‘ไอดา อรุณวงศ์’ เบื้องหลังยัง(ต้อง)ไปต่อ กองทุนราษฎรประสงค์ในวันกระแสต่ำ
9 ธันวาคม 2567
ประชาไท
สัมภาษณ์: ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล
ภาพปก: กิตติยา อรอินทร์
การชุมนุมบนท้องถนนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี แต่แกนนำและคนเล็กคนน้อยจำนวนมากยังคงเผชิญคดีทางการเมือง อย่างน้อย 33 รายถูกคุมขังในเรือนจำ บางส่วนเลือกลี้ภัยออกนอกประเทศ รวมทั้งยังมีคนอีกมากที่อยู่ในช่วงสะท้อนย้อนมอง รักษาเยียวยาจิตใจตนเอง
สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ถือว่าไม่ได้ร้อนแรงเป็นกระแสเหมือนเดิม ไทยผ่านการเลือกตั้งมาแล้วปีกว่าและก็มีรัฐบาลพลเรือน แต่ผลสืบเนื่องจากม็อบปี 2563 และบรรยากาศของความขัดแย้งทางความคิดยังคงอยู่ ‘กองทุนราษฎรประสงค์’ ยังคงมีบทบาททำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัว รวมถึงจำเลยในคดีทางการเมือง
เมื่อไม่มีการระดมทุนแล้ว เมื่อมีผู้ลี้ภัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลให้เงินประกันถูกริบ เมื่อมีการแบ่งขั้วแบ่งข้างกันของส้ม-แดงอย่างชัดเจนมากขึ้นชนิดที่หวนกลับไปสู่จุดเดิมไม่ได้แล้ว ในบริบทแบบนี้ บทบาทขององค์กรซึ่งเคยเป็นดั่งกองกลางเชื่อมแนวหน้ากับแนวหลังในการเคลื่อนไหวนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ประชาไทสัมภาษณ์ ไอดา อรุณวงศ์ ทางอีเมล
เมื่อกระแสม็อบเงียบลงไปแล้ว การทำงานกองทุนในช่วงปี 2566 จนถึงตอนนี้มีความแตกต่างจากเดิมหรือไม่ การระดมทุนในช่วงที่ผ่านมายากหรือง่ายขึ้นอย่างไร
เปลี่ยนไปพอสมควร มีคดีซึ่งต้องไปรอประกันในลักษณะฉุกเฉินกะทันหันทั้งคืนทั้งวันน้อยลง แต่ยังคงมีการยื่นประกันรายวันสำหรับคดีต่างๆ ที่ทยอยมีคำพิพากษาแล้วกองทุนต้องประกันในชั้นต่อไป รวมทั้งมีคดีประเภทที่อัยการเพิ่งขุดมาฟ้องเมื่อใกล้หมดอายุความ คดีเหล่านี้เราพอทราบกำหนดล่วงหน้า ทำให้จัดสรรได้ทันทั้งเงินและนายประกัน
งานอีกส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคืองานช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัว กับการดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไปตามนัดคดีต่างๆ ซึ่งมีจำนวนมากยิบย่อยทุกวัน เป็นงานหลังบ้านก้อนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมาในน้ำหนักที่เท่าๆ กันกับงานประกันทั้งในแง่การลงแรงและเวลา
ส่วนการระดมทุน เราไม่ระดมแล้ว เนื่องจากเงินในบัญชีมีเพียงพอ ทั้งยังมีเงินที่ค้างอยู่ในศาลอีก เราแค่ต้องบริหารให้ดี ให้รัดกุมและทั่วถึง โดยมีเป้าหมายคือจ่ายให้หมดไปมากกว่าจะหาเพิ่มเข้ามาใหม่ เพราะกองทุนฯ นี้เกิดขึ้นมาในฐานะภารกิจจำเป็นเฉพาะหน้า และจะอยู่เท่าที่ภารกิจจบเท่านั้น เราไม่ใช่องค์กรอาชีพที่จะต้องระดมทุนชั่วกัลป์เพื่อหาเลี้ยงตัว ตอนนี้เงินบริจาคที่ยังคงมีเข้ามาบ้างรายวันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความมีน้ำใจนึกถึงกันจากผู้บริจาคมากกว่า
ตั้งแต่ในช่วงปี 2566 จนถึงตอนนี้ เราเห็นว่ามีผู้ลี้ภัยหน้าใหม่ทยอยผุดเพิ่มขึ้นมา เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกองทุนขนาดไหน ทั้งในมุมการหมุนเงินที่ถูกยึดไปและตัวของผู้ทำงานเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบโดยตรง เพราะเราคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียลำดับแรก เนื่องจากเราไปทำสัญญาประกันไว้กับศาล เมื่อมีการผิดสัญญา เราก็ต้องก้มหน้ายอมรับการถูกริบ ในกติกานี้นายประกันไม่มีหน้าที่หรือทางเลือกอื่นใดนอกจากรักษาคำสัญญา ส่วนเงินเมื่อถูกริบไปก็ย่อมทำให้มีเงินหมุนกลับมาในระบบเพื่อช่วยเหลือคนอื่นต่อไปน้อยลง และการผิดสัญญามากเข้าก็อาจเป็นเหตุให้ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือในการช่วยเหลือคนอื่นต่อไป นี่คือผลกระทบตรงๆ ตามเนื้อผ้า แต่เราก็ไม่มีอะไรต้องฟูมฟายไปกว่านั้น เราเป็นคนตัดสินใจก้าวเข้ามาอยู่ภายใต้กติกานี้เองในภาวะฉุกเฉินที่ผ่านมา ด้วยหวังว่าจะช่วยให้ทุกคนได้ใช้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เมื่อผิดสัญญาเสียเองแบบนี้ก็คือผิดกติกา
แต่เราไม่มีอะไรจะตัดสินจำเลยที่หนีไปเหล่านั้น เราเป็นแค่นายประกัน เราไม่ใช่ผู้พิพากษา ไม่เคยมีจำเลยคนใดมาปรึกษาหรือบอกเราว่าทำไมจึงจะหนี เราเหมือนเป็นคนสุดท้ายที่มารู้พร้อมศาลทุกที โดยปริยายเราเข้าใจได้อยู่ว่าทุกคนมีเหตุผล ทุกคนมีปัจจัย และทั้งหมดเป็นความรู้อยู่แก่ใจตัวเองของแต่ละคนว่าตัดสินใจเพราะอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่าย และเราไม่มีอะไรจะตัดสินในฐานะปัจเจกมนุษย์ด้วยกัน อย่างน้อยที่สุดไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการเหมารวม
แต่อย่างมากที่สุด มันทำให้เกิดคำถามในภาพรวมมากกว่า เพราะการลี้ภัยในบริบทนี้ต่างจากการลี้ภัยอย่างเมื่อครั้งหลังรัฐประหาร (22 พฤษภา 2557) ที่การ “ลี้” หรือ หนี คือการต่อต้าน เพราะมันเป็นการปฏิเสธอำนาจหรือกติกาที่ไม่ชอบธรรมแล้วหันหลังให้ตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็เป็นการลี้ภัยแบบหนีภัยเถื่อนจริงๆ เพราะมันเป็นการกวาดจับภายใต้เผด็จการทหารชนิดเสี่ยงถูกอุ้มฆ่าอุ้มหาย ไม่มีหลักประกันว่าจะได้ต่อสู้ข้อกล่าวหาในกติกาที่ศิวิไลซ์ ซึ่งต่างจากในปัจจุบันนี้ ที่เป็นการลี้ภัยหลังจากเข้าสู่ “กระบวนการยุติธรรม” เรียบร้อยแล้ว ในศาลพลเรือนด้วย มีองค์กรทนายในนามสิทธิมนุษยชนโพรไฟล์อินเตอร์ที่มีงบมากมายมาจ้างทนายว่าความให้ฟรี และมีเงินที่ราษฎรด้วยกันระดมมาให้เพื่ออิสรภาพในการสู้คดีให้ได้ยันชั้นฎีกา แต่ประชาชนยังต้อง “ลี้ภัย” นั่นหมายความว่าอะไร?
นักสังคมศาสตร์เขาอาจตั้งคำถามไหมว่า หรือว่ามันจะเป็นเพราะกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมและวิชาชีพกฎหมาย—ทุกฝ่าย—ทั้งยวง ในคดีเหล่านี้ ไม่อาจเป็นที่พึ่งหวังได้ว่าจะมีปัญญา หรือมีน้ำยา ที่จะทำให้การต่อสู้คดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองในประเทศนี้ สามารถดำเนินไปได้ภายใต้ชายคาศาลอย่างมีบรรทัดฐานทางวิชาชีพ? หรือกรณีคนที่หนีไปด้วยเหตุผลว่าถูกข่มขู่คุกคาม ก็แปลว่าเขาไม่เชื่อว่ากลไกรักษากฎหมายและปกป้องสิทธิประชาชนทั้งหลาย จะมีน้ำยาพอที่จะช่วยให้เขายังคงความเป็นพลเมืองอยู่ที่นี่ได้ อย่างนั้นหรือเปล่า?
เช่นกันกับที่นักปรัชญาเขาจะตั้งคำถามไหมว่า หรือว่าสาเหตุมันอาจรวมไปถึงการที่กระทั่งองค์กรนิติบัญญัติก็ไม่มีหนทางที่จะถกปัญหาว่าด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีความเหล่านี้อย่างที่เป็นกฎหมายจริงๆ ได้ เพราะโดยแก่นสารัตถะแล้วมันใช่ที่ไหนล่ะกฎหมาย มันคืออาญาบัญญัติดึกดำบรรพ์ที่ดันเอาคนเข้าคุกในยุคสมัยใหม่ได้ ก็จะให้นิยามมันว่ากฎหมายได้อย่างไรถ้ามันเป็นบัญญัติที่ไม่มีนักนิติบัญญัติคนใดมีสิทธิปรับปรุงแก้ไขได้เลย?
ในฐานะหน่วยเดียวที่จับพลัดจับผลูเข้ามาในสนามนี้ทั้งที่ไม่ใช่นักวิชาชีพกฎหมาย กองทุนฯ ไม่อาจทราบได้หรอกว่าทำไมจึงเกิดมหกรรม “ลี้” ไปจากกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้ และความหมายถ้าจะมีมันคืออะไร ก็ได้แต่โนคอมเมนต์ เพราะนายประกันมีแค่ความรับผิดชอบของตัวที่กองสุมอยู่ตรงหน้า และได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ขณะถูกริบเงินประกัน
จำเลยที่เหลืออยู่ที่ยังได้รับความช่วยเหลือทางกองทุน มีลักษณะร่วมกัน มีพื้นเพที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
ถ้าโดยส่วนใหญ่ก็เป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้มา คือเป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนักทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางสังคม แต่ก็มีจำนวนหนึ่งแหละที่เป็นคนที่มีต้นทุนสูง อย่างน้อยก็ในทางชื่อเสียงหรือเครือข่าย แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากชนิดนับนิ้วได้ แต่เนื่องจากเวลากองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือ เราถือว่าเราช่วยเสมอหน้ากันหมดทุกคนไม่ว่าจะรวยจนหรือเป็นคนมีต้นทุนแค่ไหนยังไง อีกทั้งในปัจจุบัน ฐานะทางชนชั้นก็มีลักษณะเลื่อนไหล ต้นทุนทางสังคมไม่จำเป็นต้องมาพร้อมต้นทุนทางเศรษฐกิจเสมอไป เราจึงไม่เน้นประมวลข้อมูลในกรอบนี้
แต่ที่เราเคยประมวล เราทดลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อหากรอบใหม่ในการสรุป ตัวอย่างเช่นในรายงานประจำปีของกองทุนฯที่เสนอต่อผู้บริจาค เราวัดฐานะของคนที่ออกมาต่อสู้จากข้อมูลสถิติการวางประกัน แล้วพบว่า ถ้าหากสังคมวัดความ “สำคัญ” หรือความเป็น “แกนนำ” จากจำนวนคดี ข้อมูลสถิติบอกเราว่า เงินประกันของคนมีคดีติดตัวน้อย เมื่อรวมกันเข้า กลับมีน้ำหนักเทียบเท่าเงินประกันของคนมีคดีติดตัวมาก อย่างในปี 2566 คนที่มี 1-2 คดีติดตัว เมื่อรวมกันแล้วยอดเงินประกันสูงถึง 25.77 ล้านบาท หรือร้อยละ 54.6 ของเงินประกันคงค้างในศาลทั้งหมด (ไม่นับที่ถูกริบ) ขณะที่ยอดเงินประกันคนมีคดีติดตัว 3 คดีขึ้นไป ซึ่งอาจเรียกอย่างหยาบๆ ได้ว่า “แกนนำ” นั้น กลับเป็นส่วนน้อย กระทั่งจำเลยที่มีคดี 10 คดีขึ้นไปซึ่งมีอยู่ 6 คนนั้นก็รวมยอดเงินประกันออกมาได้ 8,245,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 17.5 เท่านั้น หรือถ้ามองจากวงเงินประกันต่อคดี คนที่โดนคดีซึ่งมีวงเงินประกันต่ำ เมื่อรวมกันเข้า ก็สูงมากเท่าๆ กับคนที่โดนคดีซึ่งมีวงเงินประกันสูง เช่น คนที่โดนคดีวงเงินประกันต่ำกว่า 40,000 บาท ในปี 2566 เมื่อรวมกันก็ได้ 4,203,500 บาท เท่าๆ กับยอดของคนที่โดนคดีในวงเงินประกัน 100,000-199,999 บาท ที่มียอดรวมอยู่ที่ 4,180,000 บาทพอดี
มันบอกเราว่า ในการออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อความเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครสำคัญกว่าใคร และคนธรรมดาที่โดนคดีอาญาอย่างสามัญ ยังคงเป็นคนส่วนใหญ่ของการต่อสู้ในประเทศนี้ และพวกเขาคือส่วนใหญ่ของคนที่อยู่ที่นี่ ซึ่งอาจเป็นการอยู่เพราะมีหรือไม่มีทางเลือกก็ได้ แต่ตราบเท่าที่ยังคงมีพวกเขายังอยู่ที่นี่ กองทุนฯ ก็จะยังอยู่ตรงนี้กับพวกเขา
มักมีเสียงวิจารณ์จากชาวเน็ตที่ว่า “ผู้ลี้ภัยทำให้เงินกองทุนหาย” ในมุมคนทำงานกองทุนมองเรื่องนี้อย่างไร
ถ้าตอบตามเนื้อผ้า ผู้ลี้ภัยย่อมทำให้เงินกองทุนหายอยู่แล้วเพราะทำให้เงินถูกริบ แต่ถ้าจะถามกันต่อว่าทำไมผู้ลี้ภัยจึงต้องลี้ภัยให้เงินกองทุนหาย ก็อาจจะมีมิติให้ตอบได้มากกว่า แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า จากสถิติความเท่าเทียมในความไม่เท่ากันของเงินประกัน ต่อให้เงินประกันแกนนำหรือคนที่โดนคดีวงเงินสูงอย่าง 112 ไม่ได้กลับมาสู่กองทุนฯ แม้แต่บาทเดียว ก็จะยังเหลือเงินบริจาคเกินครึ่งที่กองทุนฯ สามารถนำมาหมุนให้จำเลยและผู้ต้องขังที่ยังคงอยู่ที่นี่ได้ต่อไป
ความเห็นทำนองว่า “ถ้าแบกพรรค...ก็ไปให้พรรค...ช่วยสิ ไม่ต้องมาใช้เงินกองทุน” ในบริบทที่ว่าพอมีการแบ่งข้างส้ม-แดงชัดเจนหลังการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว เราจะเห็นว่ามูฟเมนต์หลายๆ อย่างก็อาจจะถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นของกลุ่มไหน จึงอยากรู้ว่าบรรยากาศของส้ม-แดงที่ซัดกันนัวแบบนี้กระทบการทำงานของกองทุนบ้างหรือเปล่า
กระทบอยู่บ้างถ้าเรานับว่าดรามาต่างๆ มีส่วนก่อความเสียหายในทางชื่อเสียงแก่กองทุนฯ เช่นทำให้เข้าใจผิดว่ากองทุนสนับสนุนพรรคใด หรือมีการนำชื่อกองทุนฯ ไปพ่วงหาประโยชน์ แต่เนื่องจากเรายังคงตอบตัวเองได้ทุกวันว่าเราทำอะไร และเราก็ชี้แจงให้เห็นอยู่ทุกสัปดาห์ว่าเราทำอะไร ไม่เคยมีท่าทีทั้งสิ้นว่าสนับสนุนพรรคไหน เราจึงตัดใจว่า สำหรับคนที่อยากรู้ความจริง เขาย่อมเห็นการทำงานเป็นข้อพิสูจน์ได้ เราจะไม่เสียเวลาไปร่วมวงดรามา เราไม่มีเวลา
นอกจากไม่เคยสนับสนุน กองทุนฯ ยังแจ้งนโยบายต่อผู้เกี่ยวข้องไว้ด้วยว่า กองทุนฯ ขอขีดเส้นเด็ดขาด ไม่อนุญาตให้มีการนำชื่อไปใช้ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายไม่ว่ากับพรรคใด เพราะมันไม่แฟร์กับผู้บริจาคที่มากันร้อยพ่อพันแม่ การสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นสิทธิเฉพาะคน องค์กรสาธารณะไม่มีสิทธิอ้างแทนใคร และการสนับสนุนพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลาเพราะพรรคการเมืองทุกพรรคล้วนเปลี่ยนไปมาได้ตลอดเวลาเช่นกันเนื่องจากธรรมชาติของการเข้าสู่อำนาจในระบบพรรคการเมืองย่อมเป็นเช่นนั้น เขาไม่ใช่ศาสดา! เขาเป็นอนัตตา! กระทั่ง
ผู้บริจาคเอง วันนี้สนับสนุนพรรคหนึ่ง วันหน้าอาจสนับสนุนอีกพรรคก็ได้ กองทุนจึงไม่มีความเห็นใดต่อความเห็นที่โต้ตอบกันไปมาในโซเชียลมีเดีย ที่ไม่รู้ว่าบรรดา “ความเห็น” ที่ว่านั้นเกิดขึ้นเองหรือมาจากการจัดตั้งแค่ไหนยังไง
เราแน่ใจอยู่แค่ว่า ในวันที่เริ่มต้นทำกองทุนฯ เราเริ่มมาจากศูนย์ ไม่เคยมีพรรคการเมือง ไม่ว่าพรรคใด อยู่ในหัวหรืออยู่ตรงหน้า ทำมาเองโดยลำพังประสาราษฎรได้โดยไม่ต้องมี “ผู้แทน” ใด และกองทุนฯ ขอยืนยันที่จะรักษาสปิริตนั้นไว้ต่อไป—ในฐานะราษฎร
เรื่องที่เกี่ยวข้อง‘แบมบู ภัคภิญญา’ อดีตบรรณารักษ์ เหยื่อ ม.112 สู่ผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย
ชีวิตที่ต้องลี้ภัยของ ‘โตโต้ ธนกร’ ผู้ร่วมคาร์ม็อบที่ติดผ้าพันคอจิตอาสาไว้หน้ารถ
ชีวิตที่ยังไร้สถานะของ ‘เรเน่’ หญิงข้ามเพศที่ต้องลี้ภัยแค่จากโพสต์ไวรัลของตัวเอง
นางรำผู้ไม่มีที่ยืนในเมืองไทย ชีวิตลี้ภัยของ ‘มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ’
ชีวิตของ ‘พลอย’ ผู้ลี้ภัยอายุน้อยที่สุด
https://prachatai.com/journal/2024/12/111650