วันพุธ, สิงหาคม 17, 2565

#เส้นทางคดีบิลลี่ #การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะครอบครัว


Angkhana Neelapaijit 
17h

16.8.22: #เส้นทางคดีบิลลี่: #การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะครอบครัว
กรณีมีการเผยแพร่หนังสือ นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ส่งถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ใน 4 ข้อหา ตามที่ปรากฏในข่าว โดยเฉพาะการ “#ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และ ทุจริตหรืออำพรางคดี ” ส่วนข้อหาที่อัยการ “#สั่งไม่ฟ้อง” นายชัยวัฒน์และพวก คือ ไม่ฟ้องใน #ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากมองว่า ในขณะที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐแต่กระทำในฐานะส่วนตัว
.
ส่วนตัวในฐานะที่ติดตามคดีอย่างใกล้ชิด มีข้อสังเกตและความคิดเห็นดังนี้
1. หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และต่อมาแถลงว่าเป็นกระดูกของ “บิลลี่” (3 กันยายน 62) ได้มีการสรุปว่า “บิลลี่เสียชีวิต” ทั้งนี้ต่อมารัฐบาลไทยได้ทำได้ทำหนังสือแจ้งยังคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance) ขอให้ถอนชื่อของ บิลลี่ ออกจากรายชื่อผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย โดยระบุว่า ครอบครัวได้ยอมรับว่า บิลลี่เสียชีวิตแล้ว ปัจจุบัน บิลลี่ จึงไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่เป็นผู้ถูกฆาตกรรม
2. ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ
2.1 การที่ #อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ใน #ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งที่นายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เคยยอมรับว่าเขาได้ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ด้วยข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย แต่อ้างว่าได้ปล่อยตัวไปแล้วในวันเดียวกัน (17 พฤษภคม 2557) และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบชิ้นส่วนของกระดูกที่ถูกเผาไหม้ และพิสูจน์ทราบว่าสารพันธุกรรมมีความสัมพันธ์กับทางมารดาของบิลลี่
2.2 คดีการหายตัวไปของบิลลี่ซึ่งต่อมากลายเป็นคดีฆาตกรรม ซึ่งมีฐานมูลเหตุมาจากเรื่องของสิทธิคนพื้นเมือง โดยเฉพาะสิทธิในทรัพยากร และสิทธิในที่ดินของบรรพชน (ancestral lands) รวมถึงการบังคับไล่รื้อที่พักอาศัยของคนพื้นเมือง (forced evictions) ตามที่คณะกรรมการตามอนุสัญญาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนาธรรม สหประชาชาติ (UN ESCR Committee) ได้มีข้อสรุปเชิงสังเกตพร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย (ข้อ 9 และข้อ 10) ในการรายงานสถานการณ์สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ที่นครเจนีวา เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 (https://documents-dds-ny.un.org/.../41/PDF/G1515041.pdf...) เรื่องนี้อัยการจะสามารถเชื่อมโยงประเด็นสาเหตุการอุ้มฆ่า เพื่อนำสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในเรื่องสิทธิในที่ดินของคนพื้นเมือง (กะเหรี่ยงแก่งกระจาน) หรือไม่ และอย่างไร
.
แนวทางการฟ้องคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีความเห็นไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงทำให้ #คดีบิลลี่ไม่ใช่การบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการรู้เห็นเป็นใจ หรือการสั่งการจากเจ้าหน้าที่รัฐตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ซึ่งจะทำให้คดีบิลลี่ไม่อยู่ในความคุ้มครองตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้สูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา และอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ ร่าง พรบ. นี้มีการกำหนดโทษสูงกว่าอาชญากรรมทั่วไป (มาตรา 40) รวมถึงการกำหนดให้มีการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ครอบครัว (มาตรา 20 (3))
.
ต้องติดตามว่าครอบครัว จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะความรับผิดชอบ (Accountability) ในการกระทำผิดของเจ้าพนักงานรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับการกระทำในฐานะปัจเจกบุคคลมีความหมาย /ความรับผิดชอบ และการรับผิดของรัฐที่แตกต่างกัน
.
ให้กำลังใจ #มือนอ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก หวังว่ามือนอ และลูก ๆ ทั้ง 5 ของบิลลี่จะผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ด้วยความกล้าหาญเหมือนที่เป็นมา และเชื่อมั่นว่าสุดท้ายความยุติธรรมจะกลับคืนมา
.......
ขอบคุณภาพถ่ายที่แก่งกระจานของคุณ นิว ศุภชัย