ภาพจาก youtube
Rawee Siri-issaranant
17h ·
ราชินีสิริกิติ์และบูรพาพยัคฆ์คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและสถาบันกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงปี 2549 เป็นต้นมา ผมไม่ลังเลใจที่จะบอกเลยว่า ราชินีสิริกิติ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีหลักฐานแวดล้อมมากมายที่บ่งชี้ว่าราชินีสิริกิติ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณตั้งแต่ “ก่อน” การรัฐประหาร และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทำรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ระดับนำของฝ่ายทักษิณตระหนักดีว่าพวกเขากำลังสู้กับราชินีสิริกิติ์ พวกเขาแยกในหลวงภูมิพลออกจากราชินีเพราะในหลวงมีท่าทีที่คลุมเครือกว่า ในขณะที่ราชินีแสดงตัวอย่างเด่นชัดในการสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรที่พยายามจะโค่นล้มรัฐบาลสมัคร-สมชาย
กลุ่มบูรพาพยัคฆ์คือตัวเชื่อมระหว่างราชินีสิริกิติ์กับกองทัพ ประยุทธ์ซึ่งเป็นคนสนิทของราชินีได้ขอให้ราชินีใช้อิทธิพลที่มีต่อ พล.อ.สนธิ สนับสนุนให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก หลังจากนั้นกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ได้เข้าครอบงำกองทัพ โยกย้ายนายทหารทั้งฝ่ายทักษิณและฝ่าย พล.อ.สนธิ ออกไปให้พ้นทาง และวางคนของบูรพาพยัคฆ์ในตำแหน่งคุมกำลังสำคัญ กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาระหว่างการรัฐประหาร 2 ครั้ง 2549-2557 ราชินีสิริกิติ์และบูรพาพยัคฆ์ได้เข้าครอบงำและควบคุมกองทัพบกได้อย่างเบ็ดเสร็จ จนกองทัพเป็นอิสระจากรัฐบาล และเป็นเครื่องมือหลักของราชสำนักในการต่อสู้กับฝ่ายทักษิณ เช่น การบีบกลุ่มเนวินให้ย้ายขั้วมาสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายก ในปี 2551 และการปราบเสื้อแดงในปี 2552-2553
ชัยชนะในการเลือกตั้งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และความเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงปี 2554-2555 ที่สั่นคลอนราชสำนัก ทำให้ราชินีสิริกิติ์-บูรพาพยัคฆ์หันมาปรองดองกับทักษิณ จนนำมาสู่แผนการพาทักษิณกลับบ้านด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งของฝ่ายทักษิณ อย่างไรก็ตาม ราชินีสิริกิติ์ได้ล้มป่วยลงก่อนที่วิกฤตการเมืองรอบใหม่จะเริ่มขึ้น
ประยุทธ์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก คือผู้นำของขั้ว ราชินี-บูรพาพยัคฆ์ ทำการยึดอำนาจ ในปี 2557 และใช้บทเรียนจากปี 2549 จัดวางโครงสร้างอำนาจใหม่เพื่อสยบฝ่ายทักษิณอย่างราบคาบไม่ให้กลับมาได้อีก ระหว่างนี้เองในหลวงภูมิพลก็เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์และเข้าเทคโอเวอร์อำนาจของ คสช. และยึดครองกองทัพ
ถ้าไม่มีสภาพที่กองทัพถูกครอบงำโดยบูรพาพยัคฆ์ และการรวมศูนย์อำนาจของ คสช. การเข้าเทคโอเวอร์กองทัพของรัชกาลที่ 10 ก็จะไม่เกิดขึ้นโดยง่าย ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นผลผลิตของวิกฤตการเมืองที่ราชสำนักใช้กองทัพในการต่อสู้กับทักษิณโดยตรง จนนำมาสู่สภาพที่กองทัพซึ่งควรจะขึ้นตรงกับรัฐบาลกลายมาเป็นบริวารของสถาบันกษัตริย์ ถูกควบคุมและใช้สอยโดยราชสำนักและไม่มีใครกล้าแทรกแซง