วันพุธ, สิงหาคม 10, 2565

10 สิงหา 63 ประวัติศาสตร์-ภาพจำ-ความเงียบ ภาพไหนที่ถูกอธิบายว่าเป็น “การเอาฝ่ามือไปปิดแผ่นฟ้าและปิดจักรวาลไว้”..?

https://www.facebook.com/BBCnewsThai/videos/462057722460018
.....
10 สิงหา : 2 ปี หลัง “ทะลุเพดาน” รุ้ง-ณฐพร-เบญจา-พวงทอง มองการเมืองไทยจากนี้


หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
9 สิงหาคม 202

หากการชุมนุมเมื่อ 10 ส.ค. 2563 คือจุดเริ่มต้นในการเปิดฉากเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ การใช้เครื่องมือทางกฎหมายของรัฐไทยหลังจากนั้น ก็ทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะ "ความกลัว" และส่งผลให้บทสนทนาในหัวข้อดังกล่าวค่อย ๆ เงียบลง

2 ปีหลังการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ซึ่งถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่าปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" บีบีซีไทยชวน 4 คนในข่าว ประกอบด้วย ผู้นำนักศึกษาที่เป็น "ตัวแสดงหลัก" ในหน้าประวัติศาสตร์, นักกฎหมายที่ถูกตั้งสมญาว่า "นักร้อง", นักการเมืองผู้สร้างปรากฏการณ์ "ทะลุฝ้าสภา" และนักวิชาการผู้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขอรับบทเพียง "ตัวประกอบ" ร่วมทบทวนประวัติศาสตร์และสะท้อนมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย

รุ้ง ปนัสยา : "อย่าลืมว่าการต่อสู้มันยังไม่จบ"

ถ้าไม่นับกำไลสีดำซึ่งติดอยู่ที่ข้อเท้าซ้าย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ "รุ้ง" ก็ดูไม่ต่างจากหญิงสาวทั่วไปในวัย 24 เธอมีความสุขกับการนอนไถโทรศัพท์มือถือ อ่านหนังสือที่ชอบ และเป็น "ทาสแมว" ขี่รถสามล้อพาเจ้าเหมียวเที่ยวรอบหมู่บ้าน


รุ้งยืนยันว่า จะยังอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวต่อ แต่อาจปรับบทบาทหน้าที่ไม่ได้อยู่ด้านหน้าฉาก

กิจวัตรข้างต้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเธอไม่มีนัดหมายให้เข้าพบตำรวจ อัยการ หรือไปรายงานตัวต่อศาล หลังตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยรวม 38 คดี โดย 1 ใน 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่รุ้งได้รับจากการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อปี 2563-2564 ในนามกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" "คณะราษฎร" และ "ราษฎร"

"จำคุกอาจจะถึง 200 ปี ถ้าทุกคดีตัดสินว่าผิดหมด ผิดทุกกระทง อย่าง 112 มีอยู่ 11 คดี คูณ 15 เข้าไป (โทษสูงสุดคือจำคุก 15 ปี) ก็ 165 ปี เกินอายุขัยคนไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าจำคุกตลอดชีวิต" รุ้งทดลองคำนวณ

แม้ยังไม่จบปริญญาตรี แต่นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ชั้นปี 5 เชื่อว่าตัวเอง "เข้าใจชีวิตคนมากขึ้น" และ "สุขุมขึ้น" หลังต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำ 3 ครั้ง ได้พบปะผู้คนหลากหลาย แต่นั่นไม่ใช่สถานที่ที่ใครอยากไป

"รุ้งเป็นทุกครั้งเลย 1-2 สัปดาห์แรก (หลังออกจากเรือนจำ) เราก็จะฝัน ก็จะทำให้เราตื่นมาแล้วดิ่ง เราตกใจ ตื่นมานึกว่ากลับไปอีกแล้ว"

ไม่เพียงแต่อดีตผู้ถูกคุมขังที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ทุกชีวิตในบ้านสิทธิจิรวัฒนกุลก็ "ทุกข์ ทรมานมาก ไม่เป็นอันทำงาน" ทุกครั้งที่ลูกสาวคนสุดท้อง-น้องน้อยของพี่ ๆ ต้องเข้าคุก

"มันเป็นความเศร้า ความเครียดที่ไม่หายไป ถึงรุ้งจะออกมาแล้ว เพราะอีเอ็ม (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว) ก็ยังอยู่ที่ขา คดีก็ยังติดตัวอยู่ มีโอกาสที่รุ้งจะเข้าไปเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นบ้านเราต้องดีลกับเรื่องนี้เยอะพอสมควร ช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่เราพยายามประคับประคองกัน"


รุ้งต้องคำนวณเวลากลับบ้านให้ทันก่อน 5 ทุ่มตามเงื่อนไขศาล ไม่เช่นนั้นกำไลอีเอ็มจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ และมีคนโทรไปหาทนายความและแม่เพื่อตามหาตัวเธอ ซึ่งรุ้งไม่ต้องการให้พวกเขาเดือดร้อน

ปนัสยา ผู้ขึ้นอ่าน 10 ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์บนเวทีชุมนุม "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" เมื่อ 10 ส.ค. 2563 ยอมรับว่า การใช้เครื่องมือทางกฎหมายของรัฐยังได้ผล กลยุทธ์ "จับปล่อย ๆ" ทำให้ผู้คนบางส่วนในสังคมเกิดความชินชา หรือไปถึงขั้นเลิกสนใจในชะตากรรมของนักกิจกรรมการเมือง

"ความเคยชินและความเงียบ ทำให้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะปกติเราจะมีกำแพงเหล็กของเราอยู่เสมอก็คือประชาชน"

"ถึงแม้บรรยากาศตอนนี้มันจะดูโปร่งแค่ไหน ถึงเราจะได้อาจารย์ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) เป็นผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีของคน กทม. ทำให้บรรยากาศมีความหวังขึ้น โปร่งขึ้น แต่อย่าลืมว่าการต่อสู้มันยังไม่จบ... เราก็อยากพูดกับทุกคนว่าให้กำข้อเสนอและเป้าหมายของเราเอาไว้แน่น ๆ อย่าให้มันหลุดไปไหน อย่าเพิ่งมั่นใจว่าจะได้หากเรายังไม่เห็นมันจริง ๆ"

ทว่าด้วยเงื่อนไขของศาลในการปล่อยชั่วคราวที่แกนนำราษฎรรู้สึกว่า "ตีความยากมาก" ทำให้พวกเขาขยับตัวลำบาก และต้องระวังมากขึ้นก่อนจะพูดหรือเคลื่อนไหวอะไร

"เข้าไปแล้วออกยาก ไม่มีอะไรรับประกันเลยว่าจะได้ออก... ถ้าเราไม่หยุด เขาก็เอาเรากลับเข้าไปขัง เราก็ต้องเลือกเอาว่าอยากอยู่ข้างนอกเพื่อทำอะไรต่อไหม หรืออยากไปสู้ข้างใน ก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน" แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ รุ่น 1 ให้ความเห็น


ศาลกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวปนัสยาไว้ 5 ข้อ ในจำนวนนี้คือห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ และศาลในทุกด้าน และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

เบญจา : เราไม่สามารถ "เอาฝ่ามือมาปิดแผ่นฟ้า" ได้อีกต่อไป

หากบนท้องถนนมี รุ้ง ปนัสยา เป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" ในรัฐสภาก็มี เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนักการเมืองคนแรกที่พูดถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ จนถูกเปรียบเปรยว่าเป็นการอภิปราย "ทะลุฝ้าสภา"

ส.ส. หญิงอธิบายการทำหน้าที่ในสภาโดยตั้งต้นจากมุมมองที่เธอมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะ "องค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ" จึงคิดว่าสามารถพูดถึงได้อย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยความปรารถนาดี หาข้อถกเถียงและข้อสรุปร่วมกันได้

"ดิฉันคิดว่ามันจะทำให้เกิดความสง่างามกับสถาบันหรือองค์กรนั้น ๆ ได้มากกว่าการแอบวิพากษ์วิจารณ์ หรือติฉินนินทาในลักษณะที่ไม่เปิดเผย" เบญจากล่าว


ในระหว่างเบญจาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อ 22 ก.ค. ไล่เรียงการดำเนินคดี 112 แก่ผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งเป็น "นโยบายของผู้นำ" เพื่อน ส.ส. พรรคก้าวไกลได้พร้อมใจกันชูภาพของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ "บุ้ง" และ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ "ใบปอ" ผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในเวลานั้น เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว

ผู้แทนราษฎรสมัยแรกยืนยันว่า การอภิปรายงบเกี่ยวกับสถาบันฯ ไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นเรื่องปกติที่ ส.ส. จะตรวจสอบงบของทุกองค์กรที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน

ความจริงสิ่งที่ชาวอนาคตใหม่/ก้าวไกลเรียกว่า "งบมาตราเดียวที่ไม่ถูกพูดถึง" เคยถูกตั้งข้อสังเกตในระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2563 ทว่าคำถามต่าง ๆ เกิดขึ้นในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สุ้มเสียงอาจไม่ได้ดังนัก หากเทียบกับการลุกขึ้นอภิปรายกลางสภาของเบญจาเมื่อ มิ.ย. 2564 ว่าด้วย "โครงการที่มีนามสกุล" ที่มีความเสี่ยงจะกระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ และ "โครงการเฉลิมพระเกียรติ" ที่ส่วนราชการขอตั้งงบแบบ "เหวี่ยงแห" ในระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 เป็นผลให้แกนนำและแนวร่วมราษฎรพร้อมใจกันชื่นชมการทำหน้าที่ของเธอ

นอกจากนี้เบญจากับเพื่อนร่วมพรรคยังใช้ตำแหน่งหน้าที่ยื่นประกันตัวนักศึกษาและประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหา/จำเลยจากการเข้าร่วมชุมนุมการเมือง โดย ส.ส. 1 คนสามารถประกันตัวได้ 10 เท่าของเงินเดือน หรือคิดเป็นวงเงินราว 1 ล้านบาท นั่นทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมคลางแคลงใจในพลพรรคสีส้ม โดยเฉพาะการรับบทนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาคดี 112


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางไปให้กำลังใจมารดาของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ศาลอาญา เมื่อ 6 พ.ค. 2564 และร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแกนนำคณะราษฎร คดีชุมนุม 19 ก.ย. 2563

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เบญจาชี้แจงว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ากระทำผิด และกฎหมายก็ให้สิทธิ ส.ส. ใช้ตำแหน่งยื่นประกันใครก็ได้

"เวลาคนมองว่าทำไมเราต้องไปยื่นประกันตัวแต่คนที่ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือคดีล้มล้าง เราต้องยืนยันก่อนว่าพวกเขายังไม่ได้ต้องโทษคดีเหล่านั้น ยังไม่ได้ต้องโทษคดี 112 วันนี้ยังไม่ถูกตัดสินเลยว่าผิด เป็นแค่ผู้ถูกกล่าวหา... จริง ๆ ถ้ามีคนมาบอกให้เราไปประกันตัวผู้ชุมนุมในฝั่งเขา เราก็ยินดีนะ ไม่ได้ติดใจในประเด็นนี้เลย" ผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคก้าวไกลกล่าว

ในทัศนะของเบญจา รัฐสภาคือพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่ล่อแหลม หรือประเด็นที่เป็นความต้องการของประชาชน พร้อมระบุว่าส่วนตัวอาจไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับการเรียกขานการชุมนุม 10 ส.ค. 2563 ว่าปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน"

"ประเทศนี้หรือโลกใบนี้มันไม่ควรมีเพดานจำกัดในเรื่องนี้อีกแล้ว มันควรจะเปิดเป็นพื้นที่โล่ง เปิดเป็นท้องฟ้าโล่ง ๆ ให้ทุกคนได้มีอากาศหายใจร่วมกัน หากถามว่าวันนี้เพดานมันลดลงไหม หรือท้องฟ้าที่มันกว้างใหญ่ลดลงหรือเปล่า มันไม่ได้ลดลง เพราะเวลาเราพูดถึงท้องฟ้า พูดถึงจักรวาล เราไม่สามารถเอาฝ่ามือแผ่นเดียวของเราไปปิดเอาไว้ได้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้นเรารู้สึกว่าวันนี้ใครก็ตามที่ต้องการเอาฝ่ามือมาปิดแผ่นฟ้าหรือปิดจักรวาลไว้ มันไม่สามารถจะทำได้อีกต่อไปแล้ว" เบญจาพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น


นี่คือภาพจำเมื่อเบญจานึกถึง 10 ส.ค. 2563 โดยอธิบายว่า "ภาพนี้คือการเอาฝ่ามือไปปิดแผ่นฟ้าและก็ไปปิดจักรวาลไว้ ใช้ภาพ ๆ เดียวในการปิด แต่ปิดไว้ไม่ได้อีกแล้ว"

ณฐพร : "เด็กทั้งหมดที่จับ ๆ ผมอยากปล่อยให้หมดเลย"

ในขณะที่ ส.ส. ก้าวไกลตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการ "ปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ" ณฐพร โตประยูร มือยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง กลับยืนกรานว่าความมุ่งหมายของเขาคือการ "พิสูจน์ความจริง" เท่านั้น

เมื่อมองผ่านสายตาและการตีความของนักกฎหมายวัย 69 ปี ปรากฎการณ์ 10 สิงหา คือการรวมตัวกันของกลุ่มต่าง ๆ ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย โดยส่วนหนึ่งของนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวเกิดจากแรงสะสมของขบวนการที่ต้องการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเขาเห็นว่ามีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งการปราศรัยบนเวที การดำเนินการเป็นขบวนการ เข้าองค์ประกอบของการล้มล้างการปกครอง

ณฐพรจึงขอทำหน้าที่ตามมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ ในการ "พิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

"คุณปนัสยาเขาไม่ได้พูดหรอก 10 ข้อ แต่มีคนส่งเข้ามาในโทรศัพท์แล้วสั่งให้พูดตามนั้น วัตถุประสงค์หลักของ 10 สิงหา ต้องการให้เกิดการจลาจล การปราบปราม ต้องการให้ภาพอันนั้นกลับมาอีกที จึงรื้อเอาภาพเก่าก่อน 6 ตุลา 2519 ขึ้นมา" ณฐพรวิเคราะห์


ประชาชนบางส่วนรวมตัวกันหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒะ เมื่อ 10 พ.ย. 2564 เพื่อฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง

หาก 10 ส.ค. 2563 คือจุดเริ่มต้นของการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่-พลิกโฉมหน้าการเมืองไทย ณฐพรก็คือผู้ร่วมเขียนประวัติศาสตร์ภาคต่อ ทว่าในทิศทางตรงกันข้าม โดยทำให้ "ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ตามความเห็นของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องตกที่นั่ง "ผู้ล้มล้างการปกครอง" ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอีกขวบปีถัดมา

"ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมอยู่ตรงไหน (ของประวัติศาสตร์) ผมพยายามทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ทำรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และเกิดความยุติธรรมกับทุกคน"

แล้วถ้าเจอหน้า กล้าสบตานักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นลูก-หลานอย่างเต็มตาหรือไม่?

ชายผู้เป็นทั้งรุ่นพี่และอดีตอาจารย์ มธ. ไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ แต่บอกเพียงว่ายินดีพูดคุยกับเด็กนักศึกษาอย่างเปิดใ


"ผมไม่เคยคิดทำร้ายเด็กเลย แต่เด็กพวกนี้ก็มีความจำเป็นต้องให้เขารู้ว่าการที่เขาทำ เขาทำผิดไหม" และ "ผมกล้าพูดตรงนี้ได้เลยว่าเด็กทั้งหมดที่จับ ๆ ผมอยากปล่อยให้หมดเลย แต่ผมต้องการ (เอาผิด) กับคนที่อยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นคนชักใยให้เกิดความวุ่นวาย คนที่ทำให้เด็กเขาเสียอนาคต"


ณฐพรกล่าวว่า ความผิดพลาดของฝ่ายอนุรักษนิยมคือการใช้กฎหมายเป็นประโยชน์แก่พวกพ้องตัวเอง และกอบโกยผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ของตัวเอง

ทุกการยื่นคำร้อง-ฟ้องคดี ณฐพรปฏิเสธว่าไม่ได้ทำไปเพื่อ "ปิดแผ่นฟ้า" หรือ "อุดเพดาน" แต่อย่างใด

"มันปิดไม่ได้หรอก อะไรที่ทะลุไปแล้ว เหตุการณ์มันเหมือนกับไฟกองใหญ่ เราจะปล่อยไฟกองใหญ่ แล้วเอาน้ำถังเดียวไปราด เป็นไปไม่ได้... สิ่งที่ดีที่สุดคือตามหาต้นตอว่าไฟนี้ใครเป็นคนก่อ ใครเป็นเชื้อเพลิง ใครเป็นต้นเหตุ ผมมั่นใจว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ คนไทยเป็นคนที่มีความจงรักภักดีอยู่แล้ว เด็ก ๆ พวกนี้ไม่ใช่จิตวิญญาณเขาหรอกที่จะทำแบบนี้ แต่มันเกิดจากแรงกระตุ้นบางอย่าง"

นักกฎหมายผู้มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของสารพัดหน่วยงาน และมีคำว่า "ด็อกเตอร์" นำหน้าชื่อในนามบัตร ชี้ว่า ฉากจบของประวัติศาสตร์หน้านี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจรัฐ "ถ้าจงใจจะรักษาสถาบันฯ จงใจจะให้ทุกอย่างกระจ่างขึ้น ก็ต้องพิสูจน์ให้ประชาชนเห็น" ทว่าความจริงใจของรัฐบาลยังเป็นสิ่งที่เขาตั้งคำถาม

เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำมาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่ใช้กฎหมายอื่นจัดการได้ พอไปทำเช่นนั้นก็คล้าย ๆ กับว่า "เอาสถาบันฯ มาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน"

"นายกฯ พูด ผมว่าพูดผิด พูดผิดถนัดเลย และอีกอย่างหนึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่ารับสั่งอย่างนั้นจริง ๆ พูดง่าย ๆ ว่าเอากฎหมาย 112 มาใช้ทางการเมือง" ณฐพรกล่าว



พวงทอง : "เขาพยายามจะสร้างความกลัวให้ประชาชนเงียบ"

2 ปีหลังปรากฏการณ์ "ทะลุเพดาน" รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะร้ฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า ขบวนการเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แผ่วลง หรือแม้แต่การชุมนุมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ลดลง จากปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

ปัจจัยแรก เกิดจากการที่รัฐใช้วิธีการทางกฎหมายคุกคามแกนนำและผู้ปฏิบัติงานราษฎร ซึ่งเป็นการ "ใช้ความกลัวสยบความเคลื่อนไหว"

อีกปัจจัย เป็นผลจากนักการเมือง เช่น ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็เป็นเหมือนพลังที่มาสยบเสียงของคนเสื้อแดงซึ่งเป็นส่วนสำคัญของขบวนการ แม้ประเด็นสถาบันฯ อยู่ในความสนใจของคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2549 แต่เมื่อทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่าตอนนี้เราจะยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ ขอพูดเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจก่อน นั่นเท่ากับการส่งสัญญาณห้ามและปรามเสียงของประชาชน


คนเสื้อแดงร่วมฉลองวันเกิดให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อ 26 ก.ค. 2565

แม้ความกลัวทำให้บทสนทนาเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ เบาลง แต่อาจารย์พวงทองเชื่อว่าความต้องการที่จะเห็นสถาบันฯ ปฏิรูปตัวเองให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย หลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังคงอยู่ เพื่อทำให้กลไกราชการ/รัฐปฏิบัติหน้าที่ตัวเองโดยไม่อิงกับสถาบันฯ

"ถามว่าความเงียบนี้มันจะอยู่ตลอดไปไหม ดิฉันคิดว่ามันไม่อยู่ตลอดไปแน่ ๆ เขาพยายามจะสร้างความกลัวให้ประชาชนเงียบ แต่ว่าฝ่ายของชนชั้นนำฝ่ายขวาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทหารของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก ก็มักจะทำอะไรหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนโกรธอยู่เสมอ และเวลาทำอะไรผิดพลาดในทางนโยบาย ในการบริหารประเทศ ก็มักจะอ้างว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่จงรักภักดีที่สุด ซึ่งเป็นการอิงกับสถาบันกษัตริย์อย่างไร้สาระที่สุด ฉะนั้นมันก็จะทำให้ประชาชนจะต้องพูดเรื่องนี้อีก" รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.พวงทองเห็นว่า ปัจจุบันทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษนิยมเข้าสู่ภาวะ "ชะงักงัน ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร"

ฝ่ายผู้มีอำนาจ : อาจพอใจกับการใช้อำนาจรัฐและกฎหมายจัดการ กดกระแสความไม่พอใจเอาไว้ได้ แต่เขาก็รู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนให้ประชาชนกลับไปเป็นแบบเมื่อ 30-40 ปีก่อนแล้ว

ฝ่ายประชาชน : เห็นอะไรมากขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้น แต่ประชาชนก็อ่อนแอ ไม่สามารถรวมพลังขึ้นมาสู้ได้ จำนวนมากก็หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ ก็รอเลือกตั้ง


ในฐานะอาจารย์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พวงทองบอกว่า "ไม่อยากเอาความคิดการเมืองของเราไปยัดใส่ในวิชาที่เรียนมากนัก" ยกเว้นมีประเด็น เช่น เวลาพูดถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ก็จะชี้ให้นิสิตเห็นปัญหา

จากเคยพร่ำบนกับเพื่อนนักวิชาการว่า "นิสิตนักศึกษาหายไปไหน" ในทุกครั้งที่จัดงานรณรงค์ทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 เพราะมีแต่อาจารย์เข้าร่วม มาวันนี้ รศ.ดร.พวงทองรู้สึกดีใจที่เยาวชนมองเห็นปัญหาซึ่งจะกลายเป็นภาระของพวกเขาในอนาคต

คำอธิบายของนักรัฐศาสตร์รายนี้คือ รัฐประหาร 2557 และ "ระบอบประยุทธ์" เป็นผู้สร้างขบวนการราษฎรขึ้นมา เพราะทำให้นักศึกษามองเห็นปัญหาทางการเมืองที่เป็นรูปธรรม >> ต้องการคำอธิบาย >> อ่านหนังสือ >> เจอคำตอบว่าทำไมการเมืองไทยถึงตกอยู่ใน "หลุมดำ" และอะไรที่ประกอบสร้างเป็นระบอบประยุทธ์ >> เกิดการก่อตัวของขบวนการเยาวชน

รศ.ดร.พวงทองมองว่า เวทีกลางของปัญหาทางการเมืองได้ย้ายไปอยู่ที่กลุ่มเยาวชนแล้ว ส่วนนักวิชาการเป็นเพียงตัวประกอบเพื่อช่วยสนับสนุนในยามที่เยาวชนมีปัญหาเท่านั้น จึงไม่แปลกหากนักวิชาการหญิงจะไปร่วมกิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" เพื่อ "ส่งเสียงให้คนที่นั่งอยู่ที่ศาล ให้ทหารรู้ว่าประชาชนยังไม่ลืม" และ "จะไม่ปล่อยให้เด็ก ๆ ถูกขังลืม"

"ว่างเมื่อไร ถ้าร่างกายพร้อม พอไหวก็จะไปช่วยยืน และอีกด้านหนึ่งก็เป็นการลบล้างความรู้สึกผิดด้วยมั้งที่เรารู้สึกว่าเราทำอะไรได้น้อยมาก ขณะที่ยังมีเยาวชนยังติดคุกอยู่ แล้วพวกเขาทำอะไรเยอะมาก เสี่ยงมาก" รศ.ดร.พวงทองเผยเบื้องหลังในการพาตัวเองไปยืนหน้าศาล เป็นเวลา 112 นาที


กิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" เป็นเวลา 1 ชม. 12 นาที ริเริ่มโดยกลุ่ม "พลเมืองโต้กลับ" เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขัง ต่อมามีกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายจุดหลายจังหวัดทั่วประเทศ

คำถามใหม่ จาก 10 สิงหา 63 ถึง 10 สิงหา 65

หาก 10 ส.ค. 2563 เกิดขึ้นเพราะการตั้งคำถามของขบวนการนักศึกษาและประชาชน น่าสนใจว่าคำถามสำคัญของปัจจุบันคืออะไร

พวงทอง : เราจะออกจากภาวะนี้ได้อย่างไร เราจะผลักให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้อย่างไรโดยที่ประชาชนไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล เราจะหลีกเลี่ยงการปะทะหรือสูญเสียได้อย่างไร

เบญจา : เราจะทำอย่างไรกับคนที่ถูกดำเนินคดีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 21 ก.ค. เธอเสนอให้ออกกฎหมายคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ต้องหาทางการเมืองนับจากปี 2557

แต่สำหรับ รุ้ง ปนัสยา ไม่มีคำถามใหม่ผุดขึ้นในหัว เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เธอเห็นว่ามีคำถามเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่มีใครตอบ "เรายังอยากใช้คำถามเดิมอยู่ แต่ตอนนี้เราอยากได้คำตอบจากทุกคนเลยว่าเอายังไง" และ "ถ้าคำตอบมันไม่ถูกตอบสักที การตั้งคำถามใหม่มันต้องมา" ซึ่งอาจเป็นคำถามที่ตอบยากกว่าเดิมก็ได้ จึงแนะนำให้รีบตอบกัน

เช่นเดียวกับณฐพรที่ไม่ขอโยนคำถามใด ๆ ออกสู่สังคม แต่ชี้ชวนให้บรรดาผู้เรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันฯ ฉุกคิดว่าอะไรคือผลเสียกันแน่ ซึ่งเขามองว่า "ทุกวันนี้ผลเสียของสถาบันฯ ก็ไม่ใช่ตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่คือคนที่อยู่รอบสถาบันฯ"

นักกฎหมายวัยใกล้เลข 7 ยังประกาศสนับสนุนแนวคิดปฏิรูปเครือข่ายแวดล้อมรอบสถาบันฯ โดยเปรียบเทียบกับศาสนาพุทธ "หากจู่ ๆ บอกว่าต่อไปนี้พระไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องห่มผ้าเหลือง ไม่มีใครยอมหรอก ทำไมไม่ปฏิรูปว่าคนที่จะบวชพระต้องเป็นมาอย่างไรเพื่อจะรักษาศาสนาพุทธ เช่นเดียวกันคนที่จะอยู่รอบสถาบันฯ ต้องมีอะไรบ้าง มันควรจะคิดเรื่องแบบนี้"

"ผมว่านะวังก็พร้อมจะปรับปรุงถ้าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องดีกับประชาชน เขาทำได้ ปฏิรูปได้ เชื่อผมเถอะ อะไรก็ปฏิรูปได้หมดอะ เพียงแต่ว่าการปฏิรูปมันจะต้องไม่มาด่ากัน ไม่มาแช่งชักหักกระดูก หรือไม่มาทำลายล้างกัน การปฏิรูปมันต้องทำอะไรให้ดีขึ้นนะ วังพร้อม วังท่านไม่ต้องการมาเป็นศัตรูประชาชน ผมมั่นใจ" ณฐพรกล่าวทิ้งท้าย