วันพุธ, สิงหาคม 25, 2564

การเป็นมหาอำนาจของจีนจะไปไกลได้อย่างไร เมื่อเยาวชนจีนเลือกที่จะ “ไม่อยากทำอะไร อยากนอน” มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อต่อต้านสังคมการเมืองในประเทศของตัวเอง



“ฉันไม่สน ฉันอยากนอน” การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยการไม่ทำอะไรเลย

24 ส.ค. 64
ตรีนุช อิงคุทานนท์
Thairath Plus

การเป็นมหาอำนาจของจีนจะไปได้ไกลแค่ไหน เมื่อเยาวชนจีนเลือกที่จะ ‘ไม่ทำอะไรเลย’ มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อต่อต้านสังคมการเมืองในประเทศของตัวเอง

“ฉันไม่อยากทำอะไร ฉันอยากนอน” ประโยคดังกล่าวถูกเอื้อนเอ่ยจากปากของ อาลี หว่อง (Ali Wong) นักแสดงตลกชื่อดังของจีน กล่าวถึงชีวิตในฝันที่ปรารถนาเพียงอย่างเดียว คือ การนอนหลับ

ถ้าเป็นแค่ อาลี หว่อง เพียงคนเดียวที่คิดแบบนี้ อาจไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ หรือเป็นปัญหาใหญ่ แต่แนวคิดนี้กำลังได้รับความนิยมล้นหลามในจีน และรัฐบาลต้องเร่งหาต้นตอ เพราะอะไรกลุ่มคนที่กำลังเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ถึงพากันหมดหวังและอยากทำแค่นอนเฉยๆ เป็นเพราะถูกใครล้างสมอง ถูกโฆษณาชวนเชื่อ หรือเป็นเพราะโครงสร้างทางสังคมที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันตั้งแต่ระดับรากฐาน

‘Tang Ping’ อ่านว่า ถ่างผิง มีความหมายว่า ‘การนอนราบ’ หรือ ‘เอนตัวนอน’ คือคำสแลงที่อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมจีน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการจะทำอะไรทั้งนั้นนอกจากใช้ชีวิตไม่หวือหวา ไม่ต้องมั่นคง แต่เป็นชีวิตในแบบที่ตนต้องการและเต็มเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพ

จากคำบอกเล่าที่ถ่ายทอดลงในสำนักข่าวจำนวนมาก คนที่เลือกใช้ชีวิตตามแบบคำว่า ‘นอนราบ' พวกเขาไม่ต้องการมีชีวิตแบบเครื่องจักรมนุษย์ เช้าตื่นมาเดินทางไปทำงานเดิมๆ มีชีวิตเหนื่อยหน่ายซ้ำๆ แต่ต้องการมีไลฟ์สไตล์แบบมินิมัลลิสต์ (minimalist) ตามหลักการใช้ชีวิตด้วยการใช้จ่ายแค่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ลามไปถึงความคิดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องวางแผนสร้างอาชีพที่มั่นคง ไม่จำเป็นต้องมีบ้าน มีรถ หรือต้องมีครอบครัว ก็สามารถมีความสุขและภูมิใจในตัวเองได้

มองผิวเผินการแห่นอนราบของเหล่าวัยรุ่นจีนอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ วู เต๋อ (Wu Te) นักวิเคราะห์รายหนึ่ง แบ่งปันความคิดเห็นกับสำนักข่าว The Epoch Times ว่า ค่านิยมนอนราบที่เกิดขึ้น อาจเป็นหนึ่งในรูปแบบการต่อต้านระบบทุนนิยม การแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดแรงงาน และการควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นได้ เนื่องจากหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากเมื่อพ้นรั้วมหาวิทยาลัย หรือถึงวัยต้องทำงาน พวกเขาต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ตึงเครียด จนรู้สึกมืดมนมองไม่เห็นทางออก และต่อต้านสิ่งที่เจอด้วยการไม่สนใจอะไรอีกต่อไป

นอกจากนี้ วู เต๋อ ยังมองว่าจุดเริ่มต้นของเทรนด์ดังกล่าวมาจากโพสต์ของผู้ใช้ที่ชื่อว่า Kind Traveller ที่ถูกค้นหาบ่อยครั้งเว็บไซต์ ไป่ตู้ (Baidu) ผู้ใช้รายนี้เขียนโพสต์ ‘Tang Ping is Justice’ (Lying Flat is Justice) เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2021

“ฉันไม่ได้ทำงานประจำมาสองปีแล้ว ไม่ได้จริงจัง และไม่ได้รู้สึกผิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผิด” นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าถึงความไม่พอใจของคนรอบข้าง ผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวอ้างถึงวิธีจัดการกับปัญหาว่า “การตัดสินใจไม่สนใจอะไรคือการกระทำที่ฉลาดที่สุดของฉัน”

โพสต์ของ Kind Traveller ได้รับความสนใจล้นหลาม เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน โพสต์ดังกล่าวถูกลบออกไปจากระบบ ทำให้ผู้คนพากันเดาว่า เจ้าหน้าที่รัฐหรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนอาจไม่พอใจแนวคิดของเจ้าของโพสต์ เพราะเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวัง

แม้ข้อความจะถูกลบทิ้ง แนวคิด ‘นอนราบ’ ได้แพร่กระจายไปยังหมู่วัยรุ่นไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง พวกเขาตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า ‘tang ping’ ที่มีสมาชิกเกิน 9,000 คนอย่างรวดเร็ว ชาวเน็ตจำนวนมากต่างแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อโพสต์ดังกล่าว บางส่วนบอกว่าพวกเขารู้สึกดีกับแนวคิดนี้

หลายคอมเมนต์ระบุว่าตัวเองกำลังรู้สึกสิ้นหวัง เชื่อว่าการกระทำหรือการพยายามทำบางสิ่ง ไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ให้กับตัวเองและสังคมได้ และเปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นเหมือนกับ ‘กุยช่าย’ ผักชนิดหนึ่งที่กำลังรอการเก็บเกี่ยว และผู้เก็บเกี่ยวคือพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อย้อนกลับไปดูชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่ หนทางสู่ความสำเร็จของคนรุ่นก่อนคือการทำงานหนัก แต่งงาน สร้างครอบครัว ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ยืนยันว่าระบบเศรษฐกิจล้วนเต็มไปด้วยเสถียรภาพ พาผู้คนนับล้านให้พ้นจากความจน

อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เป็นเมื่อก่อน แรงงาน มนุษย์เงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำยังคงทำงานหนักเท่าเดิม แต่ราคาบ้านกลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ ไหนจะการแข่งขันที่เข้มข้นในตลาดแรงงาน สภาพแวดล้อมรอบตัวสร้างความกังวลให้กับเยาวชนจีนว่าพวกเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างที่พ่อแม่พวกเขาเคยทำได้

แนวคิดนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมุ่งหวัง เพราะพวกเขาต้องการกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวทำงานหนัก เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ

สำนักข่าวซินล่าง (Sina) ออกบทความวิเคราะห์เรื่องที่เกิดขึ้น และเรียกคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มปรากฏให้เห็นแม้เพียงเล็กน้อยว่า “เป็นขบวนการดื้อแพ่งของเหล่ากุยช่าย ที่เลือกจะเงียบและไม่ทำอะไรเลย”

“การล้มตัวลงนอนไม่สนใจสิ่งรอบตัว แสดงถึงความผิดหวังจากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง เหลื่อมล้ำขนาดไหน ก็ลองถามตัวเองดูว่า จะรู้สึกอย่างไรถ้ามีเงินเดือนน้อยกว่า 1,000 หยวนต่อเดือน”

ตัวเลขดังกล่าวถูกพูดถึงบ่อยครั้ง และได้รับความนิยมมากบนอินเทอร์เน็ต ที่มาของเงิน 1,000 หยวนมาจากคำพูดของนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) เอ่ยถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของชาวจีน ในการประชุมสภาฯ เดือนพฤษภาคม 2020 เขากล่าวว่า ยังคงมีคนจีนกว่า 600 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนประชากร มีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวน (4,680 บาท) ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่พอที่จะจ่ายค่าห้องเช่าในเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ

วันที่ 20 พฤษภาคม 2021 สื่อที่ถูกเรียกว่าเป็นของรัฐบาลจีนอย่าง Southern Daily เผยแพร่บทความที่ชื่อว่า “การเอนตัวไม่สนโลกเป็นเรื่องที่น่าอับอาย” และสำนักข่าว Xinhua เขียนบทความใจที่ใจความสำคัญคล้ายกับ Southern Daily คือวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ‘นอนราบ’ ควบคู่กับการเสริมสร้างค่านิยมให้ผู้คนริเริ่มทำบางสิ่งอย่างเข้มแข็งตั้งใจ

ด้านกลุ่มนักวิชาการชาตินิยม ของมหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) วิพากษ์วิจารณ์การเลือก ‘นอนราบ’ ของคนหนุ่มสาวว่า เป็นการตัดสินใจที่ไม่มีความรับผิดชอบ และกำลังทำให้พ่อแม่ผู้เสียภาษีต้องผิดหวัง

อเล็กซานเดอร์ เหลียว (Alexander Liao) นักวิจารณ์กิจการจีนที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา มองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถรับมือกับเศรษฐกิจได้หลายยุคหลายสมัย แต่คงไม่สามารถรับมือกับกระแสสังคมได้เท่ากับการรับมือทางเศรษฐกิจ

หยาง จินดวน (Yang Jingduan) จิตแพทย์และแพทย์แผนจีนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในจีน และปัจจุบันย้ายถิ่นฐานมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ วิเคราะห์ถึงพฤติกรรม ‘นอนราบ’ ของวัยรุ่นจีนว่า อาจเป็นเพราะเยาวชนกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมตั้งแต่ระดับใหญ่จนถึงระดับครอบครัว สร้างความรู้สึกเป็นพิษ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่แสวงหาหนทางเอาตัวรอด ลดความเจ็บปวด และแสวงหาความสุข และการ ‘นอนราบ’ อาจไม่ใช่ทางเลือกถาวรของคนหนุ่มสาว

เขาจำแนกชาวจีนออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ ‘คนที่ยืนอย่างท้าทาย’ ตามด้วย ‘คนที่คุกเข่าให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ’ และ ‘คนที่นอนราบ’ หลายยุคหลายสมัยที่คนจีนส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมโดยโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ เดินตามเส้นทางที่รัฐบาลกำหนดแทบทุกฝีก้าว และการเดินนี้ไม่ใช่แค่ประชาชน แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่น้อยในพรรค ก็ต้องอยู่ในเส้นทางที่ไม่ได้มีอิสรเสรีมากเท่าไรเช่นกัน

ทว่าการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบัน อาจไม่ประสบความสำเร็จต่อเยาวชนจีนเท่าไรนัก เขาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับการปกครองที่เป็นอยู่ มีการต่อต้านในระดับคลื่นใต้น้ำ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน จะยังไม่สามารถต่อต้านได้อย่างจริงจัง เมื่อรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรืออยู่ตรงกึ่งกลางที่ขยับตัวได้ยาก พวกเขาจึงเลือกที่จะ ‘นอนราบ’ เมินเฉย และไม่อยากทำอะไรเลย

นายแพทย์หยางได้ทิ้งท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่ด่าทอต่อว่าเด็กที่เลือกนอนเฉยๆ และไม่สนใจโลกว่า

“คนที่คุกเข่าให้กับเผด็จการ ไม่มีคุณสมบัติที่จะวิจารณ์เด็กๆ ที่ล้มตัวลงนอน”

อ้างอิง
theepochtimes.com
business-standard.com