วันจันทร์, ธันวาคม 13, 2564

112 เป็นกฎหมายตบปากประชาชน


ประชาไท Prachatai.com
9h ·

คอรีเยาะ มานุแช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงปัญหาของมาตรา 112 ว่าอาจจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายตบปากประชาชน เขาไม่ได้แค่ปิดปากแต่เอาคนที่พูดเข้าคุกแล้วไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้ประชาชนแสดงออกสิทธิเสรีภาพในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในหลายประเทศการใช้กฎหมายแบบนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเป็นเครื่องมือของทุนของรัฐที่มาคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

การฟ้องคดีตบปากมักจะเป็นคดีที่ไม่มูลคดีและสร้างภาระให้กับประชาชนไม่ว่าเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ทรัพยากรในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต้องจำยอมรับเงื่อนไขที่จะอยู่ภายใต้การกดขี่ของมาตรานี้ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษการลบข้อความที่รัฐตั้งเงื่อนไขไว้
ไทยก็มีกระทรวงดิจิทัลในการเป็นตัวหลักในการฟ้องมาตรา 112 แล้วก็ตามไปลบโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แล้วคนที่ถูกดำเนินคดีก็มีทั้งนักเคลื่อนไหวทั่วไป นักการเมือง นักสิทธิมนุษยชน กิจกรรมหลักที่ทำให้เกิดเป็นการฟ้องร้องคือการพูดหรือปราศรัยในที่สาธารณะหรือการแสดงความเห็นในออนไลน์

คอรีเยาะกล่าวว่าที่ผ่านมาทางสมาคมนักกฎหมายสิทะมนุษยชนเคยทำรายงานและมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติว่าจะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมถึงปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะไม่ฟ้องบุคคลในคดีที่ไม่มีความจริงหรือในคดีที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นประชาชนไม่แสดงออกทางความคิดหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง

นอกจากนั้นในระดับเวทีนานาชาติอย่างเช่น UPR ประเทศไทยก็ไปด้วย ในเวทีนั้นไม่ว่าจะเยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ได้แสดงความห่วงใยที่รัฐไทยบังคับใช้มาตรา 112 เพราะมีการใช้ดำเนินคดีกับบุคคลเป็นจำนวนมากก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายมาตรานี้ และมีการขยายขอบเขตการใช้กฎหมายที่ละเมิดต่อการแสดงออกของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

“ต้องบอกว่าสิ่งที่นานาชาติกังวลมีหลักฐานประจักษ์แน่นหนาทีเดียวว่าประเทศไทยใช้มาตรา 112 ในการตบปากประชาชนอย่างบ้าคลั่งขนาดไหน ระยะเวลาตั้งแต่ ก.ค. ปีที่แล้ว รัฐดำเนินคดีกับประชาชนแล้วไม่น้อยกว่า 1,600 กว่าคดีแล้วก็มีกว่า 200 คนที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ในจำนวนนี้มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวน164 คนรวมเป็น 168 คดี”

คอรีเยาะแจกแจงว่าในคดีมาตรา 112 เหล่านี้เป็นคดีที่มาจากการปราศรัยหรือการชุมนุมทางการเมืองประมาณ 36 คดี เป็นคดีที่ไม่ใช่การปราศรัยอย่างเช่นการติดป้ายรณรงค์ 40 กว่าคดี และจำนวนมากมาจากการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์

“อยากจะยืนยันตรงนี้ว่าคดี 112 เป็นคดีในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ก็ยังงงอยู่ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของการล้มล้างระบบการปกครองประชาธิปไตยได้อย่างไร แล้วมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายอาญาก็อยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่คนที่ถูกฟ้องร้องจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะต้องคำพิพากษา นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังระบุว่าจะปฏิบัติเหมือนกับว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”

คอรีเยาะชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของไทยในขณะนี้ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เช่น การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวที่ได้ทำลายหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นมาตรา 112 ยังมีการบังคับใช้ที่ผิดหลักนิติธรรมและนิติรัฐอย่างมากเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีไมได้รับสิทธิในการพิสูจน์ว่าตนเองทำหรือแสดงออกเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือปกป้องส่วนได้เสียของตนเองหรือผู้อื่น นอกจากนี้ยังไม่มีสิทธิในการพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความจริงเพื่อจะได้รับการยกเว้นการรับโทษตามกฎหมาย เป็นการผิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมนิติรัฐที่ไม่ให้ผู้ต้องหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

คอรีเยาะ กล่าวว่าศาลยังได้ใช้ดุลพินิจที่มักจะใช้ในทางที่เป็นโทษกับผู้ต้องหาในการยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวซ้ำๆ อย่างไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ในการพิจารณาคดีอาญาของไทยที่ใช้ระบบกล่าวหาก็คือคนกล่าวหามีภาระในการพิสูจน์ เช่นตำรวจที่เป็นผู้กล่าวหาไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ฝากขังหรือคัดค้านการประกันตัวว่ายังสอบสวนไม่เสร็จเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุประการอื่นก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องพิสูจน์กับศาลโดยแสดงหลักฐานหรือระบุมูลเหตุให้ได้ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอื่นได้อย่างไร แต่ศาลก็ไม่ได้ไต่สวนให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเหตุผลของตำรวจหรืออัยการยกมาเหล่านี้เพียงพอเอาข้อยกเว้นที่จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวมาบังคับใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทบทวนการใช้มาตรา 112 ของรัฐที่ใช้อย่างบ้าคลั่งไร้สติเช่นนี้เพื่อที่จะให้เรามีบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายในกรอบที่เป็นอารยะเท่ากับนานาชาติ แล้วในท้ายที่สุดก็จะต้องนำไปสู่การยกเลิกมาตรา 112 เพื่อที่จะให้พวกเราได้เปิดตาเห็นความจริงว่าสิ่งที่มันเป็นจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร”

#ม็อบ12ธันวา64 #ยกเลิก112

อ่านของคนอื่นที่ https://prachatai.com/journal/2021/12/96366

#มติชนออนไลน์ #ม็อบราษฎร #เลิก
‘ราษฎร’ พิพากษา มีมติเป็นเอกฉันท์ ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112: Matichon Online

Dec 12, 2021

Matichon Online

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่มราษฎร และแนวร่วมประชาธิปไตย ในนาม ‘คณะราษฎรยกเลิก 112’ หรือ ครย.112 นัดหมายชุมนุม “ราษฎรพิพากษามาตรา 112” ระหว่างเวลา 16.00-21.00 น. เพื่อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 กฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวชั่วคราวแก่นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในเรือนจำ จากการแสดงออกทางการเมือง