เรื่องประยุทธ์เป็นนายกฯ ครบ ๘ ปีเมื่อไร ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเสียแล้ว ถ้าดูจากความเห็น นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ว่าท้ายสุดศาลอาจจะบอก “คดีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยอีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”
การโหมรณรงค์ให้ประยุทธ์ยอมรับผลแห่งข้อกฎหมาย ที่ตนและพวกเนรมิตขึ้นมาหลังจากยึดอำนาจ เท่ากับไม่ได้ทำให้ประยุทธ์สะทกสะท้าน หรือเป็นผลอันใด ไม่ว่าจากการที่ฝ่ายค้านไปยื่นคำร้องต่อประธานสภาเมื่อสามวันก่อน ขอให้ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หรือในการรณรงค์โดยเครือข่ายนักวิชาการ ชวนประชาชนโหวตอีกเป็นครั้งที่สอง ว่า “ประยุทธ์ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน ๘ ปีหรือไม่” โดยสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วโหวตทางอีเล็คโทรนิค ระหว่าง ๖ โมงเช้าเสาร์ที่ ๒๐ สิงหาถึงเที่ยงคืน อาทิตย์ที่ ๒๑
เนื่องจากกว่าศาลจะได้วินิจฉัย ต้องใช้เวลา “อย่างน้อยๆ ๓-๔ เดือน ก็คงปลายปี ๒๕๖๕ จึงจะตัดสิน หรืออาจจะนานกว่านั้น” แล้วก่อนศาลตัดสินสัก ๒-๓ วัน ประยุทธ์อาจชิงลาออกหรือยุบสภาเสียก่อน “ถ้าเป็นอย่างนั้น ศาลก็คงขมวดไว้ในบรรทัดสุดท้าย
ว่า ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี” หลังวันครบกำหนดที่ ๒๓ สิงหา จนกระทั่งถึงวันที่เขา “ชิงลาออกหรือยุบสภา” ไป “ความเป็นนายกรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลง” ไปก่อนแล้ว เท่ากับไม่เคยมีคดีอยู่ในสารบบ อันเป็นผลต่อไปว่า
“ประยุทธ์ก็จะเป็นแคนดิเดต หรือถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองได้อีก เพราะศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยเรื่องวาระของท่านว่าครบหรือยัง พรรคการเมืองก็สามารถนำชื่อท่านไปแห่แหนเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก”
เช่นนี้ก็ชัดแจ้งยิ่งขึ้นอีกว่าตลอด ๘ ปีที่ผ่านมา ระเบียบกฎหมายและระบบยุติธรรมเสื่อมทรามอย่างถึงที่สุด ในเมื่อการใช้กฎหมายเพื่อครองอำนาจเผด็จการ (หรือกึ่ง) ยาวนาน กระทำกันอย่างไร้ยางอาย ไม่ต้องมีจิตสำนึกความชอบธรรมใดๆ
ดูจากการให้ความเห็นต่อเรื่องอายุความนายกฯ โดย อุดม รัฐอมฤต กับ ชูชาติ ศรีแสง ว่าควรนับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนา ๖๒ เริ่มดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ อ้างข้างๆ คูๆ ว่าการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้นไม่เข้าข่ายมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง
ที่ว่า “นายกฯ ต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙” นั้นไม่รวมถึงเมื่อตอนมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะยึดอำนาจ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ๒๕๕๗ นายอุดมคนนี้ อดีตเคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ ๖๐ นี่
และได้ยื่นใบสมัครเป็นคนแรก ต่อคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง Atukkit Sawangsuk ชี้ว่าเป็น “ความทับซ้อนที่น่าเกลียด...เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองไม่สมควรมาเป็นเอง นี่เป็นเรื่องจริยธรรม ความเหมาะสม”
(https://www.bbc.com/thai/articles/c03zk31 และ https://www.facebook.com/nipit.in/posts/pfbid029Hdg)