วันอังคาร, สิงหาคม 09, 2565

8 สิงหาคม 2022 รำลึก 34 ปี 8888 จี้เครื่องบิน กู่ก้องให้โลกรู้ การลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารพม่า


Subhatra Bhumiprabhas
Yesterday

รำลึก 34 ปี 8888
จี้เครื่องบิน กู่ก้องให้โลกรู้
พรุ่งนี้ 8 สิงหาคม 2022 เป็นวาระครบรอบ 34 ปีของเหตุการณ์ 8888 เหตุการณ์ที่เป็นบทเริ่มต้นการลุกฮือขึ้นต่อต้านเผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนพม่าในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่
ปี 1988 ณ เวลา 8 นาฬิกา 8 นาที ของเช้าวันที่ 8 เดือน 8 นักศึกษาพม่าเปิดฉากชุมนุมทั่วประเทศ ประชาชนหลั่งไหลออกมาท่วมท้นท้องถนน ส่งเสียงร้องตะโกน “ประชาธิปไตย ประชาธิปไตย” ทหารตบเท้าเดินเข้าสู่ท้องถนน กราดยิงผู้ชุมนุม บาดเจ็บล้มตาย เลือดนองแผ่นดิน
การต่อสู้ของนักศึกษาพม่าในวันนั้น ไม่มีโลกไซเบอร์ให้สื่อสารบอกเล่าชะตากรรม แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังกู่ก้องให้โลกรู้ได้ โพสต์นี้ ดิฉันขอย้อนเล่าถึงสองเหตุการณ์ที่นักศึกษาพม่าเมื่อ 34 ปีที่แล้ว กู่ก้องให้โลกรู้โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
คือเหตุการณ์จี้เครื่องบินปี 1989 และปี 1990
• เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 1989 เย ยินท์ และเย ติฮา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จี้เครื่องบิน Burma Airways เที่ยวบินภายในประเทศ พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 85 คน ให้บินมายังประเทศไทย นักบินพาเครื่องบินไปจอดที่สนามบินอู่ตะเภา โดยมีพลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ไปเจรจากับนักศึกษาพม่าทั้งสองคน
พวกเขามีข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลทหารพม่า รวมทั้ง “ให้ปล่อยพระสงฆ์ นักศึกษา และนักโทษการเมืองทั้งหมด; ให้ทหารถอนกลับเข้ากรมกอง; ยกเลิกคำสั่งเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม” ซึ่งพลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ เผยว่าทางรัฐบาลพม่าไม่รับข้อใดเลย
หลังจากใช้เวลาเจรจา 11 ชั่วโมง นักศึกษาทั้งสองขอพบสื่อมวลชนเพื่อแถลงถึงสถานการณ์ในประเทศของพวกเขา รัฐบาลเผด็จการทหารไล่ล่า ปราบปราม ประหัตประหารนักศึกษาและประชาชน
สารของเย ยินท์ และเย ติฮาปรากฏในสื่อทั่วโลกตามที่พวกเขาต้องการบอกให้ประชาคมโลกรู้
ทั้งสองยอมมอบตัวกับทางการไทยทันทีหลังประกาศข้อเรียกร้อง เย ยินท์ และ เย ติฮาถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี หลังติดคุกอยู่ 2 ปี เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 1992 และถูกส่งเข้าค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวของยูเอ็น
ปี 1996 เย ยินท์ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ Indiana University ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าโกรธถึงขั้นโจมตีมหาวิทยาลัยอินเดียน่าว่าเป็น "The Indiana University School for Terrorists"
• เหตุการณ์จี้เครื่องบินครั้งที่สอง เกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1990 ครั้งนี้โซ เมี่ยน นักศึกษาสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และติ่น จ่อ อู นักศึกษาสาขาฟิสิกข์ จี้เครื่องบินสายการบินไทยเส้นทางกรุงเทพ-ร่างกุ้ง พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 221 คน โดยบังคับให้นักบินนำเครื่องไปลงที่สนามบินกัลกัตตา พวกเขาใช้ระเบิดปลอม ประกาศว่าไม่มีเจตนาจะทำร้ายผู้ใด แต่ต้องการเรียกร้องให้โลกกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารให้ปล่อยนักโทษการเมืองในพม่า
นักศึกษาทั้งสองปล่อยผู้โดยสารชุดแรกออกมาพร้อมกับคำแถลงการณ์เรียกร้องของพวกเขา ซึ่งประทับรอยเลือดนิ้วหัวแม่มือของ 3 คน พวกเขาบอกว่าเพื่อนอีกคนไม่มาด้วย เพราะไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน
ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือ “ให้ปล่อยนางอ่องซาน ซูจีที่ถูกกักบริเวณอยู่ในร่างกุ้ง; ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด; ยุติการใช้กฎอัยการศึก และยกเลิกศาลทหารและคำพิพากษาลงโทษทั้งหมด รวมทั้งให้ปล่อยเย ยินท์ และ เย ติฮาที่ถูกจองจำอยู่ในคุกในประเทศไทย
โซ เมี่ยน และติ่น จ่อ อู บอกว่าพวกเขาต้องการประกาศให้ประชาคมโลกรู้ถึงสถานการณ์ในพม่า และสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของพวกเขา หลังประกาศเจตนารมณ์แล้ว ทั้งสองยอมมอบตัวกับทางการอินเดีย และถูกจำคุกอยู่สามเดือน เมื่อได้รับการปล่อยตัว พวกเขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัย และรัฐบาลอินเดียเปิดโอกาสให้เขาได้ศึกษาต่อ ต่อมา ติ่น จ่อ อูไปตั้งรกรากในไอร์แลนด์ ส่วนโซ เมี่ยน ก่อตั้ง Mizzima News

และเช่นเดียวกับเพื่อนนักศึกษาในปี 1988 โซ เมี่ยนยังคงต้องต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่ารุ่นปัจจุบัน แต่ครั้งนี้เขาไม่ต้องจี้เครื่องบิน เขาใช้ Mizzima News และโซเชียลมีเดียทุกช่องทางเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเผด็จการ ร่วมกับเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบัน https://mediainsideout.net/insideout/2022/03/328

โซ เมี่ยน ผู้ร่วมก่อตั้ง – กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร Mizzima Media GROUP

โซ เมี่ยน (ซ้าย) และ ติ่น จ่อ อู (ขวา)

โซ เมี่ยน ผู้ร่วมก่อตั้ง – กรรมการผู้จัดการ และบรรณาธิการบริหาร Mizzima Media GROUP
.....

Subhatra Bhumiprabhas
7h

“รัฐพิธีศพ”
บทกวีแด่โก่ จิมมี่ โดย โม ซอ อู
ถอดความภาษาไทยโดย ปโยธร เดชกล้า
จิมมี่ !
ปี 88 เจ้ารี่ทวนกระแส
จูบขอบคุกคุมขังตั้งตาแล
เป็นดาวดวงเด่นแท้หลังซี่กรง
ในหมู่เยาว์ถูกหยามความโง่เขลา
เจ้ารำพึงเบาเบาไม่ลืมหลง
ออกกำลังปรับตัวและเดินตรง
บัดนี้เจ้าปลิดปลงไปจากเรา
ไร้ถ้อยคำสำเนียงเสียงประกาศ
ไร้น้ำตาหยดหยาดละครเขลา
ในคืนมืดประวัติฆ่ามานานเนา
โลกสงัดเงียบเหงาตะแลงแกง
วันอันอำมหิตพาติดหวัด *
หวังกระจายพรายพลัดข้าเหี่ยวแห้ง
ลืมอดีตเกินจำนำมาแจง
คอกประหารหลังแท่งเหล็กลูกกรง
เจ้ายิ้มแย้มแกมเย้ยอยู่ในฝัน
คว้าเจ้าไว้ไม่ทันฝันลืมหลง
ตื่นมาไม่เห็นหน้าข้าพะวง
เกลียดตัวเองไม่คงคืนฝันไว้
คำแถลงห่วงเจ้าเศร้าที่สุด
พันฉบับหมื่นชุดทะลักไหล
หากเปลี่ยนเป็นอาวุธยุทธไกร
ปืนผาหน้าไม้ไซร้ไ่ม่ต้องซิ้อ
พิพิธภัณฑ์ปฏิวัติในวันหน้า
ถ้าแม้นข้าอยู่ได้ไม่สิ้นชื่อ
อยากเห็นภาพหน้าเจ้าดังเล่าลือ
เพื่อวันนั้นสองมือข้าถือปืน
แผ่นดินเราชาติเราเคยเนาอยู่
ทหารมาเป็นหมู่เผาทั้งผืน
สิ้นชาติสิ้นแผ่นดินไฟกินกลืน
ดังคนป่วยทนฝืนความปวดร้าว
เลิกยิงปืนขึ้นฟ้ามาสมทบ
ปฏิวัติเริ่มรบด้วยหาญห้าว
เลิกยิงปืนขึ้นฟ้ามาสมทบ
ปฏิวัติเริ่มรบด้วยหาญห้าว
ฤดูใบไม้ผลิดอกไม้พราว
ได้เลือดเจ้าอาบอุ่นทุนประเดิม
เกิดวันเดียวพร้อมนายพลอองซาน
ได้หลั่งเลือดแดงฉานเป็นทางเพิ่ม
กรกฎาคมนี้สีแดงเจิม
มรณสักขีเติมจนเต็มเดือน
ไม่มีอะไรที่ไม่กล้า
เสียงคำขาดก้องมาแล้วนะเพื่อน
จะขานตอบเช่นใดไม่แชเชือน
วานเจ้าตอบบอกเตือนให้ข้าตาม
จิมมี่ !
จงไปดีเถิดหนาอย่าเกรงขาม
พวกเราพร้อมเดินหน้าฝ่าสงคราม
สู่สนามรบต่อไม่ท้อใจ
เผชิญรักหรือชังอันปวดเจ็บ
เผชิญเยาะเย้ยเหน็บเกลียดปานไหน
เรายิ้มแย้มแกมเย้ยมิห่วงใย
เหมือนจารึกเจ้าไว้ในภาพจำ
คารวะเจ้าไปตลอดกาล
โม ซอ อู
(เขียนไว้ในคืนเดือนกรกฎาคม )
*ถ้อยคำเหล่านี้มาจากเพลงชื่อ “ในวันติดหวัด ” ที่ จิมมี่แต่งในคุก เขาแต่งเพลงในคุกไว้หลายเพลง หลังถูกปล่อยออกมา เขาร้องและออกอัลบั้มเพลงที่มีชื่ออัลบั้มว่า “ในวันติดหวัด ”
โก่ จิมมี่ หรือ จ่อ มิน ยู ถูกเผด็จการทหารพม่าประหารชีวิตด้วยการแขวนคอเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2022 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10227641787971430&id=1268428217
Photo courtesy Chayanit Itthipongmaetee/ Coconuts