วันศุกร์, สิงหาคม 27, 2564

กรณีคลุมถุงดำ โดย ผกก.โจ้ มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน กับการทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง จชต.โดย จนท.รัฐ



The Motive
21h ·

กรณีคลุมถุงดำ โดย ผกก.โจ้ มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน กับการทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง จชต.โดย จนท.รัฐ
.
สะเทือนใจ นักสิทธิชายแดนใต้เผย กรณีการฆาตกรรมของ ผกก.โจ้ สภ.เมืองนครสวรรค์ กับกรณีการฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยชายแดนใต้เป็นเรื่องเดียวกัน มีความเหมือนกัน เหมือนมีแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ระบุพบว่าการทำให้ไม่สามารถหายใจได้มี 2 วิธี (1) การไม่หายใจแบบแห้ง (2) การไม่หายใจแบบเปียก ด้านความต่างมองว่ากรณี สภ.นครสวรรค์ มีคลิปหลักฐานชัดเจน แต่ชายแดนใต้ขาดหลักฐานพิสูจน์ มีเพียงคำบอกเล่า เลยถูกกล่าวหาว่า เป็นการโกหกเพื่อให้พ้นผิด สังคมไทยจึงละเลย และไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น
.
อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธาน กลุ่มด้วยใจ และอดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ มองกรณีการฆาตกรรมของผู้กำกับโจ้ สภ.เมืองนครสวรรค์ กับกรณีการฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยชายแดนใต้เป็นเรื่องเดียวกัน มีความเหมือนกัน เหมือนมีแหล่งกำเนิดมาจากที่เดียวกัน เปิดเผยให้กับผู้สื่อข่าว The Motive ว่า "กรณีที่เกิดขึ้นที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ มองว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ใช้วิธีการแบบนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เรียกว่า "กระบวนการสอบสวน" หรือ "กระบวนการซักถาม" ซึ่งเป็นไปในรูปแบบเดียวกันมาโดยตลอด
.
เป็นการทรมานอย่างเป็นระบบ มีที่มาจากกระบวนการเรียนการสอนและกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ต้น เพราะถ้าดูจากเหตุการณ์ในชายแดนใต้ช่วงปี 2547 กระบวนการทรมานที่เกิดขึ้นมันมีความเหมือนอยู่ คือ ใช้ถุงดำครอบศรีษะ เพื่อทำให้ขาดอากาศหายใจ และคลายถุงดำออก เพื่อให้หายใจได้เป็นระยะๆ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับกรณี ผกก.โจ้ โดยนำมาใช้ในพื้นที่ด้วย จะเห็นได้ในกรณีของกำนันโต๊ะเด็ง (อนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส คดีปล้นปืนปี 2547 #สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ Google.com)
.
และช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นฝ่ายดูแลความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งที่ทางกลุ่มได้รับการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2547-2550 เรามีการเก็บข้อมูลและพบว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาในเรื่องการกระทำทรมาน คือ "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
.
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปี 2548 และประกาศใช้กฎอัยการศึก เมื่อปี 2550 ภายใต้รัฐบาลคณะรัฐประหาร โดยทหาร ผู้ที่ถูกกล่าวหาในเรื่องการกระทำทรมานกลายเป็น "เจ้าหน้าที่ทหาร" แทน
.
มันทำให้เราเห็นได้ยิ่งชัดว่า ที่มาของกระบวนการสอบสวน หรือ กระบวนการซักถามมันมาเป็นระบบ มีตรรกะ หรือ มี Mindset ที่หล่อหลอมมาจากแหล่งเดียวกัน รูปแบบเดียวกัน และพฤติกรรมเดียวกัน เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นฅนใช้ และได้ใช้ที่ไหน
.
กรณีของคดียาเสพติด ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าตำรวจเป็นฅนใช้ ส่วนกรณีของคดีความมั่นคง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าทั้งสองส่วนมาจากแหล่งเดียวกัน มีการเรียนการสอนที่เดียวกัน ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าเรียนมาจากที่ไหน อาจจะเป็นโรงเรียนทหาร หรือ โรงเรียนนายร้อย หรืออาจจะมีการเข้าร่วมอบรมที่สหรัฐอเมริกา เพราะพบว่าวิธีการคล้ายกับที่ CIA ใช้ในสถานกักกันกวนตานาโม ประเทศคิวบา (#สามารถอ่านได้จากรายงานข่าวแอมนิสตี้ : https://www.amnesty.or.th/latest/blog/29/)
.
เพราะมันมีต้นทางระบบการสืบสวนสอบสวนที่ผลลัพธ์ของการเรียนรู้เหมือนกัน และมีวิธีการเดียวกัน
.
ในพื้นที่ชายแดนใต้จะใช้วิธีคลุมถุงพลาสติกมากในช่วงปี 2547-2557 (ข้อมูลรายงานจากกลุ่มด้วยใจ) โดยการเอาสมุดเล่มหนาทุบศรีษะ ต่อด้วยการคลุมศรีษะจนผู้ต้องสงสัยไม่สามารถหายใจได้ เขาจะกระทำจนกว่าจะยอมรับสารภาพ
.
ต่อมาเมื่อปี 2557 มีการรายงานเรื่องนี้ไปยังสหประชาชาติ (UN) และ UN ก็มีการให้คำแนะนำต่อรัฐบาลไทยในประเด็นนี้ด้วย กระนั้นก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยก็ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีการอื่นแทน ซึ่งที่เราได้รับการร้องเรียน คือ Waterboarding หรือ วิธีการทรมานแบบสำลักน้ำ เป็นวิธีการที่ไม่ทำให้เกิดร่องรอยและบาดแผล
.
พบว่าวิธีการที่ทำให้ไม่สามารถหายใจได้มี 2 วิธี (1) การไม่หายใจแบบแห้ง คือ การใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวแล้วรัดคอ เพื่อไม่ให้อากาศเข้าไป เวลาหายใจเข้า ถุงพลาสติกก็จะแนบกับรูจมูกและปากทำให้หายใจไม่ออก (2) การไม่หายใจแบบเปียก คือ การใช้ผ้ามาวางไว้บนใบหน้าแล้วราดน้ำ บางทีก็มีการกดศรีษะในบ่อน้ำ หรือ อ่างน้ำ เป็นต้น" อัญชนา ระบุ
.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราเห็นจากกรณี สภ.นครสวรรค์ เป็นข่าวโด่งดัง แล้วมามองชายแดนใต้ที่มันเงียบทุกครั้งที่เกิดขึ้น อัญชนา มองว่า "มันมีความทับซ้อนของปัญหาตามบริบท และเป็นเรื่องความกลัวต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ มันจึงทำให้ข้อมูลที่เกิดขึ้นไม่ถูกเปิดเผยออกมา ยกเว้นฅนที่มี Connection จริงๆ ถึงจะกล้าร้องเรียน
.
กรณีของ ผกก.โจ้ ที่ควรชื่นชม คือ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่มีความรู้สึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าไม่ถูกต้อง มันแสดงให้เห็นว่า เขายังมีความเป็นมนุษย์อยู่ แต่ด้วยความที่เป็นผู้น้อยทำให้ไม่สามารถออกมาเล่าตรงๆ ซึ่งๆ หน้าได้ เพราะระบบมันถูกปิดกั้นไว้หมดแล้ว"
.
อีกประเด็นที่มองเห็นได้ว่าที่สังคมไทยไม่มองปัญหาชายแดนใต้ เพราะความต่างทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา รวมทั้งไม่มีหลักฐานชี้ชัดเหมือนกรณีคลิปจากกล้องวงจรปิดของเคส สภ.นครสวรรค์
.
ด้านศพที่ไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพอย่างดี แสดงให้เห็นถึงระบบนิติวิทยาศาสตร์ ระบบการแพทย์ ที่ไม่เอื้อำนวยต่อการป้องกันการซ้อมทรมาน หรือ ทำให้ความจริงปรากฎ
.
ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบบสาธารณสุข หรือ ระบบนิติวิทยาศาสตร์ หรือ ระบบชันสูตรพลิกศพ มันไม่สามารถทำได้ เพราะพวกเขากลัว หากมีการเปิดโปงขึ้นมา หน้าที่การงานอาจจะหลุด หรือ ถูกย้ายไป เหมือนกรณีการตายของอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ในค่ายทหารขณะถูกควบคุมตัว บุคคลที่เป็นแพทย์ชันสูตรพลิกศพถูกส่งไปอยู่ที่ประเทศซูดาน เพื่อไม่ให้เขาได้ขึ้นศาล
.
หรือแม้แต่กรณียิงชาวบ้านตายที่เขาตะเว อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้พิสูจน์เขม่าดินปืนก็ถูกย้ายหน่วยและส่งต่อไปยังประเทศซูดานเช่นเดียวกัน เพียงเพื่อไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐานมาขึ้นศาลในเวลาอันเหมาะสมได้ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าระบบความยุติธรรมในประเทศไทยมันไม่สามารถให้เหยื่อกรณีเหล่านี้มีโอกาสในการพิสูจน์ความจริงได้
.
ด้านการมองแบบเหมารวมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ของสื่อมวลชน หรือแม้แต่ของประชาชนฅนไทยโดยรวม จะมองผู้เสียชีวิต หรือ ผู้ที่ถูกทรมานในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า เป็นผู้ที่กระทำผิดจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ ลำดับแรกเขาจะมองอย่างนี้ไว้ก่อนเลย เพราะเขาเห็นว่าในพื้นที่มันมีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น
.
แต่ด้วยระบบที่เราไม่สามารถหาหลักฐานอะไรมาพิสูจน์ให้ฅนได้เชื่อได้เห็นมาพิสูจน์ว่ามีการทรมานจริงๆ รวมทั้วส่วนใหญ่แล้วมันจะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สามารถทำลายหลักฐานได้ มันเลยทำให้สังคมไทยไม่เห็นใจ ไม่เข้าใจ จึงถูกละเลยไป อีกทั้งยังถูกกล่าวหาอีกว่า เราโกหก
.
มองว่าสิ่งที่เราอ้างกฎหมายระหว่างปรเทศ อ้างว่าถูกซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการโกหกเพื่อให้พ้นผิด ซึ่งเจ้าหน้าทหารชอบพูดในศาลซ้ำๆ ย้ำๆ เดิมๆ ว่า "ที่มีการส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อที่จะเอาไปใช้ในชั้นศาลว่าถูกระทำทรมานนั้นไม่ใช่เรื่องจริง" ซึ่งศาลก็รับฟัง
.
บางกรณีศาลก็บอกว่า "ศาลเชื่อว่าคุณถูกกระทำทรมานจริง แต่ด้วยพยานหลักฐานอื่นๆ (คำซัดทอด หรือ คำให้การสอบสวนที่ได้มาโดยมิชอบจากการทรมาน) ทำให้ศาลตัดสินว่าคุณกระทำความผิดจริง"
.
มันก็เลยกลายเป็นวงจรของการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง จึงกลายเป็นกำแพงที่ทำให้สังคมไทยไม่เห็นว่าการซ้อมทรมานในพื้นที่ายแดนใต้เป็นเรื่องจริง" อัญชนา กล่าว