วันศุกร์, สิงหาคม 06, 2564

“พระสยามเทวาธิราช” ที่พระพักตร์เหมือน รัชกาลที่ ๔



โบราณนานมา
6h ·

“พระสยามเทวาธิราช”
ภาพซ้าย : พระสยามเทวาธิราช สมัยรัชกาลที่ ๔
ภาพขวา : พระสยามเทวาธิราช สมัยรัชกาลที่ ๕ (พระป้าย) พระพักตร์เหมือน รัชกาลที่ ๔
“พระสยามเทวาธิราช” นับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่บังเอิญมีเหตุให้รอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ ชะรอยคงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการปั้นรูปสมมติขึ้น
“พระสยามเทวาธิราช” เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง ๘ นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า “ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช” (暹國顯靈神位敬奉) เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง
มีความเชื่อกันว่า “พระสยามเทวาธิราช” ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูง ทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล กับโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ อันตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณด้วย ทั้งเป็นที่ร่ำลือกันว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้สร้างรูปเทวดาขึ้นอีกองค์หนึ่ง มีรูปแบบเหมือนพระสยามเทวาธิราช คือทรงเครื่องอย่างพระมหากษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงยกขึ้นจีบเสมอพระอุระ ทรงยืนอยู่บนซุ้มไม้จันทน์ ตรงกลางซุ้มมีคำจารึกเป็นภาษาจีนเช่นเดียวกัน แต่ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้แปลงพระพักตร์ของเทวดาองค์นี้ให้เหมือนกับพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (สมเด็จพระชนกาธิราช) เทวรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่ห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
สาเหตุที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างพระสยามเทวาธิราช ให้มีพระพักตร์เหมือนรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกาธิราช มาจากความเชื่อว่านอกจากเทวดาที่มีหน้าที่พิทักษ์รักษาประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติครั้งต่าง ๆ นั้น ยังมีบรรพกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเทวดาที่คอยช่วยอยู่อีกทางหนึ่งด้วย
พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่ “พระสยามเทวาธิราช” ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ส่วนเครื่องสังเวยที่ใช้บูชาพระสยามเทวาธิราชตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วย หอมจันทร์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม และเทียนเงิน เทียนทอง
ความสอดคล้องทางความเชื่อและพิธีกรรมของการบูชาพระสยามเทวาธิราช กับการ “ไหว้-พลี” ให้กับ “พระขพุงผี” ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การบูชา “พระสยามเทวาธิราช” เข้าลักษณะเป็น “พิธีผี” ประการหนึ่ง
“...การเซ่นสังเวยพระสยามเทวาธิราช การสังเวยเทพารักษ์ต่าง ๆ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง เหล่านี้จะเรียกว่าเกี่ยวกับศาสนาใดก็ไม่ได้ เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ไม่มีในศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพุทธก็ไม่มี เห็นจะเป็นความเชื่อของคนไทยโดยเฉพาะที่นับถือผีมาตั้งแต่โบราณ...”
ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองเมืองนี้ นับเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วในกลุ่มวัฒนธรรมไทยและใกล้เคียง ซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่มิใช่บรรพบุรุษของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นผีเจ้าเมืองที่เป็นผู้สร้างเมืองและเคยปกครองเมืองมาก่อน และเจ้าเมืองรุ่นหลังก็อันเชิญให้ผีเจ้าเมืองผู้ผูกพันกับชุมชนให้ช่วยปกปักคุ้มครองรักษาบ้านเมือง
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิสกุล ได้ทรงบันทึกเรื่องพระสยามเทวาธิราช มีความตอนหนึ่งว่า “...เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็น ๆ ว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐาน ด้วยกุศลผลบุญที่เราทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุข ให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ...”
พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่ “พระสยามเทวาธิราช” ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์มาทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะพระสยามเทวาธิราช และมีละครในจากกรมศิลปากรรำถวาย
ในปี ๒๕๒๕ ครบรอบการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้นเสลี่ยงโดยประทับบนพานทอง ๒ ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังเสด็จฯ กลับ นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์