วันเสาร์, สิงหาคม 07, 2564

คุกในวังทวีวัฒนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ดังนั้นหากเป็นเรื่องการทรมานนักโทษ หรือคุมขังนอกกระบวนการยุติธรรมก็ถือว่าเป็นความผิดของกรมราชทัณฑ์ ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม สมควรมีการตรวจสอบให้เกิดความกระจ่าง



เรียกร้อง กสม.และกมธ.ยุติธรรมตรวจสอบคุกในวังทวีวัฒนา ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์

by KANOKWAN KANKAW
August 6, 2021
Prakaifai

เครดิตภาพ : สมศรี บุญนำ

คุกในวังทวีวัฒนา อยู่ในความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์

เรื่องราวของคุกในวังทวีวัฒนาที่มีการพูดถึงนั้นมีมานานแล้ว ใช้สำหรับลงโทษข้าราชบริพารที่กระทำความผิด “ราชสวัสดิ์” ผิดวินัย-ระเบียบการภายในวัง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล-อธิบดี ก็เคยได้ใช้บริการที่แห่งนี้มาก่อน จนกระทั่งเป็นกลายเป็นข่าวใหญ่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อพลตำรวจโทพงษ์พัฒน์ ฉายะพันธ์ รับสารภาพกระทำความผิดแอบอ้างเบื้องสูงหาประโยชน์ส่วนตนต่อศาลอาญา แล้วไม่ได้ถูกส่งตัวมาขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่ไปคุมขังภายในวังทวีวัฒนา กระทรวงยุติธรรมก็เลยประกาศว่า คุกในวังทวีวัฒนานั้นเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ดังนั้นหากเป็นเรื่องการทรมานนักโทษ หรือคุมขังนอกกระบวนการยุติธรรมก็ถือว่าเป็นความผิดของกรมราชทัณฑ์ ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม สมควรที่กรรมาธิการยุติธรรม สภาผู้แทนราษฎร หรือ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้เข้าไปตรวจสอบให้เกิดความกระจ่าง

ตอนที่มีการจับกุมตัวแกนนำคณะราษฎร มีนายอานนท์ นำภาและพริษฐ์ ชีวรักษ์ก็มีข่าวลือทำนองว่าจะไม่ได้มาคุมขังตามกระบวนการปกติ แต่ก็ไม่ใช่ตามข่าวลือนั้น ต่อมา มีการจับกุม ใผ่ดาวดิน แอมมี่ บอตทอมบลู ภานุพงษ์ จาดนอก ก็มีข่าวลือแบบเดียวกันอีก แต่แทนที่จะส่งตัวมาคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แต่กลับส่งตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เมื่อให้ศาลไต่สวนเรื่องนี้ก็เลยมีการส่งตัวกลับมาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพกันตามปกติ แต่แล้วในตอนตีสองของเช้าวันที่ 16 มีนาคม 2564 จึงปรากฏมีกองกำลังชายชุดดำจำนวน 15 คน ไม่ทราบมาจากไหน เข้ามาจะใช้กำลังบังคับให้แยกขังเพื่อตรวจโควิดตอนดึกแต่ไม่สำเร็จผล เพราะนักโทษต่างตื่นขึ้นมาดูเหตุการณ์ระทึกขวัญนี้เสียก่อน

เรื่องคุกในวังทวีวัฒนาแบบนี้ถือเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องเด็กๆเอามาก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนมีกฎหมายตราสามดวง มีบทลงโทษผู้คิดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งโดยปกติก็มักจะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นกับขุนนาง ข้าราชการที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ใช้กำจัดขุนนางนอกแถวหรือขุนนางที่คิดจะยึดอำนาจกษัตริย์ มีโทษรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต เอาหัวเสียบประจาน (อยุธยามีแยกตะแลงแกง ใกล้วัดเกษ เป็นที่เสียบหัวประจาน )หรือที่ไม่ได้ตั้งใจทำงานอย่างเพียงพอ ในความผิดเกี่ยวกับการทำตัวเทียมเจ้า การทำให้ระคายเคือง การกระทำไม่สมควรต่อกษัตริย์ การซุบซิบ ก็เอาไปขังให้ได้รับความทรมาน และถึงแม้มีกฎหมายตราสามดวง สมัยก่อน พระอารมณ์ของกษัตริย์ก็เป็นกฎหมายไปในตัวด้วย ในวังจึงมีคุกไว้คุมขังด้วย ส่วนที่บ้านขุนนาง ก็มักสร้างคุกไว้ที่ใต้ถุนเรือน เอาไว้คุมขังพวกทาส-ไพร่ ที่คิดหนีจากไปจากขุนนางหรือใช้เป็นที่ระบายอารมณ์ของเจ้านาย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
6.8.64