วันศุกร์, ตุลาคม 11, 2567

ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย หลังได้รับเลือกเป็นสมาชิก UNHRC


Lookkate Chonthicha - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว
13 hours ago
·
[ข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย หลังได้รับเลือกเป็นสมาชิก UNHRC]
คืนวานนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วาระปี พ.ศ. 2568-2570 การได้มาซึ่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการพิสูจน์ภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลกว่า ไทยจริงจังกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน เพราะ HRC เป็นองค์กรสำคัญในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชน เพราะมีพันธกิจหลักคือการสนับสนุนการคุ้มครอง เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆของโลก
และหนึ่งในความท้าทายของไทยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมาชิก HRC คือการหันกลับมาทบทวนปัญหาการละเมิดและข้อบกพร่องทางกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลที่ผ่านๆมายังคงถูกทิ้งร้างค้างคามานาน
ดิฉันในฐานะของผู้แทนราษฎรและคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลด้วยความปรารถนาดีค่ะ เพื่อให้ประเทศไทยนั่งอยู่บนเก้าอี้ HRC อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีดังนี้ค่ะ
ประการแรก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เสมือนกระดุมเม็ดแรกของการพิสูจน์ความจริงจังของไทยต่อเก้าอี้นี้ นั่นคือ ประเทศไทยจะต้องเอาจริงในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนจากเวที UN และการแก้ไขนโยบายและกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องไปกับมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น การปรับปรุงระบบกฎหมายหมิ่นประมาทที่ถูกใช้ฟ้องปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน, การแก้ไขกฎหมายที่ถูกใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและฟ้องกลั่นแกล้งอย่างมาตรา 112, มาตรา 116(ยุยงปลุกปั่น), พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, การแก้ไขกฎหมายพิเศษอย่างกฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นต้น
ประการต่อมา คือ การแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย ซึ่งหลายปัญหาล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่ไทยมักถูกวิพากษย์วิจารณ์ในเวทีโลก
และดิฉันจะขอยกตัวอย่างกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องเร่งด่วน ที่รัฐบาลไทยควรรีบแก้ไขเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเวทีโลกต่อการทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ เช่น
กรณีเหตุการณ์สลายชุมนุมที่ตากใบจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่ไทยมักจะถูกตั้งคำถามในเวทีUNมาโดยตลอด ถึงความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการที่อัยการลากการสั่งฟ้อง คดีตากใบ เอาไว้จนคดีเกือบขาดอายุความ (อายุความถึง 25 ต.ค. 67) เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ตำรวจก็ยังไม่สามารถหาตัวจำเลยเข้าสู่กระบวนการศาลได้ และความล่าช้าในการติดตามจำเลยที่เดินทางออกไปนอกประเทศ
ดิฉันเชื่อว่า การติดตามจำเลยมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัวจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในสายตาชาวโลกว่า หลักนิติรัฐนิติธรรมยังมีอยู่จริง และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยังใช้งานได้จริงในรัฐไทย
กรณี “อี ควิน เบดั๊บ” นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชาวเวียดนาม ซึ่งศาลไทยได้พิจารณาคดีการส่งตัวของเขา โดยไม่ได้หยิบยกหลักการ “ไม่ผลักดันกลับ” (Non-Refoulement) มาพิจารณา ทั้งที่มีบัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ และโยนให้รัฐบาลไทยเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะส่งตัวเบดั๊บไปให้รัฐบาลเวียดนามตามความเห็นของศาลหรือไม่ ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ยืนยันหลักการว่า การคุ้มครอง เคารพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร อันได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และ ศาล และอีกเรื่องที่สืบเนื่องกันคือ “การกดปราบข้ามชาติ” คือการที่รัฐร่วมมือกันปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองในอีกรัฐหนึ่ง เช่น การส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือการยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐอื่นเข้ามาปราบปรามนักกิจกรรมในรัฐตน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นึกถึงกรณีนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยชาวไทย 9 คนที่ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านถูกฆาตรกรรมหรือที่บางส่วนเชื่อได้ว่าถูกบังคับสูญหาย ดังที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปการตรวจสอบไว้เมื่อไม่นานนี้ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติก็เคยระบุไว้ว่ามีการกดปราบข้ามชาติรูปแบบนี้ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอยู่จริง
ดังนั้น เราคาดหวังที่จะเห็นการตัดสินใจของรัฐบาลไทยต่อเรื่องนี้โดยยึดหลักการสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (Covention Against Torture - CAT) และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ที่ไทยเป็นภาคี และต้องไม่ปล่อยให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคในการละเมิดสิทธิมนนุษยชน
กรณีคดีการเมือง ซึ่งมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก หากนับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันเกือบ 2,000 คน และมีนักโทษทางการเมืองที่ยังถูกจองจำกว่า 40 คน หลายคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวระหว่างสู้คดีและเสียชีวิตในเรือนจำ การดำเนินคดีต่อประชาชนและนักกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 112 ที่ถูกวิจารณ์ในเวทีโลกมาโดยตลอด เวที UN ในหลายวาระต่างก็มีข้อเสนอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและยุติการดำเนินคดี
เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ท้าทายว่าไทยพร้อมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งดิฉันหวังว่า รัฐบาลไทยแสดงความจริงใจได้ง่ายๆผ่านการสนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมืองที่จะไม่ทิ้งคนกลุ่มใดไว้ข้างหลัง
.
ดิฉันหวังว่า การที่ไทยได้ตำแหน่งเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในครั้งนี้จะเป็นสัญญาณบวกว่า รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของคุณแพรทองธาร ชินวัตร จะยึดคุณค่าสิทธิมนุษยชน ผ่านการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและในระดับโลก
และในเมื่อประเทศไทยได้รับเลือกให้นั่งใน HRC ในการเลือกครั้งนี้ ดังนั้นจะยิ่งต้องทำงานให้เต็มศักยภาพ แสดงบทบาทนำด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินบทบาทประสานความร่วมมือให้เกิดสันติภาพในประเทศเมียนมาที่กำลังเผชิญความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนรายวันจนสร้างผลกระทบเข้ามาในประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาค
และหากรัฐบาลไทยทำได้เช่นนี้ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ไทยในสายตาโลกที่คุ้มค่าที่สุด ที่มากกว่าการไปแลกแต้ม แลกคะแนนจากประเทศอื่นๆ เพื่อขอนั่งเก้าอี้ดังกล่าว โดยที่คนไทยก็ไม่ได้อะไร