บรรยากาศกิจกรรมยืนหยุดขัง หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ธันวาคม 13, 2021
ที่มา The Isaan Record
กว่า 8 เดือนที่นักวิชาการ นักศึกษา ประชาชนชาวอุบลฯ ออกมารณรงค์ “ยืน หยุดขัง” หน้า ม.อุบลฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูกคุกคาม ถูกไล่ล่าจากเจ้าหน้าที่ไม่แพ้กัน ระหว่างกิจกรรมพวกเขาก็ได้แลกเปลี่ยนความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญ “ธีร์ อันมัย” บันทึกประสบการณ์นี้ไว้
ธีร์ อันมัย เรื่องและภาพ
‘ยืน หยุด ขัง’ ที่อุบลราชธานี
เป็นกิจกรรมคู่ขนานกับ ‘ยืน หยุดขัง’ ที่หน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ เพื่อประท้วง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำเยาวชนที่เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่กระบวนการยุติธรรมประเทศนี้ก็สั่งฟ้องคดีจำนวนมากและยังสั่งขังคุกพวกเขา ทั้งที่ศาลเองยังไม่ตัดสินว่า มีความผิด
‘ยืน หยุดขัง’ ที่อุบลราชธานี เป็นกิจกรรมที่มีกลุ่มอุบลปลดแอก ราษฎรอุบลและกลุ่มคบเพลิงเป็นแกนหลัก สมทบด้วยนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการและประชาชนที่อยากร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เริ่มยืนครั้งแรกวันที่ 8 เมษายน 2021 ที่หน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นการยืน 112 นาที จากนั้นก็เปลี่ยนสถานที่เป็นบริเวณหอนาฬิกาหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีและก็จัดยืน 1 ชั่วโมง 12 นาที เป็นประจำที่หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ตลอด 8 เดือนที่มี ‘ยืน หยุดขัง’ ที่อุบลราชธานี ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชนก็จะเห็นว่า มีคนมาร่วมกิจกรรมมากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ที่ส่วนกลางและในพื้นที่ ซึ่งต่างจากการจัด car mob ที่มีขบวนรถเข้าร่วมเป็นแถวยาวและคึกคักมาก แต่ car mob ก็ไม่ได้จัดบ่อยๆ เพราะต้องแจ้งและต้องขออนุญาตหลายอย่าง ส่วน ‘ยืนหยุดขัง’ มีแค่คนกับป้ายข้อความและเจตจำนงเสรีที่หนุนหลังให้ออกมายืน
องค์ประกอบหลักของการยืนหยุดขังก็ยังเป็นนักศึกษา นักกิจกรรม อาจารย์มหาวิทยาลัย นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่มีเวลาว่างตรงกันและมาร่วมยืนพร้อมป้ายข้อความบนกระดาษขาวที่เตรียมกันมาเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ‘เจ้าหน้านอกเครื่องแบบ’ ทั้งฝ่ายความมั่นคงของทหาร ตำรวจสันติบาลและสายสืบของตำรวจท้องที่ ซึ่งมีทั้งทรงผมสั้นขาวสามด้านและผมยาวมาเซอร์แต่งตัวเหมือนฮิปสเตอร์ยันศิลปินเพื่อชีวิต
‘ยืนหยุดขัง’ เฮาเว่าอีหยังกันแหน่
เท่าที่ ‘ยืน หยุด ขัง’ หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผมเคยสนทนาด้วยเป็น 4-5 กลุ่ม คือ นักกิจกรรม นักเรียน-นักศึกษาและอาจารย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชน และพวกอยากโชว์ก้ามดาก เอ่อ! เดี๋ยวสิพากย์ให้ฟัง
หากคุยกับนักกิจกรรมก็จะถามสารทุกข์สุกดิบกันว่า จะมีกิจกรรมอะไรกันอีกเมื่อไหร่? ถูกตำรวจตามหรือถูกทหารคุกคามถึงบ้านกี่ครั้ง? ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวหรือยัง? ขึ้นศาลครั้งต่อไปเมื่อไหร่? ใจยังสู้อยู่ไหม? และให้กำลังใจกัน
แน่นอนว่า การทำกิจกรรมในยุครัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารนั้นหลายคนได้รับผลกระทบ นักศึกษาถูกตามตัวถึงบ้านและถึงห้องเรียน นักวิชาการและนักกิจกรรมถูกชวนกินกาแฟและเฝ้าติดตาม นอกนั้นก็มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อฟ้องเอาผิดตั้งแต่ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน กรณี ไปด่านายกรัฐมนตรีแทนที่จะไปบอกรัก ความผิด พ.ร.บ.พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง 2535 เพราะไปเทอาหารหมาและตะโกนด่าใส่หน้าแถวตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เป็นต้น
หากคุยกับนักเรียน – นักศึกษาและอาจารย์ก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องการเรียนการสอน จนถึงเรื่องความตื่นตัวหรือความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและอาจารย์ต่อสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน
แน่นอน ต่างจากยุคที่ กปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เรืองอำนาจ (ปลายปี 2013-ต้นปี 2014) ตอนนั้น บรรดาผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากรของสถาบันการศึกษาต่างออกมารวมตัวกันเป่านกหวีดถ่ายรูปไล่คนโกงอย่างเอิกเกริก แต่ตอนนี้ พวกเขาเหล่านั้นก็เลิกสนใจการเมืองเสียแล้ว
หลายวันก่อนศิษย์เก่าถามผมว่า กลัวไหม? ที่มีทั้งตำรวจ ทหารตามถึงบ้าน ถึงที่ทำงานเวลาเจ้าจะเสด็จหรือนายกรัฐมนตรีจะมาพื้นที่อุบลราชธานี ผมบอกว่า ไม่รู้ว่ากลัวมั๊ย แต่ที่แน่ๆ คือ มีเยาวชนรุ่นลูก รุ่นหลาน พวกเขาเป็นคนเก่งเป็นคนกล้าที่ออกมาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนได้ถูกจับกุมคุมขัง คือ ต่อให้ผมกลัว ผมก็ยังรู้สึกละอายใจที่จะนิ่งเฉย
คนอย่างไผ่ ดาวดิน เพนกวิน อานนท์ นำภา เยาวชนหลายๆ คนและคนอย่างเบนจา อะปัญ ซึ่งยังถูกขังอย่างไม่เป็นธรรม ก็เห็นตำตาอยู่อย่างนี้ ผมคงให้ความกลัวส่วนตัวนำหน้าความละอายไม่ได้แล้ว
ส่วนนักเรียนนั้นผมก็จะคุยเรื่องการเรียน การอ่านของพวกเขา จากการเคลื่อนไหวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาจะพบว่า นักเรียนที่มาร่วมชุมนุมนั้นเป็นนักอ่านตัวยง ประเภทฮาร์ดคอร์ นักเรียนหญิง ม.6 คุยเรื่องการอ่าน เธออ่านสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อ่านงานแทบทุกเล่มของธงชัย วินิจจะกูล อ่านงานของปิยบุตร แสงกนกกุล อ่านงานทุกเล่มของณัฐพล ใจจริง นักเรียนหญิงอีกคนที่มาร่วมยืนประจำในปีนี้ลงทุนผ่อนหนังสือ เหยื่ออธรรม (les miserables) ฉบับสมบูรณ์ของ วิคเตอร์ อูโก (Victor Hugo) จาก ‘ร้านหนังสือฟิลาเดลเฟีย’ ไปอ่าน
ผมเคยคุยกับเพื่อนว่า คนจะก้าวหน้าก็จะต้องก้าวหน้าตั้งแต่เป็นนักเรียนนั่นแหละ ดูคนอย่างเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล คนอย่างเพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ สิ เขาเปล่งประกายตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมแล้ว ตรงนี้ทำผมคิดถึงคำเปรียบเปรยที่ลุงคำสิงห์ ศรีนอก (ลาว คำหอม) เคยบอกผมเมื่อหลายปีก่อนว่า “เกิดเป็นด้ามขวาน เป็นตั้งแต่เป็นหน่อไม้พุ่นล่ะ” คือ เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ แต่ดูสิ่งที่ประเทศนี้ทำกับพวกเขาสิ
สำหรับนักศึกษาที่มายืนประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์ บทสนทนาก็จะเป็นการถามความเป็นไปของชีวิต การเรียนและกิจกรรมที่บางครั้งก็มีส่วนได้ร่วมงานกันอยู่บ้าง แต่วันที่ 10 ธันวาคม 2021 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและวันสิทธิมนุษยชนสากล หลังจากยืนหยุดขังเสร็จแล้วทุกคนต่างก็ฮือฮา เพราะว่ามีนักศึกษาหน้าใหม่มาด้วย เธอเป็นคนแรกและคนเดียวของคณะนิติศาสตร์ที่ออกมาร่วม ‘ยืน หยุดขัง’
แต่กลุ่มคนที่เราไม่ค่อยอยากจะสนทนาด้วยเท่าไหร่ก็คือ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และเราก็จะแยกไม่ออกว่าคนไหนทหาร คนไหนตำรวจ แต่ครั้นยืนบ่อยๆ เข้าก็จะสังเกตเห็นความต่างว่า ทหารจะมาถ่ายภาพทั้งมุมกว้าง มุมแคบแบบถ่ายเจาะรายคน (mug shot) โดยไม่ขออนุญาต ส่วนตำรวจก็จะมีบทสนทนามาขออนุญาตมาพูดคุยถึงสถานการณ์บ้านเมืองแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
บ้างมาระบายความอึดอัดขัดข้องในใจที่ได้รับมอบหมายให้มาติดตามกิจกรรมนี้ที่ผู้ยืนเองก็ยืนเฉยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะก่อความรุนแรง บ้างก็รู้สึกถึงความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรมอย่างกรณีชายหนุ่มที่อำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นผู้ป่วยทางจิตเวท แต่ทางอัยการก็ยังจะยืนยันให้ฟ้องข้อหา 112 ทั้งที่ตำรวจในพื้นที่สืบสวนสอบสวนอย่างถี่ถ้วนแล้ว
ส่วนประชาชนนั้นก็จะมีทั้งเจ้าของธุรกิจที่มายืนกับเราบ้างบางวัน หลังจากเคลียร์งานเสร็จและชวนเพื่อนได้ บ้างก็เป็นคนแถวชุมชนที่แวะมาคุย มาให้กำลังใจ มาบอกว่า เราเป็นพวกเดียวกันนะ มาชูสามนิ้วให้ บ้างก็เป็นผู้ประกอบการร้านค้าแถวมหาวิทยาลัยที่อยากจะมามีส่วนร่วม แต่ก็กลัวว่าจะถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนที่นักกิจกรรมบางคนประสบมา ผมก็ได้แต่บอกเขาว่า แค่รู้ว่าอยู่ข้างเราก็อุ่นใจแล้วและขอขอบคุณอย่างยิ่ง
สุดท้ายก็คือพวกโชว์ก้ามดาก (พวกชอบอวดเบ่งทับถม) มันเกิดขึ้นเมื่อตอนค่ำวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมานี่แหละ ซึ่งเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยจะมีพิธีรับปริญญา ปกติพื้นที่ที่ ใช้ ‘ยืน หยุดขัง’ ก็เป็นฟุตบาทหน้าป้ายมหาวิทยาลัย แต่วันนี้มีบัณฑิตในชุดครุยพร้อมครอบครัวและเพื่อนมาถ่ายรูปกับป้ายกันพอสมควร
ตอนนั้น ผมนึกถึงจดหมายฉบับล่าสุดของเบนจา อะปัญ นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีความฝันจะเรียนปริญญาโทวิศวกรรมการบินและอวกาศ แต่ต้องลาพักการเรียน เพราะเธอถูกจองจำทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่า เธอผิด และวันนี้ผมก็แขวนป้ายที่มีรูปของเธอพร้อมข้อความว่า ‘ปล่อยเบนจา ยกเลิก 112’
ก่อนจะเลิกยืนไม่นาน มีผู้ชายแต่งกายท่าทางภูมิฐานที่มากับครอบครัวบัณฑิตที่ถ่ายรูปอยู่ข้างหลังพวกเรา ผมสังเกตเห็นสายตาเขาตั้งแต่แรกแล้วว่า ไม่น่าจะพอใจพวกเราเท่าไหร่ เมื่อบัณฑิตถ่ายรูปเสร็จแล้ว ระหว่างที่ผมคุยกับนักศึกษาเรื่องประสบการณ์การไปหมู่บ้านริมน้ำโขงและความเจ็บปวดใจที่เห็นคนไปเที่ยวผาแต้มที่อยู่สูงเหนือหมู่บ้านที่ชาวบ้านถูกไล่ออกจากที่ทำกินของตัวเอง
“ทำอะไรกัน” เสียงเขาไม่มีหางเสียงและวางอำนาจใส่นักศึกษาหญิงสองคนที่หัวแถว ผมโชว์ข้อความ ‘ปล่อยเบนจา ยกเลิก 112’ ที่หน้าอกให้เขาดู แล้วเขาก็ถามแบบเหยียดๆ ประมาณว่า “แล้วเขาทำผิดไหม?” แล้วเดินจากไปโดยไม่สนใจฟังคำตอบ
เพื่อนที่ร่วมยืนบอกว่า เห็นเขาจดจ้องรอโอกาสมานานพอควร คงต้องการแค่พูดจากระทบ ต้องการแค่มาแซะ มากวนก่อน ถามก่อน แล้วปิดบทสนทนาด้วยคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบและไม่ต้องการคำอธิบายว่า กระบวนการยุติธรรมกับคดีอาญามาตรา 112 นั้นมันไม่ปกติอย่างไร และทำอะไรกับคนในวัยเดียวกับลูก (หรือหลาน) ของคุณที่ใส่ชุดครุยในวันนี้
คนพวกนี้มีธงอยู่แล้ว คือ เห็นดีเห็นงามกับการเอาเยาวชน เอาคนที่มีอนาคตผู้ไม่ยอมสยบต่ออำนาจอนุรักษนิยมไปขังคุกไว้ ที่ทำเป็นมาพูดมาถามนั้นไม่ต้องการบทสนทนาหรือรับฟังเหตุผลใดๆ นอกจากอยากมาโชว์ก้ามดาก คือ มาสำรากอะไรออกมาจากปากแล้วก็จากไป
จากไปโดยไม่ได้สนทนาและไม่ได้ฟังว่า นักเรียน นักศึกษาได้คัดสรรบทกวี มีประโยคเด็ดวรรคทองจากตำราวิชาการหรือวรรณกรรมเล่มโปรด มีสาส์นที่จะมาอ่านสู่กันฟังหลังจากยืนครบ 1 ชั่วโมง 12 นาที