วันศุกร์, ธันวาคม 13, 2567

นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ถูกคุมตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองปราจีนบุรี พร้อมพวกรวม 7 คน หลังเกิดเหตุยิงนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง ลูกบุญธรรมของนายสุนทร เสียชีวิต​ในบ้านพัก นี่เป็นอีกครั้งที่นายสุนทร หรือ "โกทร" กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคม

บีบีซีไทย

สุนทร วิลาวัลย์ บิดารัฐมนตรี ยังไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ และไม่ปรากฏเบาะแสว่าเขาไปกบดานอยู่ที่ไหน ท่ามกลางการกระจายกำลังกันเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายจุดเพื่อตามจับตัวของเขา หลังตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 และยังหลบหนีอยู่

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด 2 พ่อลูกตระกูลวิลาวัลย์ ทั้ง กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาการ และแกนนำพรรคภูมิใจไทย, สุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง กรณีถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี กว่า 150 ไร่

คดีบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กำลังจะหมดอายุความในเวลา 16.30 น. ของวันนี้ (13 มิ.ย.) หากยังจับกุมตัวไม่ได้ ก็จะไม่สามารถดำเนินคดีได้

บีบีซีไทยชวนทำความรู้จัก สุนทร วิลาวัลย์ หรือ "โกทร" ผู้สร้างตำนานการเมือง "บ้านใหญ่ปราจีนบุรี" ซึ่งวันนี้ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 หลังไม่ยอมเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย และขณะนี้อยู่ระหว่างการหลบหนีคดี

4 ทศวรรษ สังกัด 6 พรรคการเมือง

สุนทร วิลาวัลย์ วัย 83 ปี ใช้เวลากว่า "ครึ่งชีวิต" ในโลกการเมือง เขาค่อย ๆ สร้างเครือข่ายการเมือง สั่งสมอำนาจ-บารมี จนกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในพื้นที่

ย้อนกลับไปเมื่อ 42 ปีก่อน สุนทรเข้าสู่สนามการเมืองด้วยตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองปราจีนบุรี ในปี 2523 ก่อนขยับชั้นเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี ในอีก 3 ปีต่อมา ภายใต้สังกัดพรรคชาติไทย

นักการเมืองที่คนในพื้นที่เรียกว่า "โกทร" (โก เป็นภาษาจีนไหหลำ แปลว่า พี่) สะสมสถิติการเป็นผู้แทนราษฎรมาเรื่อย ๆ รวมแล้ว 8 สมัย โดยเปลี่ยนพรรคต้นสังกัดไปมาอย่างน้อย 6 พรรค ประกอบด้วย พรรคชาติไทย, พรรคราษฎร, พรรคความหวังใหม่, พรรคไทยรักไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคภูมิใจไทย


อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานวันเกษตรปราจีนบุรี เมื่อ 28 พ.ค. โดยมีนายก อบจ.ปราจีนบุรี และ ส.ส.ปราจีนบุรี ภท. รอต้อนรับ

ต่อมาในปี 2563 สุนทรย้ายกลับไปลงเล่นการเมืองสนามท้องถิ่น ได้รับเลือกให้เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี จากการลงสนามในนามอิสระ ภายใต้แรงสนับสนุนแบบไม่เปิดหน้าของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โดยถือเป็นการนั่งเก้าอี้ "นายกเล็ก" ต่อจากน้องสาวแท้ ๆ อย่าง บังอร วิลาวัลย์ อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี 4 สมัย

แต่ถึงกระนั้นไม่ได้ทำให้บารมีของสุนทรลดลง สะท้อนผ่านงานเลี้ยงวันเกิดในวัย 80 ปี ที่จัดขึ้นภายใต้ชื่อ "80 ปี โกทร สุนทร วิลาวัลย์ สมาร์ท เสมอ" ที่มีนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นไปร่วมงานจำนวนมาก

2 พ่อลูก ผู้มีดีกรีเป็น รมช.

สุนทรเคยนั่งเก้าอี้เสนาบดีครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อครั้งอายุ 57 ปี หลังย้ายเข้าสังกัดพรรคความหวังใหม่ โดยได้รับตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ในรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2539

อีก 23 ปีต่อมา เขาส่ง กนกวรรณ บุตรสาว ขึ้นแท่น รมช.ศึกษาธิการ ได้สำเร็จ โดยเป็น 1 ใน 7 รมต. ในโควต้าของพรรคภูมิใจไทย ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน

ว่ากันว่า "โกทร" มี "สัญญาใจ" กับ เนวิน ชิดชอบ ผู้มากบารมีของภูมิใจไทย ว่าหากนำพรรคกวาด ส.ส.ปราจีนบุรียกจังหวัด 3 คน จะได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี เป็นผลให้ลูกสาวสุดรักของสุนทร ได้เป็น "ครูโอ๊ะ" ตั้งแต่บัดนั้น


กนกวรรณ วิลาวัลย์ ถ่ายรูปกับเด็ก ๆ ขณะไปเยี่ยมการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2565 ที่โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี เมื่อ 28 พ.ค.

ต้นเหตุยุบพรรคมัชฌิมาธิปไตย

นักการเมืองรายนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้พรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) ที่มี อนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยาของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นหัวหน้าพรรค สิ้นชื่อจากสารบบการเมืองไทยเมื่อปี 2551 ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ "แจกใบแดง" หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสุนทร ว่าที่ ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 1 มฌ. เมื่อ 8 ม.ค. 2551 จากพฤติการณ์แจกทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550

เนื่องจากสุนทรเป็นรองหัวหน้าพรรค มฌ. จึงเป็นเหตุให้พรรคต้นสังกัดของเขาถูกยุบพรรคโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2 ธ.ค. 2551 พร้อมสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กก.บห. รวม 29 ชีวิต เป็นเวลา 5 ปี



คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า สุนทรมีบทบาทสําคัญในพรรค "จึงเป็นผู้มีหน้าที่ต้องควบคุมและสอดส่องดูแลให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนบริหารอยู่กระทําการเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่กลับเป็นผู้มากระทําความผิดเสียเอง อันเป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ" จึงมีเหตุอันสมควรที่จะต้องยุบพรรค

ใครเป็นใครในตระกูล วิลาวัลย์

หาก "โกทร" คือผู้เปิดตำนานบ้านใหญ่ปราจีนบุรี ลองมาดูกันว่านักการเมืองในตระกูลวิลาวัลย์มีใครและดำรงตำแหน่งอะไรกันบ้าง
  • กนกวรรณ วิลาวัลย์ บุตรสาว เข้าสู่การเมืองปี 2543 ในฐานะ ส.อบจ.ปราจีนบุรี, รองนายก อบจ.ปราจีนบุรี ปี 2547, ส.ส.ปราจีนบุรี ทรท. ปี 2548 และปัจจุบันขยับชั้นเป็น รมต.
  • อำนาจ วิลาวัลย์ หลานชาย ผันตัวเองจากแวดวงธุรกิจเข้าสู่แวดวงการเมือง ในฐานะสมาชิกเทศบาลเมืองปราจีนบุรี เมื่อปี 2543 และได้รับเลือกเป็น ส.ท. 2 สมัยซ้อน ก่อนขยับชั้นเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2554 โดยถือเป็น ส.ส.คนแรกของภูมิใจไทย ซึ่งหัวหน้าพรรค ภท. ใช้คำว่า "ต้องประคบประหงมเป็นอย่างดี" และปัจจุบันก็ยังเป็น ส.ส.ปราจีนบุรี สังกัด ภท.
  • บังอร วิลาวัลย์ น้องสาว เป็นนายก อบจ.ปราจีนบุรี คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และชนะเลือกตั้ง 4 สมัยซ้อน ทว่าในปี 2563 เธอถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีทุจริตโครงการก่อสร้างของ อบจ.ปราจีนบุรี 15 โครงการ เมื่อปี 2555 วงเงิน 52.5 ล้านบาท

"โกทร" มั่งคั่ง 645 ล้าน

เมื่อตรวจสอบความมั่งคั่งของเจ้าของ "บ้านใหญ่ปราจีนบุรี" จากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่สุนทรแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคราวเข้ารับตำแหน่งนายก อบจ.ปราจีนบุรี เมื่อ 15 ก.พ. 2564 พบว่า เขามีทรัพย์สินกว่า 645.5 ล้านบาท




ในจำนวนนี้ เป็นทรัพย์สินของสุนทร 635.2 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 10.2 ล้านบาท เป็นของคู่สมรสที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ 13 มิ.ย. 2557

สำหรับรายการทรัพย์สินที่สุนทรแจ้งต่อ ป.ป.ช. มี ดังนี้
  • เงินสด 1,000,000 บาท
  • เงินฝาก 307,714 บาท
  • ที่ดิน 631,460,340 บาท
  • โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1,150,000 บาท
  • ยานพาหนะ 5 แสนบาท
  • สิทธิและสัมปทาน 211,123 บาท
  • ทรัพย์สินอื่น 1,555,000 บาท
ขณะเดียวกัน สุนทรแจ้งว่ามีหนี้สิน 4,000,000 บาท

สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า รายการทรัพย์สินประเภทที่ดินซึ่งอยู่ในครอบครองของสุนทรและคู่สมรสที่เสียชีวิตแล้ว มีมูลค่ารวมกัน 640.4 ล้านบาท โดยเป็นที่ดินในชื่อของสุนทร 220 แปลง ประกอบด้วย โฉนด น.ส. 3 ก. น.ส. 3 และของคู่สมรสที่เสียชีวิต 5 แปลง ทั้งนี้ที่ดินเกือบทั้งหมดอยู่ใน อ.ประจันตคาม อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.นาดี อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี และมีบางส่วนอยู่ที่ อ.เมืองสระแก้ว

นอกจากนี้ ยังมีเรือนโรงและสิ่งปลูกสร้างอีก 19 รายการ มูลค่ารวม 2.4 ล้านบาท โดยเป็นบ้านเดี่ยวในชื่อของสุนทร ตั้งอยู่ที่ ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี 2 หลัง ปลูกสร้างบนโฉนดเดียวกัน มูลค่าหลังละ 2 แสนบาท, ห้องแถว จำนวน 13 หลัง ปลูกสร้างบนโฉนดเดียวกัน มูลค่าหลังละ 5 หมื่นบาท, ตึกเดี่ยวที่ปลูกสร้างบนโฉนดเดียวกับห้องแถว 1 หลัง มูลค่า 1.5 แสนบาท ส่วนคู่สมรสที่เสียชีวิต มีบ้านเดี่ยว 3 หลัง ปลูกสร้างบนโฉนดเดียวกัน มูลค่ารวม 1.25 ล้านบาท

https://www.bbc.com/thai/thailand-61782696