วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 05, 2567

พิพากษาจำคุก “สมพล” #คดี112 รวม 9 ปี 18 เดือน ใน 3 คดี จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์ ปาสีใส่รูป ร.10 - ราชินี ที่ปทุมธานีและดอนเมือง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
10h ·

พิพากษาจำคุก “สมพล” #คดี112 รวม 9 ปี 18 เดือน ใน 3 คดี กรณีปาสีใส่รูป ร.10 - ราชินี ที่ปทุมธานีและดอนเมือง
.
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใน 2 คดี และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา 1 คดี ของ “สมพล” (นามสมมติ) ในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา #มาตรา112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565
.
เนื่องจากสมพลถูกดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่ที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และยังมีคดีที่ศาลอาญา รัชดาฯ 1 คดี
.
วานนี้ (3 ธ.ค. 2567) ศาลนัดสมพลฟังคำพิพากษารวม 3 คดี โดยแยกออกเป็นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานีทั้ง 2 คดี กรณีปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.เมืองปทุมธานี และกรณีปาสีใส่ป้ายพระฉายาลักษณ์พระราชินีริมถนนติวานนท์ เขตเมืองปทุมธานี
.
ส่วนคดีที่ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา เป็นคดีที่สืบเนื่องจากกรณีปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในเขตดอนเมืองรวม 4 จุด
.
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ จำเลยผิด 112 จำคุก 9 ปี ก่อนลดเหลือ 6 ปี กรณีปาสีใส่ป้าย ร.10 รวม 3 จุด ใน อ.เมืองปทุมธานี
.
คดีนี้เป็นคดีที่สมพลถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจากบ้านพัก หลังถูกกล่าวหาว่าได้ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.เมืองปทุมธานี ก่อนพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี แจ้งข้อกล่าวหาใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, ข้อหา “ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหายฯ” ตามมาตรา 360 และ ข้อหา “ทำให้ป้ายที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหาย” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 ก่อนถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดปทุมธานีในเวลาต่อมา
.
ในระหว่างการสืบพยาน จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และได้ชำระเงินค่าเสียหายของป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ให้แก่เทศบาลตําบลบางเดื่อ ส่วนในข้อหามาตรา 112 จำเลยมีข้อต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112
.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่จำเลยมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ลงโทษตามมาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี
.
ต่อมาศาลได้นัดหมายอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันที่ 29 ต.ค. 2567 แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล จึงให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา และนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค. 2567
.
วานนี้ (3 ธ.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ทนายความเดินทางไปศาล แต่จำเลยไม่ได้มาศาลตามนัดหมาย ศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลับหลังจำเลย โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า
.
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยขว้างปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์จำนวน 3 ภาพ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความจากพยานโจทก์ว่า จำเลยขว้างปาสีในอีกหลายท้องที่ พฤติกรรมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งประสงค์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะ
.
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 360 เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์มิใช่ทรัพย์ที่มีใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์ เห็นว่า เมื่อจำเลยรับสารภาพข้อหานี้ข้อเท็จจริงย่อมฟังเป็นยุติ อุทธรณ์จำเลยเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยสารภาพ เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลจึงไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้
.
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 3 กระทง คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี ให้ริบของกลาง และ ให้จำหน่ายข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.
.
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือนในคดี 112 กรณีปาสีใส่ป้ายราชินีที่ถนนติวานนท์ เขตเมืองปทุมธานี
.
หลังสมพลถูกจับกุมจากบ้านพักตามหมายจับกรณีปาสีใส่ป้าย ร.10 รวม 3 จุด ใน อ.เมืองปทุมธานี พนักงานสอบสวน สภ.ปากคลองรังสิต ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาสมพลกรณีถูกกล่าวหาว่าปาสีใส่ป้ายพระฉายาลักษณ์พระราชินีริมถนนติวานนท์ เขตเมืองปทุมธานี อีกคดีใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112, ข้อหา “ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหายฯ” ตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 เช่นเดียวกัน ก่อนถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดปทุมธานีในเวลาต่อมา
.
ในระหว่างการสืบพยาน จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และได้ชำระเงินค่าเสียหายของป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านใหม่ ส่วนในข้อหามาตรา 112 จำเลยมีข้อต่อสู้ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112
.
ก่อนหน้านี้วันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องในข้อหามาตรา 112 เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 แต่จำเลยมีความผิดตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ลงโทษตามมาตรา 360 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน การกระทำของจำเลยไม่เหมาะสม มีความร้ายแรง จึงไม่รอการลงโทษ แต่ศาลอนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์คดี
.
ต่อมา ศาลได้นัดหมายอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันที่ 29 ต.ค. 2567 พร้อมกับคดีแรก แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล จึงให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา และนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค. 2567
.
วานนี้ (3 ธ.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ทนายความเดินทางไปศาล แต่จำเลยไม่ได้มาศาลตามนัดหมาย ศาลจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลับหลังจำเลย โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า
.
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการกระทำจำเลยเป็นการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์และราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 โดยเฉพาะ มีความแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และการกระทำของจำเลยเป็นการทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะอีกต่อไป ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติและชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง มีเจตนาให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ
.
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำด้วยวาจาเพียงอย่างเดียว การกระทำจำเลยถือเป็นความผิดมาตรา 112 อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
.
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้จำหน่ายข้อหาตาม พ.ร.บ. ความสะอาดฯ ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
.
.
ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน กรณีปาสีแดงใส่รูป ร.10 ในเขตดอนเมือง เห็นว่าหากมีเจตนาเพียงทำให้เสียทรัพย์ ก็ไม่มีเหตุที่จะกระทำเฉพาะเจาะจงกับรูปในหลายท้องที่
.
คดีนี้สมพลเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สน.ดอนเมือง กรณีถูกกล่าวหาว่าปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในพื้นที่เขตดอนเมือง ต่อมา พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35
.
ศาลได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 2 นัด ในระหว่างวันที่ 17-18 ก.ย. 2567 ในระหว่างการสืบพยาน สมพลให้การรับสารภาพในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ฯ ตามมาตรา 358 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ แต่ให้การปฏิเสธในข้อหาตามมาตรา 112 โดยสืบพยานโจทก์เพียง 1 ปาก คือ พนักงานสอบสวน ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดหมาย ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษา และนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้งในวันที่ 3 ธ.ค. 2567
.
วานนี้ (3 ธ.ค. 2567) ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดีที่ 906 ทนายความเดินทางมาศาล ส่วนจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดหมาย ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า
.
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าหากจำเลยมีเพียงเจตนาทำให้เสียทรัพย์ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องกระทำเฉพาะเจาะจงกับพระบรมฉายาลักษณ์ในอีกหลายท้องที่ อีกทั้งยังมีการเตรียมและวางแผนล่วงหน้า
.
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
.
ส่วนความผิดตามมาตรา 358 กระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน ไม่มีเหตุรอลงอาญา และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น
.
.
รวม 3 คดี ที่มีคำพิพากษาในวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา สมพลถูกลงโทษจำคุก 9 ปี 18 เดือน
.
ทั้งนี้ ในคดีทั้งหมด 6 คดีของสมพล ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหมดทุกคดีแล้ว โดยยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 รวม 4 คดี แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาเกี่ยวกับการทำให้เสียทรัพย์ โดยมีทั้งคดีที่รอและไม่รอลงอาญา อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 3 คดี ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว (ก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกสมพล 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี กรณีปาสีใส่รูป ร.10 หน้าโลตัสรังสิต) ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษากลับในความผิดตามมาตรา 112 จากยกฟ้อง เป็นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทั้ง 3 คดี
.
ทำให้นับรวมถึงปัจจุบันสมพลมีโทษจำคุกในทั้ง 6 คดี รวม 11 ปี 26 เดือน
.
.
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของสมพล: https://tlhr2014.com/archives/54682
อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/71503
.....