วันอังคาร, สิงหาคม 31, 2564

“ประเทศไทย ไม่เคยมีการบันทึกเรื่องคนหายอย่างเป็นทางการ” รำลึกถึง คนถูกบังคับให้สูญหาย ในวันผู้สูญหายสากล


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
14h ·

การบังคับบุคคลให้สูญหาย = การละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันที่ 30 สิงหาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงบุคคลสูญหายสากล หรือเรียกกันทั่วไปว่า “วันผู้สูญหายสากล” ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์และตระหนักถึงสถานการณ์การบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการอุ้มหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก
.
อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : CPED) ได้กำหนดนิยาม “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การอุ้มหาย” ว่าหมายถึง การจับกุม คุมขัง ลักพาตัว หรือการลิดรอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ซึ่งกระทำการโดยได้รับการอนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยปริยายของรัฐ ตามมาด้วยการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าได้มีการลิดรอนเสรีภาพหรือด้วยการปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวบุคคลที่หายสาบสูญ ซึ่งส่งผลให้บุคคลดังกล่าวตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย
.
การอุ้มหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อ ครอบครัว คนใกล้ชิด รวมทั้งสังคมโดยรวม
รูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกอุ้มหาย
-ถูกละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย
-ถูกละเมิดต่อสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัย
-ถูกกระทำการทรมานหรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายรุนแรง หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ทั้งร่างกายและจิตใจ
-ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
-ไร้ซึ่งสภาพบุคคลตามกฎหมาย
รูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อครอบครัวหรือคนใกล้ชิด
-ไม่มีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ อันเกิดจากการสูญหายของบุคคลที่เป็นกำลังหลักในการหารายได้
-ได้รับความกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี เนื่องจากความวิตกกังวล
-ไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรม และเข้าไม่ถึงการชดเชยเยียวยา
ผลกระทบต่อสังคม
-ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวหรือไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตในสังคม
-สร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ในกรณีที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้
.
สำหรับการปกป้องและคุ้มครองเรื่องการป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์ที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CPED มาตั้งแต่ปี 2555 โดยที่ยังไม่ให้สัตยาบัน เนื่องจากยังไม่อาจอนุวัติการกฎหมายหรือออกกฎหมายลูกภายในประเทศให้สอดคล้องตามอนุสัญญา CPED ได้อนุสัญญาดังกล่าวจึงถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยโดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ตามหลายภาคส่วนพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ฉบับกระทรวงยุติธรรม 2) ฉบับคณะกรรมาธิการ
การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร 3) ฉบับพรรคประชาชาติ และ 4) ฉบับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประช่าชนแล้ว และเมื่อวันที่
17 สิงหาคม 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติบรรจุเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ทั้งนี้ หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะเป็นการเตรียมความพร้อมสำคัญสำหรับประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CPED โดยสมบูรณ์ และย่อมหมายความว่าทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองจากการ
ถูกบังคับให้สูญหาย และผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องมีความผิดตามกฎหมายอาญา ขณะที่รัฐต้องมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม โดยจัดให้ผู้ตกเป็นเหยื่อรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป
“ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด หรือบุคคลนั้นจะเป็นใคร ย่อมไม่มีเหตุผลสมควรใดที่บุคคลสักคนจะถูกบังคับให้สูญหายไปได้”
#หยุดอุ้มหาย #หยุดบังคับสูญหาย #สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน #NHRCT
ที่มา
- อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : CPED)
- เพชรณพัฒน์ ศรีวุทธิยประภา. อนุสัญญา การคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญและการเข้าเป็นภาคีของประเทศไทย.
- หนังสือที่ นร 0503/ว(ล)26227 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....