วันอาทิตย์, สิงหาคม 07, 2565

จุลนายโง่มาก แพ้คาบ้าน 😂 คำถามแบบนี้ ในยุคนี้ น่าจะเกิดจากฝ่ายที่ต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์มากกว่า

21h

[รอแยลลิสต์ที่ฉลาดหลักแหลมจะไม่ตั้งคำถามสำรวจความเห็นแบบนี้]

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม จุลเจิม ยุคล ได้โพสในเพจของตนเอง มีภาพประกอบ 3 ภาพ ตั้งคำถามว่า

Democracy หรือ Monarchy
Monarchy !!! ประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ
Democracy !!! ประชาธิปไตยที่สามัญชนเป็นประมุขของประเทศ

พร้อมกับตั้งคำถามว่า “ประชาชนเลือกเอาเอง อย่างที่ 1 หรือ 2 ในฐานะเจ้าของประเทศครับ”

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นคำถามเรื่องรูปแบบรัฐ รูปแบบประมุขของรัฐ เป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ ดังที่เราเห็นในสหราชอาณาจักร และในหลายประเทศในยุโรปที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

รัฐธรรมนูญบางประเทศไปไกลยิ่งกว่าการทำโพล มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดออกเสียงประชามติในการเปลี่ยนรูปของรัฐแบบราชอาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ไปเป็นสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขได้ เช่น สเปน และลิคเตนสไตน์

แต่การออกเสียงประชามติในประเด็นดังกล่าว จำต้องผ่านด่านหลายขั้นตอน และใช้เสียงค่อนข้างมาก

หากราชอาณาจักรไทย เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การตั้งคำถามสำรวจความเห็นประชาชนในเรื่องรูปแบบประมุขของรัฐ ย่อมทำได้อย่างเสรี บุคคลหรือคณะบุคคลผู้สำรวจความเห็นย่อมไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 มาตรา 113 มาตรา 116 หรือกฎหมายอื่นใด

เช่นเดียวกัน ประชาชนผู้แสดงความเห็น ย่อมใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายสามารถรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงข้อดี/ข้อเสีย โน้มน้าวให้สนับสนุนฝ่ายตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวต่อการข่มขู่คุกคาม การกดดัน หรือคดีความใดๆ

แต่สภาพสังคมไทย ณ เวลานี้ ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ฝ่ายที่ต้องการเลือกแบบหนึ่ง ไม่สามารถรณรงค์ได้
แต่อีกฝ่ายที่ต้องการเลือกอีกแบบ สามารถทำได้อย่างเต็มที่

อย่าว่าแต่ไปถึงการณรงค์ในคำถามเรื่องรูปแบบประมุขของรัฐเลย เพียงแค่เยาวชนตั้งคำถามเรื่องขบวนเสด็จ เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ หรือมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบ้นกษัตริย์ ยังถูกดำเนินดคีตาม ป อาญา มาตรา 112 และถูกจับกุมคุมข้งหลายเดือนทั้งๆที่ยังไม่มีคำพิพากษา

แม้เสรีภาพในการเลือกและรณรงค์ของสองฝ่ายจะไม่เท่าเทียมกัน แต่ถึงกระนั้น ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวประชาไท พบว่าผลการสำรวจในเพจของจุลเจิมนั้น มีคนกดไลค์สนับสนุน Democracy มากกว่า Monarchy อยู่ดี

เมื่อผลสำรวจออกมาเช่นนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถีงความเขลาในการตั้งคำถามสำรวจความเห็น

หากต้องการปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ในยุคสมัยใหม่เช่นปัจจุบัน ต้องไม่ตั้งคำถามแบบนี้
คำถามแบบนี้ ในยุคสมัยใหม่เช่นนี้ มักเกิดจากฝ่ายที่ต้องการยกเลิกสถาบันกษัตริย์มากกว่า

หากรอแยลลิสต์ที่เฉลียวฉลาดแบบพระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมขุนชัยนาทนเรนทร หรือมาถึงคึกฤทธิ์ ปราโมช มาเห็นโพสสำรวจความเห็นแบบนี้เข้า คงต้องบริภาษคนตั้งคำถามว่า “ทะลึ่ง” หรือ “ไม่รู้กาลเทศะ”

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่า ในโลกปัจจุบัน Monarchy ที่ยืนยันให้คนเพียงคนเดียวที่สืบทอดทางสายโลหิตได้ครองอำนาจสูงสุดนั้น ไปกันไม่ได้กับยุคสมัย

ในยุคสมัยใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 ไม่มีคนใด ตระกูลใด มีสิทธิธรรมในการปกครอง ใช้อำนาจสาธารณะ ใช้งบประมาณแผ่นดิน โดยอ้างความชอบธรรมจากสายโลหิต ต้นตระกูล หรือการเป็นลูก หลาน พี่ น้อง ของใครได้

ในยุคสมัยใหม่ ยุคศตวรรษที่ 21 เสรีภาพ เสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นแก่นสาระสำคัญที่มนุษย์ยึดถือร่วมกัน สถาบันที่ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายจะดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องยึดถือคุณค่าเหล่านี้

ในขณะที่สถาบันกษัตริย์มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ผูกโยงกับเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ การสืบทอดตำแหน่งกันทางสายโลหิต ความไม่เสมอภาคเท่าเทียม ดังนั้นการยอมให้ครอบครัวหนึ่งมีอำนาจ มีงบประมาณ นำภาษีที่มาจากประชาชนส่งมอบให้ครอบครัวนี้ได้ใช้ ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้วในยุคปัจจุบัน

พูดง่ายๆก็คือ ลักษณาการของสถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับคุณค่าแบบสมัยใหม่ โดยธรรมชาติ โดยตัวมันเอง

อย่างไรก็ตาม สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศยังอยู่รอดปลอดภัยในยุคสมัยนี้ได้ เพราะ ผันตัวให้เข้ากับประชาธิปไตยและคุณค่าสมัยใหม่ผ่านระบอบการปกครองที่ให้ชื่อว่า Constitutional Monarchy

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่คนจำนวนมาก คนรุ่นใหม่ ถัดๆไปอีกหลายรุ่น มีความคิดเห็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า เกิดกระแสเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสถาบันกษัตริย์กำลังเผชิญกับความท้าทายแห่งยุคสมัยเช่นนี้ มีแต่รอแยลลิสต์ที่ขลาดเขลาเท่านั้นที่จะตั้งคำถามบังคับให้คนเลือกรูปแบบประมุขของรัฐ จนไม่อาจควบคุมผลสำรวจได้ดังใจต้องการ

หากเป็นรอแยลลิสต์ที่ฉลาดหลักแหลมและต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดปลอดภัยในยุคนี้แล้วล่ะก็ พวกเขาจะยอมรับความเป็นจริง เพื่อนำมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง บรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย จารีตประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และคุณค่าแบบสมัยใหม่… ทั้งหมดก็เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์

การปล่อยให้รอแยลลิสต์ที่ขลาดเขลาแสดงออกบ่อยๆอย่างเอะอะมะเทิ่ง อย่างไม่เท่าทันสถานการณ์ โดยไม่มีใครตักเตือน แทนที่จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทำไปทำมา ผลที่ได้จะกลับตาลปัตรเอา

ประวัติศาสตร์สอนเอาไว้ว่า สถาบันกษัตริย์จะอยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคสมัยนี้ ไม่มีทางเกิดจากพวกอุลตร้ารอแยลลิสต์/ไฮเปอร์รอแยลลิสต์