วันเสาร์, ธันวาคม 04, 2564

ทำไมระบบการศึกษาไทยถึงถีบเด็กคนหนึ่งออกมาได้ถึงสองครั้ง ปัญหามันอยู่ที่ตัวเธอเองหรือเป็นเพราะความจนและความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่เธอเกิด


The MATTER
13h ·

ใครจะไปคิด จากเด็กคนหนึ่งที่เคยเทินการศึกษาไว้สำคัญเหนืออื่นใด นั่งหน้าห้องทุกคาบ และท่องจำค่านิยม 12 ประการเป็นเข็มทิศ วันนี้ วิว - มุกริน ทิมดี อดีตนักเรียนคนหนึ่งในภาพยนต์เรื่อง School Town King หลุดจากระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมาถึง 2 ครั้งแล้ว
.
ครั้งแรก เธอลาออกจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพราะอาการป่วยไข้ของแม่ ครั้งที่สอง จากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี เพราะไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์
.
“ถ้ามีโอกาสกลับไปเรียน วิวจะไม่ทิ้งมันเลย” คือคำตอบถึงความหวังในการกลับไปเรียนต่อของเธอ
.
จากวันนั้นถึงวันนี้อดีตเด็กหน้าห้องคนเดิมเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ทำไมระบบการศึกษาไทยถึงถีบเด็กคนหนึ่งออกมาได้ถึงสองครั้ง ปัญหามันอยู่ที่ตัวเธอเองหรือเป็นเพราะความจนและความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่เธอเกิด
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ได้ที่:
https://thematter.co/.../interview-view.../161952
Photograph By Asadawut Boonlitsak
Illustrator By Waragorn Keeranan


(1) โตในสลัม
.
"คนในชุมชนที่วิวอยู่แทบทุกคนหาเช้ากินค่ำ และสมมุติเงินออกวันที่ 15 ก็ต้องไปยืมเงินเขามาใช้ก่อน แล้วพอเงินออกอยากจ่ายคืน มันก็คืนได้แค่ต้นไม่ได้คืนดอก ทีนี้ก็ต้องยืมใหม่ วนเป็นวัฏจักรอยู่แบบนี้"
.
นี่คือความเข้าใจเรื่องสภาพชุมชนที่เธอเติบโตขึ้นของ มุกริน ทิมดี หรือวิว หนึ่งในนักเรียน ที่อยู่ในเรื่อง School Town King ที่เติบโตในชุมชนล็อค 4-5-6 ของเขตคลองเตย เธออาศัยอยู่กับแม่ น้า พี่ชาย และพี่สาว รวมเป็น 5 ชีวิตในบ้าน ซึ่งทุกคนล้วนมีอาชีพหาเช้ากินค่ำ พี่ชายของเธอเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) พี่สาวทำงานพาร์ทไทม์ร้านพิซซ่า ขณะที่น้าเป็นแม่บ้านคอนโด ส่วนเธอและแม่ทุกวันนี้รับจ้างซักรีด
.
เธอเล่าว่าเพิ่งออกเครื่องซักผ้าใหม่ในราคาประมาณ 15,000 บาท โดยที่ลูกค้าของร้านเธอมักจะส่งผ้ามาเฉพาะในวันเสา-อาทิตย์ ทำให้ทุกวันสุดสัปดาห์ เธอจะเริ่มรีดผ้าตั้งแต่ช่วงเที่ยงวัน ก่อนลากยาวไปเสร็จอีกทีก็หลังเที่ยงคืน และตื่นขึ้นมาทำแบบนี้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น งานที่หนักหนากว่า 8 ชั่วโมง ทำให้เธอกับแม่มีรายได้ตกเดือนละประมาณ 8,000 กว่าบาท แต่กำไรจริงๆ ตกอยู่ประมาณเดือนละไม่ถึง 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งสำหรับเธอมันไม่ได้แย่นัก
.
“อาชีพที่วิวทำไม่มีชื่อเสียง ไม่เหมือนข้าราชการ แต่เราไม่อดตายอะ”
.
ตั้งแต่มี COVID-19 ระบาด ชุมชนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างไหม? เราถามคำถามนี้ขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปีชุมชนคลองเตย โดยเฉพาะบริเวณที่เธออยู่เผชิญกับการระบาดของไวรัสอย่างรุนแรง
.
“อย่างช่วงนี้โควิดใช่ไหม คนดีๆ ที่วิวเคยไหว้กลับกลายเป็นคนที่ถือถุงกาวอยู่ในสลัม วิวรู้สึกว่าเขาเครียด เพราะมันไม่มีงานให้ทำ รายรับไม่มี แต่รายจ่ายเข้ามาทุกวัน บางคนทำงาน 2 วันต่อสัปดาห์ แต่ข้าวมันต้องกินทุกวัน”
.
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สำหรับคนในสลัมของชุมชนคลองเตย ชีวิตที่ต้องกู้หนี้ยืมสินเงินในอนาคตมาจ่ายก่อนเป็นธรรมดามาก และแม้กระทั่งเธอเองที่วันนี้อายุต้น 20 ปีก็มีหนี้สินกับเขาแล้วเช่นกัน
.
“วิวจะบอกว่าทุกวันนี้เป็นหนี้อยู่ 15,000 บาท ดอกอีกก็เป็น 18,000 บาท ส่งหนี้วันละ 500 บาท แต่มันเป็นเงินหมุน บางคนถามว่าทำไมเป็นหนี้ตั้งแต่เด็ก ก็แม่เราไม่มีนี่ ถ้ามีก็คงไม่ต้องทำแบบนี้ และที่เรากู้มาก็เพื่อซื้อของที่มันจะเป็นพื้นฐานของชีวิตในอนาคต”
.
วิวหมายถึงเครื่อซักผ้าราคา 15,000 บาท และรถมอเตอร์ไซค์ฟีโน่ป้ายแดงที่เพิ่งถอยมาได้หนึ่งเดือน เพื่อใช้สำหรับส่งผ้าให้ลูกค้า


(2) จากที่หนึ่งของห้อง ถึงไม่มีที่เรียน
.
แต่ก่อนที่วิวจะกลายมาเป็นเจ้าของร้านซักผ้าอย่างเต็มตัวเหมือนทุกวันนี้ เธอเคยล้มลุกคลุกคลานกับการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยมาแล้วถึงสองครั้ง และเหตุผลที่เธอต้องออกมาทั้งสองครั้งล้วนวนเวียนอยู่กับความยากจน
.
“มหาวิทยาลัยมันมีค่าใช้จ่ายเยอะ ตอนนั้นเรียนไปได้หนึ่งเทอมแล้ว อาจารย์ก็บอกว่าต้องจ่ายค่าเทอมแล้ว ถ้าไม่จ่ายจะลงเรียนปี 2 ไม่ได้ แต่ตอนนั้นเงินมันหาไม่ได้เลย และอยู่ดีๆ แม่ก็ล้มป่วย วิวเลยตัดสินใจเดินออกจากห้องสอบเลยตอนนั้น หลังจากนั้นก็มาเริ่มต้นคำว่าซักรีด ซื้อของทำอาชีพนี้จนเป็นหลักเป็นแหล่งเลย”
.
หลังเรียนจบชั้น ม.6 วิวมุ่งตรงสู้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ภาควิชาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมเป็นระยะเวลาครึ่งเทอมที่เธอเล่าให้ฟังว่า “ตื่นเต้นและเหนื่อยมาก”
.
ตื่นเต้นในความอิสระเสรีของสถานะนักศึกษา ที่อนุญาตให้แต่งหน้า ทำผม แต่งตัว (ในชุดนักศึกษาหลากหลายทรง) ไปเรียนอย่างไรก็ได้ แต่เหนื่อยมาก ที่ต้องตื่นเช้าทุกวันในเวลาตี 5 เพื่อนั่งรถจากคลองเตยไปถึงหน้าปากซอยรัชดา 32 หรือบริเวณตรงข้ามศาลอาญา ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
.
แล้วทำไมไม่นั่ง MRT? เราถามเธอต่อ
.
“โห หนูเคยขึ้น MRT ไปครั้งหนึ่ง มันแพงกว่าเยอะนะพี่ ตอนนั้นหนูได้เงินไปวันละ 100 เอง มันก็ไม่เยอะ ” เธอพูดพลางนับนิ้วไล่ค่ารถไฟฟ้า MRT จากสถานีคลองเตยไปจนถึงสถานีลาดพร้าว หรือบุคคลทั่วไป 35 บาท/ รอบ นักศึกษา 32 บาท/ รอบ) เทียบกับค่ารถเมล์ 8 บาท/ รอบ ยังไม่นับค่ามอเตอร์ไซค์ที่ต้องนั่งต่อเข้าไปในมหาวิทยาลัยอีก พูดได้ว่าการเดินทางสองรูปแบบมีค่าใช้จ่ายห่างกันเกือบ 5 เท่าต่อวัน
.
แล้วทำไมไม่อยู่หอ? เรายังไม่ลดละความสงสัย
.
หนูคิดว่าอยู่หอมันต้องมีมัดจำ บางทีมัดจำตั้ง 10,000 กว่า เรายอมไม่อยู่ แล้วสู้เดินทางไปกลับดีกว่า แต่เรียนได้หนึ่งเทอมก็เข็ดเลยนะพี่ (หัวเราะ)” เหตุผลที่เธอให้ไม่ต่างจากคำตอบเรื่องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT
.
หลังจากที่เธอตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยครั้งแรก เธอก็กลับมาทำงานซักรีดที่บ้านเต็มตัว จนกระทั่งมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนใหม่ในปีต่อมา ความมุ่งมั่นและอยากเรียนหนังสือยังแรงกล้า ครานี้เธอโดดไปสมัครที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี รอบนี้การเรียนของเธอก็ต้องติดขัดอีกครั้ง และด้วยเหตุผลเดิมๆ คือความจน
.
“ตอนนั้นอยู่ๆ ก็อยากเรียนครู จริงๆ เพราะเห็นแม่ป่วยด้วยแหละ อาชีพนี้มันมีสวัสดิการรักษาแม่ได้ด้วยไง วิวก็เลยไปสมัครที่ราชภัฎธนบุรี อันนั้นก็ไกลมากอยู่แถวบ้านแขกอะ ค่าเทอมถูกลงมาหน่อย 8,700 แต่ก็แพงอยู่ดี ยังไม่ทันได้เรียนเลยนะ อาจารย์พูดขึ้นมาว่าหลังจากนี้เราต้องเรียนออนไลน์ โห หนูบอกอาจารย์เลยว่าหนูไม่มีอะไรเลย มีแค่โทรศัพท์เครื่องเดียว"
.
“ตอนนั้นหนูก็บอกครูเลยนะว่าครูคะ หนูไม่มีแท็บเล็ต ไม่มีไวไฟ ไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ)”
.
แฝงอยู่ในเสียงหัวเราะและน้ำเสียงที่สดใส คือแววตาที่เข้มแข็งและไม่ย่อท้อต่อความจน ซึ่งถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่นไม่ต่างจากรหัสพันธุกรรมที่กำหนดสีผมและสีผิว แต่แตกต่างตรงที่มันดูคล้ายเชื้อไวรัสที่ดึงให้ชีวิตด่ำดิ่งสู่ความยากลำบาก มากกว่าทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ
.
สำหรับเด็กจากชุมชนคลองเตยแล้ว การตัดสินใจไม่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก เพราะเงินที่ต้องใช้ทุกวันยังเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าทุกอย่าง
.
“เพื่อนหนูออกจากระบบการศึกษาเยอะมาก เพราะไม่มีตังค์เรียน จบ ม.6 ออกไปประมาณ 3-4 คน เขาก็คิดว่าทำงานดีกว่าได้ตังค์ อย่างวิวเอง ถึงใครบอกซักรีดมันหน่อมแน้มแต่ก็ทำจนออกรถขับได้แล้วคันนึง” ข้อมูลที่เธอให้คล้ายกับการประมาณโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ไทยมีเด็กกลุ่มที่หลุดจากการศึกษาไม่ว่าเพราะยากจน พิการ หรือปัญหาครอบครัวมากถึง 670,000 คน
.
วิวอยากให้มหาวิทยาลัยเรียนฟรี ตอนนี้ค่าเทอมมันสูง ค่าชุด ค่าหนังสือ ค่าเอยอะไรเอย จริงๆ แค่ตอนมัธยมปลาย ค่าเทอม 4,000 กว่าบาท มันก็ถือว่าแพงแล้วนะสำหรับวิว
.
เธอทิ้งท้ายถึงความลำบากในการเข้าถึงการศึกษาของคนจน ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะระดับมหาวิทยาลัย แต่มันยากลำบากตั้งแต่ระดับมัธยมปลายแล้ว

(3) ซับซ้อนปัญหาการศึกษาไทย
.
วิวเล่าว่า เธอเป็นที่หนึ่งของชั้นมาตลอดตั้งแต่ระดับ ป.1 - ม.3 เกรดอยู่ที่ประมาณ 3.8 เธอยอมรับว่าตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่เมื่อขึ้นสู่ระดับมัธยมปลายในโรงเรียนนนทรีวิทยา ทุกอย่างกลับต่างออกไปจากเดิม
.
“วันปรับพื้นฐานหนูไม่รู้เรื่องอะไรเลย นั่งงงอะ กะล่อมกะแล่มเหมือนเรือจะจมก็ไม่จมเลย (หัวเราะ) อย่างวิชาคณิตอาจารย์เขาสอนตรรกะศาสตร์ใช่มะ หนูก็ถามเพื่อนนะว่ารู้เรื่องไหม เขาบอกรู้เรื่องกันหมดเพราะได้เรียนมาตั้งแต่ตอน ม.3 เทอมปลายแล้ว แต่หนูนี่ไม่เคยเรียนเลย (หัวเราะ)”
.
ในช่วงระดับชั้น ป.1 - ม.3 วิวเรียนอยู่ในโรงเรียนใกล้บ้านที่สังกัด กทม. ที่มีชื่อว่าโรงเรียนชุมชนพัฒนา ก่อนย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนนทรีวิทยาในสังกัดของ สพฐ. โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนการสอนในโรงเรียนที่เธอเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เทียบกับโรงเรียนในระดับมัธยมปลายต่างกันราวฟ้ากับเหว เธอยกตัวอย่างให้ฟังถึงกรณีของครูพละในโรงรียนชั้นมัธยมต้น เทียบกับชั้นมัธยมปลาย
.
“ตอน ม.ต้น คาบพละนี่คือให้ลงมาข้างล่างนะ ไม่เห็นให้ทำอะไรเลย แต่พอหมดเทอมหนูได้เกรด 4 เฉยเลย (หัวเราะ) เหมือนว่าคาบนี้ถ้าเด็กไม่ดื้อ ไม่ซนก็พอ เดี๋ยวได้เกรด 4 เอง แต่ถ้าเทียบกับตอน ม.ปลายนะ อันนั้นมีทั้งให้ตีกอล์ฟ ให้ชู๊ตบาส ต้องชู้ตให้เข้าด้วยนะถึงจะได้คะแนน ยากเลยแหละ (หัวเราะ)”
.
"หรือตอนอยู่ที่โรงเรียนชุมชนวิชาคณิตศาสตร์ก็คือให้เช็คชื่ออย่างเดียว สั่งงาน และจะไปไหนก็ไป แต่ทีนี้ (โรงเรียนนทรีวิทยา) เรียนเต็มเวลา 50 นาที ถ้าออกไปก่อนถือว่าขาด"
.
เรียนไม่รู้เรื่องแล้วทำไง ได้เรียนพิเศษไหม? เรายิงคำถามไปต่อ
.
คอร์สเรียนพิเศษมันแพง ดูจากเฟซบุ๊กมันคอร์สละ 5,000 - 6,000 บาทเลย ขณะที่เรารีดผ้าเดือนนึงได้ 8,000 บาทเอง เสียดายตังค์ และมันเหมือนเสียเงินสองต่อนะ ทั้งที่เสียค่าเทอมให้โรงเรียนแล้ว มันก็ควรจะสอนให้รู้เรื่อง
.
เรื่องเล่าจากปากของวิวสะท้อนอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยคือ การเรียนการสอนที่ไม่สัมฤทธิ์ผลจนต้องผลักให้นักเรียนขวนขวายเรียนเพิ่มในสถาบันสอนพิเศษ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสของเด็กไทยที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนและไม่สามรถส่งลูกไปเรียนพิเศษเพิ่มได้ จนสุดท้ายส่วนหนึ่งนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษา (ไม่มีที่เรียน) และกลายเป็นแรงงามไร้ฝีมือ หาเช้ากินค่ำ วนเวียนเป็นวัฎจักรอยู่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด
.
“เวลาเราไปสมัครงานระหว่างคนที่จบปริญญากับ ม.6 เขาจะให้ค่าคนจบปริญญามากกว่า อย่างถ้าเราจะไปสมัครงานบริษัทดังๆ วุฒิ ม.6 กับปริญญา เขาก็ต้องรับคนหลังอยู่แล้ว แต่ถึงวิวจบแค่ ม.6 จริง แต่วิวมีงานทำอยู่แล้ว ใบปริญญามันก็ไม่สำคัญเท่าไหร่หรอก” จากน้ำเสียงเราไม่แน่ใจว่ามันเป็นคำปลอบประโลมสำหรับความฝันที่แตกสลายของตัวเอง หรือเธอคิดแบบนั้นจริงๆ


(4) ขอฝันใฝ่ในฝันไม่อาจเอื้อม
.
“หนูพูดจริงๆ นะ ความฝันหนูเปลี่ยนตลอดแหละพี่ (หัวเราะ)” หญิงสาววัย 20 ปีจากชุมชนล็อค 4-5-6 พูดถึงความหวัง ความฝัน และอนาคตกับเราผ่านโทรศัพท์ตั้งแต่เรายังไม่เคยเจอหน้ากัน และเรายังไม่ทันปริปากถาม
.
และเมื่อเจอกัน เธอถึงขยายความคำพูดว่า “ความฝันเปลี่ยนแปลงตลอด” ให้ชัดเจนขี้น
.
ฝันที่หนี่ง เธออยากจะทำให้ร้านซักผ้าของที่บ้านไปไกลกว่านี้ มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งอยู่ใต้คอนโดสักแห่ง เพื่อให้มีลูกค้าเยอะกว่านี้ หาเงินให้เธอและครอบครัวได้มากกว่านี้ ซึ่งเป้าหมายถัดไปหลังจากดาวน์มอเตอร์ไซค์ป้ายแดงสำหรับส่งผ้าและซื้อเครื่องซักผ้ารุ่นใหม่มาแล้วคือ เตารีดไอน้ำ ซึ่งขณะนี้กำลังลดอยู่และเหลือที่ราคา 1,000 บาทเท่านั้น
.
ฝันที่สอง เธออยากกลับไปเรียนต่อ แม้ใครจะมองว่าอย่างไร เธอเชื่อว่าคนเราไม่มีใครแก่เกินเรียน “หนูเห็นคนอายุ 70 ปีรับปริญญาอะ มันเจ๋งวะ เพอร์เฟคอะ หนูอยากทำแบบนั้นบ้าง ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปเรียนให้จบ ตอนไหนก็ได้ ไม่รีบเลย แต่ถ้ามีคนสนับสนุนมาเป็นสปอนเซอร์ก็ดีนะ (หัวเราะ)”
.
และความฝันสุดท้าย เธออยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เพราะวิชาที่ชอบที่สุดของเธอคือ ชีววิทยา ซึ่งเธอบอกว่ามันมันน่าสนุก เพราะชีวะแปลว่าชีวิต “เราตื่นขึ้นมาก็เจอชีวะรอบตัวไปหมดเลย ต้นไม้ หมา แมว ทุกอย่างเป็นชีวะหมด หนูชอบเรียนวิชานี้มาก มากกว่าฟิสิกส์เยอะ เพราะหนูไม่เข้าใจว่าจะเรียนไปทำไม (หัวเราะ)”
.
เราหวังว่าเธอจะทำตามความฝันของเธออย่างน้อยหนึ่งในสามข้อก็ยังดี แต่ขอให้ไม่เป็นข้อ 2 ก็ข้อ 3 แล้วกัน เพราะถ้าข้อใดข้อหนึ่งในนี้สำเร็จ มันแปลว่าเธอได้กลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบ และภาวะที่เด็กไทยถูกถีบออกจากระบบการศึกษาเพราะเข้าไม่ถึงโอกาสก็จะน้อยลงไปอย่างน้อยอีกสักหนึ่งในหลายแสนคน
.
ใครสักคนเคยพูดไว้ว่า "การศึกษาไม่ใช่กระจก แต่คือหน้าต่างที่เปิดพาเราออกสู่โลกกว้าง"
.
แต่ดูเหมือนว่าในความเป็นจริงของสังคมไทย ไม่ใช่หน้าต่างทุกบานที่เปิดออกได้ เพราะบางบานถูกลงกลอนไว้อย่างแน่นหนาจากความเหลื่อมล้ำและความจนที่แสนร้ายกาจ