วันจันทร์, ธันวาคม 13, 2564

อยากรู้จักเธอ ทราย “แม่ยกแห่งชาติ” ดีขึ้น อ่าน...


มนุษย์กรุงเทพฯ
December 9 at 12:12 AM ·

“เราไม่ได้โตในบ้านที่เป็นการเมืองเลย พ่อเป็นนักแสดงและผู้กำกับ เขาเลยมีหนังสือนิยายไว้สำหรับเขียนบท ของฟุ่มเฟือยที่เราเข้าถึงได้ในวัยเด็กคือ หนังสือ เราอ่านนิยายของ ทมยันตี แทบทุกเล่ม สนุกมาก (เน้นเสียง) พ่อเป็นผู้กำกับหนังคู่กรรม เราเลยเห็นในมุมคนทำโปรดักชั่นมากกว่าอินกับความรักของทหารญี่ปุ่นกับผู้หญิงไทย จิตสำนึกในเชิงสังคมมาเกิดขึ้นจากการอ่าน คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ อ่านตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม เห็นภารโรงมีมิติกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้การเมืองมากขนาดนั้น จริงๆ เรารู้สึกใกล้ชิดกับการเมืองจากเพลงเลือกตั้งในทีวีด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เห็นดารานักร้องมาชวนคนไปเลือกตั้ง
“เราเห็นความแตกต่างของ ‘เมือง’ และ ‘ต่างจังหวัด’ จากการไปอยู่บ้านตายายที่อ่างทองในวันหยุด การวิ่งเล่นที่ทุ่งนาก็สนุกแหละ แต่ถามว่าให้ไปอยู่ตลอดเลยเอาไหม ก็ไม่ ชีวิตที่นั่นลำบาก อากาศร้อน แมงเยอะ ไม่ได้โรแมนติกเลย เราเคยวิ่งตามว่าวแล้วล้มเข่าแตก ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็ไปหาหมอแล้ว แต่ตอนนั้นไม่ได้ไปเพราะไม่มีรถยนต์ ต้องทายาหม่องแล้วทนเจ็บไป พอวันหนึ่งมีนโยบายกองทุนหมู่บ้าน น้าของเราไปดาวน์กระบะ นั่นคือเดอะเบสต์ของบ้านนอกแล้ว เวลาได้ยินคนในเมืองพูดว่า ‘พอมีเงินก็ใช้กับอะไรแบบนี้’ เราคิดในใจว่า ‘มีรถกระบะโคตรดีเลยนะ’ เพราะเรายังมีภาพที่ตัวเองล้มเข่าแตกอยู่
“เวลาขับรถจากกรุงเทพฯ ไปอ่างทางแล้วต้องผ่านสุพรรณบุรี เรารู้สึกได้เลยว่า ถนนที่สุพรรณดีมาก คนในกรุงเทพฯ ก็มีข้อโต้แย้ง ‘เขาทำให้แค่นี้ก็เลือกเข้ามาแล้ว’ สิ่งที่เราคิดคือ ‘ถ้าเลือกแล้วได้ถนนดีแบบนี้ ทำไมถึงไม่เลือกล่ะ’ เรารู้สึกว่าการเลือกตั้งแล้วได้คนที่ทำตามสัญญา มันตรงไปตรงมา ตอนนั้นสิ่งที่เราคาใจคือ ทำไมคนในกรุงเทพฯ ต้องคิดว่าคนต่างจังหวัดโง่ด้วย ถ้าเขาเลือกใครแล้วชีวิตมีความสุข มันจะไม่ดีได้ยังไง ตอนนั้นคุณทักษิณเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ เราอายุถึงเลือกตั้งได้พอดีก็เลือกเขา พอเอาไปเล่าให้พ่อฟัง เขาไม่ได้แสดงความเห็นอะไร แค่บอกว่า ‘เขาเคยซื้อหนังของพ่อไปฉายด้วย’
“ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2535 พ่อเคยบรีฟให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้ทางลัด ไม่ตรงไปตรงมา แต่เราไม่ได้คิดอะไรหรอก แค่ดีใจที่จะได้หยุดเรียน (หัวเราะ) พอช่วงปี 2549 เราเห็นข่าวว่ามีการชุมนุมของพันธมิตร เห็นดาราบางคนออกไปร่วม โดยรวมเราไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้สนใจมาก ดาราไม่คุยเรื่องแบบนี้กันด้วย เราก็สลิ่มคนหนึ่งแหละ ช่วงนั้นเราอยู่ในกองถ่ายนเรศวร นักแสดงในเรื่องคือทหารจริง อยู่ๆ ก็ไม่มีทหารเลย นักแสดงถ่ายได้แต่ฉากเล็กๆ พอรู้ว่าเกิดการรัฐประหาร เรารู้สึกเลยว่า ‘อีกแล้วเหรอวะ’ แต่คิดว่าคงไม่นานหรอก ไม่ได้คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อถึงปัจจุบัน
“ขณะที่เราอ่านนิยายของทมยันตี อ่านของคึกฤทธิ์ ปราโมช เราก็อ่านกรณีสวรรคต ร.8 อ่านฟ้าเดียวกัน เคยเอาไปอ่านในกองถ่ายนเรศวร ท่ายมุ้ยยังมาบอกว่า 'อ่านอะไร เอามาให้กูอ่านบ้าง เขาด่าอะไรกูเนี่ย' (หัวเราะ) แต่เราอ่านอะไรแบบนั้นอย่างเป็นสุข เพราะท่านมุ้ยไม่มาอะไรกับเรา ถ้าแซวก็พูดกันส่วนตัว เขาเคยพูดเล่นๆ ด้วยว่า 'ทำไม ไม่ชอบกูเหรอ' (หัวเราะ) เราทำงานกับทหารทุกชั้นยศ คนในกองถ่ายนเรศวรเฟรนด์ลี่มาก แต่เวลาผ่านไป ผู้คนเริ่มตัดสินกันด้วยเรื่องการเมือง ถ้าจะต้องโดนวัด สมัยนั้นเราคงเป็นเสื้อแดง แต่เราไม่ได้สนใจมาวัดตัวเอง เพราะไม่คิดว่าเรื่องนี้มีผลต่อการทำงาน
“นอกจากงานแสดงแล้ว เราเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารต่างๆ ด้วย ช่วงนั้นมีการใช้ 112 (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) กับคนจำนวนมาก ในใจเราคิดว่า ถ้ากฎหมายมีปัญหาอะไรก็ควรคุยกันได้ พอพี่ในวงการนักเขียนมาชวนลงชื่อรณรงค์แก้ไขกฎหมาย เราก็ตอบรับ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่นึกว่าคนจะตีฟูเอาเป็นเอาตายขนาดนี้ เราเป็นดาราที่ไม่มีภาพการเมืองมาก่อน ถ้ามีก็พูดในแง่เห็นอกเห็นใจผู้คน แต่การลงชื่อนั้นทำให้เราโดนด่าเยอะมาก ดาราล้มเจ้า เปลี่ยนนามสกุลเป็นชินวัตรไหม บางคนขู่ถึงแม่ถึงน้อง พ่อของเราเพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน เราเป็นหัวหน้าครอบครัวที่งงว่า เกิดอะไรขึ้นวะเนี่ย
“พอเราโทรหาพี่ที่ชวนให้ลงชื่อ เขาแนะนำให้ถอนตัว ทุกคนก็เห็นด้วย เราเลยถอนตัว เหตุผลในการถอนตัวคือ 'เข้าใจจุดประสงค์ผิดค่ะ ไม่ได้คิดว่าการลงชื่อคือ ล้มล้าง แค่อยากให้เกิดการพูดคุย ถ้าทุกคนคิดแบบนั้น ขอถอนชื่อค่ะ' เรารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ล้มเหลวเหี้ยๆ ตกลงมันพูดไม่ได้ใช่ไหม เราประเมินความจริงจังของทุกคนผิดไป หลังจากนั้น Voice TV มาชวนไปจัดรายการ Divas Café เราตอบตกลงเพราะพิธีกรคืองานที่เราทำมาตลอด สิ่งที่เราพูดคือเรื่องเรื่องทั่วๆ ไปเลย แต่พอเป็นช่องที่เชื่อมโยงกับคุณทักษิณ เราก็โดนด่าอีก บางคนพยายามพุ่งมาเปลี่ยนให้เรากลับไปเป็นเด็กน่ารักในสายตาเขาอีกครั้ง
“ช่วงแรกที่มีการชุมนุมของ กปปส. เราเกิดอุบัติเหตุรถชน เพจไหนมีข่าวเรา คอมเมนท์หนึ่งพันคน ก็ด่าเกือบหมดนั่นแหละ เคยมีนักข่าวทีวีช่องหนึ่งเปิดประตูห้องโรงพยาบาลเข้ามาพร้อมกล้อง เราก็เหวอ ตอนนั้นกำลังรอผ่าตัดคอ เราโดนยาแก้ปวดจนเบลอ พยาบาลพยายามจะเข้ามาห้าม แต่ก็ลังเลว่าคนไข้นัดมาหรือเปล่า พอนักข่าวถามว่า มีประเด็นแบบนั้นแบบนี้ อยากบอกอะไรไหม เราจำได้ว่าพูดอะไรโง่ๆ ออกไปว่า ‘อยากนอนค่ะ’ พอพยาบาลดูออกว่าไม่ใช่ถึงมาพานักข่าวออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นช่วงนั้นเลวร้ายมาก เราไม่เคยโกรธอะไรแบบนี้ เป็นความรู้สึกแผดเผา ในใจเป็นคำว่า 'เหี้ยอะไรนักหนา' 'ควยไรสัส'
“พอถึงวันเลือกตั้ง (2 กุมภาพันธ์ 2557) เราอยู่กับเพลงเลือกตั้งมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าเลือกตั้งอะไรก็ไปตลอด เพราะมันอยู่ใกล้บ้าน ทำไมปีนี้ถึงเลือกไม่ได้วะ เราใส่แจ็คเก็ตสีแดงของวง Fall Out Boy ออกไปเลือกตั้ง ชื่ออัลบั้มคือ Folie à Deux แปลว่า ความเพี้ยนแบบรวมหมู่ พอข่าวออกมาก็โดนด่ายับอีก (หัวเราะ) ตอนนั้นเราไม่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรผิดเลย เรื่องอุบัติเหตุไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย แต่คนจำนวนมากแช่งให้เราตาย เราเคยใส่รองเท้าสีเหลืองมาจัดรายการ Divas Café ก็โดนด่า เฮ้ย มันคือสี ใส่ได้ดิวะ ดังนั้นปัญหาคือ เมื่อมึงคิดว่ากูล้มเจ้า ไม่ว่ากูจะทำอะไร กูก็กลายเป็นคนล้มเจ้าได้ทั้งนั้น
“เราเคยไปงานเปิดตัวนเรศวรในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง มีเซเล็บมาขอเราถ่ายรูปคู่ เราชอบเขา ตอนนั้นดีใจที่เขามาขอถ่ายรูป ถ่ายเสร็จเขาก็ลงไอจี แต่วันเดียวกันเลย เขาโดนคนด่าจนต้องมาขอลบรูปออก (เงียบ) เราเลยขอโทษเขาไป พูดแล้วก็คิดต่อว่า 'กูขอโทษเรื่องอะไรวะ' เรากับเขาไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน มันเศร้ามากนะ นี่กูน่ารังเกียจถึงขนาดทำคนอื่นแปดเปื้อนเลยเหรอ ปัญหาคือการที่กูมีชีวิตเหรอวะ ตอนนั้นเราป่วยเป็น PTSD (Post-traumatic Stress Disorder-ภาวะเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ) ชีวิตเละเทะมาก เราอยู่บนโลกโดยรับรู้แล้วว่า การมีอยู่ของกูสร้างความระคายเคืองใจคนเยอะมาก
“ช่วงนั้นคอมฟอร์ทโซนของเราคือ บ้าน หนังสือ และอะไรก็ได้ที่ไม่เจอคน เรามีเพื่อนที่รู้จักกันผ่านเฟซบุ๊ก เขามาชวนเราไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ หลังจากเกิดอุบัติเหตุ เรานั่งรถไกลไม่ไหว เขาก็ชวนให้นั่งรถระยะทางไกลไปด้วยกัน สิ่งเหล่านั้นดีมากๆ และมันช่วยมากๆ อาชีพแบบเราคงเลี่ยงคำด่าไม่ได้ บางช่วงเราเถียง บางช่วงเราปล่อย เราโดนด่ามาเป็นสิบปี เขาเปลี่ยนเราไม่ได้ ถ้าเราไปด่ากลับ ก็คงเปลี่ยนเขาไม่ได้เหมือนกัน งั้นไม่เริ่มดีกว่า เสียเวลา เปลืองเน็ต (หัวเราะ) เฟซบุ๊กเรามีเพื่อนน้อยมาก คัสตอมไปอีก ถ้ามีเรื่องไหนที่สนใจร่วม เราเข้ากลุ่มงานบ้าน เครื่องสำอาง แมวหมา คุยแค่นี้พอแล้ว
“เราเคยไปโรงพยาบาลแล้วเจอคนมาบอกว่า ‘อยากมาขอโทษ’ ตอนนั้นคิดในใจว่า ‘ไม่ได้แกงกันใช่ไหม’ (หัวเราะ) เขาบอกว่า ‘เราเคยเป็นหนึ่งในคอมเมนท์ที่ด่า ด่ามานานมาก ตอนนี้เข้าใจคุณทรายมากขึ้น’ เขาร้องไห้ เราก็จะร้องไห้ มันใช้เวลานานจริงๆ นะ เราไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนรักอยู่แล้ว เฟซบุ๊กของเราให้เพื่อนและเพื่อนของเพื่อนคอมเมนท์ได้เท่านั้น เพื่อนตั้งต้นของเรามีไม่เยอะ ทำให้ไม่ค่อยมีคำด่าแล้ว เราไม่ได้ไปตามในพื้นที่อื่นด้วย คงมีคนอยากด่าอยู่แหละ ถ้าคุณอยากแคปอะไรเกี่ยวกับเราไปด่าในไลน์ส่วนตัว ไลน์ครอบครัว ไลน์หมู่บ้าน เอาเลย ถ้าใครเห็นก็ไม่ต้องส่งมานะ ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากรู้
“เราไม่เห็นด้วยกับการล้อมปราบปี 2553 ไม่เห็นด้วยกับการ Big Cleaning Day ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เราแสดงออกประมาณหนึ่ง แต่มันอาจยังไม่ชัดเจนมาก พอวันหนึ่งเราออกมาชัดเจน คนเสื้อแดงที่เคยโดนยิงกลางเมือง หลายคนคงรู้สึกว่า ‘มีคนเห็นเขา’ วันนี้มีดาราออกมาแล้ว หลายครั้งที่มีป้ามาขอกอด เราเจอผู้คนลูบหลังลูบไหล่ จริงๆ เราโคตรจะไม่สำคัญเลย แค่เขาให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของเรา เรามองว่าตัวเองเป็นแค่มวลชน เป็นจำนวนนับหนึ่งในม็อบ เพราะนอกจากเวลานั้น เราก็มีชีวิตด้านอื่นด้วย มีการงานที่ต้องรับผิดชอบ มีปัญหาของตัวเองที่ต้องรับมือ
“งานของเราหายไปเพราะเรื่องการเมืองพอสมควร แต่ขณะเดียวกัน เราก็ได้รับเลือกให้ทำงานเพราะการเมืองด้วย แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองสำคัญขนาดนั้นตั้งแต่แรกแล้ว ต่อให้คุณหายใจอยู่ในครอบแก้ว อยู่เงียบๆ ไม่แสดงออกอะไรเลย ก็วัดอะไรไม่ได้หรอก ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า ปริมาณงานที่มีจะเท่าเดิมไปตลอดกาล เคยมีคนมาพูดกับเราเลยว่า 'หนูเสนอชื่อพี่ไปหลายรอบแล้วนะคะ แต่สุดท้ายเจอบอร์ดตีตกตลอดเลย' โอเค แบบนี้วัดได้ว่าเกิดผลกระทบจากเรื่องการเมือง แต่ถามหน่อยว่า ถ้าเราไม่ทำแบบที่ทำอยู่ ไม่ออกมาชัดเจนแบบนี้ มีอะไรการันตีไหมว่างานจะเยอะ ก็ไม่มี
“เป้าหมายชีวิตของเราคือการได้ทำงานไปเรื่อยๆ ช่วงนี้เขียนงานไม่ค่อยได้เพราะหยุดยา แต่ไม่เป็นไร ได้แค่นี้ก็แค่นี้ สิ่งที่อยากได้ที่สุดคือประกันสุขภาพ (หัวเราะ) เมื่อก่อนกินยาแล้วซื้อไม่ได้ เราเป็นอะไรไปก็ไม่อยากให้น้องเดือดร้อน เรามีความสุขกับการดู Netflix ที่ไลฟ์โค้ชไม่เห็นด้วย อยู่กับแมว อยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางและกลุ่มงานบ้าน แชร์ข่าวหรือพูดสิ่งที่คิดออกมาบ้าง เราไม่ได้คาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นตอนไหน เกิดหรือไม่เกิดไม่ได้เพราะเราทำ เราเป็นแค่เส้นบางๆ ในกระแสของปลายทางที่มีอยู่แล้ว มันเริ่มต้นแล้ว คนรู้กันแล้ว คุณกด Undo ไม่ได้หรอก ยังไงการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น”
[1/2]


มนุษย์กรุงเทพฯ
December 10 at 12:12 AM ·

“คนเป็นดารามีความเป็นกระโถนอยู่ประมาณหนึ่งเลย หลายคนคิดว่า ‘บุคคลสาธารณะต้องโดนวิจารณ์ได้’ ซึ่งความคิดแบบนั้นก็ฝังอยู่ในตัวดาราด้วย เมื่อก่อนเราโดนด่าแล้วรู้สึกตัวเล็ก (ทำเสียงเล็กแล้วเน้นเสียง) บอกตัวเองว่า ‘เขาก็มีสิทธิพูดแหละ’ ความเป็นเราอยู่ในโพสิชั่นที่น่าด่า คือเป็นลูกดารา หน้าตาไม่สวย คงเป็นเด็กเส้นแหละ อีกทั้งความคิดและแอตติจูดของเราอาจน่าหมั่นไส้ด้วย เวลานักข่าวถามอะไร ถ้าเราไม่รู้ก็ตอบไปตรงๆ ว่า 'ไม่รู้ค่ะ' เคยมีนักข่าวถามว่า 'อยากบอกอะไรคนที่ด่าไหม' เราก็ตอบว่า 'ไม่ได้อยากบอกอะไรค่ะ' ท่าทีและคำพูดแบบนั้นเหมือนเราไม่แยแส ยิ่งเป็นการจุดไฟใส่คนด่าเพิ่มอีก แต่จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น แค่ไม่รู้จะตอบอะไร เป็นคนไม่มีระบบประมวลผลว่า ตอบคำถามยังไงคนถึงจะถูกใจ
“คำด่าที่เราไม่ชอบและคงไม่มีใครชอบ คือการด่าพ่อด่าแม่ มันไม่ใช่แค่อันเดียว แต่มีเป็นร้อยเป็นพันอัน พ่อของเรามีลูกหลายคน แต่เหมือนเราเป็นแบบนี้อยู่คนเดียว เคยมีคนพิมพ์ว่า 'ลูกหลายคนก็ต้องมีเหี้ยหลุดมาสักตัวแหละ' หลังจากพ่อเสียชีวิตแล้ว แม่คือคนที่โดนหนักมาก เพราะเขาเป็นสายตั้งต้นที่ผลิตเราออกมา แม่เป็นโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่อายุสามสิบ การโดนแบบนั้นคือแย่มาก แย่มากจริงๆ บางคนขู่เรา ขู่แม่ ขู่น้องว่า ‘อย่าให้เจอนะ’ เราเลยตัดสินใจแจ้งความกับตำรวจ ไม่ได้แจ้งแค่ครั้งเดียวด้วย แต่ก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนจำนวนมากยังบันเทิงกับการด่าเราและครอบครัว แม้แต่ในข่าวที่บอกว่า เราไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ก็ยังมีคนมาด่าอีกว่า 'มึงเหี้ยจริงจะมาแจ้งความอะไร'
“แม่ของเราเสียชีวิตเดือนตุลาคม 2562 ก็ยังมีคนหาเรื่องด่าได้อีก ความรู้สึกตอนนั้นคือ ‘เย็ดแม่! ด่าอะไรอีกวะ!’ เราเลยตัดสินใจฟ้อง ทีแรกลังเลด้วยนะ ดาราจะฟ้องคนวิจารณ์ได้เหรอ จนเพื่อนต้องบอกว่า ‘เขาไม่ได้วิจารณ์ที่มึงเป็นดารา ไม่ได้บอกว่าเล่นหนังไม่ดี เขาด่าแม่ ด่าหลายครั้งแล้ว แจ้งความก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เราฟ้องเพราะแบบนี้’ มันก็จริงว่ะ การไปศาลแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่แย่มาก ไม่ใช่แค่ต้องบอกศาลว่า เราโดนด่าว่าอะไร แต่ต้องอธิบายด้วยว่า คำนั้นแปลว่าอะไร เรารู้สึกเจ็บปวดยังไง ตอนแรกเราคิดว่าคงโอเค เพราะรู้สึกแย่ตอนอ่านมาแล้ว คงเหมือนอ่านบทไปทำการแสดง แต่พอต้องพูดออกมาดังๆ (เงียบ ถอนหายใจ) มันแย่มาก เลวร้ายมาก เราร้องไห้ออกมาเลย ต้องกลับมากอดแมวเติมพลังทุกครั้ง
“เรามีเรื่องให้ด่าเป็นล้านเรื่อง หน้าตาไม่สวย ผมแตกปลาย อีเสื้อแดง อีเปลี่ยนนามสกุล อีล้มเจ้า อีโง่ อีควาย เราอ่านแล้วรู้สึกไม่ดี แต่ไม่ได้ฟ้องคนแบบนั้น สิ่งที่เราฟ้องคือการด่าพ่อด่าแม่ หรือการพูดเรื่องไม่จริง เช่นบอกว่า 'ฉันได้ยินมาว่าอีทรายรับเงิน' มันคือเรื่องไม่จริง แล้วคุณจริงจังกับมันด้วย เราเรียกคนแบบนี้ว่า ‘พวกมะนาวโซดา’ รู้อะไรมาแล้วเลอะเทอะ เราไม่ได้ฟ้องดะไปเรื่อย มันคือคำที่เข้าเกณฑ์ฟ้องได้จริงๆ คู่กรณีหลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าเสียหาย เวลาเราเห็นแบบนั้นจะสงสัยว่า ชีวิตตัวเองก็ลำบาก ด่าไปทำไม ด่าแล้วชีวิตดีขึ้นไหม ก็ไม่ พอพูดแบบนั้น บางคนก็บอกว่า ‘งั้นก็อย่าไปฟ้องเขาสิ’ แต่คนเราก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำบ้าง คุณไม่ควรบอกว่า ‘อย่าไปฟ้อง’ แต่ต้องไปบอกพวกเขาว่า ‘อย่าไปด่า’ มากกว่า”
[2/2]
...