วันอังคาร, สิงหาคม 31, 2564

วิกฤตศรัทธาตำรวจ! เป็น “ไฟกองใหญ่” ที่เผาพลาญสถาบันตำรวจ โดยมีตำรวจสีเทาและสีดำช่วยเติมเชื้อเพลิงให้ไม่หยุด - สุรชาติ บำรุงสุข



สุรชาติ บำรุงสุข : วิกฤตศรัทธาตำรวจ!

30 สิงหาคม 2564
มติชนออนไลน์

วันนี้คงต้องยอมรับว่า จากปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณี “ผู้กำกับโจ้-นครสวรรค์” ทำให้องค์กรตำรวจต้องเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอย่างหนักหน่วง… วิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงและกดดันจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ตำรวจยืนได้อย่างสง่างามอีกต่อไปในสังคม

ในสถานการณ์เช่นนี้ คงต้องยอมรับว่า “ศรัทธาตำรวจ” เป็นวิกฤตชุดใหญ่ จนไม่แน่ใจว่า ผู้มีอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติคิดอย่างไรกับอนาคตของสถาบันตนเอง

แต่ทุกครั้งที่เห็นวิกฤตองค์กรตำรวจ ผมมักจะอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะหากย้อนอดีตก่อนรัฐประหาร 2557 ผมมีโอกาส “สวมหัวโขน” เป็น “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” (หรือที่เรียกว่า “กตร.”) ผมรับตำแหน่งนี้ด้วยความภูมิใจ เพราะได้มาด้วยการเลือกตั้งของตำรวจ ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล อีกทั้งผมเองแทบจะไม่เคยสอนในหลักสูตรของตำรวจก่อน แต่ก็ได้รับเลือกเข้ามา

การมีตำแหน่งเป็น กตร. ทำให้ผมมีโอกาสเรียนรู้เรื่องของตำรวจไทย นอกจากเรื่องของทหารที่เป็นความสนใจที่ผมมีมาอย่างยาวนาน ข้อสรุปในเบื้องต้นคือ ปัญหาของตำรวจแตกต่างจากปัญหาของทหารอย่างมาก และบางทีอาจจะมีความละเอียดอ่อนมากกว่า เพราะตำรวจเป็นองค์กรที่ต้องทำงานกับประชาชนโดยตรง

กตร. เป็นคณะกรรมการที่ถูกออกแบบให้ทำหน้าที่ในการดูแลกิจการขององค์กรตำรวจ และหน้าที่สำคัญคือ เป็น “บอร์ด” ในการคัดเลือกนายตำรวจในการเข้าดำรงตำแหน่งในระดับต่างๆ ยกเว้นตำแหน่ง ผบ. ตร. ผมอยู่ในตำแหน่งนี้ประมาณ 3 ปีจากช่วงปลายรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนถึงการยึดอำนาจในสมัยรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อมา กตร. ชุดนี้ถูกยุบด้วยคำสั่งของคณะรัฐประหาร 2557

ผมคิดว่า ในการเป็น กตร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้พวกเราทั้งหมดรู้สึกว่า เรามีพันธะที่ต้องทำให้องค์กรตำรวจเป็นที่ยอมรับของสังคมในด้านต่างๆ และที่สำคัญต้องทำให้องค์กรตำรวจไทยมีมาตรฐานสากล ที่สามารถเทียบเคียงความเป็น “ตำรวจอาชีพ” ได้กับองค์กรตำรวจอื่นๆ

ในช่วงสามปีเศษของการดำรงตำแหน่งนี้ ผมเห็นตำรวจในมุมมองต่างๆ และที่สำคัญคือ ได้เห็นปัญหาขององค์กรตำรวจ และทุกครั้งที่มีการพูดคุยในขณะนั้น ทุกคนยอมรับว่า จะต้อง “ปฏิรูปตำรวจ” เพราะองค์กรเผชิญกับปัญหาและโจทย์ใหม่ในหลายเรื่อง และแรงกดดันที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งหากพิจารณาถึงความเป็นประชาคมที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว จะมีผลโดยตรงให้องค์กรตำรวจต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างมาก

แต่สุดท้ายแล้ว เรื่องราวเหล่านี้หยุดลงทันทีอย่างน่าเสียดายด้วยการรัฐประหาร 2557 พร้อมกับบทบาทของ กตร. ที่มาจากการเลือกตั้งก็ยุติตามไปด้วย เพราะในระบอบรัฐประหาร ไม่มีพื้นที่สำหรับองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐประหาร 2557 มีผลอย่างมากกับองค์กรตำรวจอย่างคาดไม่ถึง การควบคุมตำรวจที่เคยถูกออกแบบในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลากรในระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเปลี่ยนไปอยู่ในมือของผู้นำทหารทั้งหมด หรืออาจกล่าวได้ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ การพิจารณาปัญหาและประเด็นที่เกิดจากข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ ย้ายจากคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งไปรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้นำทหารบางคนเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างเห็นได้ชัด การแต่งตั้งตำรวจในระดับต่างๆ ที่อยู่ในมือของผู้นำรัฐประหาร จนมีเรื่องให้เกิดข้อสงสัยถึงความโปร่งใสอย่างมาก และเกิดข้อสังเกตว่า การเข้าสู่ตำแหน่งที่สำคัญอาจจะต้องมี 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ “เงิน-ตั๋ว-นาย-คอนเน็คชั่น” จนเป็นที่ร่ำลือกันถึง “ความอื้อฉาว” ในวงการตำรวจหลังรัฐประหาร ผมไม่ได้บอกว่า กตร. ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถทำให้การโยกย้ายใสสะอาดได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อย กตร. ได้ทำหน้าที่เป็น “ตะแกรงร่อน” ในการคัดตัวบุคคลเพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับที่สำคัญ

ดังจะเห็นได้ว่า ในปีแรกที่พวกเราได้รับตำแหน่งนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์ เพราะการประชุมโยกย้ายตำรวจในระดับสูงใช้เวลาพิจารณาจากบ่ายโมงจนถึงราวตีสี่ของอีกวันหนึ่ง มีการตรวจประวัติและถกรายละเอียดของตำรวจทีละนาย ในปีที่สองพวกเราตัดสินใจ “ยกพวกเดินออก” จากการประชุม ในปีที่สามประชุมเป็นปกติ แต่เราหยิบประวัตินายตำรวจระดับสูงขึ้นบนจอทีละนายไม่ต่างจากปีแรก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสมที่สุดในสายงาน แล้วต่อมาในปีที่สี่ เราถูกยุบด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร

ถ้าไม่ยุบ กตร. ทหารจะเข้ามาคุมตำรวจไม่ได้ และจะคุมการแต่งตั้งตำรวจไม่ได้ด้วย การยุบ กตร. ที่มาจากการเลือกตั้งคือ การเปิดประตูให้ผู้นำรัฐประหารเข้ามาคุมองค์กรและทิศทางของตำรวจดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน และเราอาจจะลืมความจริงประการสำคัญว่า กตร. ที่ควบคุมการโยกย้ายตำรวจหลังรัฐประหารนั้น เป็นเพียง “ตรายาง” ที่รองรับการใช้อำนาจของผู้นำทหารในกิจการตำรวจ จนต้องยอมรับว่า อำนาจการควบคุมตำรวจตกอยู่ในมือของผู้นำทหารบางคนอย่างสมบูรณ์ น่าเสียดายว่าไม่ค่อยมีใครหยิบเรื่อง “ตั๋วและส่วย” ในการโยกย้ายตำรวจภายใต้อำนาจของผู้นำทหารมาเปิดประเด็นในเวทีสาธารณะอย่างจริงจัง

น่าสนใจว่า ผู้นำทหารหลังรัฐประหารนำเสนอเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ” และมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้หลายชุด แต่ก็ไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมใดๆ และก็มักเน้นประเด็นอยู่กับเรื่องของอำนาจสอบสวน จนลืมความจริงที่สำคัญไปว่า การปฏิรูปตำรวจไม่ใช่ตั้งต้นด้วยเรื่องของอำนาจการสอบสวน แต่จะเริ่มได้จริงต่อเมื่อองค์กรตำรวจถูกปลดพันธนาการออกจากการควบคุมนอกระบบ ตามมาด้วยการออกแบบ กตร. ใหม่ ที่ต้องมาจากเลือกตั้ง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมีความเป็นธรรมมากที่สุด ขณะเดียวกันต้องรื้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตำรวจที่ออกโดยคณะรัฐประหารทิ้ง และจัดทำกฎหมายตำรวจใหม่ทั้งระบบ รวมทั้งต้องคิดถึงปัญหาของการใช้กำลังตำรวจในการควบคุมฝูงชน ที่จะต้องไม่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน จนตำรวจกลายเป็นเป้าหมายของ “ความเกลียดชัง” ของผู้ประท้วง เพราะผู้มีอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องตระหนักเสมอว่า ข้อเรียกร้องบนถนนเป็นปัญหาทางการเมือง และเป็นประเด็นที่รัฐบาลต้องแก้ไข การใช้กำลังตำรวจไม่ใช่สิ่งที่จะยุติปัญหาการประท้วงต่อต้านรัฐบาลได้เลย

วันนี้สังคมเรียกร้องและต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจเกิดอย่างจริงจัง ไม่ใช่การปฏิรูปแบบรัฐบาลเพื่อให้ตำรวจอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้นำทหารดังเช่นในปัจจุบัน… วิกฤตศรัทธาเป็นดัง “ไฟกองใหญ่” ที่เผาพลาญสถาบันตำรวจ โดยมีตำรวจสีเทาและสีดำช่วยเติมเชื้อเพลิงให้ไม่หยุด… วันนี้ไฟกำลังไหม้ใหญ่ที่ สตช. มีแต่ศรัทธาประชาชนเท่านั้นที่จะช่วยดับได้!
.....