วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 31, 2567

เสียงสะท้อนชีวิตของคนถูก “ซ่อน” และการต่อสู้เพื่อไม่ “หาย”


27/10/2024
iLaw

27 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 – 19.00 น. iLaw ร่วมกับ Kinjai Contemporary จัดวงพูดคุยในหัวข้อ “ชีวิตคนถูก “ซ่อน” และการต่อสู้เพื่อไม่ “หาย” ชวนฟังเรื่องราวเส้นทางชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินคดีทางการเมืองที่ถูก “ซ่อน” ระหว่างทางฝันของพวกเขาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีกว่าเดิม ร่วมพูดคุยโดย ธี ถิรนัย อดีตผู้ต้องขังทางการเมืองที่เพิ่งปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ประพันธ์ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศและถูกจับกุมตัวส่งกลับมาดำเนินคดี กึกก้อง บุปผาวัลย์ ลูกชาย ”สหายภูชนะ“ ผู้ลี้ภัยที่ถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2561 ดำเนินรายการโดย บุศรินทร์ แปแนะ iLaw

การซ่อนหายคนที่อยู่ในพื้นที่ทางการเมืองด้วยคดีทางการเมือง หรือการถูกฆ่าและพบเป็นศพในแม่น้ำโขง คนที่เสียชีวิตอาจไม่ได้อยู่เพื่อต่อสู้ต่อไป แต่คนที่พ้นโทษออกมาแล้ว หรือลูกชายของคนที่เสียชีวิตจะแบกรับความฝันต่อไป

ลูกชายของคนที่ถูก “ซ่อน” ที่ยังคงสู้เพื่อให้พ่อไม่ “หาย”



ในช่วงรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งเรียกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองให้มารายงานตัว ทำให้มีคนจำนวนมากเลือกลี้ภัยไปยังต่างประเทศ “สหายภูชนะ” เป็นหนึ่งในคนที่ลี้ภัยไม่ยอมรับไปรายงานตัว กึกก้องเล่าว่า “สหายภูชนะ” ในฐานะพ่อก็เป็นคนธรรมดา เป็นคนที่หาเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวตามปกติ แรกเริ่มเขาเป็นคนที่ขายจานดาวเทียมในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนครั้งหนึ่งร่วมชุมนุมใหญ่ของทักษิณ ชินวัตรที่วงเวียนใหญ่ ทำให้ “สหายภูชนะ” เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมและไปขายจานดาวเทียมกับกลุ่มเสื้อแดง

เหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงด้วยกระสุนจริงในปี 2553 ทำให้ “สหายภูชนะ” คิดว่าจำเป็นต้องป้องกันตัว และตัดสินใจลี้ภัย ในช่วงหนึ่งระหว่างที่ที่บ้านขายกับข้าว กำลังเปิดทีวีและมีประกาศเรียก “สหายภูชนะ” ไปรายงานตัว กึกก้องเล่าว่าภายในวันนั้นพ่อของเขาติดต่อมาหาเพื่อบอกว่าจะต้องหนี เพราะเกรงว่าจะถูกซ้อมทรมาน พ่อของเขาตัดสินใจหนีไปที่จังหวัดมุกดาหาร ก่อนจะข้ามไปยังประเทศลาว แต่ถูกจับกุมที่ลาวโดยทางการลาว เนื่องจากเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ลูกชายของเล่าต่อว่า “สหายภูชนะ” พยายามทำเรื่องลี้ภัยเพื่อลี้ภัยไปยังประเทศที่สามแต่เขามีอุปสรรคทางด้านเอกสาร ช่วงแรก “สหายภูชนะ” อยู่กับวัฒน์ วรรลยางกูร และต่อไปอยู่กับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ เขาถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐในลาว ทำให้ต้องย้ายที่อยู่ กึกก้องเล่าว่าเคยเดินทางเข้าไปเยี่ยมพ่อ เคยถูกคนอื่นปรามาสว่าพ่อติดพนันรึเปล่า แต่เมื่อไปเยี่ยมพ่อ ก็เห็นสภาพความจำอยู่ว่าพ่อของเขาดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกร เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชทั่วไป

ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเดินทางไปมอบเงินช่วยเหลือน้ำท่วมที่ลาว ทำให้กึกก้องขาดการติดต่อกับพ่อของเขา เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยตามตัวได้ วันที่ 12 ธันวาคม 2561 คือวันสุดท้ายที่ “สหายภูชนะ” และครอบครัวติดต่อกัน ปกติแล้ว เมื่อขาดการติดต่อกัน พ่อของเขามักจะติดต่อกลับมาภายหลัง แม่เคยนัดกันให้ไปเจอกันที่สะหวันนะเขตในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพ่อเขา ปกติเวลาพ่อหายไปมักจะกลับมาติดต่อกันภายในเจ็ดวัน แต่ในครั้งสุดท้ายไม่มีการตัดต่อกลับมาอีกเลย จนกระทั่งพบเป็นศพเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561

กึกก้องเล่าว่า ในอดีตตนเคยถูกคุกคามตนไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการคุกคาม มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปตรวจที่บ้านที่มุกดาหารตลอด เข้าใจว่าเขาคงถามเป็นธรรมดา แต่เพิ่งมาเข้าใจได้ภายหลังว่าสิ่งเหล่านี้คือการคุกคาม

พ่อเคยมีความฝันอยากทำโรงเรียน การศึกษาจะเข้าถึงโอกาสในการเข้าถึงอำนาจ พ่ออยากสร้างโรงเรียนเพื่อให้คนที่มีโอกาสเปลี่ยนตัวเองได้เท่ากัน สองพ่อลูกมักวิดีโอคอลกันตลอดตอนที่กึกก้องกำลังทำโรงเรียนกวดวิชา เพื่อดูสถานที่ของกวดวิชา พ่อมีทักษะด้นการช่าง มักช่วยกันดูสถานที่เพราะพ่อมักให้คำแนะนำในการต่อเติม

กึกก้องเล่าติดตลกว่า ติดต่อข่าวคนลี้ภัยที่สูญหายบ่อยๆ ในฐานะที่เป็นลูก ในกลุ่มของพ่อเชื่อกันว่า บางคนอุ้มตัวเอง บางคนอาจจะโกงเงินบริจาค บางคนเชื่อในเรื่องทฤษฎีสมคบคิด ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็คือคนที่ถูกทำให้ “หาย” ไปจากสังคม กฎหมายถูกสร้างให้เรารู้สึกมั่นคง ถ้าวันนึงกฎหมายคุกคามเราจะหวังพึ่งพลังอำนาจไหน แม้ว่ารัฐจะไม่ได้เป็นคนทำ หรือพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นคนทำให้มีคนหาย แต่หน้าที่สำคัญของรัฐไทยคือการต้องพิสูจน์ให้ไกด้ว่าใครเป็นคนทำ

ประชาชนจะเอาอำนาจที่ไหนไปหาว่ารัฐเป็นคนกระทำ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ) ไม่เข้าข่ายในกรณีของสหายภูชนะ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนจะมีกฎหมายฉบับนี้ และมักถูกตอกย้ำโดยเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่พบศพคนที่ลอยขึ้นมาบนแม่น้ำโขง กึกก้องเชื่อว่านี่คือศพของพ่อ ตนฝันเห็นภาพเหตุการณ์ทำนองนี้ เล่าให้แม่และภรรยาฟัง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กึกก้องติดต่อกับพ่อไม่ได้ ปกติตนไม่ค่อยดูรูปศพในข่าว เมื่อคุยกับเพื่อนผู้ลี้ภัย ซึ่งเขาก็ส่งรูปสุดท้ายของพ่อมาให้ ชุดในภาพกับชุดที่พบศพเป็นชุดเดียวกัน ทำให้รู้ได้ทันทีว่าเป็นศพของพ่อ จึงติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ตนใช้ดีเอ็นเอของตนเพื่อตรวจสอบ แต่เจ้าหน้าที่ยังบังคับให้ตรวจดีเอ็นเอของแม่ด้วย กว่าที่ทางครอบครัวจะได้รับศพกลับก็ใช้เวลาไปกว่าสี่เดือน ช่วงนี้เป็นสี่เดือนที่วุ่นวายที่สุดในชีวิต

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองปราบ พยายามติดต่อ ยายามนัดเจอในสถานที่ที่ไม่ใช่สถานที่ราชการ ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย กลัวว่าจะมีความผิดจากการที่ติดต่อกับพ่อในช่วงที่พ่อลี้ภัย

“แม่คิดเสมอว่าศพนั้นไม่ใช่พ่อ เมื่อไปเปิดศพดูมันไม่เหลือเค้าเดิมแล้ว เหลือเพียงเส้นผมนิดหน่อย แม่รู้ทันทีว่าคือพ่อ ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมเห็นแม่ร้องไห้ แม่ยังคงส่งไลน์หาไลน์ของพ่อตลอดในวันนี้ ความใฝ่ฝันสูงสุดของคนเป็นลูกคือการได้ส่งพ่อ แต่เราไม่มีโอกาสนั้น” กึกก้องเล่า

หลังพิสูจน์ศพเสร็จสิ้นแล้วในช่วงปี 2562 กึกก้องเดินทางไปยังนครพนมเพื่อถามร้อยเวรเจ้าของคดีถึงความคืบหน้า แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร อัยการยุติการสอบสวนเพราะว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำได้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายฯ บังคับให้ญาติต้องพิสูจน์ว่ารัฐเป็นผู้กระทำ ซึ่งในตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างว่าจะให้หน่วยงานไหนรับเป็นผู้ดูแลคดีนี้

กึกก้องเปิดเผยว่า ในขั้นตอนของการไปติดตามคดีกับกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย พยายามถามว่า “สหายภูชนะ” มีข้อขัดแย้งกับคนอื่นที่ไม่ใช่รัฐไทยหรือไม่ เพื่อพยายามเบี่ยงประเด็นว่าผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตของ “สหายภูชนะ” ไม่ใช่รัฐไทย ส่วนนี้กึกก้องอธิบายว่าผิดหวังเพราะ “พ่อผมสละชีวิตให้เพื่อไทยเลยนะ” แต่คนที่พยายามช่วยเหลือ ในชั้นกรรมาธิการ คือ สุทัศน์ เงินหมื่น อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ กึกก้องบอกว่า “พ่อผมไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์แน่ๆ นี่คือที่ทำให้ผมประหลาดใจในชั้นกรรมาธิการ”

ในอดีตคนที่อุ้มหายที่ผ่านมา เช่น หะยีสุหลง โต๊ะมีนา หรือทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ ทุกคนมักจะถูกกล่าวหาว่าไปมีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อเบี่ยงประเด็นว่ารัฐไม่ใช่ผู้กระทำความผิดจนเป็นเหตุให้บุคคลเหล่านี้เสียชีวิตหรือสูญหาย

“กระบวนการตามกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราผิดหวังแต่ทำให้เราหมดหวัง กระบวนการนี้ทำให้เราต้องพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง ให้เราไปพิสูจน์มาหาด้วยตัวเองแล้วเอาหลักฐานไปยื่นให้เขา เขาถึงจะเริ่มทำงาน ผมว่ากระบวนการแบบนี้ไม่ถูกต้อง” กึกก้องกล่าว

“สิ่งเหล่านี้ขัดกับสามัญสำนึกผมตั้งแต่เด็กมาก ถ้าพ่อผมตาย คนแรกที่ผมจะไปบอกคือตำรวจ กลายเป็นว่ามันไปค้างเติ่งและเราต้องพิสูจน์ว่ารัฐเป็นผู้กระทำ” กึกก้องทิ้งท้าย

ชีวิตของประพันธ์ ผู้ใฝ่หารัฐสวัสดิการด้วยสันติ แต่ถูกจับเพราะแจกใบปลิว



ประพันธ์ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ที่ลี้ภัยไปต่างประเทศและถูกจับกุมตัวส่งกลับมาดำเนินคดี เล่าถึงภูมิหลังชีวิตตัวเองว่า อาศัยอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ติดตามฟังข่าวสารการเมืองมาตลอดตั้งแต่เด็ก ได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของเตียง ศิริขันธ์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยสกลนครและอดีตรัฐมนตรีสามสมัย และเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือการชุมนุมบ้าง เช่น การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) จนกระทั่งมีการรัฐประหารในปี 2549 ก็ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก จนเมื่อมีการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ประพันธ์รู้สึกว่าทนไม่ได้ ต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง จึงร่วมกิจกรรมแจกใบปลิวกับกลุ่มสหพันธรัฐไท

ประพันธ์เล่าต่อไปว่า เนื้อหาใบปลิวของกลุ่มสหพันธรัฐไท ระบุเกี่ยวกับนโยบายรัฐสวัสดิการ การปฏิรูปศาลให้มีระบบลูกขุน การศึกษาเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาตรี รักษาพยาบาลฟรี เน้นไปที่การเดินแจกประชาชนทั่วไป การเดินแจกใบปลิวไม่ได้ใช้อาวุธ หรือแสดงความรุนแรงใด ๆ เน้นไปที่การให้ข้อมูล แต่มีคนถ่ายรูปและนำไปโพสต์ ข่าวจึงไปถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

หลังจากนั้น ประพันธ์ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่มณฑลทหารบกที่ 11 สองคืนสามวัน ตามมาด้วยการดำเนินคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และความผิดฐานอั้งยี่ ตามมาตรา 209 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวนโดยต้องใส่กำไล EM ทำให้ชีวิตยากลำบากมาก ต่อมา ประพันธ์ถูกจับกุมไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 อีกครั้ง การบุกจับค่อนข้างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ประพันธ์เล่าถึงบรรยากาศตอนนั้นว่า ขณะที่ต้องเดินทางไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 เธอถูกปิดตาตลอดเพื่อไม่ให้เห็นเส้นทางเดินทาง และมีการเปลี่ยนรถยนต์ ในครั้งนี้เธอถูกควบคุมตัวถึงห้าคืนหกวัน กว่าจะได้ปล่อยตัวออกมา

ประพันธ์ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำมาเลเซีย โดยไม่ได้บอกใครแม้แต่ครอบครัว เธอได้รับบัตรผู้แสวงหาการลี้ภัยของทาง UNHCR เป็นเครื่องหมายไม่ให้ถูกจับส่งประเทศต้นทาง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ถูกจับส่งกลับประเทศไทย โดยความร่วมมือของรัฐบาลสองประเทศ

หลังถูกจับกลับมาในไทย รอบนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เพราะไม่มีเงิน และไม่มีใครมาประกันตัวให้ จึงต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำสองปี และพ้นโทษมาตั้งแต่ปี 2564 เธอเล่าถึงชีวิตในเรือนจำว่า หากมองในแง่บวก ก็ไม่ได้ลำบากมากนัก เพราะเดิมชีวิตก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่สบายอยู่แล้ว ด้วยอายุที่มากขึ้น เมื่อเจอสถานการณ์ที่ต้องถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจร่างกาย ก็ไม่ได้รู้สึกเขินอาย ในสถานะที่เป็นนักโทษคดีการเมือง เธอมองว่าเจ้าหน้าที่ค่อนข้างให้บริการดี ได้เจอเพื่อนนักโทษคดีการเมืองหลายคน สิ่งที่เยียวยาจิตใจระหว่างอยู่ในคุก คือการอ่านพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาไทย-อังกฤษ และดื่มกาแฟ

หลังจากพ้นโทษออกมา ประพันธ์ยังคงไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่บ้าง แต่การใช้ชีวิตค่อนข้างยากลำบาก เพราะยังเจอเจ้าหน้าที่มาสอดแนมถึงร้านนวดของเธออยู่เป็นระยะ ถึงขนาดทำให้ร้านนวดเจ๊งเพราะไม่มีลูกค้า แต่จากประสบการณ์ตำรวจที่มาเลเซียแนะนำว่า ต้องออกไปอยู่นอกเมือง จะได้ไม่โดนเพ่งเล็ง เลยย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดทุกวันนี้ ได้นวดบ้างไม่ได้นวดบ้าง การใช้ชีวิตจึงใช้แบบง่ายๆ ไม่ได้กินอะไรหรูๆ มากนัก กินผักกับไข่ต้ม

(อ่านข้อมูลคดีสหพันธรัฐไทได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/case/24017)

การ์ดม็อบผู้เคยถูกคุมขัง อ้อนวอนเพื่อไทยเร่งนิรโทษกรรม



ถิรนัย เล่าว่าตนเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563 ช่วงนั้นเรียน ปวช. อยู่ ในตอนนั้นอายุประมาณ 19-20 ปี ช่วงที่เริ่มมีการรัฐประหารจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ในปี 2563 เป็นครึ่งชีวิตของตนอยู่กับรัฐบาลนี้ ตั้งแต่การรัฐประหารก็เปิดดูข่าวต่างๆ มากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าทำไมประเทศต้องมาแย่ตอนที่เราโต

จนเข้ามาเรียนที่ ปวช. พอมีการชุมนุมตนก็เข้าร่วมกับกลุ่มฟันเฟืองอาชีวะ อาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนมีการชุมนุมที่แยกเกียกกาย พอเข้าไปถึงที่แยกเกียกายก็พบว่าการใช้แก๊สน้ำตาและมีการปะทะกันกับกลุ่มเสื้อเหลือง ตนเข้าไปกับเพื่อนจนเห็นว่ามีคนเสื้อเหลืองหกล้ม เราก็พยายามห้ามไม่ให้มีการทำร้ายคนเสื้อเหลือง

“ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นสองนัด เพื่อนผมโดนยิงเข้าที่สะโพก ผมหน้าชาเลย เสียงปืนดังขึ้นเรื่อยๆ มีหมอเข้ามาช่วยเหลือเพื่อนของเรา หมอก็โดนยิงอีก ตอนนั้นเราทำอะไรไม่ถูก เพื่อนอีกคนก็โดนยิง เราพยายามเอาเพื่อนที่ถูกยิงขึ้นรถนักข่าว” ถิรนัยเล่า

“ผมไปร่วมกับการชุมนุมเรื่อยๆ จนมาการชุมนุมคาร์ม็อบของจตุพร พรหมพันธุ์ เพื่อเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล ตอนนั้นคือช่วงที่หลังจากเพื่อนเราโดนยิง เรากลัวมาก เราทะเลาะกับครอบครัว แต่เราก็คิดว่าอยากเป็นผู้เสียสละ เราดูมาร์เวล เราซื้อชุดคอสเพลย์สไปเดอร์แมนเตรียมจะใส่ไปในการชุมนุม แต่ว่าก็ถูกจับเสียก่อน”

ถัดมาถิรนัยก็ถูกจับกุมในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ในการชุมนุมที่จัดโดยณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ตนยืนยันว่าไม่ชอบความรุนแรง ในระหว่างเส้นทางไปทำเนียบรัฐบาล เขาพยายามนำทีมเพื่อจะเข้าไปให้ถึงทำเนียบรัฐบาล ตำรวจค้นตัวและพบ “ลูกบอล” และ “ระเบิดปิงปอง” ทำให้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

เมื่อเพื่อนทราบว่าตนถูกจับกุม ตำรวจจึงพาตัวไปยังสโมสรตำรวจ ซึ่งตอนย้ายตัวไป เจ้าหน้าที่ไม่บอกว่าจะพาไปไหน ภายหลังศาลตัดสินว่ามีระเบิดไว้ในครอบครอง ตนสู้มาตลอด สู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อ เพราะเชื่อว่าคดีของตนจะยกฟ้องแน่นอน ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 แต่สุดท้ายก็ติดคุกเพิ่มอีกสามอาทิตย์

“ผมเป็นสองคนแรกที่เข้าเรือนจำไปในช่วงปี 2566 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่นักโทษการเมืองหลายคนได้รับการประกันตัว ผมนอนตื่นขึ้นมาในเรือนจำ ตื่นมาเห็นลูกกรง ผมพูดขึ้นมาว่าผมฝันไปรึเปล่า จนคู่คดีของผมตบหัวและพูดว่า นี่คือโลกความเป็นจริง สภาพในเรือนจำแย่มาก ผมอาบน้ำกับน้ำที่สกปรก ผิวผมแพ้ง่าย จนหลังผมเป็นผื่น”

เมื่อถามว่าครอบครัวรู้สึกยังไงบ้าง ถิรนัยเล่าว่า ตนอยู่กับย่ามาตั้งแต่เด็ก เมื่อถูกจับเข้าเรือนจำ ย่าก็ร้องไห้ตั้งแต่วันที่ผมเข้าเรือนจำไปจนถึงวันที่ตนได้รับการปล่อยตัว ครอบครัวตนหมดห่วงไม่ได้ เมื่อยิ่งมีกระแสที่ตนขัดแย้งกับคนในเรือนจำยิ่งทำให้พวกเขาเป็นห่วง

ถิรนัย ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัว ถิรนัยยืนยันกับเพื่อนที่อยู่ในเรือนจำว่าตนจะไปร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายนิรโทษกรรม ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำตนนั่งพับนกเสรีภาพวันละตัวจนครบหนึ่งพันตัว บางทีโดนยึดเอาไปทิ้งบ้าง

“การเขียนจดหมายมาหานักโทษในเรือนจำเปรียบเหมือนดวงใจของคนที่อยู่ในเรือนจำ เรามักจะรอตลอดว่าแฟนเราจะเขียนมาหรือไม่ ครอบครัวจะเขียนมาหรือไม่ เพื่อนจะเขียนหรือไม่ เราพร้อมอ่าน เราพร้อมเขียนโต้กลับ” ถิรนัยเล่าในฐานะคนที่เคยอยู่ในเรือนจำ

เมื่อถามว่าอนาคตจะเป็นยังไงต่อไป ถิรนัยบอกว่า พื้นฐานคงอยากให้ประเทศนี้ดีกว่านี้ ไม่มีการทุจริต ตอนนี้ก็พยายามเรียนหนังสืออาจจะเป็นคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ความหวังตอนนี้ของคนที่อยู่ข้างในคือการนิรโทษกรรม ถิรนัยบอกว่า ยังเชื่อมั่นว่าจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคตอยู่

“ผมอยากอ้อนวอนไปถึงพรรคเพื่อไทย ปล่อยเด็กเถอะครับ ให้เด็กกลับมาบ้านเถอะครับ เยาวชนทั้งนั้น มันใจร้ายเกินไป ในตอนนั้นคุณกับเราก็เดินเส้นเดียวกัน สู้ด้วยกัน” ถิรนัยกล่าวทิ้งท้าย

( https://www.ilaw.or.th/articles/47118?swcfpc=1)
(https://www.facebook.com/photo?fbid=957487703091516&set=a.625664036273886)