iLaw
17h ·
เงื่อนไขประกันตัว - เครื่องมือหลักจำกัดการเคลื่อนไหว
ในปี 2564 การตั้งเงื่อนไขหรือข้อกำหนดตามสัญญาประกันตัว กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง กลายเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่มีผลเป็นการจำกัดการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมอย่างเป็นระบบและเห็นผลชัดเจน แม้ว่าในปี 2563 เครื่องมือนี้จะปรากฏตัวขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการตั้งเงื่อนไขกว้างๆ เปิดช่องให้ตีความได้ แต่ในคดี การชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำเลยต่างต้องขอประกันตัวโดยยอมรับเงื่อนไขที่มีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขา เช่น จะไม่กระทำการให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ งดไปร่วมการชุมนุมในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายเสียก่อน จึงจะทำให้ศาล "มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" และยอมให้ประกันตัว
.
เมื่อได้ประกันตัวพร้อมกับเงื่อนไข หากนักกิจกรรมออกมาทำกิจกรรมอีกจะมีผู้ไปร้องขอให้ศาล "เพิกถอนสัญญาประกัน" ในบางกรณีแม้ตัวจำเลยจะไม่ได้กล่าวปราศรัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และการชุมนุมที่เขาไปเข้าร่วมก็ไม่ได้มีเหตุการณ์วุ่นวาย แต่ศาลยังพิจารณาว่าการไปเข้าร่วมการชุมนุมก็ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขแล้ว เราจึงเห็นหลายคนที่ต้องกลับเข้าไปในคุกซ้ำอีกเพราะ "ผิดเงื่อนไข" และหลายคนที่เลือกจะเงียบหายไปจากการเคลื่อนไหวเพราะไม่แน่ใจว่า เงื่อนไขเหล่านั้นจะตีความอย่างไร
+++ทนายอานนท์ - ไมค์ ภาณุพงศ์ การตั้งเงื่อนไขประกันครั้งแรกในยุคการชุมนุมของราษฎร+++
ทนายอานนท์ นำภาและไมค์ ภาณุพงศ์ คือ ผู้ต้องหาคดีการเมืองในยุคการชุมนุมของราษฎรกลุ่มแรกที่ถูกศาลตั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ทนายอานนท์และไมค์ ภาณุพงศ์ถูกจับกุมตัวหลังไปร่วมการชุมนุมเยาวชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยทั้งสองถูกตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ทั้งสองถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลอาญาในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลทั้งสองโดยกำหนดเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก
.
หลังได้ประกันตัวแล้ว ทนายอานนท์เดินทางไปขึ้นปราศรัยที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 และต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ทั้งทนายอานนท์และไมค์ภาณุพงศ์ต่างขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต โดยในการชุมนุมครั้งดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่นำเสนอ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในวันนั้น ภาณุพงศ์ปราศรัยในประเด็นตำแหน่งแห่งที่ของพระมหากษัตริย์ที่เหมาะในระบอบประชาธิปไตย ส่วนทนายอานนท์ นำภาปราศรัยในประเด็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา
.
หลังการขึ้นปราศรัยพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎรยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้เพิกถอนสัญญาประกันของทั้งสองคน ในวันที่ 3 กันยายน 2563 ศาลอาญามีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันทนายอานนท์โดยให้เหตุผลว่าทนายอานนท์ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการขึ้นปราศรัยที่จังหวัดเชียงใหม่และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนภาณุพงศ์ แม้จะทำผิดเงื่อนไข แต่พิจารณาจากอายุและพฤติการณ์ของภาณุพงศ์เห็นว่ายังไม่มีความร้ายแรงถึงขั้นต้องเพิกถอนสัญญาประกัน แต่ให้แก้ไขสัญญาประกันโดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 200,000 บาท ภาณุพงศ์ตัดสินใจไม่ยื่นขอประกันตัวใหม่ ทำให้ทั้งสองคนถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ถึง วันที่ 7 กันยายน 2563 และได้ปล่อยตัวเพราะพนักงานสอบสวนขอยุติการฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองเอง
+++ตั้งเงื่อนไขผู้ชุมนุมคณะราษฎรอีสานก่อนใช้เป็นเหตุไม่ให้ประกันกลุ่มทะลุฟ้าในปี 64+++
13 ตุลาคม 2563 ก่อนหน้าการชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร กลุ่มนักกิจกรรมจากภาคอีสานนำโดยจตุภัทร์ หรือ ไผ่ เดินทางมาปักหลักกางเต้นท์ค้างคืนเพื่อรอร่วมการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่หลังเข้าพื้นที่ได้ไม่นานตำรวจก็นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม ก่อนจับตัวผู้ที่ร่วมการชุมนุมไปรวม 21 คน ต่อมาตำรวจตั้งข้อกล่าวหา โดยไผ่จตุภัทร์เพียงคนเดียวถูกดำเนินคดีฐานยุงยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 เป็นข้อหาหลัก ส่วนผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้อกล่าวหาหลัก
.
แม้ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีอัตราโทษสูงสุดไม่เกิน 2 ปี แต่เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 19 คนถูกพาตัวไปฝากขังที่ศาลแขวงดุสิต ศาลกลับไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์ส่อไปในทางก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้ผู้ต้องหา 19 คนถูกคุมขังในเรือนจำ จนถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลอุทธรณ์ จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 19 คน โดยตีราคาประกันคนละ 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามผู้ต้องหากระทำการให้เกิดความวุ่นวาย หรือกระทำการอันเป็นการละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และให้ผู้ต้องหารายงานตัวกับศาลแขวงดุสิตทุกสองสัปดาห์ตามวันเวลาที่ศาลแขวงดุสิตกำหนด
.
หลังจากนั้นนักกิจกรรมกลุ่มนี้ยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่อง ต่อมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่มใหม่ชื่อว่า "กลุ่มทะลุฟ้า" และในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสาดสีใส่ป้ายสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องเป็นเหตุให้สมาชิกกลุ่ม 14 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหาชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 และข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
.
ในจำนวนผู้ต้องหา 14 คน มีสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าสามคนที่เคยถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ได้แก่ นวพล ต้นงาม หรือ ไดโน่, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์ หรือ ปีก, และ ปวริศ แย้มยิ่งหรือ เปา ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวนพาผู้ต้องหาทั้งหมดไปฝากขังต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา 11 คน ยกเว้นสามคนที่เคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาทั้งสามคนเคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ซึ่งศาลเคยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้ว่าห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่ผู้ต้องหาทั้งสามคนยังคงกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาในคดีอีก จึงเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามจะไปก่อภยันตรายอื่นอีก
.
ผู้ต้องหาทั้งสามอยู่ในเรือนจำคนละเดือนเศษ ก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 โดยศาลตั้งเงื่อนไขห้ามผู้ชุมนุมทั้งสามคนเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล
+++เมษายน - มิถุนายน 64 จำเลยคดีมาตรา 112 ทยอยรับเงื่อนไขประกันแลกกับอิสรภาพชั่วคราว+++
ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยสี่คนได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ ทั้งสี่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากการร่วมชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสี่โดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและการกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ ในข้อกล่าวหาเดิมในหลายๆ ครั้ง เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวจะไปกระทำการในลักษณะเดิมอีก จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว
.
หลังจากที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสี่คนในคดีนี้ ผู้ต้องหาและจำเลยคนอื่นๆทที่ทยอยเข้าสู่กระบวนการทางคดีหลายคนก็ถูกปฏิเสธสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวโดยที่ศาลให้เหตุผลคล้ายๆ กัน
.
3 มีนาคม 2564 ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ แอมมี่ ถูกจับกุมตัวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้วางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ติดตั้งอยู่ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อไปถึงศาล แอมมี่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยศาลระบุเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนยืนยันว่าผู้ต้องหาหลบหนีจนถูกเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
.
8 มีนาคม 2564 อัยการสั่งฟ้องจำเลยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกสามคนได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามคน
.
จากนั้นในเวลาประมาณเที่ยงคืนวันที่ 23 มีนาคม 2564 ตำรวจจับกุมตัวชูเกียรติ แสงวงศ์หรือจัสติน โดยกล่าวหาว่าระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม Redem ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ชูเกียรตินำกระดาษเขียนข้อความไม่เหมาะสมไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ หน้าอาคารศาลฎีกา ชูเกียรติถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังก่อนจะไม่อนุญาตให้ชูเกียรติปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พฤติการณ์ของคดีมีความร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหาเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะความผิดเดียวกันแต่ก็มาทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก เชื่อว่าหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองซ้ำอีก
.
หลังศาลเริ่มทยอยคุมขังนักกิจกรรมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ในเดือนเมษายนเริ่มมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ จำเลยบางส่วนเริ่มเข้าสู่กระบวนการแถลงรับเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดขึ้น เพื่อแลกกับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ปติวัฒน์หรือหมอลำแบงค์ คือ จำเลยคดีมาตรา 112 คนแรกที่เข้าสู่กระบวนการแถลงยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลเพื่อแลกกับอิสรภาพ ในวันที่ 9 เมษายน 2564 ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นคนแรก โดยศาลตั้งเงื่อนไข ห้ามไม่ให้กระทำการลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
.
จากนั้นในวันที่ 23 เมษายน 2564 ศาลอาญาไต่สวนสมยศและไผ่ ทั้งสองแถลงต่อศาลยอมรับเงื่อนไขว่า จะไม่แสดงความคิดเห็นหรือกระทำการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีก หลังจากนั้นผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ก็ทยอยได้ประกันตัว โดยทุกคนจะต้องผ่านขั้นตอนคล้ายๆ กัน คือ ศาลจะเบิกตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาล และเรียกตัวผู้กำกับดูแลซึ่งมักเป็นพ่อและแม่ รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย มาไต่สวนและกำชับให้ผู้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาและจำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้กับผู้ต้องหาส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ห้ามกระทำการให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ใหม่มาศาลตามกำหนดทุกครั้งและห้ามออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยคนสุดท้ายที่แถลงรับเงื่อนไขของศาลและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในช่วงนี้ คือ ชูเกียรติหรือจัสติน ซึ่งได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564
ติดอีเอ็ม - สั่งห้ามออกนอกบ้าน ศาลเพิ่มเงื่อนไขคุมเข้มแกนนำผู้ชุมนุม
หลังผู้ต้องหาและจำเลยคดีมาตรา 112 ทยอยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจนหมดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จำเลยและผู้ต้องหาบางส่วนยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปจนเป็นเหตุให้ตำรวจรวมทั้งผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองเข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเลิกสัญญาประกันของนักกิจกรรมเหล่านั้น เช่น วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ศาลอาญาไต่สวนคำร้องที่ สนธิญา สวัสดี ขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกันของพริษฐ์โดยอ้างว่าข้อความที่พริษฐ์โพสต์เฟซบุ๊ก เข้าข่ายเป็นการผิดสัญญาประกัน ครั้งนั้นศาลยังไม่เพิกถอนสัญญาประกันพริษฐ์แต่แจ้งให้ผู้กำกับดูแลพริษฐ์ไปกำชับให้เขาปฏิบัติตามสัญญาประกันโดยเคร่งครัดมากขึ้น
.
นอกจากนั้นก็มีกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ไต่สวนทนายอานนท์, ไมค์ ภาณุพงศ์, แอมมี่ ไชยอมร และรุ้ง ปนัสยา จำเลยคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จากกรณีที่ทั้งห้าคนยังคงทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทนายอานนท์ถูกยื่นคำร้องเพิกถอนสัญญาประกันจากกรณีที่เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 10 และ 18 กรกฎาคม และวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่เขากล่าวคำปราศรัยในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเริ่มปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่เพิกถอนสัญญาประกันของทนายอานนท์ เพราะเห็นว่า การเข้าร่วมการชุมนุมทั้งสามครั้งยังไม่เข้าข่ายผิดเงื่อนไขในข้อที่ห้ามจำเลยร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แม้เนื้อหาอาจจะมีความหมิ่นเหม่ แต่ยังไม่เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว แม้จะไม่เพิกถอนสัญญาประกันแต่ศาลก็มีคำสั่งให้กำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันเพิ่มเติม คือ ให้จำเลยติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ให้จำเลยอยู่ในดเคหะสถานตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นต้องไปสถานพยาบาลหรือหากมีเหตุจำเป็นอื่นก็ให้ขออนุญาตศาลเป็นครั้งคราว
.
กรณีของไมค์ ภาณุพงศ์ และ แอมมี่ ไชยอมร ศาลมีคำสั่งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ไม่เพิกถอนสัญญาประกันของทั้งสอง โดยกรณีของภาณุพงศ์และไชยอมรไม่ได้กล่าวปราศรัยพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ แต่เห็นสมควรให้กำหนดเงื่อนไขตามสัญญาประกันเพิ่มเติม คือ ให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวกับทั้งสองและกำหนดห้ามไม่ให้ทั้งสองออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 16.00 - 5.00 น. ของวันถัดไป โดยเงื่อนไขของภาณุพงศ์จะมีผลเมื่อเขาได้รับการประกันตัวครบทุกคดี
.
สำหรับรุ้ง ปนัสยาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนสัญญาประกันของเธอเพราะเห็นว่าพฤติการณ์ที่เธอโพสต์ภาพและข้อความชวนคนแต่งชุดดำในวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เข้าข่ายเป็นการสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ทนายความของรุ้งปนัสยายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลความจำเป็นด้านการศึกษาที่ปนัสยาต้องออกมาสอบ ในวันเดียวกันที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวปนัสยาอย่างจำกัด โดยให้ปล่อยตัวระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึง 12 มกราคม 2565 และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ห้ามออกนอกเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นไปเข้ารับการรักษาพยาบาล ไปเรียนและสอบ หรือไปศาล หรือไปติดต่อกิจธุระอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล
+++เงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว มุ่งป้องกันความเสียหายทางคดีหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม+++
การตั้งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการใช้อำนาจของศาลตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 (7) ซึ่งกำหนดว่า "... ศาลจะกำหนดเงื่อนไข เกี่ยวกับที่อยู่ ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หรือ กำหนดเงื่อนไขอื่นใด ให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือ เพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากการปล่อยชั่วคราว ได้"
.
การที่ศาลกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานตลอดเวลาหรือตามเวลาที่กำหนด การกำหนดห้ามร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และการกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ น่าจะเป็นการ "กำหนดเงื่อนไขอื่นใด" เพื่อ "ป้องกันภยันตรายหรือความเสียหาย" มากกว่ามุ่งป้องกันการหลบหนีเพราะที่ผ่านมานักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีและถูกตั้งเงื่อนไขต่างไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีและไปตามนัดศาลทุกครั้ง
.
ซึ่งศาลควรระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจโดยมุ่งตั้งเงื่อนไขตามสัญญาประกันเพียงเพื่อป้องกันภยันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดกับการพิจารณาคดีเป็นหลัก ทว่าที่ผ่านมาดูเหมือนศาลจะตีความถ้อยคำทั้งสองในความหมายที่กว้าง และตั้งเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปสั่งห้ามการกระทำอื่นๆ ของจำเลยที่ไม่เกี่ยวกับคดีที่มีการทำสัญญาประกันด้วย เช่น การกำหนดเงื่อนไขห้ามไปร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย คล้ายเชื่อไปแล้วว่าหากจำเลยไปเข้าร่วมการชุมนุม การชุมนุมนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นความผิดต่อกฎหมายอีก
.
การตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นบางช่วงเวลาหรือตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของไชยอมร และภาณุพงศ์ ที่การชุมนุมอันเป็นมูลเหตุให้ทั้งสองถูกตั้งเงื่อนไขตามสัญญาประกันเพิ่มเติม ทั้งสองไม่ได้ปราศรัยพาดพิงพระมหากษัตริย์อีกแล้ว สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องถูกตั้งคำถามว่า เป็นการตั้งเงื่อนไขที่สมควรแก่เหตุหรือไม่ หรือเป็นการจำกัดสิทธิที่ได้สัดส่วนหรือไม่ และสมควรถูกตั้งคำถามด้วยว่าการตั้งเงื่อนไขดังกล่าวศาลมีเจตนามุ่งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อรูปคดีหรือมุ่งสร้างข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของจำเลยทั้งสองกันแน่
.
การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างกว้างขวางส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพของจำเลย หากภายหลังศาลพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด เสรีภาพที่เสียไประหว่างกระบวนการนี้ก็ไม่สามารถเรียกคืนหรือเยียวยาได้ และหากจำเลยในคดีทางการเมืองต่างได้ประกันตัวพร้อมกับเงื่อนไขในลักษณะเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้เงื่อนไขจากศาลกลายเป็นอุปสรรคหลักที่ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ยิ่งกว่าการกดปราบของรัฐด้วยเครื่องมืออื่นๆ เสียอีก
...
Jinda Jinda
อห ยังไม่ได้พิจารณาคดีเลย ทำอย่างกับเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์
อห ยังไม่ได้พิจารณาคดีเลย ทำอย่างกับเป็นนักโทษอุกฉกรรจ์