วันศุกร์, สิงหาคม 27, 2564

ประวัติศาสตร์อัปยศของตำรวจไทย อุ้มฆ่าแม่-ลูก #ศรีธนะขัณฑ์ เสี้ยวหนึ่งจากคดี #เพชรซาอุ



The Momentum
August 24 at 10:46 PM ·

อุ้มฆ่าแม่-ลูก ‘ศรีธนะขัณฑ์’ เสี้ยวหนึ่งจากคดี ‘เพชรซาอุฯ’ ประวัติศาสตร์อัปยศของตำรวจไทย
.
1. เช้ามืดวันที่ 1 สิงหาคม 2537 มีผู้พบศพสุภาพสตรีและเด็กชายคนหนึ่ง ภายในรถเบนซ์ 230 E สีขาว บริเวณถนนมิตรภาพ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ทราบภายหลังว่าคือ ‘ดาราวดี ศรีธนะขัณฑ์’ และเด็กชาย เสรี ศรีธนะขัณฑ์ วัย 7 ขวบ ภรรยาและบุตรชาย ของ ‘สันติ ศรีธนะขัณฑ์’ พ่อค้าเพชรย่านบ้านหม้อ ซึ่งถูกกลุ่มชายลึกลับจับตัวไปเรียกค่าไถ่ นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2537
.
หลังชันสูตรศพ สถาบันนิติเวช กรมตำรวจ ลงความเห็นว่าเป็น ‘อุบัติเหตุ’ จากรถบรรทุกชนกับรถเบนซ์คันดังกล่าว แม้ตามร่างกายของทั้ง 2 คน จะมีรอยฟกช้ำบริเวณศีรษะและมีร่องรอยของการขาดอากาศหายใจก็ตาม โดยผู้บังคับบัญชาของสถาบันนิติเวชเปิดแถลงข่าวถึง 2 รอบว่า รอยดังกล่าวเกิดจากแรงเหวี่ยงขณะเกิดอุบัติเหตุ
.
แต่ตำรวจชุดสืบสวนจากกองปราบปรามไม่เชื่อเช่นนั้น ทุกคนมองว่าเป็นการฆาตกรรมอำพราง
.
2. ถามว่าในเวลานั้น ‘สันติ’ คือใคร? คำตอบก็คือ สันติคือบุคคลที่ว่ากันว่า ‘กุมความลับ’ เรื่องการกระจาย ‘เพชรซาอุฯ’ เพชรของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ที่ เกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทย ขโมยมาจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี 2532 และมีน้ำหนักรวมกว่า 91 กิโลกรัม
.
หลังโจรกรรมสำเร็จ เกรียงไกรกระจายเพชรที่ขโมยมาได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไปยังร้านค้าเพชรและตลาดเพชรพลอยทั่วประเทศ โดยรายงานของตำรวจพบว่า ร้านของสันติเป็นแหล่งใหญ่สุดในการรับซื้อเพชรจากเกรียงไกร และขายต่อไปยังพ่อค้ารายย่อย-กลุ่มบุคคลต่างๆ แต่ก็มีข่าวลือเช่นกันว่า มีจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในมือของตำรวจ
.
3. ปี 2533 ทางการไทยตามหาเครื่องเพชรส่งคืนซาอุฯ จำนวนหนึ่ง ทว่า ซาอุฯ กลับพบว่าเพชรจำนวนมากเป็นเพชรปลอม รัฐบาลซาอุฯ ส่งนักการทูตหลายคนมาตามสืบเรื่องดังกล่าวในทางลับ ท่ามกลางข่าวลือว่า ‘ผู้ใหญ่’ ในกรมตำรวจเวลานั้น ‘อมเพชร’ จริงไว้ในมือ อีกทั้งเพชร ‘บลูไดมอนด์’ เพชรสีน้ำเงินมูลค่ามหาศาล อัญมณีชิ้นสำคัญของราชวงศ์ ก็ยังคงหายสาบสูญ
.
แต่ทว่านักการทูตซาอุฯ กลับถูกสังหาร เสียชีวิตรวม 3 คน ในกรุงเทพฯ และโมฮัมเหม็ด อัลลูไวลี นักธุรกิจ พระญาติของราชวงศ์ซาอุฯ ก็หายตัวไปอย่างลึกลับ เรื่องดังกล่าวสั่นคลอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยและวงการตำรวจอย่างรุนแรง ทั้งที่ในเวลานั้น คนงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับ 1 ถือเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
.
4. เรื่องดำเนินมาถึงปี 2537 กรมตำรวจพยายาม ‘กู้หน้า’ มีการตั้งทีมเฉพาะกิจในการตามหาเครื่องเพชรที่เหลือจากสันติ เพื่อนำไปคืนราชวงศ์ซาอุฯ ให้ได้ ทั้งยังเชื่อว่าสันติเป็นผู้กุมความลับเรื่อง ‘บลูไดมอนด์’ มีความพยายามลักพาตัวสันติที่ศาลอาญา รัชดาฯ โดยทีมเฉพาะกิจจากกองปราบปราม แต่สันติหนีรอด เป้าจึงตกไปที่ภรรยาและบุตรชายของสันติแทน โดยทั้งสองหายตัวไปจากบ้านพักย่านตลิ่งชันพร้อมกับรถเบนซ์คันดังกล่าวช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2537
.
5. เมื่อรถเบนซ์คันดังกล่าวที่หายไปนานนับเดือนปรากฏขึ้นอีกครั้ง ในฐานะ ‘ซากรถ’ จากอุบัติเหตุบนถนนมิตรภาพ ทีมสืบสวนใช้เวลาไม่นานนักในการแกะรอยจากถุงร้านค้าซึ่งใส่ผ้าอนามัยตกอยู่ในรถ พบว่ามาจากจังหวัดสระแก้ว ก่อนจะตามรอยไปถึงรีสอร์ตแห่งหนึ่งในจังหวัดสระแก้ว จนรู้ที่มาว่าทั้ง 2 ถูกจับตัวคุมขังที่ไหนตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
.
และรู้ด้วยว่ามี ‘ตำรวจ’ เป็นทีมจับตัวเรียกค่าไถ่ เพื่อเค้นความลับเกี่ยวกับเพชรที่เหลือจากสันติ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นตำรวจมือปราบซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจในเวลานั้น ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘สิงห์เหนือ’ จากฝีมือการสืบสวนสอบสวน ปิดคดีดังหลายคดีขณะประจำพื้นที่ภาคเหนือ และในเวลาเดียวกัน ก็ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นหัวหน้าทีมเฉพาะกิจตามหาเพชร ด้วยคำสั่งว่า “ทำอย่างไรก็ได้เพื่อเอาเพชรซาอุฯ คืนมา”
.
6. ชุดสืบสวนคดีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์จากกองปราบปะติดปะต่อเรื่องจนพบว่า พันตำรวจโท พันศักดิ์ มงคลศิลป์ มือปราบชื่อดัง ได้ตั้งด่านเถื่อน ดักรถเบนซ์คันดังกล่าวจากย่านตลิ่งชัน ก่อนจะลักพาตัวทั้งสองไปไว้ที่สระแก้ว พื้นที่ของพันศักดิ์
.
เมื่อสันติรู้ว่าภรรยาและบุตรชายถูกเรียกค่าไถ่ จึงติดต่อไปยังพลตำรวจโทชลอให้ช่วยตามหาคนร้าย ซึ่งพลตำรวจโทชลอยืนยันว่า คนร้ายต้องการเรียกค่าไถ่ และต้องการเงินหลายล้านบาท
.
7. แต่ในเวลานั้น สันติรู้ดีว่าพลตำรวจโทชลออาจมีเอี่ยวกับคดีดังกล่าว ด้วยประสบการณ์ซึ่งเคยเกือบโดนมาก่อน และเคยถูกรีดข้อมูลในลักษณะคล้ายกัน จึงได้แจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของพลตำรวจโทชลอให้ปล่อยตัวทั้งสองคนทันที
.
เมื่อ ‘ผู้ใหญ่’ รู้เรื่อง และสั่งให้ปล่อยตัว พลตำรวจโทชลอจึงโกรธจัด ไฟเขียวให้พันตำรวจโทพันศักดิ์สังหารสองแม่ลูกทันที ทีมสังหารซึ่งเป็นตำรวจ ขับรถเบนซ์จากจังหวัดสระแก้วมายังจังหวัดสระบุรี ก่อนใช้ท่อนเหล็กฟาดทั้งสองคนจนเสียชีวิตใกล้กับที่เกิดเหตุ แล้วปล่อยรถไหลลงเนินให้รถบรรทุกชน เพื่ออำพรางคดีว่าทั้งสองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน
.
ทว่า ร่องรอยจากอุบัติเหตุกลับไม่สัมพันธ์กับสภาพศพของทั้งสองโดยสิ้นเชิง โดยสภาพรถเบนซ์มีร่องรอยแค่เพียงด้านหน้า-ด้านข้าง ส่วนด้านในห้องโดยสารยังคงสภาพดี
.
8. เรื่องดังกล่าวนำไปสู่การออกหมายจับตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคน ที่ฮือฮาที่สุดก็คือมีการออกหมายจับไปถึงพลตำรวจเอก ประทิน สันติประภพ อธิบดีกรมตำรวจ เบอร์ 1 ของวงการตำรวจในเวลานั้น ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสั่งการ รวมไปถึงพลตำรวจโท โสภณ สะวิคามิน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 7 ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ใกล้ชิดกับพันตำรวจโทพันศักดิ์ อย่างไรก็ตาม พยาน-หลักฐานไปไม่ถึงทั้ง 2 คน จึงจบแค่ตัวพลตำรวจโทชลอ เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อกับทีมฆ่าในวันลักพาตัวและวันสังหารเท่านั้น
.
9. พลตำรวจโทชลออยู่ในเรือนจำเรื่อยมาตั้งแต่ปลายปี 2537 ตั้งแต่วันที่อัยการสั่งฟ้อง พร้อมกับพวกรวม 9 คน กระทั่งศาลฎีกานัดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ประหารชีวิตพลตำรวจโทชลอ ทำให้ถูกถอดยศและถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด
.
แต่ในปี 2556 ชลอก็ได้รับการปล่อยตัว หลังจากติดคุกนาน 19 ปี เนื่องจากเข้าคุณสมบัติ ‘พักการลงโทษ’ และยังเป็นผู้ต้องขังในกลุ่มนักโทษชรา มีอาการป่วยเรื้อรัง รวมถึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ 3 ครั้ง
.
แน่นอนว่าชลอไม่เคยพูดเรื่องคดีเพชรซาอุฯ หรือคดีสองแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์อีกเลย ทั้งยังไม่เคยพาดพิงบุคคลอื่นๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังอีกหรือไม่
.
10. ขณะที่พันตำรวจโทพันศักดิ์ หัวหน้าชุดอุ้มฆ่านั้น แม้จะถูกศาลตัดสินจำคุก 40 ปี แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่ปี 2555 จนมาก่อเหตุอุ้มฆ่า-เผานั่งยาง ชัยชนะ หมายงาน หรือ ‘เสี่ยอ้วน โรงเกลือ’ ที่จังหวัดสระแก้ว อีกครั้งในปี 2556
.
แม้จะถูกจับตัวได้ แต่พันศักดิ์ก็หลบหนีคดี ไม่มาฟังคำสั่งศาล และยังกลับมาก่อเหตุซ้ำอีกครั้งในปี 2561 ในคดีสังหารสามี-ภรรยา เจ้าของปั๊มน้ำมันที่จังหวัดสระแก้ว แต่รอบนี้ตำรวจจับได้ พันศักดิ์กลับเข้าคุกอีกรอบ จนถึงบัดนี้ก็ยังอยู่ในคุก
.
11. ขณะที่คดีเพชรซาอุฯ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงขณะนี้ ไทยก็ยังไม่สามารถส่งคืนเพชรให้กับซาอุดีอาระเบียได้ครบถ้วน ไม่สามารถสะสางคดีสังหารนักการทูต 3 คน และคดีอุ้มหาย ‘อัลรูไวลี’ ได้ รวมถึงเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ก็ยังอันตรธานหายไป ไม่รู้ตกอยู่ในมือผู้ใด
.
“คนตามท้องถนนทั่วไปก็รู้ว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ไป แม้แต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีทุกคนรู้หมดว่าใครเอาเพชรเม็ดนี้ (บลูไดมอนด์) ไป” มูฮัมหมัด ซาอิค โคจา อดีตอุปทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์กับ สุทธิชัย หยุ่น ในรายการเนชันนิวส์ทอล์ค เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2537 หลังคดี ‘ศรีธนะขัณฑ์’ ไม่นาน
.
แม้จะมีความพยายามจากหลายรัฐบาลในการ ‘รื้อคดี’ ขึ้นมาอีกครั้งเพื่อให้ทางการซาอุดีอาระเบียพอใจ และเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันใหม่ เนื่องจากซาอุดีอาระเบียถือเป็นประเทศที่มั่งคั่งลำดับต้นๆ ของโลก
.
แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่สำเร็จ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียยังไม่สามารถฟื้นคืนเป็นปกติได้ และดูเหมือนว่าจะไม่อาจฟื้นได้อีกแล้วในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวมากมาย ตลอด 32 ปีที่ผ่านมา...
.
อ้างอิง: https://youtu.be/GslTZsiA_MQ
ภาพ: Reuters
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #เพชรซาอุ #อุ้มฆ่า #ตำรวจ #ซาอุดีอาระเบีย


Cheepajornlok-Mohammed Said Koja 2/4.mp4
ชีพจรโลกกับสุทธิชัย หยุ่น ตอน "อำลา...อุปทูตโคจา" ช่วง 2 ออกอากาศอังคารที่ 25 มกราคม 2554

#ตำนานเพชรซาอุ #เรื่องเล่า #เล่าตำนาน
อาถรรพ์คำสาปเพชรซาอุฯ แม้แต่ผู้เจียระไนเพชรเม็ดนี้ก็มีอันเป็นไป

Jun 1, 2019