บีบีซีไทย - BBC Thai
16 hours ago
·
เส้นทางอำนาจของ แพทองธาร คล้ายมี “เงาพ่อ” คอยประคอง-ตามประกบอยู่มิห่าง บ่อยครั้งที่ เงาทักษิณ แซงมาล้ำหน้าบุตรสาว
.
“ผมไม่ได้มองเป็นเงานะ ผมว่าตัวจริง คือท่านเป็นพ่อของนายกฯ แพทองธาร และคนรู้กันทั้งโลกว่ามีพ่อลูกคู่นี้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นคนมองไปที่นายกฯ แพทองธารไม่ได้เห็นเงา เห็นตัวนายกฯ ทักษิณด้วย” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทย
.
อ่านได้ที่นี่ https://bbc.in/4iBHkDe
.....
จักรวาลการเมืองชินวัตร คนรอบวงโคจรนายกฯ แพทองธาร
ทักษิณบอกผู้สื่อข่าวว่า หัวหน้าพรรคไทยรักไทยปี 44 กับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยปี 67 "เป็นคนเดียวกัน เพียงแต่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยผมยาวกว่า"
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
15 ธันวาคม 2024
ครบ 4 เดือนเต็มของการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แพทองธาร ชินวัตร กำลังเร่งผลิตผลงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคม ขณะที่บิดาของนายกฯ กำลังรุก "เกมมวลชน" เพื่อตุนคะแนนนิยมให้แก่พรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะมาถึงในปี 2570
อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เปิด "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่" ในการเมืองไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อายุที่สุด ด้วยวัยเพียง 37 ปี ณ วันเข้ารับตำแหน่ง
เธอบันทึก "ประวัติศาสตร์ภาคต่อ" ด้วยการเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทยตามหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้นำรัฐบาลคนที่ 3 จากตระกูลชินวัตรในรอบ 2 ทศวรรษ ตามรอยเท้านายกฯ ผู้พ่อ ทักษิณ (2544-2549) และนายกฯ ผู้เป็นอา ยิ่งลักษณ์ (2554-2557)
เส้นทางอำนาจของ แพทองธาร คล้ายมี "เงาพ่อ" คอยประคอง-ตามประกบอยู่มิห่าง บ่อยครั้งที่ เงาทักษิณ แซงมาล้ำหน้าบุตรสาว
"ผมไม่ได้มองเป็นเงานะ ผมว่าตัวจริง คือท่านเป็นพ่อของนายกฯ แพทองธาร และคนรู้กันทั้งโลกว่ามีพ่อลูกคู่นี้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นคนมองไปที่นายกฯ แพทองธารไม่ได้เห็นเงา เห็นตัวนายกฯ ทักษิณด้วย" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทย
ณัฐวุฒิ ยกให้ ทักษิณ เป็น "บุคคลระดับโลก" ที่มีความรู้ ประสบการณ์ เครือข่ายสายสัมพันธ์กับผู้คนทั้งในแวดวงการเมืองและธุรกิจนานาชาติ ซึ่งหายากที่คนไทยจะเป็นเช่นนั้น
"มันต้องคิดในมิติว่าในวัย 75 ปีของนายกฯ ทักษิณ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าท่านจะมีเวลา มีความเข้มแข็งร่างกายจิตใจที่จะทำงานให้กับบ้านเมืองต่อไปได้นานเท่าไร ดังนั้นทุกนาทีประเทศไทยในวันที่มี ทักษิณ ชินวัตร ต้องคิดในมุมนี้ ผมว่าอย่างนั้นนะ" เขากล่าว
ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่อง "ทักษิณพูด รัฐบาลทำ" ซึ่งนำไปสู่คำครหาว่า "ใครคือนายกฯ ตัวจริง" และทำให้ฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องภาวะผู้นำของ แพทองธาร
ณัฐวุฒิ เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่พ่อลูกจะคุยกัน และอดีตนายกฯ อาจนำเรื่องที่คุยมาเล่าบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาตราบที่รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาได้ คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้นั่งจับนั่งนับว่าทักษิณพูดอะไร รัฐบาลทำหรือไม่ทำ แต่คนนั่งรอว่าที่ประกาศมันเกิดขึ้นได้จริงไหม เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์อย่างไรมากกว่า
"ผมไม่ได้คิดแบบนั้น (ใครคือนายกฯ ตัวจริง) คิดว่าความเป็นนายกฯ ของคุณแพทองธารเพิ่งเริ่มต้น เนื้องานและนโยบายอาจถูกผลักดันไปไม่มากนัก หากเป็นรูปธรรม ถึงตัวประชาชน ความเป็นนายกฯ และภาวะผู้นำจะเด่นชัดและเข้มแข็งมากขึ้น ผมว่าต้องการเวลาสำหรับการสร้างผลงาน" ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
15 ธันวาคม 2024
ครบ 4 เดือนเต็มของการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 แพทองธาร ชินวัตร กำลังเร่งผลิตผลงานเพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคม ขณะที่บิดาของนายกฯ กำลังรุก "เกมมวลชน" เพื่อตุนคะแนนนิยมให้แก่พรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะมาถึงในปี 2570
อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร เปิด "ประวัติศาสตร์หน้าใหม่" ในการเมืองไทยในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อายุที่สุด ด้วยวัยเพียง 37 ปี ณ วันเข้ารับตำแหน่ง
เธอบันทึก "ประวัติศาสตร์ภาคต่อ" ด้วยการเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของไทยตามหลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้นำรัฐบาลคนที่ 3 จากตระกูลชินวัตรในรอบ 2 ทศวรรษ ตามรอยเท้านายกฯ ผู้พ่อ ทักษิณ (2544-2549) และนายกฯ ผู้เป็นอา ยิ่งลักษณ์ (2554-2557)
เส้นทางอำนาจของ แพทองธาร คล้ายมี "เงาพ่อ" คอยประคอง-ตามประกบอยู่มิห่าง บ่อยครั้งที่ เงาทักษิณ แซงมาล้ำหน้าบุตรสาว
"ผมไม่ได้มองเป็นเงานะ ผมว่าตัวจริง คือท่านเป็นพ่อของนายกฯ แพทองธาร และคนรู้กันทั้งโลกว่ามีพ่อลูกคู่นี้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ดังนั้นคนมองไปที่นายกฯ แพทองธารไม่ได้เห็นเงา เห็นตัวนายกฯ ทักษิณด้วย" ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับบีบีซีไทย
ณัฐวุฒิ ยกให้ ทักษิณ เป็น "บุคคลระดับโลก" ที่มีความรู้ ประสบการณ์ เครือข่ายสายสัมพันธ์กับผู้คนทั้งในแวดวงการเมืองและธุรกิจนานาชาติ ซึ่งหายากที่คนไทยจะเป็นเช่นนั้น
"มันต้องคิดในมิติว่าในวัย 75 ปีของนายกฯ ทักษิณ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าท่านจะมีเวลา มีความเข้มแข็งร่างกายจิตใจที่จะทำงานให้กับบ้านเมืองต่อไปได้นานเท่าไร ดังนั้นทุกนาทีประเทศไทยในวันที่มี ทักษิณ ชินวัตร ต้องคิดในมุมนี้ ผมว่าอย่างนั้นนะ" เขากล่าว
ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่อง "ทักษิณพูด รัฐบาลทำ" ซึ่งนำไปสู่คำครหาว่า "ใครคือนายกฯ ตัวจริง" และทำให้ฝ่ายค้านตั้งคำถามเรื่องภาวะผู้นำของ แพทองธาร
ณัฐวุฒิ เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่พ่อลูกจะคุยกัน และอดีตนายกฯ อาจนำเรื่องที่คุยมาเล่าบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาตราบที่รัฐบาลนำไปแก้ปัญหาได้ คิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้นั่งจับนั่งนับว่าทักษิณพูดอะไร รัฐบาลทำหรือไม่ทำ แต่คนนั่งรอว่าที่ประกาศมันเกิดขึ้นได้จริงไหม เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์อย่างไรมากกว่า
"ผมไม่ได้คิดแบบนั้น (ใครคือนายกฯ ตัวจริง) คิดว่าความเป็นนายกฯ ของคุณแพทองธารเพิ่งเริ่มต้น เนื้องานและนโยบายอาจถูกผลักดันไปไม่มากนัก หากเป็นรูปธรรม ถึงตัวประชาชน ความเป็นนายกฯ และภาวะผู้นำจะเด่นชัดและเข้มแข็งมากขึ้น ผมว่าต้องการเวลาสำหรับการสร้างผลงาน" ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าว
นายกฯ แพทองธาร กับ ครม. ร่วมถ่ายภาพหมู่ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือนภายใต้ชื่อ "2568 โอกาสไทย ทำได้จริง" เมื่อ 12 ธ.ค.
ก่อนก้าวเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล-ศูนย์กลางอำนาจใหม่ แพทองธาร ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อ ต.ค. 2566 โดยคนเพื่อไทยเปรียบเปรยเธอเป็น "ดาวฤกษ์ มีแสงในตัวเอง" เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
แต่เมื่อดูบทบาทล่าสุดของ ทักษิณ ในวงสัมมนาพรรค พท. เมื่อ 14 ธ.ค. ที่ออกมาตำหนิพรรคร่วมรัฐบาล โดยเล่าว่า มี พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม (pillar 2) เข้าที่ประชุม ครม. ปรากฏว่ามีพรรคร่วมบางพรรคหลบป่วย อย่างนี้ไม่ใช่เลือดสุพรรณนี่หว่า "ต่อไปใครหนีก็บอกว่าถ้าหนีก็ส่งใบลาออกมาด้วย" ร้อนถึงบรรดาแกนนำพรรคร่วมฯ ต้องออกมาปฏิเสธพัลวันว่าไม่ได้หมายถึงตัวเอง นั่นทำให้ ทักษิณ ดูประหนึ่งว่าเป็น "ดวงอาทิตย์"
นอกจากบิดาซึ่งเป็น "ผู้นำทางจิตวิญญาณ" ของพรรคสีแดง และ "ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์" ของบุตรสาว ในจักรวาลการเมืองเพื่อไทย มีใครโคจรรอบตัวนายกฯ อุ๊งอิ๊ง เป็น "ทีมหลัก-ทีมสนับสนุน" เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับเธอ และทำงานสอดประสานกันอย่างไรระหว่าง "ทีมตึกไทยคู่ฟ้า-ทีมบ้านจันทร์ส่องหล้า"
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลมาไว้ ณ ทีนี้
ทีมกุนซือ
กลุ่มคนที่ได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาของนายกฯ คนที่ 31 ทั้งที่มีและไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นมือทำงานของนายกฯ คนที่ 23 มาก่อน ไม่ว่าในฐานะคนการเมืองหรืออดีตข้าราชการระดับสูง
เมื่อบีบีซีไทยทดลองนำอายุของทั้ง 13 คนมาคำนวณ พบว่า อายุเฉลี่ยของทีมกุนซือนายกฯ อยู่ที่ 64 ปี หรือมากกว่า แพทองธาร เกือบเท่าตัว
คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี 5 คน มี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ วัย 81 ปี เป็นประธานที่ปรึกษา (ยุคทักษิณเป็นประธานที่ปรึกษาด้านนโยบาย) ส่วนคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย 1. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี วัย 67 ปี (ยุคทักษิณเป็น รมช.สาธารณสุข, รมว.ไอซีที, โฆษกรัฐบาล) 2. ศุภวุฒิ สายเชื้อ วัย 67 ปี (ยุคทักษิณทำงานภาคเอกชน เป็นกรรมการบริหาร/กรรมการผู้จัดการ บมจ.หลักทรัพย์ภัทร) ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกตำแหน่ง 3. ธงทอง จันทรางศุ วัย 69 ปี (ยุคทักษิณเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม) 4. พงศ์เทพ เทพกาญจนา วัย 68 ปี (ยุคทักษิณเป็น รมว.ยุติธรรม, รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน) โดยทีมกุนซือชุดนี้ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่ประชุมหลัก จึงถูกเรียกชื่อเล่นว่า "ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ"
แพทองธารเรียกประชุมคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ที่บ้านพิษณุโลกเมื่อ 5 ธ.ค. ก่อนยืนยันว่าจะไม่มีการปรับ VAT เป็น 15% หลัง รมว.คลัง ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้และทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้าวขวาง
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง 5 คน ได้แก่ 1. ชัยเกษม นิติสิริ วัย 76 ปี (ยุคทักษิณเป็นอัยการผู้ช่วย, อัยการจังหวัด, อธิบดีอัยการ) ก่อนนั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรมในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจ้าของวาทะ "ถึงนาทีนี้ไม่ลาออก" ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยึดอำนาจกลางวงเจรจาคู่ขัดแย้ง 7 ฝ่ายเมื่อ 22 พ.ค. 2557 จากนั้นเขามีชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยทั้งในการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 ล่าสุดปรากฏกระแสข่าวว่าจะได้ขึ้นเป็นนายกฯ ต่อจาก เศรษฐา แต่ที่สุดแล้วกลับเป็นเพียงข่าวลวง 2. สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ วัย 80 ปี (ยุคทักษิณเป็น สส.สมุทรปราการ พรรคไทยรักไทย) ถูกมองว่าเป็น "นายทุนคนสำคัญ" ของ นปช. เพราะเป็นเจ้าของห้างอิมพีเรียลลาดพร้าวซึ่งใช้เป็นฐานบัญชาการหลักของคนเสื้อแดงหลังรัฐประหารปี 2549 เขาเคยเป็น รมช.พาณิชย์ในรัฐบาลสมชาย 3. เทวัญ ลิปตพัลลภ วัย 64 ปี (ยุคทักษิณเป็น สส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา ก่อนถูก "ดูดยกพรรค" มาร่วมชายคาไทยรักไทย) ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ซึ่งไร้ที่นั่งใน ครม. จึงได้ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ปลอบใจตั้งแต่ยุคเศรษฐาต่อเนื่องมาถึงแพทองธาร 4. ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร วัย 52 ปี (ยุคทักษิณเป็น สส.มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์) ก่อนย้ายมาสังกัดพรรค พท. เคยเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5. จักรพงษ์ แสงมณี วัย 45 ปี (ยุคทักษิณทำงานภาคเอกชน) ก่อนผันตัวมาทำงานการเมืองกับพรรค พท. ในปี 2554 เขาคือคนสนิทของเศรษฐา ได้เป็นอดีต รมช.ต่างประเทศ, รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อน มาครั้งนี้ได้เป็นกุนซือนายกฯ ในโควต้าของเศรษฐานั่นเอง
ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง 3 คน ได้แก่ 1. จิรายุ ห่วงทรัพย์ วัย 55 ปี (ยุคทักษิณทำงานแวดวงสื่อสารมวลชน) ก่อนมาร่วมทีมโฆษกพรรค เคยเป็น สส.กทม. พรรค พท. ปัจจุบันมีตำแหน่งโฆษกรัฐบาลแพทองธารพ่วงด้วย, 2. ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส วัย 61 ปี (ยุคทักษิณเป็นข้าราชการสำนักเลขาธิการ ครม.) จากนั้นไต่ระดับจนขึ้นแท่นเลขาธิการ ครม., ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังเกษียณอายุราชการ นายกฯ ดึงมาช่วยงานด้านกฎหมายต่อ 3. ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ วัย 49 ปี (ยุคทักษิณเป็นคณะทำงานโฆษกพรรคไทยรักไทย) หลังรัฐประหารปี 2549 ผันตัวไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการ นปช. ก่อนขยับชั้นเป็นโฆษกรัฐบาลสมชาย, สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท., รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.พาณิชย์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็น ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย
หากถามว่ากุนซือรายใดคือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของผู้นำรัฐบาล-ผู้นำพรรคเพื่อไทยมากที่สุด หลายคนเอ่ยชื่อ สุรพงษ์ หรือ "หมอเลี้ยบ" ซึ่งกลับมาลุยงานพรรคตั้งแต่ อุ๊งอิ๊ง ก้าวเข้าสู่การเมือง เริ่มจากเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก่อนเปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และหัวหน้าพรรค โดยมีหมอเลี้ยบร่วม 2 วงสำคัญที่ แพทองธาร โดดมาเล่นเอง-ออกหน้าเองตั้งแต่ยังไม่มีตำแหน่งเป็นนายกฯ เพื่อผลักดันนโยบาย "เรือธง" ของพรรคทั้งซอฟต์พาวเวอร์ และต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ให้เป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่
ทีมเลขาฯ
กลุ่มคนที่ทำหน้าที่เลขาฯ ให้นายกฯ คนที่ 31 แบ่งเป็น 2 ระดับตามอำนาจที่มีและความสามารถในการกระทำการแทน ที่สำคัญคือต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากทั้งพ่อและแม่ของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง จนถูกมองว่าเป็น "ทีมบ้านจันทร์ส่องหล้า" ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยเหลือ-สนับสนุนประมุขตึกไทยคู่ฟ้า ผู้เติบโตจากภาคเอกชน-ไม่เคยผ่านงานราชการมาก่อน
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ "หมอมิ้ง" ไม่เพียงมีตำแหน่งทางกฎหมาย แต่บทบาทของเขายังเป็นประหนึ่ง "นายกฯ น้อย" คอยบริหาร-จัดการ-จัดคนลงตำแหน่งแห่งที่, คัดกรองนโยบายหรืออาจไปถึงขั้นสกัดกั้นหากเกิดคำถาม, ไล่-ล้วงงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หมอมิ้งเคยปฏิบัติหน้าที่เดียวกันนี้ในยุครัฐบาลทักษิณ และเป็น 1 ในบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจให้ "ถือเอกสารต้านปฏิวัติ" เมื่อ 19 ก.ย. 2549
ทีมนายกฯ เดินประกบเธอเป็นแผงก่อนเข้าร่วมประชุม ครม. ประกอบด้วย คณาพจน์ เลขาฯ ส่วนตัว, จิราพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ, จิรายุ โฆษกรัฐบาล, สมคิด รองเลขาธิการนายกฯ (จากซ้ายไปขวา)
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง 3 คน ได้แก่ สมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี, ธีราภา ไพโรหกุล คณะทำงานด้านนโยบายพรรค พท., ณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช นายทะเบียนพรรค พท. และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ โดยคนหลังเป็นบุตรชายของ สาโรจน์ หงษ์ชูเวช ผอ.พรรค ซึ่งถือเป็นสายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้าขนานแท้-สายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มารดาของนายกฯ ซึ่งในการลงพื้นที่หาเสียงครั้งแรกของ ทักษิณ ในสนาม อบจ.อุดรธานี เมื่อเดือน พ.ย. พ่อลูกคู่นี้ก็ตามไป "บริหารจัดการ" ด้วย
เลขานุการส่วนตัว คณาพจน์ โจมฤทธิ์ หรือ "เอิง" เพื่อนสนิทตั้งแต่สมัยเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นญาติของสามี ปอ-ปิฎก สุขสวัสดิ์ คอยรับโทรศัพท์-จัดคิว-ดีลคน-ลงตารางงานในแต่ละประจำวัน ในฐานะเลขาฯ ส่วนตัว เหมือนที่เคยทำให้นายกฯ เศรษฐา มาก่อน
"ทีมนาตาชา" เป็นหนึ่งในทีมสื่อสาร-โซเชียลมีเดีย-อีเวนต์ของพรรค พท. ในช่วงเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ปลุกปั้น-การันตีโดยหมอเลี้ยบ บางส่วนติดสอยหอยตามเข้ามายังตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของนายกฯ ด้วย ทั้งนี้ชื่อทีมมาจาก นาตาชา โรมานอฟ ตัวละครสายลับสาวสวยจากรัสเซียที่มาร่วมปกป้องโลกในภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล
ทีมสื่อสาร
ต่อให้ตั้งหน้าตั้งตาผลิตผลงาน ผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงเอาไว้ แต่ถ้าขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่ทำก็อาจไปไม่ถึงหูถึงตาประชาชน จึงต้องมีทีมช่วย "เพิ่มแสง" ให้รัฐบาลแพทองธาร
สำหรับทีมสื่อสารของนายกฯ เจ้าของรหัสเรียกขาน "สร. 1" (ย่อมาจาก สำนักนายกรัฐมนตรี 1) มี 2 ส่วนหลักคือ
ทีมกระบอกเสียงรัฐบาล มี "2 จิ" อยู่ในโครงสร้างหลักคือ จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสื่อของรัฐ กับ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีคน "ทีมอา" คือ วิม รุ่งวัฒนะจินดา อดีตรองโฆษกพรรค พท. และอดีตทีมหาเสียงยิ่งลักษณ์ กับ สุทิษา ประทุมกุล อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์พรรคไทยรักไทย และอดีตคณะทำงานนายกฯ ยิ่งลักษณ์ รับหน้าที่ประสานงานกับสื่อภาคสนามทั้งประเด็น-คิวให้สัมภาษณ์
ทีมสื่อสารพรรค มี ดนุพร ปุณณกันต์ เป็นโฆษกพรรค พท. ทว่าอีกคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในฐานะ บก.ทีมสื่อสารของพรรค เป็น "อดีตผู้บริหารสื่อ" โดยมีทีมเพื่อไทยอคาเดมีเป็นตัวหลักในการผลิตคอนเทนต์ ก่อนกระจายสารที่พรรคต้องการสื่อไปยังประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุนผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ทีมเพื่อไทยอคาเดมี (PTP Academy - Pheu Thai Party Academy) มีนักวิชาการและคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองมาร่วมวง ภารกิจของทีมนี้คือการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อเชื่อมพรรคกับประชาคมภายนอก และสนับสนุนและส่งต่อข้อมูลให้ สส. เพื่อประกอบการทำงานทั้งในสภาและงานพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อ "สร้าง สส. ให้เป็นเจ้าของประเด็น"
ทีมคนหน้าจอ เป็นอดีตผู้ประกาศข่าวจากช่องวอยซ์ทีวีที่ปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ค. ก่อนย้ายมาปักหลักที่ช่องเอ็นบีที เพื่อเป็น "กระบอกเสียง" สื่อสารผลงานของรัฐบาลผ่านรายการต่าง ๆ ของช่องเอ็นบีทีเอง รวมถึงบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวของพวกเขาเองซึ่งมีผู้ติดตาม
ทีมการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการตัดสินใจทางการเมืองสำคัญ ๆ มี ทักษิณ เป็นผู้ให้ข้อคิดที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อ แพทองธาร หรืออาจไปถึงขั้นคุยเอง-เคลียร์เองหลังฉาก แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องที่พ่อนายกฯ ต้องลงมือเอง เพราะหน้าฉากเราจะเห็นตัวแสดงในหลากหลายบทบาท
ทีมยุทธศาสตร์การเมือง มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ผู้จัดการรัฐบาลเศรษฐา-แพทองธาร รับบท "มือประสาน" ทั่วไปกับแกนนำพรรคร่วมฯ และคอยตามประกบนายกฯ มิห่างเมื่อต้องตอบคำถามสื่อ ถึงขั้นที่เจ้าตัวต้องออกมาปฏิเสธเมื่อ ต.ค. ว่า "ไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงนายกฯ แต่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา" พร้อมย้ำว่า "นายกฯ มีศักยภาพที่เหมาะสม" และทำงาน "ดีเลิศ"
ภาพรองนายกฯ ภูมิธรรม (ซ้าย) ยืนเป็นฉากหลังให้นายกฯ เป็นสิ่งที่คุ้นตาของบรรดาสื่อมวลชน โดยเฉพาะการแถลงข่าวภายหลังวันประชุม ครม.
ทีมประสานอำนาจ 2 ฝ่าย 3 ขา ระหว่างทำเนียบรัฐบาล-รัฐสภา-พรรคเพื่อไทย มี 3 คีย์แมน ได้แก่ ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของพรรค, วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส. และประธานวิปรัฐบาล, สรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. เมื่อ 3 คนนี้พูดอะไร "สส. ยินดีฟัง" นอกจากนี้ยังมีบรรดา "หัวหน้ามุ้ง" ที่คอยดูแล สส. ในก๊วนเป็นพิเศษซึ่งมักจะเสียงดังกว่าหากเทียบกับนักการเมืองรายอื่น ๆ
ทีมมวลชน มี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นตัวหลัก ว่ากันว่าภารกิจของเขาคือ "ทวงคืนฐานเสียงเดิม" และสกัดกั้นการเติบโตของมวลชนฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าของคู่แข่งขันในสภาอย่างพรรคประชาชน (ปชน.) หรือของคู่ต่อกรบนท้องถนนที่ก่อรูปโดยแกนนำผู้ประท้วงฝ่ายอนุรักษนิยม มี สนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นตัวจุดชนวนระลอกใหม่
ณัฐวุฒิ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่มีการพูดคุยหรือมอบหมายอะไรให้เขาเป็นพิเศษ แต่การจัดการเวทีปราศรัยและทำงานกับมวลชนเป็นเรื่องเดิมที่เคยทำมาตลอด ตั้งแต่นายกฯ สมัคร-สมชาย-ยิ่งลักษณ์-เศรษฐา-แพทองธาร เช่นเดียวกับการประเมินสถานการณ์การเมืองที่เขามักแสวงหาข้อมูลข่าวสารทั้งทางกว้างและทางลึกอยู่แล้ว
"ผมชอบพูดว่าผมเป็นตัวเล็ก ไม่ตัวหลัก เป็นส่วนหนึ่งของทีมแล้วกัน" เขากล่าว
ที่ปรึกษาของนายกฯ ยังพูดถึงสไตล์การทำงานของ แพทองธาร ว่า ติดต่อได้ตลอดเวลาผ่านไลน์บ้าง ถ้าเร่งด่วนจริง ๆ อาจโทรหากัน ถ้าจะพบหน้าคร่าตาอาจมีมากกว่า 1 เรื่องที่นายกฯ มาปรึกษา โดยนายกฯ ไม่มีลักษณะเจ้ายศเจ้าอย่างมากพิธีกรรมในการพูดคุย
"ท่านเป็นคนเปิดกว้างฟังความเห็นไม่ว่าคนหนุ่มสาวหรือผู้อาวุโส ถึงเวลาทุกคนมีสิทธิพูด แต่สุดท้ายต้องมีคนสรุปขมวดประเด็น แต่ระหว่างทางแสดงความเห็นได้หมด" ณัฐวุฒิ เล่า
จากพ่อสู่ลูก สร้างเกมมวลชน-จุดกระแสเกมนโยบาย
จุดเหมือนระหว่าง ทักษิณ-ณัฐวุฒิ คือ ขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเพราะต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาก่อน จึงรับหน้าที่ผู้ช่วยหาเสียงในเวทีเลือกตั้ง อบจ. ต่าง ๆ
แหล่งข่าวจากพรรค พท. เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ทักษิณ จะเน้นลงพื้นที่ที่มีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ เริ่มจาก จ.อุดรธานี อุบลราชธานี และยังมีแผนไปศีรสะเกษและเชียงใหม่ภายในเดือนนี้ ขณะที่ แพทองธาร ไม่ขอยุ่งกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องใช้อำนาจรัฐเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง
แหล่งข่าวรายนี้ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ความเคลื่อนไหวในการ "เล่นเกมมวลชน" ของทักษิณ จะส่งผลในเชิงบวกต่อรัฐบาลแพทองธารในระยะสั้นอย่างน้อย 2 ประการ
หนึ่ง การที่ ทักษิณ พาดพิง-กวนสมาธิพรรคสีส้ม จะทำให้รัฐบาลทำงานง่ายขึ้น โดยรัฐบาลมีหน้าที่เร่งปั๊มผลงาน เช่น มอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน
สอง ภาพลักษณ์ ทักษิณ ซึ่งเป็นต้นตำรับนโยบายประชานิยมและประชาธิปไตยกินได้ จะช่วยจุดกระแสและทำให้เกิดความคึกคักใน "เกมนโยบาย" เช่น การประกาศโครงการบ้านเพื่อคนไทย ไม่ต้องดาวน์ ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท หรือการควักเงินส่วนตัว 300 ล้านบาทจ้างชาวต่างชาติศึกษาปรับปรุงโครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ครั้งใหญ่ในคราวขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรฯ เมื่อ 13-14 พ.ย.
ส่วนในระยะยาว ประเมินว่าการทำงานมวลชนผ่านการใช้ฐานท้องถิ่นจะส่งผลโดยตรงต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้ฐานท้องถิ่นไปอยู่ในมือพรรคการเมืองอื่น แล้วคิดว่าจะชนะในการเลือกตั้งทั่วไปได้ จึงไม่แปลกหาก ทักษิณ จะเน้นย้ำบนเวทีอุดรธานีว่า "ผมกลับมาแล้ว" และประกาศกลางเวที อุบลราชธานีว่า ขอให้ชาวอุบลฯ "เอา สส. คืนให้กับพรรคเพื่อไทย และขั้นต่อไปพรรคเพื่อไทยจะได้เอานโยบายมาชุบชีวิตชาวอุบลฯ"
"วันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็จริงอยู่ แต่มี สส. นิดเดียว มีโควต้ารัฐมนตรีน้อยไปหน่อย ทำให้ทำงานยากกว่าเดิม คราวหน้าผมใจว่าพี่น้องคงจะคืนสส. ให้พรรคเพื่อไทยเหมือนตอนที่เป็นพรรคไทยรักไทย เมื่อได้คืนมาแล้วเราจะช่วยกันทำงานให้กับพี่น้องได้อย่างเต็มที่" อดีตผู้นำรัฐบาล 377 เสียงกล่าวเมื่อ 11 ธ.ค.
ณัฐวุฒิ ในฐานะผู้กำกับเวทีปราศรัย ปฏิเสธจะประเมินอารมณ์ของมวลชนหลังอดีตนายกฯ เดินสายลงพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่า ขณะนี้ไม่ใช่สถานการณ์การสู้รบ สมัยก่อนอุดรฯ คนไปหลายหมื่นด้วยจิตใจรุกรบ เพราะนั่นคือสถานการณ์ต่อสู้ แต่นี่คือสถานการณ์ที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มาจากพรรคที่พวกเขาสนับสนุน และสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองแม้ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้มีการเผชิญหน้าที่เข้มข้นแหลมคม วินาทีที่นายกฯ ทักษิณปรากฏตัวบนเวที จึงเป็นเรื่องการแสดงความสนับสนุน ความรักผูกพัน และยืนยันกันว่ายังเคียงข้างพรรค พท. อยู่
"คงไม่ใช่เป้าหมายว่านายกฯ ทักษิณไปที่ไหนแล้วจะตามคนเสื้อแดงที่เคยสนับสนุนพรรคกลับมาให้หมด เพราะความเชื่อผมคือนักการเมืองหรือรัฐบาลจะดึงคะแนนสนับสนุนจากประชาชนได้ด้วยผลงาน ไม่ใช่ด้วยเวทีปราศรัย หรือขบวนการมวลชนใด ๆ หากปราศจากผลงาน แต่ถ้าเริ่มจากผลงานก็อาจทำให้พลังสนับสนุนเพิ่ม" เขากล่าวทิ้งท้าย
https://www.bbc.com/thai/articles/c5ygeyn8ynxo
https://www.bbc.com/thai/articles/c5ygeyn8ynxo