วันจันทร์, ตุลาคม 21, 2567

เราน่าจะคุ้นกับประโยคแนว ๆ ว่า เรื่องกล้วย ๆ แค่นี้ใคร ๆ ก็ทำได้! กล้วยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความง่ายไปซะแล้ว แต่จริง ๆ เบื้องหลังผลไม้สีเหลืองที่ดูธรรมดา กลับมีเรื่องราวที่ซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่คิด


Wongnai 
October 17
·
เราน่าจะคุ้นกับประโยคแนว ๆ ว่า เรื่องกล้วย ๆ แค่นี้ใคร ๆ ก็ทำได้! กล้วยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความง่ายไปซะแล้ว แต่จริง ๆ เบื้องหลังผลไม้สีเหลืองที่ดูธรรมดา กลับมีเรื่องราวที่ซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่คิด ตั้งแต่การเป็นอาหารทั้งคาวทั้งหวานที่บ้านไหนเมืองไหนก็ติดใจ ไปจนถึงการสร้างผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ กล้วยไม่ได้เป็นเพียงของหวานหรืออาหารพื้นฐาน แต่ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงระดับโลกอีกด้วย
เพราะความหวาน ความหอม แถมด้วยสีสันสะดุดตาและรูปทรงแปลก ๆ ที่เห็นครั้งแรกก็จำได้เลย นำพาความแมสของกล้วยให้ครองใจคนได้ทั้งโลก Wongnai Story ชวนอ่านเรื่องกล้วย ๆ ในหลายมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ถิ่นกำเนิดและการเดินทางของน้องกล้วย
ขอพาท่องเวลาย้อนอดีตกันสักนิด ให้รู้จักที่มาของกล้วยพวกนี้ก่อน เจ้าผลไม้สีเหลืองอร่าม เป็นนับญาติกับตระกูลเบอร์รี่ ถูกค้นพบเมื่อ 5,000 ปีก่อนคริสต์กาลที่เกาะปาปัวนิกินี หลังจากนั้นเริ่มมีการนำไปปลูกที่ประเทศกรีกก่อน และค่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วยุโรป ส่วนประเทศไทยและประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้นั้นรู้จักกล้วยมาตั้งแต่ 1500-1600 ปีกันแล้ว
หลังจากนั้นกล้วยก็เป็นที่รู้จักไปเรื่อย ๆ ตามแต่ว่านักเดินทาง นักเดินเรือจะไปที่ไหน ก็มักพกเป็นสเบียงพร้อมทิ้งเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกบนสถานที่นั้นด้วย ทำให้กล้วยกระจายไปในพื้นที่โซนร้อนของโลกได้อย่างรวดเร็ว แต่กลุ่มคนที่ได้กินกล้วยช้ากว่าชาวบ้านเขาคือชาวอเมริกา เพราะว่าจะได้เจอกันก็เมื่อปี 1876 ที่งาน World Fair รัฐฟิลาเดเฟีย
แม้กล้วยจะเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย แต่ก็มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ที่น่าสนใจมาก ในแต่ละภูมิภาคจะมีกล้วยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เช่น กล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นกล้วยที่คนไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมใช้ในอาหารทั้งคาวและหวาน หรือ กล้วยหอม ที่เป็นสายพันธุ์ยอดนิยมในตลาดโลกโดยเฉพาะในแถบอเมริกาและยุโรป การที่กล้วยแต่ละสายพันธุ์มีบทบาทสำคัญใ นวัฒนธรรมอาหารของประเทศต่าง ๆ ทำให้การค้าขายและความต้องการกล้วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มากกว่าอาหาร ‘กล้วย’ คือสัญญะที่เชื่อมทั้งวัฒนธรรมเก่าใหม่
ตั้งแต่มนุษยชาติได้รู้จักกับผลไม้สีเหลือง ลักษณะโค้งงอ รสชาติหวานน่าทาน เราก็นำมันมาอยู่ในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเราไปเลย วัฒนธรรมฮินดูในอดีตเชื่อว่ากล้วยจะนำพาบุตรมาให้ คู่รักที่แต่งงานมานานและอยากจะมีบุตรจึงมักนำกล้วยไปถวาย หรือในแถบล้านนาบ้านเรากล้วยทำหน้าที่สำคัญในพิธีกรรมตั้งแต่มงคล สืบชะตา ต่ออายุ ไปจนถึงทำเสน่ห์ หรือทำพิธีข่มขวัญศัตรูก็ใช้กล้วยได้ ในบางความเชื่อกล้วยเป็นเครื่องรางนำโชคได้อีกด้วย เช่น แก๊งนักพนันต่างพกกล้วยเข้าไปด้วยทั้งพกไปกิน และพกเข้าไปวางไว้ข้างๆ เฉย ๆ ก็มี
นอกจากนี้ ‘กล้วย’ ยังกลายมาเป็นไอคอนนิกของยุค เป็นการ์ตูนโปรดของใครหลายคนอย่าง ‘กล้วยหอมจอมซน’ หรือบางคนอาจจะคุ้นตากับภาพกล้วยที่โดนสก็อตเทปสีเทาคาดทับแปะติดอยู่บนผนัง และ ใช่ ความอาร์ตทำให้ราคากล้วยนั่นเหยียบ $120,000 กันเลยทีเดียว หรือลองคิดภาพงานปาร์ตี้แฟนซีสักที่ขึ้นมา มันต้องมีใครสักคนแต่งตัวเป็นกล้วยออกมาเรียกเสียงฮาให้กับเราแหละ เพราะงั้นจะเห็นได้ว่านอกจากจะเป็นอาหาร เป็นผลไม้ ความเป็นกล้วยก็รายล้อมตัวเราไปหมด
ครองพื้นที่เศรษฐกิจผลไม้ง่ายๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปาก
อย่างที่เห็นว่ากล้วยทุกรูปแบบได้ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์กับเราทั้งในแง่ของอาหารการกิน จนไปถึงวัฒนธรรมตั้งแต่แรก ๆ จนถึงปัจจุบัน ทำให้ความนิยมนี้เองที่กล้วยเลยกลายเป็นสินค้าสำคัญของเศรษฐกิจการส่งออกผลไม้ที่ข้ามกระจายไปหลายประเทศ
เพราะกล้วยเป็นแค่พืชเมืองร้อน จึงทำให้ต้องมีการส่งออกกล้วยไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ไม่สามารถปลูกได้ จากข้อมูลของ OEC World พบว่าในปี 2022 ประเทศที่มีการส่งออกกล้วยเยอะที่สุดคือ เอกวาดอร์ ฟิลิปินส์ และ คอสตา ริก้า ส่วน 3 ประเทศที่นำเข้ากล้วยเข้าไปเยอะที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ส่วนรอง ๆ ลงมาก็คือพวกประเทศในโซนยุโรป ซึ่งมูลค่าของการนำเข้า-ส่งออกของเหล่ากล้วยพวกนี้ทะลุไปถึง 14.3 ล้านดอลลาร์ต่อปีกันเลยทีเดียว
แน่นอนว่าเรื่องการส่งกล้วยของไทยก็ไม่น้อยหน้าใคร ประเทศไทยครองตำแหน่งเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากฟิลิปปินส์เท่านั้น และเป็นอันดับที่ 18 ของโลก ประมาณ 1,075,251 ตันต่อปี แถมเรายังมีพื้นที่ปลูกกล้วยกันมากถึง 481,639 ไร่ โดยเน้นไปที่กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอมตามลำดับ และ 3 จังหวัดที่ปลูกกล้วยหอมมากที่สุดคือ ปทุมธานี เพชรบุรี และสุราษฏ์ธานี
จากปริมาณการส่งออกกล้วยจำนวนมากนี้กำลังบอกเราว่า ‘ ความเป็นกล้วย’ อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ทางสารอาหาร นี่มันแมสและอร่อยติดใจคนทุกชาติทั่วโลกจริง ๆ
อ่อนแอและบอกบบาง ปกครองประเทศแบบ ‘สาธารณรัฐกล้วย’
ทราบหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ เราเคยมีเมืองหนึ่งที่ถูกปกครองด้วยกล้วยหอมสุกเป็นระยะเวลานานกว่า … ล้อเล่น มันจะไปมีเมืองแบบนั้นได้ยังไง! สิ่งที่มีจริง ๆ คือคำว่า ‘Banana republic’ หรือ สาธารณรัฐกล้วยเท่านั้น หมายถึง ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น คำ ๆ นี้ถูกใช้คำแรก ในปี 1904 โอ. เฮนรี (O. Henry) นักเขียนชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนยังรู้สึกว่าคำ ๆ นี้มันให้เซนส์ของความง่าย อ่อนแอ และบอบบางไปในตัวอีกด้วย
เรื่องมันเกิดขึ้นเพราะว่า การส่งออกและค้าขายกล้วยมันกระจายไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้การเติบโตของบริษัท United Fruit Company (UFCO) บริษัทส่งออกผลไม้สัญชาติอเมริกา เลยยิ่งโตเอา ๆ จนสามารถแผ่ขยายอิทธิพลไปถึงการเมือง การปกครอง และสังคมในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกากลาง เช่น กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และคอสตาริกา ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างบริษัทกับรัฐบาลท้องถิ่นสร้างสถานการณ์ที่เรียกกันว่า “รัฐกล้วย” (Banana Republic) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศถูกควบคุมโดยบริษัทต่างชาติอย่าง UFCO ที่ใช้ผลประโยชน์ทางการค้าเป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาล
หรือพูดกันง่าย ๆ ว่าระบบการปกครองแบบ ‘กล้วย ๆ’ จึงหมายถึงสถานการณ์ที่บริษัทข้ามชาติครอบงำการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง และรัฐบาลมักจะสนับสนุนและปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนนั่นเอง
ทำสวนกล้วยยังได้กินแต่กล้วยอีก ขอกินอย่างอื่นบ้างได้ไหม
จากความเป็นรัฐกล้วย ๆ ส่งผลให้เกิดการประท้วงและเรียกร้องของกลุ่มแรงงานที่ถูกกดขี่มากเกินไป ทั้งค่าแรงต่ำ สถานที่อาศัยไม่ดี ไปจนถึงการบังคับให้ปลูกกล้วยเป็นหลักในพื้นที่พักเพื่อให้เป็นอาหารกินระหว่างทำงาน (ในแง่หนึ่งมันก็คงอร่อยแหละ แต่คนเราจะกินกล้วยทุกวันได้จริง ๆ เหรอ)
และท้ายสุด การกดขี่และใช้แรงงานที่มากเกินไปและสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานส่งผลให้เกิดการประท้วงและการนัดหยุดงานของคนงานในหลายประเทศ หนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ Banana Massacre ในปี 1928 ที่โคลอมเบีย ซึ่งแรงงานสวนกล้วยของ United Fruit Company ประท้วงเรียกร้องสิทธิในการทำงานที่ดีขึ้น การประท้วงนี้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลโคลอมเบียซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัท ผลที่ตามมาคือการเสียชีวิตของคนงานหลายร้อยคน
การประท้วงในอดีตเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงสิทธิของแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญ แม้ว่าสถานการณ์ในบางประเทศจะดีขึ้นบ้าง แต่แรงงานจำนวนมากยังคงต้องต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานที่ดีขึ้นและการคุ้มครองทางกฎหมาย
ก็ปลูกกล้วยไปเลย จะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดิน
ลองหันมาดูเรื่องกล้วย ๆ แบบไทยบ้าง คือนอกจากเราจะมีความเชื่อว่าต้นกล้วยมีนางตานีคอยดูแลแล้ว หากย้อนกันไปสักเมื่อสองปีก่อน เราจะเจอกับประเด็น ‘ปลูกกล้วยเลี่ยงภาษีที่ดิน’ กันเต็มไปหมด เริ่มจากกรณีอิมแพ็ค อารีน่า เปลี่ยนที่ดินรกร้างกว่า 50 ไร่เป็นสวนกล้วยหมื่นต้น ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่า เอ๋ แบบนี้พี่เลี่ยงภาษีหรือเปล่าน้า
แต่จะว่าผิดก็ไม่ใช่ เพราะหากว่ากันตามก็กฏหมายภาษีที่ดินแล้ว การนำที่ดินรกร้างมาปลูกต้นไม้ก็ทำได้ เพราะกฏหมายที่ดินไม่ได้ระบุว่าต้องปลูกเพื่อทำเกษตรเป็นอาชีพ แค่ปลูกไว้เพื่อบริโภคเองก็ได้ แถมยังมีการแนบท้ายอีกว่าถ้าจะปลูกต้นปลูกขนาดไหน ถึงจะเรียกว่าเป็นการเกษตรเพื่ออาชีพ โดยกล้วยถูกระบุไว้ที่ กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า 200 ต้น/ไร่ เท่านั้น เพราะงั้นที่ดินบ้านใครว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไร และยังไม่พร้อมจ่าย ก็ลองปลูกกล้วยกินกันเองภายในบ้านไปก่อนก็ได้
วิทยาศาสตร์แบบกล้วย ๆ กับความอร่อยในอนาคต
Fun Fact ที่ตลกของกล้วยคือ เมื่อก่อนมันกระจายไปทั่วโลกได้ง่าย ๆ ใช่ไหม แต่ตอนนี้มันกลับเป็นผลไม้ที่ทำอะไรด้วยตัวเองไม่เป็นแล้ว เพราะในสมัยก่อนมนุษย์เลือกปลูกเอาแต่ต้นที่เมล็ดน้อย ๆ เท่านั้นทำให้ความสามารถการขยายพันธุ์ของมันถอดถอยลง ทำให้การขยายพันธุ์ของมันในทุกวันนี้คือต้องมีมนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเป็นหลักให้มันยังโตได้ แถมกล้วยในปัจจุบันที่เราชอบกินเป็นผลไม้ที่ถูกปรับปรุงพันธุกรรมเพื่อให้สามารถทนต่อการขนส่งและมีรสชาติที่ถูกใจคนทาน
การพึ่งพาสายพันธุ์เดียวมากเกินไปอาจสร้างความเสี่ยงในการรับมือกับโรคระบาด นำมาสู่ความท้าทายสำคัญของอนาคตของกล้วยคือการแพร่ระบาดของเชื้อรา จากรายงานของ National Geographic เชื้อราสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วและทำลายต้นกล้วยที่เป็นแหล่งผลิตหลักของโลก ปัญหานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าและพัฒนากล้วยสายพันธุ์ใหม่ที่ทนต่อโรคมากขึ้น
ดูจากสถิติการบริโภคกล้วยทั่วโลกยังคงสูง และไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงในเร็วๆ นี้ กล้วยยังคงเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมและเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจการเกษตรของหลายประเทศ เพราะงั้นสบายใจได้ว่านักวิทยาศาสตร์คงพยายามหาทุกทางเพื่อให้เรามีกล้วยกินกันต่อในอนาคตแน่นอน
.
อ่านในเว็บไซต์ : https://wongnai.onelink.me/ECPl/wf0x1q1m
.
Wongnai มีกิจกรรมรีวิวท้าพิสูจน์นักกิน คุณเป็นตัวจริงสายไหน ?
เพียงแบ่งปันรีวิวตอนนี้ ลุ้นรับรางวัลมูลค่ากว่า 32,000 บาท
นักกินตัวจริงห้ามพลาด อ่านต่อได้ที่ : https://wongn.ai/21rVsW
.
#Wongnai #WongnaiStory #กล้วย #เรื่องกล้วยๆ
Reference
https://www.nationalgeographic.com/.../banana-fungus...
https://vinemanfence.com/plants-pay-less-land-tax/
https://www.nationalgeographic.com/.../food-journeys-graphic
https://oec.world/en/profile/hs/bananas
https://www.tnnthailand.com/news/infographic/150930/
https://humwp.ucsc.edu/.../Bananas%20and%20Popular....
https://www.nationalgeographic.com/.../food-journeys-graphic