความสัมพันธ์ รัฐธรรมนูญอาจช่วยเราได้ หากเราต้องการจะเป็นตัวเองในการที่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หากมีการคุ้มครองสิทธิแรงงานเนื่องจากคนทำงานใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำงานแต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ถ้ารัฐธรรมนูญคุ้มครองในส่วนนี้เราก็อาจจะมีเวลามากขึ้น

หากเป็นคนที่มีคู่อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญจะช่วยให้เราสามารถพัฒนาความสัมพันธ์โดยการที่อาจจะไปออกเดทกันได้ ถ้าคุ้มครองในสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี มีอากาศที่สะอาดให้คู่รักสามารถที่จะไปพัฒนาความสัมพันธ์กันได้ การไม่ผูกขาดทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้คู่รักต้องใช้จ่ายแพงขึ้นกับการพัฒนาความสัมพันธ์เช่น ราคาตั๋วหนัง ราคาค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

สุดท้ายหากว่าเรามีคู่แล้ว และอยากจะลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว รัฐธรรมนูญอาจคุ้มครองสิทธิของเราเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนที่มีครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในส่วนนี้อาจจะเป็นการรับรองสิทธิการแต่งงานของบุคคล การคุ้มครองสิทธิในการลาคลอด หรือการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

สังคมไทยต้องหาฉันทามติ อยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง



ศ.ชลิดาภรณ์ เห็นพ้องกับพริษฐ์ว่าเราต้องให้เสรีภาพกับประชาชนเป็นตัวของตัวเองได้ แสดงออกในสิ่งที่ต้องการได้ตราบเท่าที่การแสดงออกนั้นไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร แต่อยากชวนมองคิดถอยหลังไปเสียหน่อยว่าสังคมนี้ไม่มีฉันทามติในการอยู่ร่วมกัน เรามีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันแต่เราไม่มีจุดร่วมว่าเราจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร มันยังไม่มีเส้นที่เราจะไม่เกินเส้นนั้น ยกตัวอย่างในกรณีเกาหลีใต้ที่เพิ่งเกิดขึ้น เราจะเห็นว่าเมื่อมีการล้ำเส้นนั้นทุกคนแม้ว่าแตกต่างทางความคิดจะออกมารักษาสิ่งที่เป็นจุดร่วมกัน

หลังรัฐประหารปี 2557 ตนเคยมีข้อเสนอว่าเมื่อจะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการปรองดองสำหรับภาคประชาชนไปพร้อมกันได้หรือไม่ ก่อนให้บรรดานักกฎหมายเข้ามาร่วมกันเขียนถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ขอให้ประชาชนได้หาฉันทามติที่ว่านั้นก่อนได้หรือไม่ ขอให้ประชาชนได้พูดภาษาของประชาชนก่อนว่าจะอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างนี้อย่างไร

รัฐธรรมนูญเปรียบเป็นกติกาใหญ่ (Meta Rule) ว่าด้วยการกำหนดกติกาในสังคม วันนี้ถ้าเราร่างรัฐธรรมนูญดีๆ เราจะมีหลักประกันถ้ารัฐธรรมนูญรับรองหรือคุ้มครองไว้ สำหรับนโยบายสาธารณะที่พูดกันในการเสวนาครั้งนี้ทั้งหมด รัฐธรรมนูญต้องทำให้เกิดกลไกเชิงสถาบันที่จะทำให้เกิดการพูดคุยหรือถกเถียงได้ เสียงของประชาชนต้องมีช่องทางในกระบวนการนโยบายสาธารณะและต้องไม่ถูกผูกขาดไว้กับนักเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยในที่ต่างๆ ของโลกใบนี้พยายามที่จะไปจุดถึงที่สร้างช่องเปิดเสียงของประชาชนเข้าไปในกระบวนการได้ สังคมไทยเป็นสังคมที่มันแตกร้าวที่รากแก้วมานาน จึงจำเป็นต้องพูดคุยถึงการหาฉันทามติในการอยู่ร่วมกัน เราอยู่ในสังคมที่เสียงของประชาชนเกือบไม่มีความหมาย เราอยู่ในระบบการเมืองที่การตัดสินใจเรื่องทรัพยากรและนโยบายสาธารณะของประเทศอยู่ในมือของกลุ่มคนที่เล็กมาก เราจะทำอย่างไรให้ระบบการเมืองที่ว่านี้มันเปิดพื้นที่ รับฟังเสียงของประชาชนที่ตะโกนออกมาและเรียกร้องมาเป็นเวลานานมากไปสู่ระบบการเมืองนี้ได้

“ดิฉันเคยพูดอย่างมีความหวัง เมื่อตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 หลังการรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 มันมีการประนีประนอม ชนชั้นนำไทยเคยยอมประนีประนอมให้มันมีเสียงบางเสียงเข้าสู่ระบบการเมืองได้โดยผ่านการเลือกตั้ง การประนีประนอมในครั้งนั้นทำให้ดิฉันเชื่อว่าเราน่าจะประนีประนอมแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน สังคมไทยที่เราอยู่ทุกวันนี้ที่เราคิดว่ามันอยู่ร่วมกันได้ที่จริงแล้วมันคือภาพลวงตาที่ร้าวและสั่นคลอนอยู่มากแล้ว

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นกระบวนการทางการเมืองที่ผู้คนที่อยู่ในชุมชนต้องการเมืองนี้ต้องเปล่งเสียงได้ เมื่อไหร่มันไปถึงจุดนั้นได้ รากแก้วที่ร้าวของสังคมไทยจะไม่แตกร้าวไปมากกว่านี้



จึงอยากฝากถึงทุกคนที่ลานประชาชนแห่งนี้ หรือคนที่ติดตามอยู่บนโลกออนไลน์ และถึงชนชั้นนำไทย มันถึงเวลาแล้วนะคะที่ต้องเริ่มประนีประนอม ดิฉันรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูด ดิฉันชื่อชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ศ.ชลิดาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

https://www.ilaw.or.th/articles/49148