วันศุกร์, ธันวาคม 24, 2564

ข่าวใหญ่วันนี้ นักโทษไทยถูกบังคับให้ทำแหอวน ไม่ได้รับค่าจ้าง ทำงานไม่ดีโดนทำโทษ สินค้าแหอวนเหล่านี้มีส่งออกไปอเมริกา ละเมิดสิทธินักโทษและเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายไทย พรบ.ค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงานใน Supply chain มีผลทำให้ผู้ซื้อในบางประเทศสามารถแบนสินค้า #Thailand


23 ธ.ค.2564 วันนี้ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters Foundation) เผยแพร่รายงานพิเศษในชื่อ 'EXCLUSIVE - Jails in Thailand force prisoners to make fishing nets under threat of violence' หรือ 'นักโทษไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนภายใต้การถูกข่มขู่ว่าจะถูกทำร้าย' เขียนโดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ (Nanchanok Wongsamuth) ซึ่งเจ้าตัวแปลลงเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะสาธารณะด้วยดังนี้

ผู้ต้องขังในประเทศไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนให้บริษัทเอกชนภายใต้การถูกข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ ซึ่งรวมไปถึงการทุบตีและการปล่อยตัวออกจากคุกช้าลง

เอกสารที่ได้รับภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ แสดงให้เห็นว่าเรือนจำทั่วประเทศใช้ผู้ต้องขังให้ทำงานภายใต้สัญญาจ้างที่มีมูลค่าสูงระหว่างเรือนจำกับผู้ผลิต ซึ่งรวมไปถึงบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งออกอวนไปยังสหรัฐอเมริกา

อดีตผู้ต้องขังกล่าวกับ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ ว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำขู่ว่าจะทุบตีด้วยกระบอง ไม่ให้อาบน้ำ หรือไม่ให้เลื่อนขั้นให้เป็นนักโทษชั้นดี ซึ่งจะส่งผลต่อการถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเร็วขึ้น หากผลิตไม่ได้ตามเป้าที่กำหนด

แม้ว่าจะเป็นงานที่ต้องทำ แต่ผู้ต้องขังเหล่านั้นบอกว่าได้รับค่าจ้างเพียงเศษเสี้ยวเดียวของค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศ และบางคนไม่ได้รับค่าจ้างเลย

“สัปดาห์หนึ่งต้องได้ห้าอัน... (ผู้คุม) พูดว่า ถ้าทำไม่เสร็จ จะโดนทำโทษ” อดีตผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางสุรินทร์ ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์

“ตอนนั้นบ่ายสอง...แล้วไม่เสร็จ เขาเลยบอกให้หยุด แล้วเอาไปลงโทษ ผมโดนนอนตากแดดแล้วคลุกดิน” ต๊ะ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อปีที่แล้วหลังจากติดคุกสองปี และขอให้ระบุเพียงชื่อเล่น กล่าว

กรมราชทัณฑ์ไม่ได้ตอบรับคำขอสัมภาษณ์ในวันที่บทความถูกเผยแพร่

ต๊ะบอกว่าเขาได้รับค่าจ้างสามบาทต่อชิ้น รายได้ขั้นต่ำของไทยอยู่ระหว่าง 313-336 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่กล่าวกับ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ ว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างประมาณ 30 บาทต่อเดือน แต่บางคนบอกว่าไม่ได้ค่าจ้างเลย


คำขู่

ไทยมีจำนวนผู้ต้องขังประมาณ 282,000 คน ในเรือนจำ 143 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังจากคดียาเสพติด

รายงานจากสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล หรือ FIDH เผยว่า ไทยประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

กรมราชทัณฑ์ระบุในวิดีโอโปรโมทโครงการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานทำหลังจากได้รับการปล่อยตัว

แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง FIDH บอกว่าโครงการดังกล่าวมีการเอารัดเอาเปรียบผู้ต้องขัง โดยมีการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำ สภาพการทำงานไม่ดี และมีการลงโทษผู้ต้องขังหากผลิตสินค้าไม่ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้

งานส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้แรงงาน ซึ่งมีตั้งแต่การพับถุงกระดาษให้ห้างสรรพสินค้า และการผลิตเสื้อผ้า

อดีตผู้ต้องขังที่ให้สัมภาษณ์ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ กล่าวว่า การถักอวนเป็นงานที่หนัก ทำให้เป็นแผลที่นิ้วเนื่องจากเส้นใยมีความคม

พวกเขากล่าวว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องทำงาน นอกจากจะมีเส้นสายกับกับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ จ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือจ่ายเงินให้ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ทำงานแทน

เจ้าหน้าที่กฎหมายอาวุโสรายหนึ่งกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบกรามการค้ามนุษย์ของไทย หากงานนั้นทำไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชน แต่ต้องมีการหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

“ผู้ต้องขังเหล่านี้(ถูกบังคับให้ทำงานโดย)ไม่สมัครใจ และอยู่ในสภาวะที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะจะโดนทำร้ายร่างกาย” ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการ และรองอธิบดีสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

อวนที่ส่งออก

มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ ได้ส่งคำขอข้อมูลข่าวสารไปยังเรือนจำ 142 แห่ง โดยมี 54 แห่งที่เปิดเผยสัญญาจ้างกับบริษัทหรือบุคคลเพื่อผลิตอวน

เรือนจำอีก 30 แห่งได้เปิดเผยสัญญาจ้างกับบริษัทเพื่อผลิตสินค้าประเภทอื่น ในขณะที่เรือนจำที่เหลือไม่ได้ตอบรับหรือระบุว่าไม่มีการใช้แรงงานผู้ต้องขัง

เรือนจำส่วนใหญ่ที่เปิดเผยสัญญาจ้าง ได้ปิดชื่อบริษัทและผู้ว่าจ้าง โดยอ้างถึงคำสั่งจากกรมราชทัณฑ์ แต่ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ ได้รายชื่อผู้ว่าจ้างบางรายหลังจากที่ยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ

หนึ่งในผู้ว่าจ้างคือบริษัทที่ผลิตอวนที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่ชื่อ ขอนแก่นแหอวน ซึ่งรายงานจาก Maia Research ระบุว่าปีที่แล้วบริษัทส่งออกอวนจำนวน 2,364 ตัน มูลค่าประมาณ $12 ล้าน (404.18 ล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ

จดหมายจากขอนแก่นแหอวนฉบับหนึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทได้ขอให้เรือนจำอย่างน้อยหนึ่งแห่งไม่เปิดเผยสัญญาจ้างของบริษัทภายใต้คำขอข้อมูลข่าวสาร

บริษัทปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์

กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ กล่าวว่า กระทรวง “มีความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มีการใช้แรงงานผู้ต้องขังในไทยผลิตอวนให้บริษัทเอกชน” และพระราชบัญญัติภาษีของสหรัฐไม่อนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานผู้ต้องขังหรือแรงงานบังคับ

“เราพิจารณาข้อมูลทุกประเภทในการพัฒนารายการสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ” ตัวแทนจากกระทรวงระบุผ่านอีเมล โดยอ้างอิงถึงรายการสินค้าที่เชื่อว่าผลิตโดยมีการใช้แรงงานดังกล่าว ที่มีการเผยแพร่ทุกสองปี

“นั่นรวมไปถึงข้อมูลที่รวบรวมจากงานวิจัย การทำข่าวสืบสวนสอบสวน หรือโดยวิธีอื่น”

การตรวจสอบ

เป็นเวลาหลายปีที่ไทยได้รับแรงกดดันให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมไปถึงปัญหาด้านการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และความรุนแรงบนเรือประมงและในโรงงานแปรรูป

ในปี 2557 รัฐบาลได้เสนอให้มีการส่งผู้ต้องขังที่ยิมยอมและเหลือโทษจำคุกน้อยกว่าหนึ่งปี ให้ทำงานบนเรือประมงเพื่อทุเลาปัญหาการขาดแคลนแรงงานและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

แต่แผนดังกล่าวถูกยกเลิกหลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิแรงงาน และในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยมีการปรับปรุงการจัดการปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่

ในรายงานประจำปีฉบับล่าสุด สหรัฐฯ ระบุว่าไทยมีความพยายามอย่างยิ่งในการกำจัดการค้ามนุษย์ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ทว่าการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังคงบ่อนทำลายความพยายามในการป้องกันการค้ามนุษย์

การลงโทษ

ผู้ต้องขังถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลานานนับศตวรรษ ตั้งแต่การขุดทางน้ำในศตวรรษที่ 18 ที่ประเทศอังกฤษ จนถึงการผลิตอาวุธในสถานกักกันของสหภาพโซเวียต หรือถูกบังคับให้ทำเหมืองและผลิตสินค้าต่าง ๆ ในปัจจุบัน

นักโทษราว 560,000 คนเป็นเหยื่อของการใช้แรงงานบังคับเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือบริษัทเอกชนในปี 2559 ซึ่งเป็นสถิติที่ใหม่ที่สุดจากองค์กรต่อต้านการใช้แรงงานทาส Alliance 8.7

แนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่รู้จักกันในนาม “ข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา” เรียกร้องให้รัฐสมาชิกจัดให้มี “ระบบจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานของผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม”

ที่เรือนจำกลางยะลาทางตอนใต้ของไทย อดีตผู้ต้องขังสองคนที่ได้รับการปล่อยตัวปีนี้กล่าวว่า ผู้ต้องขังหลายร้อยคนต้องผลิตอวนประมาณหกชั่วโมงต่อวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์

ทั้งคู่ไม่เคยถูกทำโทษโดยตรง แต่บอกว่าเคยเห็นผู้ต้องขังคนอื่นถูกลงโทษทางร่างกาย

“เคยเห็นเพื่อนโดนทำโทษทุกวัน ตามที่เขาแจ้งมา ไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ต้องขัง แต่ในความเป็นจริงมันมี แต่ในเรือนจำไม่มีคนตรวจสอบ” อดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งกล่าว

“เขาจะเอาไม้เบสบอลยกขึ้นให้พ้นหัวแล้วทุบลงมาที่หลัง แล้วเอาไปแยกขัง แล้วช่วงนั้นงดเยี่ยมเพราะกลัวผู้ต้องขังแจ้งไปทางญาติ”

‘อำนาจที่เหนือกว่า’

ไม่มีผู้ต้องขังรายใดที่ให้สัมภาษณ์ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ กลับไปทำอวนอีกหลังจากได้รับการปล่อยตัว

ปภพ เสียมหาญ ทนายความที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงาน กล่าวว่า การบังคับผู้ต้องขังให้ผลิตสินค้าเพื่อบริษัทเอกชนอาจเป็นการละเมิดกฎหมายค้ามนุษย์ของไทย ซึ่งระบุการบังคับใช้แรงงานเป็นความผิด

“พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มีอำนาจเหนือผู้ต้องขัง ซึ่งอยู่ในสถานะที่ปฏิเสธยาก” เขากล่าว

แอนเดรีย จอร์เจ็ตตา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของสหพันธ์เพื่อมนุษยชนสากล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบข้อกล่าวหาดังกล่าว

เขาบอกว่าข้อค้นพบของ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ เกี่ยวกับค่าจ้างที่ต่ำและการทำโทษในกรณีที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้านั้น ตรงกับงานวิจัยของสหพันธ์ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน 192 แห่ง

“ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงแนวปฏิบัติที่ละเมิดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายฉบับและอาจเป็นการบังคับใช้แรงงาน” จอร์เจ็ตตา กล่าว

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ ระบุว่า การตรวจสอบประเมินยังไม่พบว่าข้อปฏิบัติในเรือนจำไทยละเมิดภาระผูกพันของประเทศภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังตับ

อนุสัญญาดังกล่าวระบุว่า การทำงานในเรือนจำไม่ถือว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน ตราบใดก็ตามที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ต้องขังไม่ได้ถูกควบคุมโดยบริษัทเอกชน


‘งานที่เลวร้ายที่สุด’

อดีตผู้ต้องขังทุกคนบอกว่าเคยทำงานในเรือนจำ แต่มีผู้ต้องขังสามคนที่บอกว่า พวกเขารู้จักผู้ต้องขังคนอื่นที่เรือนจำกลางขอนแก่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่เคยทำงานในโรงงานของขอนแก่นแหอวน ซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ

ผู้ต้องขังสองคนที่เคยอยู่เรือนจำกลางขอนแก่นกล่าวว่า เคยผลิตอวนให้ขอนแก่นแหอวน โดยจำชื่อบริษัทได้จากใบเสร็จที่ถูกส่งไปยังเรือนจำ และจากกระดาษที่อยู่ด้านในถุงที่บรรจุอวนที่ถูกส่งมาที่เรือนจำ

“ถ้าไม่เสร็จจะทำโทษ ต้องถอดเสื้อไปกลิ้งหน้าถนนในเรือนจำ ไม่งั้นจะโดนไม้กระบองตี” อดีตผู้ต้องขังที่เคยผลิตอวนให้ขอนแก่นแหอวนและบริษัทอื่นในปี 2562 กล่าว

“เขาก็จะพูดว่า ถ้ามึงไม่เสร็จ จะโดนกู” เขากล่าว โดยอ้างอิงถึงคำพูดผู้คุม

อดีตผู้ต้องขังบางคนบอกว่าผู้คุมได้รับประโยชน์ทางการเงินจากงานที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำ

สัญญาจ้างส่วนใหญ่ที่ มูลนิธิ ทอมสัน รอยเตอร์ ได้รับไม่ได้ระบุว่าเงินจะถูกแบ่งอย่างไร โดยมีการระบุเพียงแค่จำนวนอวน ค่าจ้างทั้งหมด และวันกำหนดส่งงาน

แต่สัญญาจ้างสามฉบับมีการระบุว่าเงินจะถูกแบ่งระหว่างผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยสัญญาฉบับหนึ่งที่มีการลงนามในปี 2563 กับเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษระบุว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำจะได้รับเงิน 15% ของกำไรสุทธิของเรือนจำ

เพชรติดคุกที่เรือนจำในจังหวัดสงขลา ทางตอนใต้ของไทยในปี 2556 เป็นเวลาหกปี

ในระหว่างนั้น เขาถูกบังคับให้ผลิตอวนภายใต้การขู่ว่าจะถูกทำโทษ เจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ได้บอกชื่อบริษัท แต่เพชรบอกว่าเขาเห็นโลโก้บริษัทขอนแก่นแหอวนในถุงที่บรรจุอวนที่ถูกนำมาส่งให้ผู้ต้องขัง

เพชรบอกว่า ในเรือนจำมีกฎว่าเจ้าหน้าที่ต้องหนีบสมุดไว้ใต้รักแร้ในขณะที่ตีผู้ต้องขัง โดยสมุดจะต้องไม่หล่น แต่เพชรบอกว่าไม่มีใครทำตามกฎนี้ และเขาเห็นผู้ต้องขังคนอื่นถูกเตะและตีเวลาที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าในแต่ละวัน

“เหนื่อยจะตาย” ชายวัย 27 ปี ซึ่งขอให้ระบุเพียงชื่อเล่น กล่าว “แต่คนข้างในรู้หมดว่าอวนเป็นตัวกินเงิน”

“นิ้วจะแหกหมดเลย ทรมาน เย็บอวน…อวนลำบากสุดแล้ว”