วันเสาร์, สิงหาคม 28, 2564

อ่านเรื่องการซ้อมทรมาน เรื่องจริงที่มีอยู่ในสังคมไทย ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง



‘ซ้อมทรมาน’ ก็เหมือนผี รู้ว่ามี แต่ไม่เคยเห็น

โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
26 ส.ค. 64
ไทยรัฐออนไลน์

Summary

  • จากคำบอกเล่าของผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเคยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ลับ แต่กรณีที่สถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ เป็นครั้งแรกที่การซ้อมทรมานปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหวให้คนเห็น
  • ในเรื่องเล่า การซ้อมทรมานในที่ลับมักเกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกฎหมายพิเศษอนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้สอบสวนได้หลายวัน
  • ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย แต่ยังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ใช้อย่างเป็นทางการ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐผู้ลงมือกระทำ

ดังคำที่ใครต่อใครเปรียบมานมนานตามความเชื่อของแต่ละคน ว่า ‘ผี’ นั้น ‘มีจริง’ แต่ไม่เคยเห็น

การ ‘ซ้อมทรมาน’ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เรารู้และฟังมาว่ามีจริงยิ่งกว่าผี แต่กลับไม่มีใครเคยเห็นเช่นกัน

กระทั่งไม่กี่วันก่อน ‘ผี’ ตนนี้ที่คนไทยไม่เคยเห็น ปรากฏตัวขึ้นจริงชนิดแทบจับต้องได้

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายยืนอยู่ในห้อง ล้อมรอบชายที่คาดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยบนเก้าอี้ มีถุงพลาสติกคลุมศีรษะและใบหน้า หนึ่งในเจ้าหน้าที่ใช้ถุงอีกใบครอบทับอีกชั้น เหตุการณ์ชุลมุนอยู่พักใหญ่ ก่อนจบลงที่การเสียชีวิตของชายที่ใบหน้าของเขายังอยู่เบื้องหลังความทึบแสงของถุงพลาสติกหลายชั้น

เรื่องนี้เริ่มต้นจากสองสามีภรรยาถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์จับกุมพร้อมยาเสพติด จากนั้นข้อมูลบอกเล่าว่า เกิดการรีดไถเงินจากผู้ต้องหา 1 ล้านบาท แต่กลุ่มเจ้าหน้าที่ต้องการเพิ่มเป็น 2 ล้าน เมื่อถูกปฏิเสธ นายตำรวจคนหนึ่งจึงใช้ถุงคลุมศีรษะอีกชั้น จนผู้ต้องหาล้มลงจากเก้าอี้และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

กล้องวงจรปิดในห้องนั้นถูกถอดออก และสาเหตุการตายเสียชีวิตของ จิระพงศ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน วัย 24 ปี ผู้ต้องหา ที่ถูกระบุขณะนั้นคือเสพยาเกินขนาด แต่นั่นคือฉากหน้าที่อาจไม่ตรงกับเนื้อเรื่องจริงที่ค่อยๆ เปิดเผยจากตำรวจชั้นผู้น้อยผ่านทนาย จนปรากฏเป็นคลิปเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 24 สิงหาคม

ข้อสรุปต่อมาที่เปิดเผยสู่สังคมบอกว่า ผู้ลงมือคือ พันตำรวจเอกธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ผู้กำกับโจ้ เจ้าของผลงานจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด หรือชีวิตอีกด้านคือ โจ้ เฟอร์รารี่ จากรสนิยมสะสมรถหรูราคาแพงหลายสิบคัน

พันตำรวจเอกธิติสรรค์ กลายเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่เหตุการณ์ทั้งหมดรวม 7 คน ซึ่งล่าสุดถูกจับกุมหมดแล้ว

วันที่ 26 สิงหาคม พันตำรวจเอกธิติสรรค์ เข้ามอบตัว มีการแถลงข่าวยอมรับผิดคนเดียว เพราะต้องการข้อมูลยาเสพติด ไม่มีเจตนารีดไถเงิน ส่วนลูกน้องแค่ทำตามคำสั่งนาย และถุงพลาสติกนั้นคลุมไว้เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาเห็นหน้า

ไม่ว่าคดีนี้จะเป็นอย่างไร ผู้ต้องหาที่เป็นนายตำรวจจะผิดจริง หรือลอยนวล ระบบยุติธรรมและอนาคตอาจมีคำตอบ

แต่อีกมิติหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ คือการสาธิตให้สังคมเห็นด้วยตาว่า การซ้อมทรมานนั้นมีอยู่จริง - จริงชนิดที่ว่ากล้องจับภาพไว้ได้

การซ้อมทรมานที่มีอยู่จริง

เราอาจเห็นภาพการซ้อมทรมานเพื่อรีดหาความจริง เค้นความจริง หรือเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง วิธีการทรมานซ้ำบ้าง แปลกบ้าง แต่นั่นคือบทสมมติ ที่มีกล้องจับ ไมค์จ่อ ผู้กำกับสั่ง และไม่มีใครเจ็บปวดและตายคาจอ

การซ้อมทรมาน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร เป็นสิ่งที่เราได้ฟังกันมาจนชินหู และรู้ในความเป็นไปได้ว่ามีจริง แต่ไม่เคยเห็นด้วยสายตา

ไทยรัฐพลัส สนทนาถึงบางแง่มุมของการซ้อมทรมานกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ด้วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามประเด็นการซ้อมทรมาน และเป็นหนึ่งในผู้พยายามผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้เกิดขึ้นและใช้ได้จริงในประเทศไทย
 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

“เมื่อวันก่อนเป็นวันที่เราเห็นคลิปวิดีโอในทางสาธารณะ ต้องขอบคุณทนายท่านหนึ่งที่ตัดสินใจเอาคลิปมาเผยแพร่ เพราะมันเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่เห็นสิ่งนี้ว่าเกิดขึ้นจริง ในสถานที่ราชการ และไม่ใช่หนัง ไม่ใช่ละคร แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเล่าที่เรา ในฐานะคนที่รับเรื่องร้องเรียน จินตนาการว่าการเอาถุงพลาสติกครอบศีรษะมันทำยังไง

“ทุกขั้นตอนที่เราเห็นในคลิปวิดีโอสอดคล้องตรงกันกับคำบรรยายของหลายๆ กรณีที่เราให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือการจดบันทึกข้อเท็จจริง ว่ามีการใช้ถุงพลาสติกปิดให้แน่น หายใจไม่ออก แล้วก็ใส่ถุงพลาสติกชั้นที่สอง บางครั้งได้ยินถึงขั้นสามสี่ห้าใบ มีการฉีกขาดจากการกัดเพื่อเอาชีวิตรอด มันเป็นภาพที่เราสะเทือนใจมากๆ ที่ได้เห็น”

วิธีการใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวเป็นการทรมานโดยใช้วัสดุใกล้ตัวมาทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต การบังคับให้ขาดอากาศหายใจด้วยถุงพลาสติกจึงเป็นเรื่องบอกเล่าบ่อยครั้ง เช่นด้วยกับการรุมซ้อมด้วยมือเท้า

“ที่เป็นคดีความ ที่เราช่วยเหลืออยู่ ณ ตอนนี้ ก็คือคดีของ ฤทธิรงค์ เขาบรรยายว่าถูกใช้ถุงพลาสติกแบบนี้”

ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร หรือ ช็อปเปอร์ คือเหยื่อจากการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อปี 2552 เขาโชคดีกว่าจิระพงศ์ ตรงที่ยังรอดชีวิต แต่ต้องอยู่กับอาการ PTSD ตั้งแต่อายุ 18 ปี และปัจจุบันครอบครัวยังยืนยันต่อสู้คดี

เช่นเดียวกับคดีแรงงานต่างชาติกับการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมให้ความช่วยเหลือทางคดี จนทั้งสองคนรับโทษในเรือนจำ พรเพ็ญ บอกว่า คำสารภาพครั้งนั้นก็มาจากการถูกซ้อมทรมาน

เมื่อผีปรากฏตัวในที่แจ้ง

จากหลายปากคำ การซ้อมทรมานที่ผ่านๆ มา มักเกิดในที่ลับ เซฟเฮาส์ หรือสถานที่ที่ไม่มีใครรู้ ไม่มีกล้องวงจรปิด ไม่มีพยาน และไม่มีใครยืนยันว่ามีอยู่

การซ้อมทรมานจึงอยู่เพียงในเรื่องเล่า และคงสถานะของผีมาได้

หลายครั้งที่การซ้อมทรมานเกิดขึ้นและปรากฏเป็นข่าวใหญ่ พื้นที่เรื่องเล่าอันน่าเศร้าของประชาชนมีประมาณสองแห่ง หนึ่ง-สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สอง-ค่ายทหาร แดนสนธยาที่ยากต่อการตรวจสอบ

พรเพ็ญ บอกว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับการซ้อมทรมานที่ผ่านมาจะอยู่ในสถานที่ปกปิด ไม่มีบุคคลภายนอกเห็น ต่างจากในคลิปวิดีโอที่สถานีตำรวจภูธรนครสวรรค์ ที่ปรากฏชัดจากภาพที่ถ่ายมาได้

“กรณีที่เกิดขึ้นกับ จิระพงศ์ ธนะพัฒน์ มันอยู่ในสถานที่ราชการที่เราก็ไม่คิดว่าเขาจะทำ เพราะหลายๆ ครั้งเราได้ยินเรื่องเหล่านี้ มันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจน วิญญูชนก็รู้ว่ามันผิดกฎหมาย นี่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง และเหมือนอยู่ในสำนักงานสว่างจ้า มีคนรับรู้ได้ อาจจะทั้งภายนอกและภายใน แถมยังเป็นห้องที่มีกล้องวงจรปิด ระดับผู้กำกับไม่น่าจะพลาดขนาดทำคนเสียชีวิตในพื้นที่นั้น”

ความลับในพื้นที่สีเทา

ส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รูปแบบจะแตกต่างออกไป ในพื้นที่ที่สถานการณ์เป็นสีเทา การซ้อมทรมานยิ่งถูกพรางจนคลุมเครือด้วยกฎหมายพิเศษ คือกฎอัยการศึก

ทหารสามารถจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ควบคุมตัวได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล แม้ผู้ถูกจับกุมยังอยู่ในสถานะผู้ต้องสงสัย ก็อาจถูกนำตัวไปยัง ‘ศูนย์ซักถาม’ ซึ่งเป็นสถานที่ ‘ลับจริง’ และเคยถูกครหาว่ามีการซ้อมทรมานถึงชีวิต เช่น ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ทั้งสองศูนย์อยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ส่วนอีกแห่งคือ ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ค่ายวังพญา จังหวัดยะลา

"กรณีสามจังหวัด จะอยู่ในที่ลับจริงๆ ไม่มีบุคคลภายนอกสามารถเข้าไปได้เลย ดังนั้น กรณีที่มีการเสียชีวิตในการควบคุมตัวที่ผ่านๆ มาในค่ายทหาร จึงเชื่อได้ว่า เป็นการกระทำของบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรืออาจเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“จึงเป็นข้อสันนิษฐานของเราว่า การควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เพราะเพิ่มเวลาในการควบคุมตัว และสถานที่ก็เป็นสถานที่ลับ แล้วก็มีข้อกำหนดด้วยว่า พบทนายไม่ได้ ต้องขอแม่ทัพ ญาติได้เยี่ยมจำกัดมาก บางคนก็ 3 นาที 5 นาที การทำให้เขาไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้เป็นเวลานานติดต่อกัน มันยิ่งเพิ่มความเสี่ยง”

เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ให้อำนาจควบคุมตัวไว้เพื่อทำการสอบสวนไม่เกิน 3 วัน

“กรณีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดก็มีเหมือนกัน ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ที่ให้อำนาจพิเศษสามวัน เขาสามารถเอาบุคคลไปอยู่ในเซฟเฮาส์ ซึ่งไม่ใช่สถานที่ควบคุมภายใต้ ป.วิ อาญา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในเวลานั้น ก่อนที่จะเอาตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ”

การซ้อมทรมานไม่ถูกกฎหมาย แต่ช่องโหว่ของกฎหมายทำให้เกิดการซ้อมทรมาน

ไม่มีกฎหมายแบบไหนอนุญาตให้การซ้อมทรมานมีตัวตน และถูกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่ช่องโหว่ที่ใครต่อใครก็มองเห็น คือจำนวนวันที่ได้อำนาจในการควบคุมตัว เพราะการควบคุมตัวที่ว่า กฎหมายอนุญาต ส่วนจะทำการสอบสวนหาข้อมูลด้วยวิธีไหนไม่มีใครกำหนด เหมือนมีม่านสีดำเลื่อนลงคลุมชั่วคราว เมื่อเปิดอีกครั้ง อาจมีร่างบอบช้ำ หรือไร้วิญญาณของใครบางคนนอนอยู่ ด้วยหลายสาเหตุที่เชื่อกันว่าเป็นเพียง ‘ข้ออ้าง’ ทิ้งให้ความตายเป็นเพียงปริศนาไร้คำตอบ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในที่ลับหรือที่แจ้ง การใช้กำลังทำร้าย รุมซ้อม ให้เกิดความทรมาน คือความผิดบนบรรทัดฐานเดียวกัน พรเพ็ญย้ำว่า อำนาจตามกฎหมายมีไว้เพื่อควบคุมตัวเท่านั้น

“เพราะว่าอำนาจให้ไว้เพื่อการควบคุมตัว ขั้นตอนคือต้องถูกจับแล้ว แล้วต้องให้สิทธิในฐานผู้ถูกจับกุม คือพบทนายความ ถ้าบาดเจ็บก็พบแพทย์ หรือบุคคลที่ไว้วางใจ จริงๆ โดยเนื้อแท้ของกฎหมาย คุณต้องได้รับสิทธินี้ทุกวินาทีที่คุณถูกจับแล้ว

“ดังนั้น การควบคุมตัวเป็นระยะเวลาหลายวัน เราเรียกมันว่าเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กฎหมายบางเรื่องมันเปิดช่องให้ทำได้ แต่ไม่มีอำนาจในการซ้อม ไม่มีใครบอกให้ซ้อมเพื่อสารภาพ มันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว”

ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เอาผิดง่าย หรือได้โอกาสลอยนวล

โดยความเข้าใจแรก เมื่อเกิดกรณีซ้อมทรมานขึ้นในที่แจ้ง ดังเช่นการลงมือของพันตำรวจเอกธิติสรรค์ การดำเนินคดีย่อมง่ายกว่า เพราะมีหลักฐานแข็งแรงพอที่จะยืนยันการมีอยู่จริงของการซ้อมทรมาน

“จริงๆ มันน่าจะง่ายกว่าตรงที่มันมีหลักฐานชัดเจนเชิงประจักษ์ แล้วก็เหมือนจะมีการยอมรับในทีไปแล้วโดยทางสาธารณะ ว่ามันไม่ใช่คลิปปลอม ไม่ใช่การตัดต่อ มันเป็นข้อเท็จจริง เหตุเกิดขึ้นจริง สถานที่ก็พิสูจน์ได้ไม่ยาก แล้วจากปากคำของผู้ที่เอาข้อมูลมาให้ ทางตำรวจก็น่าจะสืบได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ผลของมันก็คือคดีนี้มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน”

แม้มีคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานสำคัญ แต่ความคลุมเครือก็ยังมีอยู่หลายจุด เพราะทางตำรวจก็ใช้ข้ออ้างว่าสาเหตุการเสียชีวิตของจิระพงศ์คือการเสพยาเกินขนาด ซึ่งเรื่องนี้ พรเพ็ญบอกว่า ต้องอาศัยผลชันสูตรมาประกอบให้รูปการทุกอย่างสอดคล้องกัน

“มันต้องประกอบกันหลายๆ ส่วน หลักฐาน ประจักษ์พยาน ตำรวจบางคนอาจถูกกันไว้เป็นพยาน หรือใครมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เช่น หากมีการรีดไถทรัพย์จริง ที่บอกว่ามีการดำเนินการไปแล้วได้ 1 ล้าน ชุดแรกก็ต้องโดนด้วย คือมันเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ไม่ใช่หลายกรรม ไม่ใช่ทำเสร็จแล้วสามวันมาทำใหม่ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นหัวหน้าผู้ปฏิบัติการหรือรับผิดชอบ ก็เป็นจำเลยที่หนึ่ง และทั้งหมดก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”

ส่วนกรณีที่การซ้อมทรมานเกิดขึ้นในที่ลับ เช่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรเพ็ญบอกจากประสบการณ์ว่า “ส่วนใหญ่ก็จะลอยนวลไปตั้งแต่เริ่มต้นคดีแล้วค่ะ”

เมื่อคนยังอยู่โชคร้าย คนตายกลับโชคดี

แท้จริงอาจไม่ใช่เรื่องโชค เพราะความตายจากการลงมือทำร้ายอย่างไม่เป็นธรรมคือความโหดร้ายและสูญเสีย ชีวิตคนหนึ่งคนมีค่ามากกว่าเป็นเพียงสมบัติของเจ้าตัว แต่ว่ากันตามจริง โดยกระบวนการต่อสู้เพื่อเอาความยุติธรรมกลับมา เมื่อเกิดการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โอกาสชนะอาจเพิ่มขึ้น หากเหยื่อคนนั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เหตุผลตามคำอธิบายของพรเพ็ญคือ

“สมมติผู้ถูกซ้อมรอดชีวิต สามารถกัดถุงขาด ปั๊มหัวใจแล้วฟื้นได้ ไม่มีอาการสมองบวมเหมือนบางกรณี เขาก็อาจไม่ร้องเรียน ดังนั้น เราไม่อาจจะรู้ได้เลยว่าเราจะสามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้หรือเปล่า”

คำว่า ‘ไม่ร้องเรียน’ หมายความว่า เมื่อตัวเองเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกล่าวหาเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ทำร้ายร่างกาย ก็เท่ากับว่าต้องเอาความผิดที่อาจมีโทษรุนแรงของตนไปวางบนกระดานเดิมพัน และมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่เขาคนนั้นต้องรับโทษหนัก จึงทำให้บางคนเลือกที่จะทำให้เรื่องมัน ‘จบๆ ไป’ ด้วยการรับข้อเสนอบางอย่างจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า เช่น เงิน หรือการพ้นจากความผิด แลกกับการปิดปากไม่ให้เรื่องการซ้อมทำร้ายถูกแพร่งพรายใหญ่โต

ตรงกันข้าม หากเหยื่อเสียชีวิต ข้อเสนอหรือการเดิมพันเพื่อให้ผู้ลงมือกระทำถือความได้เปรียบ ก็จะไม่เกิดขึ้น

“กรณีที่เขาเสียชีวิต ดูเหมือนว่าจะมีพยานหลักฐานที่มากกว่าการมีชีวิตอยู่ของเหยื่อ สามารถผ่าชันสูตรได้ ผู้เรียกร้อง อาจจะเป็นแม่ เป็นครอบครัว ซึ่งสังคมหรือหน่วยงานต่างๆ มีความเห็นอกเห็นใจมากกว่ากรณีที่ผู้ค้ายาจะออกมาร้องเรียนด้วยตัวเอง

ดังนั้น พื้นที่ของการนำคนผิดมาลงโทษ จากประสบการณ์ ในกรณีการเสียชีวิตจากการควบคุมตัว จะมีมากกว่ากรณีที่ผู้ถูกซ้อมไม่ตาย บาดเจ็บ ทางกายหรือจิตใจ แต่ไม่สามารถเอาตัวเองออกมาสู่สังคมเพื่อจะเรียกร้องสิทธิ์ได้ เพราะตัวเองถูกตราหรือถูกบอกกับสังคมว่าเป็นผู้ค้ายา เป็นผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย"

พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

ที่ผ่านมา เรื่องการซ้อมทรมานและอุ้มหายเคยเป็นประเด็นท้าทายหลายครั้ง นำไปสู่การตั้งข้อกังขากับกระบวนการยุติธรรมก็ไม่น้อย ทั้งกรณีพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรืออุ้มหายนักกิจกรรม บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ, เด่น คำแหล้ กับผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคน เช่น วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, ลุงสนามหลวง-ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และ สุรชัย แซ่ด่าน



แม้ยังไม่มีกฎหมายเรื่องซ้อมทรมาน-อุ้มหายออกมาเป็นทางการ แต่ประเทศไทยก็เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) เมื่อปี 2550 และลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) เมื่อปี 2555 แต่ยังไม่มีการนำหลักสากลของทั้งสองอนุสัญญามาใช้เป็นกฎหมายในประเทศ


ที่มาภาพ: Amnesty International Thailand

ปี 2557 เริ่มมีสัญญาณที่ดี ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ของกระทรวงยุติธรรม ผ่านวาระที่ 1 ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ก็เงียบหายเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนมาถึงร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชนในปี 2563

ข้อมูลจาก Amnesty ประเทศไทย เรื่อง ‘ทำไมต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายในประเทศไทย’ ใน ‘วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล’ ปี 2563 ระบุถึงการสนับสนุนจากสี่พรรคการเมือง เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย คือ พลังประชารัฐ, ประชาธิปัตย์, ประชาชาติ และก้าวไกล ที่พยายามนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ทั้งจากพรรคการเมือง และฉบับประชาชนเข้าสู่สภาฯ

หลักใหญ่ใจความของ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ว่าด้วยการกำหนดให้การทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาชญากรรมที่ไม่มีอายุความ จนกว่าจะรู้ชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหาย มีกลไกตรวจสอบในแต่ละขั้นตอน มีมาตรการเยียวยา ให้พนักงานอัยการควบคุมการสอบสวน เพราะเดิมทีการส่งคดีไปยัง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. มักล่าช้า ไม่ก็เงียบหาย รวมถึงกำหนดให้การซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดสากล

ส่วนมาตรการความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับประชาชน เช่น ความผิดฐานทรมานและบังคับสูญหาย ต้องระวางโทษ 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท, ทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-250,000 บาท และหากลงมือจนถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม กระแสการพูดถึง พ.ร.บ. ฉบับนี้มักวูบเป็นพักๆ มาๆ ไปๆ ตามเหตุการณ์ในสังคม เมื่อเกิดขึ้นเหตุที่เข้าข่ายการซ้อมทรมานหรืออุ้มหายก็จะมีการพูดถึง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ขึ้นมา เช่น วันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เข้าสู่สภาฯ เพื่อบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน และวันต่อมาก็ได้ส่งเอกสารเรื่องเดียวกันไปยังเลขาธิการองคมนตรี

ที่สุดแล้วก็ยังเกินการคาดเดาว่าการขยับครั้งนี้จะทำให้กฎหมายเขยื้อนได้แค่ไหน

สำหรับการซ้อมทรมานที่มีอยู่จริงในเรื่องเล่า แต่เพิ่งปรากฏเป็นรูปร่างเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กฎหมายอาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ตรวจสอบความจริง และขยายไปสู่การป้องกันการซ้อมทรมาน และช่วยให้ผู้คนรอดพ้นจากความตายจากการกระทำที่ล้ำเส้นความเป็นมนุษย์

และเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำต่อประชาชน รักษาสถานะศักดิ์สิทธิ์ของ ‘ผี’ เร้นหายไปในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแบบที่เคยเป็นมา
.....

Youth & direct democracy TH
Yesterday at 10:54 AM ·

พวกมันคือฆาตกร ในนามของความมั่นคง
พวกมันพร้อมจะบุกจับกุมคุณ ลากคอโยนเข้าใส่ห้องคุมขังแห่งการสอบสวน ยืนเรียงรายในชุดเครื่องแบบ พร้อมกับอาวุธปืน
ก่อนจะที่พวกมันจะสั่งให้คุณถอดเสื้อออก ท่ามกลางความเหน็บหนาวของอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ และจับคุณมาคลุมด้วยถุงดำ จนคุณหายใจติดขัด หายใจไม่ออก จนต้องร้องขอชีวิต ร้องสุดเสียง แต่พวกมันก็ยังไม่หยุดกระทำ จนกว่าคุณจะบอกถ้อยคำที่พวกมันต้องการ
พวกมันจะจับคุณนอนลง ทุบตีคุณด้วยส้นเท้า
ราดน้ำใส่หน้าคุณ จนคุณสำลักและสั่นชา
พวกมันจะสั่งให้คุณยืนตรง ด้วยระยะเวลานานนับชั่วโมง
จนคุณอ่อนล้า
แต่เมื่อคุณหลับตาลง พวกมันจะเดินเข้ามาตะคอกใส่คุณ
ปลุกคุณให้ตื่น และเมื่อคุณกำลังจะสลบ
พวกมันจะปลุกคุณขึ้นมาสอบสวนอีกครั้ง
กระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เพื่อรีดไถความจริงจอมปลอมออกจากปากของคุณ
ถ้าหากคุณไม่เอ่ยถ้อยคำรับสารภาพ
พวกมันจะข่มขู่ว่าจะฆ่าคุณ
หรือจะทำร้ายคนที่คุณรัก
คุณจะอยู่ในห้องแห่งนั้น
ห้องแห่งการทรมาน
ชั่วนิรันดร์
เมื่อพวกมันลงมือกระทำ
ในนามของความมั่นคง
เสียงของคุณจะสูญหาย
และเมื่อคุณตาย
จะไม่มีใครตามหาคุณ
แต่ถ้าหากคุณรอดชีวิต
คุณจะยังคงอยู่ในฝันร้าย
ไปอีกนานแสนนาน
#StopTorture เมื่อวานครบรอบ 2 ปีการจากไปของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เสียชีวิตไปอย่างสงบเมื่อเช้ามืดวันที่ 25 ส.ค. 2562
ขณะที่ข่าวของผู้กำกับโจ้เกิดขึ้นเพื่อเป็นการย้ำเตือนว่าการทรมานสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทุกหนแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐมีอำนาจอย่างสมบูรณ์
สักวันทุกคนอาจกลายเป็นเหยื่อของการทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ..
คุณภัทร คะชะนา
#youthdempoem
#Youthanddirectdemocracyth