วันพุธ, ธันวาคม 04, 2567

ศาลอาญา รัชดาฯ พิพากษาจำคุก “อานนท์” 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี เหตุโพสต์ #ราษฎรสาส์น แม้ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมโทษ 16 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว .


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h ·

จำคุก “อานนท์” 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี เหตุโพสต์ #ราษฎรสาส์น แม้ยืนยันแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมโทษ 16 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว
.
วันที่ 3 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 905 ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี กรณีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563
.
ศาลพิพากษาว่า อานนท์มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 ปี คงจำคุก 2 ปี และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
.
จากคำพิพากษาในคดีนี้ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีที่ 5 ที่ศาลมีคำพิพากษา ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวม 16 ปี 2 เดือน 20 วันแล้ว โดยเป็นโทษจำคุกจากคดี 112 รวม 5 คดี และคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 คดี
.
.
#ราษฎรสาส์น จดหมายจากประชาชนส่งถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ตอกย้ำข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 อานนท์ซึ่งได้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์น จัดโดยกลุ่ม “ประชาชนปลดแอก” เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
.
ใจความหลักในจดหมายที่อานนท์โพสต์คือ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกษัตริย์ที่ละเมิดต่อหลักประชาธิปไตย และขอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวให้ธำรงอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
ต่อมา ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “ไทยภักดี” ได้เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับอานนท์
.
นอกจากอานนท์แล้ว ยังมีนักกิจกรรมอีก 4 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากกิจกรรมเขียนจดหมายถึงกษัตริย์เช่นเดียวกัน ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ทั้งหมดมาจากการเข้าแจ้งความของประชาชนกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง
.
สำหรับคดีนี้มีการสืบพยานทั้งสิ้น 5 นัด ในช่วงวันที่ 11-13 มิ.ย., 10 ก.ย. และ 31 ต.ค. 2567 โดยใช้วิธีบันทึกคำเบิกความพยานเป็นวีดิโอ
.
อานนท์ซึ่งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา มีข้อต่อสู้ในคดีว่า จําเลยโพสต์ข้อความตามฟ้องโจทก์ในเฟซบุ๊กจริง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามสิทธิเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และในการสืบพยานฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของจำเลยในการโพสต์คือต้องการให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่อย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการพูดถึงพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาและเป็นข้อเท็จจริง
.
นอกจากนี้ การพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน นั่นคือ การแสดงความเห็นติติงเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่สามารถกระทำได้ ถ้าไม่เป็นการมุ่งทำร้าย
.
.
ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จะดูแค่เจตนาของจำเลยที่อ้างว่าไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเพียงอย่างเดียวไม่ได้
.
วันนี้ (3 ธ.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 905 อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษา โดยมีผู้รับมอบฉันทะทนายความ ภรรยาและลูกทั้งสอง เจ้าหน้าที่จากสถานทูตอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์มาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมทั้งมีประชาชนทั่วไปเดินทางมาให้กำลังใจอานนท์อย่างล้นหลามจนล้นห้องพิจารณาคดี
.
เจ้าหน้าที่ศาลและตำรวจศาลจึงได้เปิดห้องพิจารณา 901 ให้กับประชาชนเพื่อชมการถ่ายทอดสดจากห้อง 905 ประชาชนส่วนใหญ่ย้ายไปยังห้องดังกล่าว แต่ก็มีบางส่วนยืนยันจะขอรอให้กำลังใจอานนท์ที่ห้องเดิม ตำรวจศาลจึงเดินเข้ามาถามว่า ได้ยื่นคำร้องขอเข้าสังเกตการณ์การฟังคำพิพากษาหรือไม่ ประชาชนรายหนึ่งจึงตอบว่า ปกติก็ไม่ต้องเขียนคำร้องขอเข้าสังเกตการณ์ ตามกฎหมายศาลก็ต้องอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผย ประชาชนจึงมีสิทธิที่จะเข้าฟังได้ และตนก็รู้จักกับอานนท์ด้วย
.
เวลา 09.30 น. ผู้พิพากษาออกนั่งอ่านคำพิพากษา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
.
พิเคราะห์ข้อกล่าวอ้างจำเลยที่อ้างว่า โพสต์พร้อมรูปภาพของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขยายพระราชอำนาจ จำเลยมีเสรีภาพในการปกป้องสถาบันกษัตริย์และแสดงความคิดเห็น
.
เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” และมาตรา 25 วางหลักว่า “...บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น…ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” อันเป็นข้อยกเว้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่า ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
.
แม้เสรีภาพในการแสดงความเห็นจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อการแสดงความเห็นดังกล่าวกระทบต่อบุคคลอื่น รัฐก็จำเป็นอย่างยิ่งในการลงโทษผู้ที่ใช้เสรีภาพกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
.
ในส่วนฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เห็นว่า โพสต์ของจำเลยทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า กษัตริย์รัชกาลปัจจุบันก้าวล่วงละเมิดต่อหลักประชาธิปไตย มีการขยายพระราชอำนาจเกินขอบเขต ใช้ภาษีเกินความจำเป็น ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ
.
วิธีการของจำเลยไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่จำเลยกล่าวอ้างว่า มีเจตนาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวไม่สามารถดูแค่เจตนาของจำเลยเพียงอย่างเดียวได้
.
ข้อความที่จำเลยโพสต์จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นการส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
.
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
.
คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีที่ 5 ที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุก ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของอานนท์ไปแล้ว 4 คดี รวม 14 ปี 20 วัน และมีคำพิพากษาจำคุก 2 เดือน ในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 คดี โดยทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์
จากคำพิพากษาคดีนี้ทำให้อานนท์มีโทษจำคุกรวม 16 ปี 2 เดือน 20 วัน เกินกว่า 15 ปี และทำให้เขาอาจจะต้องถูกย้ายไปขังที่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษเกินกว่า 15 ปี
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/71491