Chava Lin is at Macquarie University.
Yeterday Sydney, NSW, Australia ·
Note 1: #behindthescenes งาน Documentary Screening and Roundtable on Human Trafficking in Southeast Asia ที่มีพล.ต.ต. #ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เป็นผู้บรรยายพิเศษเรื่องคดี #ค้ามนุษย์ ในประเทศไทย
.
.
มิตรสหายหลายคนสงสัยว่าอาทิตย์ที่แล้วไปทำอะไรมาถึงได้ทำสถิติเขียนงานได้บ้าคลั่งถึง 8 แสนคำ (เพื่อนคนนึงบอกว่าเทียบเท่ากับวิทยานิพนธ์ 8 เล่ม OMG!) ความ productivity นี้การันตีโดย Grammarly แอปตรวจภาษาที่ดูแลให้ความใส่ใจลูกค้า(ที่ไม่ได้จ่ายตังค์)อย่างอบอุ่น
.
.
เรื่องก็เรื่องก็คือนอกจากต้องตอบอีเมลนักศึกษาหน้าใหม่ในวีคแรกของการเปิดเทอมแล้ว เรายังรับหน้าที่จัดงานใหญ่ที่เชิญคุณปวีณมาเป็นวิทยากรพิเศษที่มหาลัยพร้อมกับนักวิชาการต่างประเทศอีกหลายคน การริเริ่มงานสเกลใหญ่ขนาดนี้เกิดขึ้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว จะว่าไปก็เกิดจากใจล้วนๆที่อยากให้เรื่องคดีค้ามนุษย์ที่คุณปวีณทำค้างไว้ตั้งแต่อยู่ไทยออกไปสู่สายตาชาวโลกโดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการและสื่อต่างประเทศ แถมงานนี้ทั้งทุนและแรงงานก็มีจำกัด สุดท้ายก็แทบจะต้องทำเองทุกสิ่งอย่างตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ
.
.
ขอข้ามขั้นตอนการติดต่อในช่วงแรกไปก่อนเพราะเรื่องมันซับซ้อนพอสมควร ตัดภาพมาที่การจัดงานเลย เริ่มจากการติดต่อสำนักข่าวอัลจาซีราเพื่อขอนำเอาสารคดีมาฉาย สำนักข่าวอัลจาซีร่าก็ดีใจหาย ให้การสนับสนุนเราอย่างดี รีบส่งไฟล์ HD มาให้และยังช่วยโปรโมตงานให้เราด้วย
.
.
จากนั้นก็เริ่มหาผู้ร่วมสัมมนาที่เหมาะสมกับธีมของงาน เป็นโชคดีของเราที่ได้รับการตอบรับจาก Prof Catherine Renshaw รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาลัย Western Sydney University และ Mr Mohammad Rauf ผู้อำนวยการสมาพันธ์ Arakan Rohingya Development (ARDA-Australia) สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้จากการหาผู้ร่วมสัมมนาในครั้งนี้ก็คือหาตัวคนโรฮิงญาในซิดนีย์ได้ยากมากกกก กว่าจะเจอต้องติดต่อผ่านคนมากมาย แนะนำกันมาเป็นทอดๆ คนโรฮิงญาส่วนใหญ่มักจะอยู่กันเงียบๆและไม่กล้าจะเป็นจุดสนใจในสื่อ เหตุผลหนึ่งก็คือเป็นห่วงความปลอดภัยของญาติพี่น้องที่ยังอยู่ในพม่า
.
.
นอกจากนั้นก็ยังได้ Prof Peter Greste นักข่าวระดับรางวัลของออสเตรเลียมาเป็นคนพูดเปิดงานให้ด้วย ปีเตอร์เป็นนักข่าวที่เคยทำงานมาหลายแห่ง เรื่องที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกก็คือตอนที่ถูกรัฐบาลอียิปต์จับขังคุกในข้อหา “เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ” (ฟังดูคุ้นๆเนอะ) ใครอยากฟังสปีชเปิดงานของปีเตอร์ เข้าไปดูได้ที่นี่เลย ความยาวไม่ถึงห้านาทีแต่มีพลังมากๆ
https://drive.google.com/.../1vHUbA9FNU0zFb9O4fW.../view...
.
.
พอได้สปีคเกอร์แล้ว ได้กำหนดการจัดงานแล้ว ก็รีบตั้งระบบเปิดลงทะเบียนใน Eventbrite เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฏา ห้องที่เราจองไว้จัดงานฉายสารคดีมี 180 ที่นั่ง เปิดมาแค่ไม่กี่ชม.มีคนมากดจองตั๋วไปเฉียดร้อย ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่ได้ข่าวจากเพจที่น้องๆช่วยกันโพสต์ในเฟสบุ๊ค ผู้จัดอย่างเราก็เลยตาลีตาเหลือกรีบกันตั๋วไว้อีก 60 ใบเผื่อให้คนต่างชาติเข้ามาดูมั่ง สุดท้ายจัดไปจัดมาก็มีคนไทยประมาณร้อยคนที่เหลือเป็นคนต่างชาติทั้งนักวิชาการ นักศึกษา สื่อมวลชน NGOs และสมาคมชุมชนต่างๆ รวมทั้งชุมชนชาวโรฮิงญาด้วย นับได้ว่ามีความหลากหลายเป็นที่น่าพอใจ
.
อ่านโพสต์ “ความในใจจากหญิงชาวโรฮิงญา”ได้ที่เพจ ลักพาตัวแฟนมาเป็น Aussie
https://www.facebook.com/100063486940809/posts/483746077084953/
.
.
เราเริ่มเตรียมงานตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม รวมๆแล้วก็สองเดือนก่อนวันงาน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะเป็นงานใหญ่ขนาดนี้ แต่พอเวลาผ่านไปคนจองตั๋วเยอะขึ้นเรื่อยๆ แถมยังมีสื่อต่างประเทศอีกหลายแห่งติดต่อมาขอข้อมูลบ้าง ขอสัมภาษณ์คุณปวีณบ้าง บางสื่อก็ขอเข้ามาถ่ายทำในงานเลย (แต่สุดท้ายเสียดายมากที่มหาลัยไม่ยอม) เราเองก็พยายามโปรโมทงานทุกช่องทางโดยเฉพาะในชุมชนออสเตรเลียที่อาจจะไม่รู้เรื่องเมืองไทยมากนัก จุดประสงค์หลักก็คือผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็น international agenda ให้สมดังความตั้งใจของคุณปวีณ
.
.
เรื่องใหญ่ที่มหาลัยให้ความสำคัญมากคือ การรักษาความปลอดภัยให้กับคุณปวีณในช่วงระหว่างที่มาร่วมงาน ทั้งคุณปวีณและผู้ร่วมงานทุกคน (รวมทั้งผู้จัดด้วย) ถึงกับตกใจที่เจอทีม security ถึง 7 คน มีคนตามประกบคุณปวีณทุกฝีเก้าไม่ยอมให้คลาดสายตา แถมยังมีตำรวจในเครื่องแบบมาอีกสองคน หัวหน้าใหญ่ฝ่าย Security ถึงกับมาคุมงานด้วยตัวเองตั้งแต่บ่ายๆก่อนงานเริ่มจนถึงเวลาที่ส่งคณะทำงานกลับบ้านไปตอนสี่ทุ่มกว่า มีการจัดระบบการพาวิทยากรเข้ามาในงานและออกนอกงานหลังจากงานจบอย่างมืออาชีพ จนเรานึกว่าอยู่ในหนังตำรวจสืบสวนสอบสวน คุณปวีณเองก็ประทับใจมาก แต่ก็ออกตัวแบบเขินๆว่าปกติเคยแต่ทำงานเป็นคนดูแลอารักขาคนอื่น ไม่เคยอยู่ในสถานะแขกวีไอพีขนาดนี้มาก่อน
.
.
จริงๆมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่อยากเขียนถึง ทั้งเรื่องความประทับใจที่มีต่อคุณปวีณ ทั้งการเขียนขอบคุณพี่น้องและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนที่มาช่วยทำให้งานผ่านไปได้อย่างราบรื่น แต่วันนี้โควตาพิมพ์งานเกินแปดแสนคำแล้ว ขอเก็บไว้เล่าต่อวันหลังดีกว่า
.
.
สื่อไหนที่รอคลิปวิดีโออยู่ ขอให้อดใจรออีกนิด เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการตัดต่อและขออนุญาตเผยแพร่กับทางมหาลัย ถ้าสามารถนำมาเผยแพร่ได้เมื่อไหร่จะรีบแจ้งให้ทราบทันที
.....
Chava Lin
6h
Note 2: #behindthescenes งาน Documentary Screening and Roundtable on Human Trafficking in Southeast Asia ที่มีพล.ต.ต. #ปวีณ พงศ์สิรินทร์ เป็นผู้บรรยายพิเศษ
อีกเรื่องที่อยากจะเล่าก็คือตัวตนของคุณปวีณที่เราได้รู้จักผ่านการจัดงานครั้งนี้
.
.
หลายคนที่เห็นภาพจากสื่ออาจจะนึกภาพว่าคุณปวีณเป็นคนดุดันเอาจริงเอาจัง เห็นภาพความเป็นฮีโร่แบบเพอร์เฟคไร้ที่ติแบบในหนัง แต่ที่จริงแล้วทุกคนที่มีโอกาสได้เจอกับคุณปวีณคงจะเห็นพ้องต้องกันว่าคุณปวีณเป็นคนถ่อมตัวมากถึงมากที่สุด ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทำเรื่องที่พิเศษกว่าคนอื่นแต่อย่างใด แถมยังใจเย็นและให้ความเป็นกันเองกับทุกคน โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเคยมีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงนายพลตำรวจมาก่อน คุยๆแล้วได้ฟีลเหมือนคุยกับคุณลุงใจดีข้างบ้านยังไงยังงั้น
.
.
เมื่อเจ็ดปีก่อนตอนที่เห็นข่าวคุณปวีณลี้ภัยมาที่ออสเตรเลีย ขอสารภาพว่าไม่คิดว่าคุณปวีณจะต้องการความช่วยเหลืออะไรจากคนธรรมดาๆอย่างพวกเรา อย่างที่คนไทยเรารู้กัน ตำรวจระดับนายพลก็ย่อมต้องมี connection ระดับไฮโซและมีเงินเก็บจำนวนมากมายมหาศาลจากไทย แต่ที่ไหนได้คุณปวีณมาถึงออสเตรเลียตัวเปล่าๆ ไม่มีเงินเก็บระดับร้อยล้านพันล้านเหมือนพวกตำรวจไฮโซขับซุปเปอร์คาร์แบบที่เราเคยได้ยินมา รายได้ที่ผ่านมาก็มีแค่เงินเดือนจากการรับราชการเท่านั้น คุณปวีณยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่าในชีวิตการทำงานเป็นตำรวจไม่เคยรับเงินเข้ากระเป๋าตัวเองแม้แต่สตางค์แดงเดียว
.
.
ยิ่งได้คุยกับคุณปวีณบ่อยๆก็ยิ่งทึ่งกับความกล้าหาญในการถือความสัตย์รักษาความจริงเป็นที่ตั้ง ถูกผิดว่าไปตามเนื้อผ้า อะไรที่รู้ก็บอกรู้ อะไรที่ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ และในความตรงไปตรงมานั้นก็แสดงออกผ่านความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ ไม่ได้ใช้อำนาจบาตรใหญ่มาข่มให้คนกลัวแม้แต่กับลูกน้องของตัวเอง คุณปวีณบอกว่า ในช่วงที่รับราชการนั้น อึดอัดใจมากกับสำนวนที่สอนกันในโรงเรียนนายร้อยว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เพราะคนที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องยอมปกปิดความจริงยอมละทิ้งคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือเพียงเพื่อปกป้องคนในกลุ่ม คุณปวีณเองก็เลยพยายามใช้ชีวิตอย่างสันโดษ ไม่ไปสุงสิงสนิทสนมกับใครให้มากความเพราะไม่อยากมีพันธะผูกพันในเรื่องแบบนี้
.
.
อีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมากก็คือ คุณปวีณเป็นตำรวจที่ไม่เคยใช้ปืนยิงผู้ร้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียวแม้ว่าจะจับผู้ร้ายคดีอุกฉกรรจ์เจ้าพ่อและโจรห้าร้อยมามากมายจนนับไม่ถ้วนได้รับรางวัลมามากมายตลอดชีวิตราชการ คุณปวีณบอกว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมให้ลูกน้องใช้ปีนยิงประชาชนอย่างเด็ดขาด หลายต่อหลายครั้งที่ทั้งคุณปวีณและตำรวจในทีมที่มีอาวุธครบมือต้องยอมโดนประชาชนรุมซ้อมเพราะความเข้าใจผิด
.
.
เวลามีคนถามว่าคุณปวีณเจอคดียากๆเจอการฆาตกรรมโหดๆเจอศพที่ตายอย่างไม่ปกติเจอคนจ้องทำร้ายเพราะทำงานขัดผลประโยชน์แบบนี้ไม่รู้สึกกลัวบ้างเลยเหรอ คุณปวีณมักจะยิ้มแล้วตอบเสียงดังฟังชัดว่า “กลัวสิครับ ทำไมจะไม่กลัว แต่ผมก็ต้องทำตามหน้าที่ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ทำให้หนักใจเท่ากับการเมืองในวงการตำรวจ” คุณปวีณบอกว่าตั้งแต่เริ่มรับราชการมาก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้มีอำนาจ ที่อยากมีอำนาจก็เพราะจะได้ใช้อำนาจนั้นในการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญๆ รวมถึงใช้อำนาจในการบริหารระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพตามแบบที่ตัวเองฝันไว้ วันที่ได้ขึ้นเป็นพลตำรวจตรี เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เป็นวันที่คุณปวีณรู้สึกเป็นอิสระจากการควบคุมของอำนาจทั้งปวง เป็นวันที่บอกกับตัวเองว่าพอแล้วแค่นี้กับการตำแหน่งในวงราชการ และจะขอเอาเวลาและพลังงานที่เหลือไปอุทิศให้กับการทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเอาใจใครหรือกลัวว่าผู้ใหญ่เบื้องบนจะเกลียดขี้หน้าอีก
.
.
ถ้าถามว่าสิ่งที่เรียนรู้จากการได้รู้จักคุณปวีณคืออะไร คำแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคือคำว่า #ความกล้าหาญ เราพูดกันมาหลายต่อหลายครั้งว่าในประเทศไทยมีคนเก่งๆมากมาย แต่หาคนที่กล้าหาญพร้อมจะลุกขึ้นพูดหรือโต้แย้งเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ยากยิ่งเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร
.
.
การจัดงานฉายสารคดีพร้อมการเสวนาให้คุณปวีณครั้งนี้ก็เหมือนกัน มีมิตรสหายหลายคนเป็นห่วงว่าจะไม่ปลอดภัยทั้งผู้จัดและบุคคลที่เราเชิญมา บอกเลยว่าเราเองก็ไม่ใช่คนกล้ามาแต่ไหนแต่ไร จะทำอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ห่วงโน่นกังวลนี่ไปสารพัด แม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆอย่างการแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คทีก็ยังต้องเกรงใจคนโน้นคนนี้ จะเปิดพับลิกแสดงความเห็นก็กลัวมีคนมาวิจารณ์กลัวมีไอโอมารังควานหรือกลัวว่าจะโดนรัฐบาลเอาสปายแวร์เพกาซัสมาดักจับข้อมูล
.
.
แต่วันนี้เราว่าจะเลิกกลัวเรื่องพวกนี้แล้ว วิธีการคิดวิธีการดำเนินชีวิตของคุณปวีณที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาผ่านมา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ในชีวิตว่าบางครั้งคนเราก็กลัวมากจนเกินไป กลัวจนความกล้ามันหายไปหมดเพราะความชินชากับการใช้ความกลัวในการดำรงชีวิต คุณปวีณเคยเปรยให้ฟังว่า ถ้าเรายังไม่กล้า ก็อย่าไปตำหนิคนที่เค้ากล้ากว่าเรา แน่นอนว่าแต่ละคนมีเพดานของความเป็นไปได้ไม่เท่ากัน แต่ในเพดานของพวกเราแต่ละคนนั้นก็ควรจะเพิ่มที่ยืนให้กับความกล้ามากขึ้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องบางเรื่องเพราะมันไม่ถูกต้อง กล้าที่จะท้วงติงและบอกว่าเราคิดไม่ตรงกัน กล้าที่จะสืบสาวหาความจริงในเรื่องที่ผู้มีอำนาจพยายามปกปิด เพราะความกล้าเหล่านี้นี่เองที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเกิดความกลัว และเมื่อมีคนยืนขึ้นมาด้วยความกล้ามากขึ้นเรื่อยๆ ความกล้าก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานในสังคมที่จะกลับมาปกป้องพวกเราทุกคนจากการตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมทั้งหลาย เหมือนที่เราได้เห็นในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่แข็งแรงอย่างออสเตรเลีย