วันอาทิตย์, ตุลาคม 20, 2567

ชาวโรฮิงญา 70 คน นั่งแออัดมาในกระบะตู้ทึบจนขาดอากาศ คนขับตัดสินใจโยนทิ้งป่าละเมาะ ตาย 2 ราย - โคมาอีก 10 คน - เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น (TMR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาดำเนินการเพื่อเตรียมการรับมือต่อผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา และร่วมกันทำความเข้าใจกับสังคมไทยถึงปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน







 

The Reporters
2 hours ago
·
UPDATE: เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน ออกแถลงการณ์ "กรณีพบผู้อพยพชาวโรฮิงญาในสภาพอิดโรยและเสียชีวิต ที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ประเทศไทย" ความว่า
"เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 มีรายงานข่าวกรณีการพบผู้เสียชีวิตชาวโรฮิงญา จำนวน 2 ราย พร้อมกับชาวโรฮิงญาในสภาพอิดโรย จำนวนราว 10 ราย ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร โดยยังมีรายงานข่าวต่อมาว่าชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าวได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเพิ่มอีก 1 ราย (รวมผู้เสียชีวิตเป็น 3 ราย) และหลายรายที่ยังอยู่ในอาการสาหัส
รายงานข่าวระบุว่าเมื่อ วันที่ 18 ตุลาคม 2567 อ้างอิงกลุ่ม Rohingya Talent Group ว่า “การขนย้ายครั้งนี้มีชาวโรฮิงญากว่า 70 คน แต่เมื่อมาถึงบริเวณหลังสวน มีบางส่วนทำท่าจะเสียชีวิต จึงได้ให้ลง ส่วนพวกที่เหลือยังขนย้ายไปส่งยังพื้นที่เป้าหมาย”
จากข้อมูลเบื้องต้น ขบวนการค้ามนุษย์นี้จะขนย้ายชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา หรือในค่ายพังพิงประเทศบังคลาเทศ-อินเดีย เดินทางข้ามประเทศเมียนมา และนำมาพักไว้พื้นที่ชายแดนตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นนำพาข้ามชายแดนและขึ้นรถกระบะเดินทางไปยังพื้นที่แห่งหนึ่งในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก และลงเดินตามป่าประมาณ 1 วันมาถึงชายแดนอำเภอเมืองตาก จากนั้นขึ้นรถตู้มายังกรุงเทพฯ ก่อนจะส่งไปยังภาคใต้เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย
ข้อมูลจากสมาคมชาวโรฮิงญาในประเทศไทย (Association Rohingya Thailand) ยังให้ข้อมูลว่า มีชาวโรฮิงญา จำนวน 1,500 - 2,000 คน และรวมถึงชาวบังคลาเทศด้วย ที่อยู่พื้นที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา และเตรียมตัวถูกนำพาต่อไปยังประเทศมาเลเซียโดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ดำเนินไปเช่นนี้ ยิ่งทำให้ผู้อพยพหลบหนีความไม่สงบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น (TMR) มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และได้พยายามนำเสนอสถานการณ์ของผู้อพยพหลบหนีความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่จะเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ในการย้ายถิ่น เช่น เด็ก ผู้หญิง ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว ตลอดจนกลุ่มคนผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงตนหรือไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นพลเมือง (สัญชาติ) ในประเทศต้นทาง
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 44 และ 45 (The 44th and 45th ASEAN Summit) ณ นครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศลาว ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพ “การประชุมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ” เพื่อใช้หาทางออกให้กับสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาในเดือนธันวาคม 2567 นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 75 (ExCOM 75) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2567 รัฐบาลไทยได้ยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และคนไร้สัญชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสมและทันท่วงที มีสิทธิได้รับการยอมรับ และได้รับโอกาสในด้านต่าง ๆ
ในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) และมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทย และสังคมไทยจะตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ดังกล่าว รวมถึงผลกระทบจากความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลต่อประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่น (TMR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ เร่งพิจารณาดำเนินการเพื่อเตรียมการรับมือต่อผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง และร่วมกันทำความเข้าใจกับสังคมไทยถึงปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ดังนี้:
1. นายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ โดยให้มีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหา ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารต่อสาธารณะต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมอย่างทันท่วงที
2. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งทูตพิเศษด้านเมียนมา ที่มีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา กองกำลังชนกลุ่มน้อยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมา โดยทำงานร่วมกับอาเซียนและประเทศพันธมิตร
3. รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมของคณะทำงานสหวิชาชีพในการดำเนินคัดกรอง คัดแยก และจัดทำทะเบียนประวัติเป็นการชั่วคราวแก่กลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ เพื่อให้สามารถระบุบุคคล สมาชิกในครอบครัว ภูมิลำเนา และเพื่อรวบรวมรายละเอียดและจำนวนของผู้ที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศในทุกช่องทาง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562
4. รัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งสืบสวน ขยายผล และนำกลุ่มขบวนการร่วมกระทำความผิดมาลงโทษ ตลอดจนการชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
5. รัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 13 ซึ่งได้บัญญัติ “หลักการห้ามผลักดันกลับ” (Non-Refoulement) ไม่ให้กลับไปเผชิญภัยอันตรายต่อชีวิต
6. รัฐบาลไทย โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการการจัดการผู้อพยพหนีภัยเข้ามาในประเทศไทยกลุ่มต่าง ๆ ดำเนินการคัดกรองและจัดทำทะเบียนประวัติ ตามแนวนโยบายและกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมนุษยธรรม และปราบปรามกลุ่มธุรกิจอาชญากรรมข้ามชาติ
7. รัฐบาลไทยต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกในการสร้างความร่วมมือข้ามชายแดนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงของมนุษย์ โดยพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กองทัพไทย กองทัพบท ในการบริการจัดการชายแดนและผู้ที่หนีภัยชาวเมียนมา รวมถึงพิจารณาประสานงานจัดตั้งกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในการแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกันกับประเทศไทย
8. รัฐบาลไทยเร่งปรับปรุงนโยบายภาพรวมของการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนและการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบภายในประเทศเมียนมา โดยคำนึงถึงรูปแบบของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ (Irregular Migration) และลักษณะของโยกย้ายถิ่นฐานแบบผสม (Mixed Migration)

เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน
20 ตุลาคม 2567"

#TheReporters #ผู้อพยพ #ย้ายถิ่น #ผู้ลี้ภัย #การโยกย้ายถิ่นฐาน #migration #refugee #เครือข่ายปฏิรูปการโยกย้ายถิ่นฐาน #โรฮิงญา