The Momentum
11h ·
ANALYSIS - การเมืองของ ‘กลุ่มทุน’
ความขัดแย้งในรัฐบาล
ปม ‘จะนะ’ ร้อนแรงกว่าที่คิด
.
หลังการสลายการชุมนุมของพี่น้องชาวจะนะในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ประเด็นเรื่องโครงการเมืองต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กลายเป็นที่สนใจของคนในสังคมอีกครั้ง เห็นได้จากแฮชแท็ก #saveจะนะ ที่ติดเทรนด์มาหลายวัน
.
สื่อมวลชนพยายามทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ประชาชนเหล่านี้กำลังเรียกร้องอะไร และจุดจบของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะออกมาในรูปแบบไหน
.
The Momentum ได้สรุปเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการที่มาจากรัฐบาลยุค คสช. การงอกใหม่ของจังหวัดที่ 4 ที่ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับชาวบ้าน ข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลประโยชน์ทับซ้อน และขั้นตอนการทำงานที่ทำให้กลุ่มเครือข่ายผู้ผลักดันประเด็นจะต้องตั้งคำถาม
.
1. ‘โครงการเมืองต้นแบบชายแดนใต้’ มรดกจากยุค คสช.
.
ย้อนกลับไปยังปี 2559 รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยหวังพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบโดยใช้ชื่อว่า ‘เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ โดยมีการปรับโครงสร้างดังนี้
-ปรับโครงสร้างใหม่ในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านอุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูป
-ปรับโครงสร้างใหม่ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้เป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยว
-ปรับโครงสร้างใหม่ในพื้นที่อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าและการส่งออก
.
แรกเริ่มมีแค่ 3 พื้นที่ แต่ในช่วงปี 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เซ็นอนุมัติเพิ่มพื้นที่อีกหนึ่งแห่งเข้าไปในโครงการ พื้นที่นั้นคือ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เพื่อปรับโครงสร้างใหม่ให้กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีทั้งศูนย์รวมและกระจายสินค้า โรงไฟฟ้า 3,700 เมกะวัตต์ ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติ ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานของคณะกรรมการบริหารโครงการ และมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ
.
โครงการดังกล่าวมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้ที่ตั้งคำถาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันโครงการดังกล่าวของพลเอกประยุทธ์ คือการเปลี่ยนป่าให้เป็นแหล่งรายได้ของนายทุนใหญ่หรือไม่ หรือมีการ ‘เข้านอกออกใน’ ของนักธุรกิจทั้งเรื่องที่ดิน และทรัพยากรในอำเภอจะนะหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีเสียงประท้วงของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของคนในท้องถิ่น เป็นโครงการที่ดู ‘เร่งรีบเกินไป’ ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 1.86 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องปรับโครงสร้างในพื้นที่กว่า 1.6 หมื่นไร่ แต่กลับแทบไม่ฟังเสียงของประชาชนว่าต้องการปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐหรือไม่
.
การตั้งคำถามทั้งจากนักวิชาการและประชาชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับกรณีในอำเภอจะนะ ที่จะกลายเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ ที่หลายฝ่ายมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่เท่าไรนัก แต่กลับมอบผลประโยชน์ให้กับนายทุนมากกว่า โดยบริษัทที่ถูกพูดถึงคือในกรณีนี้คือ บริษัท ทีพีไอโพลีพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ซึ่งมี ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีต ส.ว. และอดีตนายทุนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตรเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
.
2. การเคลื่อนไหวของ ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’
.
โครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถูกตั้งคำถามหลายเรื่อง ในเดือนกันยายน 2563 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผ่านสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา คัดค้านการแก้ไขผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วง เพื่อรองรับโครงการ ‘จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ และขอยืนยันการกำหนดพื้นที่สีเขียวตามผังเมืองเดิม
.
ข้อโต้แย้งที่ว่าเกิดขึ้นเพราะการกำหนดเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะขัดกับกฎหมายผังเมือง ที่ทับกับเขตที่ระบุว่าเป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม และหลังจากนั้นไม่นาน พื้นที่สีเขียวสำหรับทำการเกษตรถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงสำหรับทำอุตสาหกรรม จึงเกิดการประท้วงว่าผังเมืองเปลี่ยนสีได้อย่างไร และ ศอ.บต. เป็นผู้เปลี่ยนเองหรือไม่
.
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมองว่า การมีมติให้มีการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนหลายด้าน ในแง่ความเจริญ และจำนวนงานที่ยังไม่อาจการันตีได้ แต่สิ่งที่แน่นอนกว่าคือนิคมอุตสาหกรรมจะทำลายระบบนิเวศ ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสุขภาพของผู้คนในพื้นที่
.
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นขอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขั้นตอนที่มาที่ไปของโครงการว่าถูกต้องหรือไม่ รวมถึงให้ตรวจสอบเรื่องข้อพิพาทและการออกโฉนดที่ดินระหว่างชาวบ้านกับบริษัท TPIPP
.
ขณะเดียวกัน ก็มีประชาชนบางส่วนจัดชุมนุมกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งดำเนินโครงการต่อไป เนื่องจากหวังว่าเมื่ออุตสาหกรรมจะนะแล้วเสร็จ คนท้องถิ่นจะได้กลับมาทำงานสร้างอาชีพยังบ้านเกิด โดยไม่ต้องดิ้นรนหาเงินในเมืองใหญ่
.
3. ‘ธรรมนัส’ เจรจากับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
.
ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ชาวจะนะและกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ปักหลักชุมนุมบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางรั้วลวดหนามและตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรม โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประสาน หวังรัตนปราณี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำพลเอกประวิตร ได้พบปะพูดคุยกับมวลชน แจ้งว่าทางรัฐบาลได้ส่งคนลงพื้นที่ไปยังอำเภอจะนะ เพื่อรับฟังข้อเสนอของประชาชน และเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะถูกรวบรวมและรายงานไปยังพลเอกประวิตร รวมถึงจะประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ชะลอการดำเนินการเอาไว้ก่อน
.
ผู้ชุมนุมจึงยอมย้ายจุดการชุมนุมไปยังริมถนนพระราม 5 และร่วมหารือกับตัวแทนของรัฐบาล จนสามารถพากลุ่มแกนนำไปพูดคุยต่อที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
.
หลังจากนั้น ร้อยเอกธรรมนัสได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า คาดว่าจะต้องชะลอโครงการไปก่อน จนกว่าจะหาข้อยุติที่แน่ชัดได้ มีหลายเรื่องที่จะต้องศึกษาหาข้อมูลใหม่ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ยังไม่สามารถตอบได้ในตอนนี้ ต้องให้หน่วยงานและคณะทำงานได้พูดคุยกันเสียก่อน
.
4. ครบ 1 ปี ชาวจะนะมาทวงถามถึงการแก้ไขปัญหา และถูกรัฐบาลสลายการชุมนุม
.
วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ชาวจะนะเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ปักหลักอยู่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เพราะเป็นเวลา 1 ปีแล้วที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์รับปากพี่น้องชาวจะนะว่าจะทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรม รับปากว่าจะศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แต่วันคืนผ่านไปยังไม่มีความคืบหน้า ประชาชนจึงเดินทางมาเพื่อขอคำตอบจากรัฐบาล
.
ข้อเรียกร้องของพวกเขามี 3 ข้อ คือ
- รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่
- รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
- ระหว่างนี้รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อหนึ่งและข้อสองจะแล้วเสร็จ
.
แต่เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) นำกำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ควบคุมตัวแกนนำและชาวบ้านออกจากพื้นที่ด้วยรถควบคุมผู้ต้องหา
.
ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแถวเพื่อกันสื่อมวลชนและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องให้อยู่บนทางเท้าฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับใช้ไฟส่องไปยังสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้สามารถบันทึกภาพการสลายการชุมนุมได้
.
การสลายการชุมนุมทำให้แฮชแท็ก #saveจะนะ ขึ้นเทรนด์ความนิยมอันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ทันที เนื่องจากรายงานสดของนักข่าวภาคสนามสำนักข่าวต่างๆ แสดงให้เห็นว่ามีการฉุดกระชากผู้ชุมนุม มีการส่องไฟที่ทำให้เก็บภาพไม่ได้ และเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่าจับผู้ชุมนุมไปที่ไหน กว่าจะรู้รายละเอียด เวลาก็ล่วงเลยไปถึงช่วง 22.00 น. จึงได้ทราบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมผู้ชุมนุม 36 ราย แบ่งเป็นหญิง 30 ราย ชาย 6 ราย โดยควบคุมตัวไว้ที่สโมสรตำรวจ (บช.ปส.)
.
เวลา 01.52 น. เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตข้อความว่า “คืนที่ผ่านมาชาวบ้านจะนะถูกแจ้งข้อหาผิด พรก.ฉุกเฉิน เช้านี้ติดต่อเจรจากับรัฐบาล แต่การเจรจาไม่เป็นผล ซ้ำแจ้งข้อหาชาวบ้านเพิ่ม ก่อนจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวแบบมีเงื่อนไข การที่รัฐบาลสับปลับไม่มีสัจจะทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านเช่นนี้ไม่เป็นผลดีเลย ชาวจะนะพวกเขาแค่มาทวงคืนสัญญา” โดยเธอเดินทางไปยังสโมสรตำรวจเพื่อใช้สิทธิในการประกันตัวกับผู้ชุมนุม
.
การสลายการชุมนุมในครั้งนี้ ผู้ชุมนุมถูกตั้งข้อหาร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่มีประกาศ ร่วมกันกระทำการปิดกั้นทางหลวง หรือกระทำด้วยประการใดๆ บนทางหลวง ในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล
.
5. การย้ำจุดยืนของชาวจะนะ แม้ถูกสลายอีกกี่ครั้งก็จะสู้ต่อ
.
วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ช่วงสาย หลังจากกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นถูกสลายการชุมนุมเมื่อคืนก่อนหน้า ไครียะห์ ระหมันยะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเยาวชนประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นลูกหลานของผู้ถูกจับกุมในการชุมนุม อ่านแถลงการณ์หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมีใจความว่า การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งถูกกลุ่มรัฐบาลทำร้าย ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลเลือกปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุน แทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของแผ่นดิน เรียกร้องให้คนใต้และคนในภูมิภาคอื่นๆ ลุกขึ้นต่อสู้ และประกาศจุดยืนว่า แม้จะต้องถูกสลายการชุมนุม หรือถูกจับกุมอีกกี่ครั้ง ชาวบ้านก็จะยังคงสู้ต่ออยู่ดี
.
“สิ่งที่เราไม่เคยเห็น วันนี้ก็ได้เห็นแล้วว่า กลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจรัฐขณะนี้ เข้ามาเพียงเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเอง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนสำคัญว่า ถ้าแผ่นดินของประเทศนี้จะรอด เป็นหน้าที่ของผู้ประชาชนผู้ปกป้อง รัฐไว้วางใจไม่ได้ คนจะนะมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน แต่คนที่ถืออำนาจรัฐกลับทำหน้าที่ปกป้องกลุ่มทุน เมื่อคืนที่ผ่านมา ผู้ปกป้องกลุ่มทุนจึงทุบทำลายผู้ปกป้องแผ่นดิน นี่คือภาวะของประเทศไทย
.
“ปีที่แล้ว เราทำเอ็มโอยูไว้กับร้อยเอกธรรมนัสจริง แต่ในสัญญานี้เราทำร่วมกับรัฐบาล ไม่ได้ทำโดยบุคคล ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม รัฐบาลเซ็นมั่วกันไปหมด เซ็นไปแล้ว เซ็นทิ้งๆ ขว้างๆ โดยไม่รับผิดชอบอะไรสักอย่าง พวกเราจะสู้จนกว่าจะมีการยุติโครงการอุตสาหกรรมนิคมจะนะ และทำตามข้อเรียกร้องที่ได้ทำกันไว้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว
.
“เราขอยืนยันแม้จะถูกจับกุมอีกกี่ครั้ง เมื่อออกมาแล้วก็จะกลับมายังทำเนียบฯ เหมือนเดิม เราไม่ไปไหน แม้จะถูกทำลายจากกลุ่มอำนาจสักกี่ครั้งก็ตาม ภารกิจนี้ขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เราเชื่อว่าผู้ปกป้องต้องชนะ ผู้ทำลายแผ่นดินปกป้องกลุ่มทุนจะต้องพบกับวิบัติ เราจะยืนหยัดต่อไปจนถึงที่สุด”
.
6. ท่าทีของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า
.
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพะเยา และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวจะนะถูกสลายการชุมนุม
.
“หลังจากที่ผมพ้นจากการเป็นตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ผมไม่สามารถสานงานต่อเรื่องปัญหาของพี่น้องประชาชนในหลายๆ เรื่อง รวมถึงปัญหาของพี่น้องชาวจะนะ ซึ่งคงไม่มีใครรู้ และเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหา ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้ ผมได้รับการประสานจากเพื่อนๆ ส.ส. หลายท่าน ให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะเหมือนเดิม แต่ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมไม่สามารถไปก้าวล่วงกับคณะทำงานชุดใหม่ของรัฐบาลได้อีก ผมยังเป็นห่วงพี่น้องชาวจะนะ และผมจะใช้ระบบสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาวจะนะต่อไปครับ”
.
ขณะที่พลเอกประวิตรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม ‘กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น’ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ โดยทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่ทางกลุ่มดังกล่าวรีบร้อนเกินไป เรื่องนี้ต้องถามประชาชนทุกฝ่าย
.
ขณะที่พลเอกประยุทธ์ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เคยตกลงเรื่องที่ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ตกลงกับเครือข่ายจะนะ พร้อมกับกล่าวว่า ไม่ว่าเรื่องอะไร หากไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ห้ามไปรับปาก
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการย้อนกลับไปดูเอกสารราชการ ก็มีข้อค้นพบภายใต้เอกสารคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 20/2564 ลงวันที่ 27 มกราคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ‘สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ในเอกสารฉบับนี้มีการระบุชื่อของร้อยเอกธรรมนัส ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และใจความสำคัญที่ว่า ครม. รับทราบเรื่องแล้ว
.
“คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 รับทราบรายงานผลการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รับรายงานผลการหารือดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยด่วนและนำเสนอการหารือดังกล่าวต่อไป”
.
เอกสารดังกล่าวฯ มีลายเซ็นของนายกรัฐมนตรีปรากฏชัดเจน เท่ากับว่า ‘ไม่ตรง’ กับการชี้แจงครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าไม่เคยตกลงเรื่องเครือข่ายจะนะ หรือการที่บอกว่าไม่ได้แต่งตั้งให้ธรรมนัสเป็นตัวแทนของรัฐบาลไปเจรจากับกลุ่มเครือข่ายจะนะ
.
ส่วน นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วงว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามว่า เขาเป็น ‘ผู้กินรวบ’ ที่ดินบริเวณนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แล้วเอาไปขายต่อให้นายทุนหรือไม่ โดยนิพนธ์ตอบกลับมาว่า “การรวบรวมที่ดินหลายคนที่ทำก็เป็นสิทธิของเขา ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ถามผม ผมก็เห็นด้วย”
.
7. เหล่า ส.ส. ตั้งคำถามในรัฐสภา
.
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ณ รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี ชวน หลีกภัย เป็นประธานการประชุม แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตอนนี้เธอและเพื่อน ส.ส. ชายแดนใต้ ได้รับเรื่องจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมาตั้งแต่สิงหาคมปีที่แล้ว และติดตามเรื่องนี้มาเรื่อยๆ แต่กลับเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมในคืนวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ทั้งที่ประชาชนเดินทางมาจัดการชุมนุมอย่างสันติ เพียงเพื่อทวงถามข้อตกลงที่ไม่มีความคืบหน้า ด้าน พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านและกลุ่มเครือข่ายฯ
.
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน เธอเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือร้องเรียนจากเครือข่ายฯ พวกเขาไม่ทราบว่ามีบางอย่างทางการเมืองระหว่างร้อยเอกธรรมนัส ที่ตอนนี้เป็นอดีตรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง ประชาชนรู้สึกว่าพวกท่านทั้งหมดคือรัฐบาล และรัฐบาลต้องมีหน้าที่แก้ปัญหา ดังนั้นนายกฯ จะปัดความรับผิดชอบให้คนอื่นไม่ได้
.
ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเอ่ยถึงนายกฯ ว่า การใช้กำลังสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ การมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำได้ เนื่องจากทำเนียบฯ เป็นที่ทำงานของนายกฯ เหตุใดประชาชนผู้เป็นเจ้าของภาษีจึงเข้าใกล้ทำเนียบฯ ไม่ได้ และเรียกร้องให้นายกฯ ที่เป็นผู้ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย
.
8. ชาวจะนะประกาศปักหลักสู้จนกว่านายกฯ จะรับฟังเสียงประชาชน
.
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นราว 30 คน ร่วมแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ที่เน้นย้ำว่าพวกเขาจะไม่กลับบ้าน จะปักรออยู่ที่บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ (UN) จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล
.
“เราไม่ต้องการสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นข้ออ้างจับกุมและคุมขังพวกเราอีก เราต้องการใช้พื้นที่หน้ายูเอ็นสื่อสารให้สังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศรับรู้ถึงปัญหา และเพื่อเฝ้ารอแนวร่วมภาคใต้และภูมิภาคอื่นมาสมทบ”
.
เวลาประมาณ 23.00 น. มีรายงานว่ารถน้ำของกทม. ได้ฉีดน้ำใส่มุ้งของชาวบ้านจะนะที่ปักหลักอยู่หน้าสำนักงานยูเอ็น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้ออกมาแถลงถึงการกระทำในครั้งนี้
.
การจัดการเรื่อง ‘จะนะ’ มีความซับซ้อน ทั้งเรื่องการเมืองของกลุ่มทุน การเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล และการ ‘ต่อรอง’ ในช่วงเฮือกสุดท้ายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ โดยมีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเป็น ‘เหยื่อ’ ในความซับซ้อน และความอลเวงหลายระดับ
.
ตอนนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะยังคงไม่ถึงจุดยุติได้ง่ายๆ ประชาชนยังคงปักหลักประท้วงต่อ ขณะที่ทางรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาชี้แจงและให้ความชัดเจนถึงแนวทางการแก้ปัญหา หรือจะมีการเจรจาใดๆ กับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องในกรณีดังกล่าวนี้
.
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
ภาพ: เจมส์ วิลสัน/ Thai News Pix