วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 23, 2564

โปรดอย่าเข้าใจคนเยอรมันผิด เค้าก็ทำบุญจ้า ไม่ใช่บุญแบบที่เราเข้าใจ ส่วนใหญ่เพื่อช่วยเพื่อนมษุษย์ถูกภัยพิบัติ


The Momentum
13h ·

‘เราไม่ทำการกุศลในเยอรมนี เราจ่ายภาษี’ ?
ที่จริงแล้ว ‘การกุศล’ ยังเป็นส่วนสำคัญ
ในระบบเศรษฐกิจเยอรมัน
.
“ในเยอรมนี เราไม่บริจาค เราจ่ายภาษี การบริจาคคือความล้มเหลว” เป็นคำพูดที่มีการแชร์อย่างแพร่หลาย ของ เฮนนิง เวห์น (Henning Wehn) นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟนชาวเยอรมัน ที่เอ่ยไว้บนเวทีการแสดงตลกเมื่อปี 2019 สะท้อนความสำคัญของระบบรัฐสวัสดิการ ที่หากมีประสิทธิภาพจริง เงินภาษีทุกบาททุกสตางค์จะย้อนกลับมาเป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าและทั่วถึง มากกว่าจะให้ประชาชนคอยบริจาคกันเองตามยถากรรม
.
แต่ระบบสวัสดิการในเยอรมนีนั้น ‘มีคุณภาพ’ ขนาดไหน ถึงได้ทำให้หลายคนเลือกจะเลิกบริจาค แล้วคนเยอรมัน ‘เมิน’ ที่จะบริจาคเพื่อการกุศลจริงหรือ
.
คำตอบแรกก็คือจริง ระบบสวัสดิการของเยอรมนีนั้นแข็งแรงมาก จนแทบไม่ต้องพึ่งพา ‘องค์กรการกุศล’ โดยระบบสวัสดิการสังคมทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในเยอรมนี ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1880s โดยมีระบบประกันสังคม ระบบบำนาญ ประกันสุขภาพ ให้กับแรงงานตั้งแต่ในเวลานั้น และในช่วงปลายทศวรรษที่ 20 ประชากร 9 ใน 10 คน ยังมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงสวัสดิการครอบคลุมทั้งในแง่ช่วยเหลือให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย บำนาญถ้วนหน้า และกลายเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศทั่วโลก
.
แล้วคนเยอรมันไม่จ่ายเงินเพื่อการกุศลนั้นจริงหรือไม่? คำตอบก็คือ ‘ไม่จริง’
.
ในปี 2020 คนเยอรมันบริจาคเงินเข้าองค์กรการกุศลมากกว่า 5,400 ล้านยูโร (ประมาณ 2.05 แสนล้านบาท) ปี 2019 บริจาคเงินมากกว่า 5,100 ล้านยูโร (ประมาณ 1.94 แสนล้านบาท) ขณะที่ปี 2018 บริจาคเงินกว่า 5,300 ล้านยูโร (ประมาณ 2.01 แสนล้านบาท)
.
ทั้งยังมีรายงานว่า ในปี 2020 จำนวนเงินที่บริจาคถือเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2005 โดยช่วงเวลาที่มีการบริจาคสูงสุดนั้นคือเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลา ‘ล็อกดาวน์’ ครั้งแรก โดยมียอดบริจาคสูงสุด เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าถึง 13% โดยอัตราการบริจาคเฉลี่ยของประชากรเยอรมันอยู่ที่ 40 ยูโรต่อคน (ประมาณ 1,524 บาท)
.
ส่วนจำนวนคนบริจาคประมาณ 19 ล้านคน หรือประมาณ 28.5% ของประชากรทั้งหมด ลดน้อยลงจากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 19.5 ล้านคน เล็กน้อย โดยกลุ่มคนที่บริจาคเงินเข้าการกุศลมากสุดคือกลุ่มคนอายุ 70 ปี ขึ้นไป คิดเป็นมากกว่า 44% ซึ่งกระเป๋าหนัก บริจาคกันคนละกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อคนต่อปี
.
แต่ก็ใช่ว่าทั้งหมดจะไม่มีปัญหา ดร.แมกซ์ มัลเซอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของ German Donation Council บอกว่า ปัญหาสำคัญในอนาคตก็คือ คนรุ่นใหม่ และคนอายุน้อยนั้น เริ่มบริจาคกันน้อยลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ คนกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาคกลุ่มใหญ่ที่สุด ก็เริ่มบริจาคน้อยลง
.
แล้วหน่วยงานอะไรที่ผู้บริจาคบริจาคเข้ากันมากที่สุด?
.
เริ่มจากการบริจาคช่วยเหลือด้าน ‘มนุษยธรรม’ คิดเป็น 76% ของการบริจาคทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นด้านเหตุการณ์ภัยพิบัติและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ตามมาด้วยองค์กรด้านเด็กและเยาวชน การศึกษา องค์กรดูแลสัตว์ และการทำนุบำรุงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
.
นอกจากนี้ ระบบการบริจาคเงินเข้าสู่องค์กรการกุศลยังเป็นส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจเยอรมัน โดยมีมูลนิธิและองค์กรรับเงินบริจาคมากกว่า 2-4 หมื่นแห่ง รวมถึงยังมีกลุ่มองค์กร-สมาคมมากกว่า 6 แสนแห่ง โดยองค์กรการกุศลเหล่านี้นับเป็นส่วนสำคัญด้านเศรษฐกิจและสังคมของเยอรมนี
.
อย่างไรก็ตาม องค์กรการกุศลในเยอรมนีนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด โดยไม่สามารถ ‘สะสมรายได้’ และต้องดำเนินการตามเป้าหมายอย่างไม่เห็นแก่ตัว (selbstlos) มีวัตถุประสงค์เฉพาะ (ausschließlich) และต้อง ‘ดำเนินการโดยตรง’ (unmittelbar) อีกทั้งผู้ที่ทำงานในองค์กรเหล่านี้จะต้องไม่มีเงินเดือนหรือรายรับที่สูงเกินควร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อคงไว้ในแง่ของการ ‘ยกเว้นภาษี’ ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้
.
นอกจากนี้ องค์การกุศลยังต้องใช้เงินของตัวเองตามแนวทางที่เหมาะสม ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยมีการตรวจสอบบัญชีอย่างเคร่งครัด และต้องเบิกจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ภายในสิ้นปีที่สองหลังจากได้รับเงิน เช่น เงินที่ได้รับในปี 2018 ต้องใช้จ่ายภายในสิ้นปี 2020
.
ทั้งนี้ เว็บไซต์ German-way.com อธิบายว่า คนเยอรมันมักบอกตัวเองว่าเป็นคน ‘โอบอ้อมอารี’ แต่เมื่อเทียบกับ ประเทศอื่นในยุโรป พบว่าหลายประเทศยังบริจาคมากกว่า โดยเยอรมนีอยู่ในอันดับที่ 18 ของ CAF World Giving Index ประเทศที่บริจาคมากที่สุดในโลก ตามหลัง 3 ประเทศในยุโรป ได้แก่ ไอร์แลนด์ ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 สหราชอาณาจักร อันดับ 7 และเนเธอร์แลนด์ อันดับ 8 ในฐานะประเทศที่บริจาคมากที่สุดในโลก ที่น่าสนใจก็คือประเทศไทยนั้นติดอยู่อันดับ 10 ของโลก
.
ที่มา:
- https://efa-net.eu/.../2020-sees-germans-donate-more-but...
- https://www.german-way.com/how-generous-are-the-germans/
- https://uk.practicallaw.thomsonreuters.com/3-632-5987?transitionType=Default&contextData=(sc.Default)&firstPage=true
- https://www.dw.com/.../fewer-germans-are.../a-52627077
- https://www.britannica.com/place/Germany/Health-and-welfare
.
ภาพ: Getty Images