วันเสาร์, มิถุนายน 19, 2564

ศาสนา-การเมือง‘สนองอำนาจรัฐ’ เวรทำกรรมแต่ง คนไม่เท่ากัน - สุจิตต์ วงศ์เทศ


พระสงฆ์เก่าสุด “สนองอำนาจรัฐ” มากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ครองจีวรห่มคลุมถือบาตร (คล้ายบิณฑบาต) พบหลักฐานเป็นประติมากรรมดินเผา เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพถ่ายและลายเส้นจำลองจากหนังสือ สุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510)

ศาสนา-การเมือง‘สนองอำนาจรัฐ’ เวรทำกรรมแต่ง คนไม่เท่ากัน สุจิตต์ วงศ์เทศ

หนังสือพิมพ์มติชน
(2020-11-19)

ศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์-ฮินดู ล้วนเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้าของคนชั้นนำตั้งแต่อยู่ในอินเดีย ครั้นแผ่ถึงอุษาคเนย์ก็เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการปกครองของคนชั้นนำอุษาคเนย์ พระสงฆ์เกี่ยวข้องการเมืองตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา และตลอดสมัยอยุธยา แล้วสืบเนื่องสมัยหลังๆ แต่เป็นการเมืองเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจของคนชั้นนำด้วยคำสอนเรื่องคนไม่เท่ากัน อันเนื่องเพราะ “บุญวาสนา” และ “เวรทำกรรมแต่ง” ศาสนาพุทธเกี่ยวข้องการเมืองของรัฐตั้งแต่ดั้งเดิมเริ่มแรกแผ่จากอินเดียและลังกาถึงอุษาคเนย์และไทย แต่เป็นการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจของคนชั้นนำที่นับถือพุทธศาสนาอยู่เหนือคนกลุ่มอื่นที่ไม่นับถือศาสนาพุทธ ขณะเดียวกันคนชั้นนำใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการปกครองในการรวบรวมและควบคุมไพร่บ้านพลเมืองนานาชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ให้กลายตนเป็นคนไทย

พระสงฆ์สนองอำนาจรัฐอยุธยาพระสงฆ์สมัยอยุธยาทั้ง “สวดลำ” และ “เทศน์มหาชาติ” เป็นทำนองโหยหวนผสมลูกคอคึกคะนองร้องแหล่ต่างๆ ตามบทกาพย์กลอนเทศน์กลอนสวดที่แต่งโดยนักปราชญ์ของรัฐเรื่องคนไม่เท่ากัน อันมีที่มาจากบาปบุญคุณโทษของคนนั้นๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจการเมืองของรัฐสมัยนั้น รัฐอยุธยา (ในทางหลักการ) ควบคุมกำกับพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรสยาม (มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคกลาง โดยไม่ครอบคลุมทั่วประเทศเท่าทุกวันนี้) ตั้งแต่สังฆราชลงไปถึงภิกษุสามัญทั้งคามวาสีและอรัญวาสี ตลอดทั้งในเมืองและหัวเมืองนอกกำแพงพระนคร (แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่จริงทั้งหมดก็ได้) หน่วยราชการของรัฐอยุธยามีหน้าที่ควบคุมกำกับพระสงฆ์ (พบในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน และพระธรรมนูญ) ได้แก่
กรมธรรมการ มีเจ้ากรมเป็น “ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีศุภราชพิริยภาหุ” ถือตราเสมาธรรมจักร ศักดินา 10000 (หนึ่งหมื่น)

  1. กรมฉางข้าวบาตร มีเจ้ากรมเป็น “ขุนอินอัคเนศวร” ศักดินา 1600 (พันหกร้อย)
  2. กรมข้าพระ มีเจ้ากรมเป็น “พระธรรมเสนา” ศักดินา 3000 (สามพัน)
  3. กรมสังฆการี มีเจ้ากรมเป็น “หลวงธรรมรักษา” ศักดินา 1000 (หนึ่งพัน)
ศาสนารับใช้การเมืองตั้งแต่แรก

ศาสนามิได้แยกอยู่โดดเดี่ยวจากสังคมและการเมือง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการเมืองหลายพันปีมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนรับศาสนาจากอินเดียและลังกา (หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์) สืบเนื่องถึงสมัยรับศาสนาจากอินเดีย ตราบจนปัจจุบัน

[อินเดียและลังกาใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขยายการค้าทางทะเลสู่อุษาคเนย์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปในหมู่นักปราชญ์และนักวิชาการในสากลโลก] ก่อน รับศาสนาจากอินเดีย คนในอุษาคเนย์และในไทยนับถือศาสนาผี หลัง รับศาสนาจากอินเดีย ได้เลือกสรรส่วนที่ไม่ขัดกับผีของพุทธและพราหมณ์-ฮินดู ห่อหุ้มคลุมศาสนาผีให้ดูดีมีระดับ (“เซเลบ” โบราณ) โดยรักษาหลักการของศาสนาผีไว้เหนียวแน่น แต่เคลือบภายนอกด้วยพุทธและพราหมณ์-ฮินดู

ศาสนาผียกย่องผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมและเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ แต่หลังรับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ผู้หญิงถูกริบอำนาจโดยผู้ชาย ทำให้ผู้ชายเป็นใหญ่ในพิธีกรรมและเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (แทนที่ผู้หญิง)

ศาสนาผี, พุทธ, พราหมณ์-ฮินดู ถูกหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (ซึ่งเป็นเพศชาย) ปรับปรุงใช้งานการเมืองเป็นเครื่องมือทางการปกครองคนหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เพื่อให้ “ร้อยเผ่าพันผี” นับถือ “ศาสดา” เดียวกัน ตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือ เรือน พ.ศ.1000

อุษาคเนย์ประกอบด้วยคนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งแต่ละเผ่าพันธุ์มี “ผี” ของตนซึ่งเสมือนเป็น “ร้อยเผ่าพันผี” ต่างขัดแย้งกันเมื่อยกย่อง “ผี” กลุ่มของตนอยู่เหนือ “ผี” กลุ่มอื่น

คนชั้นนำพื้นเมืองเลือกรับศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มาใช้งานการเมืองการปกครองเพื่อหลอมคน “ร้อยเผ่าพันผี” มาร่วมนับถือศาสนาและ “ศาสดา” เดียวกัน ซึ่งเป็นศาสนาใหม่ประสมกลมกลืนระหว่างผี, พุทธ, พราหมณ์-ฮินดู

พุทธปราบผี ศาสนาพุทธใช้ความรุนแรงคุกคามและปราบปรามศาสนาผีของคนพื้นเมืองดังพบในหลักฐานต่างๆ ได้แก่ มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา), อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม จ.นครพนม) เป็นต้น แต่ไม่สำเร็จราบคาบ ดังนั้นคนพื้นเมืองยังเลื่อมใสศาสนาผี แม้ในวัดตราบจนปัจจุบันก็มี “ศาลผี” ได้แก่ ศาลเจ้าที่ (หรือศาลตายาย), ศาลเจ้าพ่อ, ศาลเจ้าแม่ ฯลฯ

จนในที่สุดก็ลดความแตกต่าง แล้วรวมกันเป็นรัฐขนาดใหญ่ กระทั่งขยายเป็น “อาณาจักร” การเมืองปัจจุบันให้ความสำคัญเศรษฐกิจ จึงเรียก “เศรษฐกิจ-การเมือง” แต่ในอดีตให้ความสำคัญศาสนา จึงเรียก “ศาสนา-การเมือง”

ดังนั้นพระราชาสมัยจารีตได้รับยกย่องเทียบเท่าศาสดาในศาสนา เช่น พระบรมไตรโลกนาถ หมายถึง พระพุทธเจ้า ทำให้บรรดาประชาชาติราษฎรน้อมตนเป็น “ข้า” ของพระพุทธเจ้า เป็นเหตุให้คำสรรพนามแทนตัวเองเมื่อพูดกับพระราชาต้องใช้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า”

ศาสนารับใช้การเมือง คนชั้นนำพื้นเมือง มีตัวอย่างสำคัญตั้งแต่แรกเริ่มที่เมืองอู่ทอง

ศาสนาเพื่อการเมืองการปกครอง เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) เป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐ ซึ่งนักปราชญ์นานาชาติต่างรับรู้ทั่วกันว่าเป็น “รัฐเก่าแก่สุด” ในไทยภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ และนับถือศาสนาผี มีหินตั้งเชื่อมโยงผีฟ้าผีแถนบนฟ้า และมีเทคโนโลยีก้าวหน้ากว้างขวางสามารถถลุงโลหะหล่อสำริดซึ่งเป็นโลหะผสมทำเครื่องมือเครื่องใช้มากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่เรือน พ.ศ.500

ชนชั้นนำเมืองอู่ทองครั้งนั้นซึ่งเป็นคนพื้นเมืองยังไม่รับนับถือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย แต่มีการติดต่อค้าขายทางไกลกับอินเดียและเครือข่าย นอกจากนั้นหัวหน้าเผ่าพันธุ์และชนชั้นนำซึ่งเป็นคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ต่าง “ยกย่อง” หรือ “ว่าจ้าง” ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ชาวอินเดียเป็น “ที่ปรึกษา” ทำหน้าที่แนะนำและถ่ายทอดความรู้ทางศิลปวิทยาการตลอดจนประเพณีพิธีกรรมจากอินเดีย

ต่อมาชนชั้นนำเมืองอู่ทองซึ่งเป็นคนพื้นเมืองได้เลือกสรรรับศาสนาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เฉพาะที่มีประโยชน์ทางการเมืองการปกครองของตนโดยไม่เสีย “หลักการ” ดั้งเดิมในศาสนาผี แล้วใช้พุทธกับพราหมณ์-ฮินดูห่อหุ้มคลุมศาสนาผีให้ดูดีมีระดับเพื่อใช้งานการเมืองการปกครองอย่างเปิดเผยตั้งแต่ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000

ไม่อาณานิคมอินเดีย

กรณีเมืองอู่ทองรวมถึงหลักฐานโบราณคดีพบใหม่ทั่วอุษาคเนย์ หักล้างแนวคิดแบบอาณานิคม ว่าอุษาคเนย์ (รวมทั้งในไทย) สมัยดั้งเดิมเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ต่อมาต้องตกเป็นอาณานิคมของอินเดีย แล้วรับอารยธรรมอินเดียจึงพ้นสภาพล้าหลังแล้วมีบ้านเมือง เหล่านี้อยู่ในหนังสือ Indianized States of SEA โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์ เป็นคัมภีร์ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกว่าอินเดียเจริญกว่า ได้เข้ามาปราบปรามคนพื้นเมืองอุษาคเนย์ แล้วตั้งตนเป็นใหญ่นำอารยธรรมอินเดียเข้าไปสร้างความเจริญให้คนพื้นเมืองเป็นอาณานิคมของอินเดีย

หลักฐานโบราณคดีที่พบสมัยต่อมาจนปัจจุบัน ยืนยันว่าอุษาคเนย์เป็นบ้านเมืองก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (โดยเฉพาะถลุงและหลอมโลหะ) มากแล้ว ก่อนรับวัฒนธรรมอินเดียทางศาสนาและอื่นๆ พยานสำคัญพบอยู่เมืองอู่ทอง

อู่ทองเป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐก่อนรับศาสนาจากอินเดียหลายร้อยปี เติบโตจากการค้าทางไกล (ผ่านมลายู) กับจีน, อินเดีย และเครือข่ายตะวันออกกลาง บรรดาชนชั้นนำของบ้านเมืองก็รับผู้รู้ผู้ชำนาญชาวอินเดียมาถ่ายทอดความรู้ศิลปวิทยาการ ตลอดจนพิธีกรรมทางศาสนา โดยชนชั้นนำพื้นเมืองเป็นผู้เลือกสรรตามความต้องการของชุมชน ทั้งนี้มิได้ถูกกำหนดหรือครอบงำจากอินเดีย ดังจะพบว่าหลักการของศาสนาผีพื้นเมืองยังมีอำนาจเหนือพุทธ-พราหมณ์

พระสงฆ์และพราหมณ์ทำงานการเมือง พระสงฆ์ในศาสนาพุทธ และพราหมณ์ (นักบวช) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ด้านหนึ่งประกอบพิธีกรรม ส่วนอีกด้านหนึ่งมีหน้าที่ทำงานการเมืองสนองชนชั้นนำเพื่อปกครองประชาชาติราษฎร

พระสงฆ์ในศาสนาพุทธ ตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยาสืบมาจนทุกวันนี้ทำหน้าที่สรรเสริญหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองมีฐานะสูงส่งเป็นพระราชาในวัฒนธรรมอินเดีย คือ “ธรรมราชา” หรือ “ธรรมาโศกราช” เยี่ยงพระเจ้าอโศก หรือ “จักรพรรดิราช” เยี่ยงพระอินทร์

พราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำหน้าที่สรรเสริญหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองมีฐานะสูงส่งเป็นกษัตริย์ในวัฒนธรรมอินเดีย แล้วยกย่องให้สูงขึ้นเสมือนมหาเทพเทวดาในลัทธิเทวราชเรียก “เทวราชา” เยี่ยงพระอีศวร (ศิวะ), พระนารายณ์ (วิษณุ), พระพรหม (จตุรพักตร์)

หนีไม่พ้น พระสงฆ์และศาสนาพุทธโดยสรุปเกี่ยวข้องการเมืองตั้งแต่แรกแผ่ถึงสยามประเทศไทย แต่เป็นการเมืองเพื่อผดุงอำนาจของคนชั้นนำเรื่อง “คนไม่เท่ากัน” ซึ่งหนักไปทางตรงข้ามประชาธิปไตย

ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาพุทธโดยผ่านวิชาการต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์โบราณคดี ฯลฯ ไม่ว่าจะสำคัญตนผิด “ไม่เกี่ยวข้องการเมือง” อย่างไรก็ตาม ล้วนเป็นเครื่องมือทางการเมืองรับใช้อำนาจของคนชั้นนำกลุ่มเล็กๆ ในสังคม ซึ่งไม่เกี่ยวกับความเสมอภาคและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย



พระสงฆ์เก่าสุด “สนองอำนาจรัฐ” มากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ครองจีวรห่มคลุมถือบาตร (คล้ายบิณฑบาต) พบหลักฐานเป็นประติมากรรมดินเผา เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ภาพถ่ายและลายเส้นจำลองจากหนังสือ สุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510)



พระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมกับ “ราษฎร” โดยถือธงแครอต พร้อมแผ่นป้ายยืนยันพุทธศาสนาต้องรับใช้ประชาชน (ไม่ใช่รัฐ) รวมถึงวิพากษ์ พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 บนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563



ธรรมจักรตั้งบนเสาหิน (เสาอโศก) ทำจำลองเหมือนครั้งพระเจ้าอโศก จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี




ธรรมจักร, เสา, แท่น ทั้งหมดสลักจากหินปูน พบที่ (เจดีย์หมายเลข 11) เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อายุราวหลัง พ.ศ.1000 เลียนแบบสัญลักษณ์พุทธศาสนาสมัยพระเจ้าอโศก (บางทีเรียก “เสาอโศก”) ซึ่งมีอายุระหว่าง พ.ศ.270-312 (ห่างกันมากกว่า 500 ปี แต่เฉพาะธรรมจักรยังสืบเนื่องความเชื่อถึงปัจจุบัน) ทั้งนี้เพื่อ (1.) ยกย่องพระราชาเมืองอู่ทองขณะนั้นเป็น “ธรรมโศกราช” หรือ “ธรรมราชา” เทียบ พระเจ้าอโศกและ (2.) เสาอโศกในศาสนาพุทธสืบเนื่องหินตั้งในศาสนาผีเชื่อมฟ้ากับดิน เสมือนหนทางสื่อสารขึ้นฟ้าเพื่อรวมพลังกับผีฟ้าผีแถนตามความเชื่อเรื่องขวัญที่มาก่อนหลายพันปีแล้ว (ภาพทั้งหมดจากห้องแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง โดย “แม่กิมหลิน” พฤศจิกายน 2563)