วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 05, 2567

“อานนท์” ตั้งข้อรังเกียจศาลในคดี 112 #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 หลังสั่งพิจารณาลับ-ห้ามเผยแพร่ โดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย ทั้งห้ามโต้แย้ง “ถ้าใครพูด จะขังให้หมด”


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9h ·

วันที่ 3 ธ.ค. 2567 ที่ศาลอาญา อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 40 ปี ยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล และคัดค้านกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมสอบสวนและดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 62 ในคดีมาตรา 112 ที่สืบเนื่องมาจากการปราศรัยในการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
.
ก่อนหน้านี้ (27 พ.ย. 2567) ในนัดสืบพยานคดีดังกล่าว ได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรม กล่าวโดยสรุปคือ เรืองฤทธิ์ บัวลอย ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ยืนยันไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสารสำคัญที่จะใช้ประกอบการถามค้านพยานโจทก์ ได้แก่ ตารางการเดินทางของรัชกาลที่ 10 และเอกสารเกี่ยวกับงบประมาณ โดยอ้างว่าการออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ต่อ อานนท์ ในฐานะจำเลย จึงได้ถอดเสื้อประท้วงศาลเป็นครั้งที่สอง หลังจากเคยถอดเสื้อประท้วงมาแล้วครั้งหนึ่งในนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567
.
ทันทีที่อานนท์ถอดเสื้อออก ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีลับ แม้ทนายจะแถลงเหตุผลตามหลักการทางกฎหมายหลายประการ แต่ผู้พิพากษา เรืองฤทธิ์ บัวลอย ยังคงยืนยันให้พิจารณาคดีโดยลับ และให้ตำรวจศาลเชิญประชาชนที่มาสังเกตการณ์คดีออกจากห้องพิจารณาคดีพร้อมทั้งยืนเฝ้าประตู ทั้งสั่งห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่ อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทำให้อานนท์เขียนคำร้องขอตั้งข้อรังเกียจศาลและเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้อง
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ผู้พิพากษาคนดังกล่าวยังสั่งห้ามอานนท์แถลงเพื่อโต้แย้งคำสั่งศาลเองที่ห้ามนำข้อมูลในห้องพิจารณาคดีไปเผยแพร่โดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง งดการสืบพยานจำเลย และนัดวันฟังคำพิพากษาทันทีในวันที่ 19 ธ.ค. 2567
.
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำมาสู่การยื่นคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาล, คำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนยื่นคำร้องให้มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัยต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา, ประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ของอานนท์เพื่อโต้แย้งความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีนี้ นอกเหนือจากการถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณา
.
.
อ่านคำร้องตั้งข้อรังเกียจศาลบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/71505