วันเสาร์, ธันวาคม 14, 2567

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน บันทึกเยี่ยม “ทิวากร”: ยังหนักแน่นในข้อต่อสู้ แม้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว



บันทึกเยี่ยม “ทิวากร”: ยังหนักแน่นในข้อต่อสู้ แม้จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว

13/12/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เดือน พ.ย. 2567 ทนายเข้าเยี่ยมทิวากร วิถีตน เกษตรกร ผู้ต้องคดี 112 ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น 2 ครั้ง คงเหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา ท่ามกลางความโดดเดี่ยวในการเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองเพียงคนเดียวเรือนจำแห่งนี้ ทิวากรยังคงมีความเข้มแข็งและอุดมการณ์ที่มุ่งมั่น โดยเฉพาะความเห็นว่า เขาไม่ทำความผิด และเจตนาพิสูจน์ตัวเองโดยการต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ไม่อยากขอรับนิรโทษกรรม

เรื่องราวของทิวากรยังคงสะท้อนภาพผู้ต้องขังทางการเมืองที่ไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์ไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมที่เขาเผชิญอยู่

.
4 พ.ย. 2567

เท่าที่ทนายสังเกตทิวากรดูสุขภาพจิตดีขึ้น สุขภาพกายก็ดีขึ้น เขาเปิดบทสนทนาว่าไม่ขัดข้องหากทนายและญาติจะยื่นประกันอีก หากเสนอเงื่อนไขประกันว่าให้รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติก็รับได้ แต่ยังไม่อยากให้เสนอเงื่อนไขขอติด EM หรือกักบริเวณในบ้าน

กับชีวิตข้างในขณะนี้ทิวากรมีชุดผู้ช่วยงานแล้ว เป็นเสื้อยืดสีขาวกับกางเกงนักเรียน โดยที่ยังช่วยงานที่ห้องสมุดอยู่ ก่อนจะพูดคุยว่าตอนนี้สนใจเรื่องประเด็นนิรโทษกรรมที่มีการถกเถียงกันในสภา ทนายเลยเล่าให้ฟังคร่าว ๆ เมื่อได้ฟังทิวากรยังยืนยันคำเดิมว่า ส่วนตัวเขาหากมีนิรโทษกรรมเขาก็ไม่อยากรับ อยากสู้คดีจนถึงที่สุด

ทิวากรฝากขอบคุณกองทุนอานนท์ฯ ที่ซื้อเค้กวันเกิดให้ ซาบซึ้งใจมาก ๆ ตอนแรกเขาลืมไปแล้วว่าเป็นวันเกิดตัวเอง จนได้รับของที่สั่งซื้อฝากเข้ามาให้ เพื่อนนักโทษเลยทักขึ้นมาว่า ใช่วันเกิดหรือเปล่า เขาจึงนึกขึ้นมาได้ว่าเป็นวันเกิด

ทิวากรพูดถึงความตั้งใจจะเขียนจดหมายถึงทนาย “อานนท์ นำภา” ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนทิ้งท้ายว่าเขาและผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ต้องการหนังสือที่หลากหลาย หากใครสนใจบริจาคส่งมาได้ที่ ห้องสมุดพร้อมปัญญา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น 117 ถนนศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น 40000

.
28 พ.ย. 2567

การพบกับทนายครั้งล่าสุด ทิวากรบอกความรู้สึกยินดีกับ “วารุณี” ผู้ต้องขังคดี 112 ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว ก่อนจะหยิบโปสการ์ดและจดหมายที่ส่งจากแอมเนสตี้ ประเทศไทย ในแคมเปญ “จดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ” มาให้ดู ทิวากรบอกว่ามีจำนวนเยอะพอสมควร อันไหนชอบก็จะคัดเก็บไว้เป็นพิเศษ ฝากขอบคุณทางแอมเนสตี้ ที่เป็นธุระเรื่องจดหมายให้ แต่โดยส่วนตัวก็ชอบหากมีคนเขียนจดหมายส่งมาให้เขาโดยตรง อย่างเอกชัย หงส์กังวาน ก็เคยเขียนมาหา

ก่อนจะเล่าถึงสถานการณ์ในเรือนจำว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังเปลี่ยนผู้อำนวยการ มีการจัดร้านค้ากันใหม่ ร้านเดิมที่มีอยู่ก็ถูกปิดไปก่อน ทำให้คนข้างนอกยังไม่สามารถซื้ออาหารฝากมาให้ผู้ต้องขังได้ เขาเลยต้องกินข้าวโรงฝึก ซึ่งส่วนตัวไม่มีปัญหาอะไร แต่พอไม่สามารถซื้ออาหารได้เขาก็เลยช่วยเหลือผู้ต้องขังคนอื่นไม่ได้มาก เพราะเพื่อนผู้ต้องขังบางรายไม่ค่อยมีเงินซื้ออาหารอย่างอื่น ๆ กิน

สิ่งที่คิดถึงสำหรับทิวากรนอกจากอินเทอร์เน็ต คือพ่อ วันก่อนเพิ่งฝันเห็นพ่อ ก่อนเล่าว่าตอนที่พ่อมาเยี่ยมที่เรือนจำพอเห็นหน้าก็ร้องไห้ทันทีเพราะคิดถึงกันมาก และสิ่งที่ทิวากรยังคิดวนเวียนอยู่ตลอดเวลาก็คือ ตัวเขาไม่เหมาะที่จะอยู่ที่นี่ เพราะเขาไม่ได้ทำความผิดอะไร

ส่วนงานห้องสมุดที่ช่วยอยู่ ทิวากรก็เล่าว่า ช่วงนี้มีกิจกรรมเทิดทูนสถาบันกษัตริย์และเกี่ยวกับศาสนาเยอะ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของเขาก็ยังเชื่อว่า สิ่งที่บ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์มากที่สุดคือการบังคับใช้มาตรา 112

ก่อนจากกันทิวากรฝากความคิดถึงและให้กำลังใจทุกคน โดยเฉพาะคนที่ลี้ภัยที่ยังลำบากอยู่และคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ เช่น อานนท์, ขนุน, เก็ท และบัสบาส

.

จนถึงปัจจุบัน (13 ธ.ค. 2567) ทิวากรถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น โดยไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฎีกามาแล้ว 122 วัน

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

วันเกิดครบ 49 ปี ‘ทิวากร’ ปีแรกในฐานะผู้ต้องขังระหว่างฎีกา ‘คดี 112’ จากการไม่ศรัทธา

‘69’ วันแห่งการไร้อิสรภาพของ ‘ทิวากร’: ค่อย ๆ ปรับตัวไปกับเหตุชีวิตที่ไม่คุ้นเคย

(https://tlhr2014.com/archives/71696)